ครั้งที่ THE STANDARD ได้เดินทางไปยังกรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย เพื่อรวมรับฟังการประกาศกลยุทธ์เพื่อสังคม ‘Grab for Good แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ ซึ่งเป้าหมายของประกาศนี้ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปพร้อมๆ กันผ่านแผนงานที่วางไว้ 5 ปีอย่างต่อเนื่อง
อ่านต่อ: Grab ประกาศกลยุทธ์ ‘แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ ยกระดับความรู้ด้านดิจิทัล ร้านค้า และทักษะแรงงาน
ในครั้งนั้น THE STANDARD ยังได้มีโอกาสพูดคุยกับ ฮุย หลิง ตัน หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ถึงเหตุผลที่ Grab ต้องลุกขึ้นมาประกาศกลยุทธ์เพื่อสังคมจะส่งผลอย่างไรต่อเมืองไทยบ้าง และทิศทางไปต่อของยักษ์ Ride-Hailing รายนี้
สิ่งที่จะเกิดขึ้นจาก ‘Grab for Good’ ในไทย
ทำไมต้องมี ‘Grab for Good’ เป็นคำถามแรกที่เราเอ่ยถามกับผู้ร่วมก่อตั้ง Grab ซึ่งเธอได้ตอบว่าธุรกิจของ Grab ไม่ได้มีเป้าหมายทางธุรกิจอย่างเดียวเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญที่ก่อตั้ง Grab ขึ้นมาคือต้องการให้สังคมดีขึ้น ดังนั้นตลอด 7 ปีที่ผ่านมา สิ่งที่ Grab ทำคือการช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเดินทางด้วยประสิทธิภาพที่ดีขึ้นพร้อมกับความปลอดภัย ซึ่งช่วยให้คนขับเองได้รับโอกาสที่ยั่งยืนมากขึ้น
ด้วยธุรกิจที่เติบโตมากขึ้นทุกวันจึงมี 3 เรื่องสำคัญคือ หนึ่ง สร้างรายได้ให้เติบโตโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุน สอง ผลักดันบริการทางการเงิน และสาม นำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยให้คนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพิ่มความสามารถในการทำงานเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต ทั้งหมดจึงออกมาในรูปแบบของ Grab for Good
“วิสัยทัศน์สูงสุดของ Grab คือการขับเคลื่อนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปข้างหน้า เพื่อช่วยปรับปรุงและเสริมโอกาสการเข้าถึงสำหรับทุกคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการศึกษาที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี รวมไปถึงบริการทางการเงิน”
เจาะเข้ามาที่ประเทศไทยภายใต้กลยุทธ์เพื่อสังคมมีหลายโครงการที่กำลังทำอยู่ เช่น ภายในเดือนพฤศจิกายนจะเริ่มโครงการที่จับมือกับมูลนิธิโตโยต้า โมบิลิตี, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร กระทรวงการคมนาคม, กรุงเทพมหานครและเขตปริมณฑล เพื่อใช้ถนนพระราม 4 ซึ่งเป็นหนึ่งในถนนที่รถติดมากที่สุดสายหนึ่งของกรุงเทพฯ สำหรับทดสอบและพัฒนาโซลูชันด้านการเดินทาง ซึ่งจะช่วยลดปัญหาด้านการจราจรและมลภาวะ
โดยใช้ข้อมูล GPS แบบนิรนามเพื่อวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก ซึ่งจะช่วยด้านการวางผังเมืองและจัดการจราจรได้ดียิ่งขึ้น ต่อไปถนนพระราม 4 จะเป็นโครงการนำร่องและจะขยายสู่เขตต่างๆ ในกรุงเทพฯ ที่ประสบปัญหาด้านการจราจร
นอกจากในกรุงเทพฯ แล้ว ในเชียงใหม่ได้เปิดตัว GrabTukTuk ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเมืองเชียงใหม่ให้น้อยกว่า 70,000 tCO2e ในฝั่งของผู้ขับจะช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการเติมน้ำมันได้ถึง 80% Grab ยังวางแผนในการส่งเสริมทางเลือกด้านการเดินทางซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าสู่ไทย
นอกจากนั้น Grab ยังเตรียมเปิดพัฒนา Break the Silence โครงการได้ช่วยให้ผู้ขับขี่ที่หูหนวกและมีอุปสรรคทางการได้ยินมีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านฟีเจอร์ที่พุดคุยกับผู้ขับขี่ โดยร่วมกับสมาคมคนหูหนวกแห่งประเทศไทย
ให้ความสำคัญกับผู้พิการ
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จาก Grab for Good คือการให้ความสำคัญกับผู้พิการมากขึ้นผ่านการพัฒนาโครงการต่างๆ ฮุย หลิง ตัน บอกว่า “Grab ตระหนักดีว่าสิ่งที่ทำอยู่ไม่เพียงพอ กลุ่มผู้พิการกำลังมองหาโอกาสในการสร้างรายได้ที่ซื่อสัตย์ ภายใต้แพลตฟอร์มของ Grab เราไม่เลือกปฏิบัติ ดังนั้นเราต้องทำให้แพลตฟอร์มที่ง่ายที่สุดสำหรับพวกเขา”
Grab มีแผนที่จะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ในอนาคตสำหรับกลุ่มผู้พิการต่างๆ เช่น ป้ายแขวนบนยานพาหนะที่ระบุว่าพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่เป็นคนหูหนวก ในปัจจุบันผู้โดยสารจะได้รับการแจ้งผ่าน GrabChat การปิดระบบการโทรสำหรับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวกหรือบกพร่องทางการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อจากการโทร และคู่มือการสื่อสารกับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวกในแอปพลิเคชัน ที่จะแนะนำวิธีการสื่อสารกับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวก
“สิ่งที่เราพยายามทำคือการทำให้แน่ใจว่าความสนใจ ความเต็มใจ และความหลงใหลของพวกเขาได้รับการตอบรับให้สามารถเข้าสู่แพลตฟอร์มของ Grab ได้อย่างรวดเร็ว รวมไปถึงการสร้างรายได้ด้วย จุดนี้เองเรากำลังสร้างคุณค่าให้สังคมมากมาย”
ปัจจุบัน Grab มีผู้พิการเกือบ 800 คน ทั้งคนหูหนวก สมองพิการ หรือผู้ที่มีความบกพร่องทางการเคลื่อนไหวที่หารายได้ผ่านแพลตฟอร์ม ซึ่ง Grab วางแผนที่จะเพิ่มจำนวนอีก 2 เท่าภายในปีถัดไป โดยเตรียมขยาย Break the Silence ไปยังอินโดนีเซียและสิงคโปร์
ขณะเดียวกันเพื่อรองรับความต้องการของผู้พิการ Grab เปิดตัว GrabGerek บริการการเดินทางสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะในอีก 2 เมืองของอินโดนีเซีย โดย GrabGerek จะเปิดตัวในเมืองเมดันและเมืองเซอมารังในเดือนธันวาคมปีนี้
ทิศทางต่อไปของ Grab ทั้งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และไทย
นอกเหนือจากการพูดคุยเรื่อง Grab for Good แล้ว เรายังได้ถามถึงทิศทางต่อไปของ Grab ฮุย หลิง ตัน บอกกับ THE STANDARD ว่ามี 3-4 เรื่องสำคัญที่ Grab กำลังทำอยู่ในตอนนี้ผ่านการพัฒนาและปรับปรุงบริการ
หนึ่ง Grab ต้องการเพิ่มประเภทของการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นการส่งไฟฟ้าหรือสกูตเตอร์
สอง บริการเกี่ยวกับการเงิน ซึ่งในอดีตไม่ได้รับจากธนาคาร เช่น การชำระเงิน ไมโครไฟแนนซ์ การประกันภัยรายย่อย เหล่านี้เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคบางรายไม่ได้รับจากธนาคาร โดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาตอบโจทย์
สาม การลงทุนและปรับปรุงบริการส่งอาหาร ซึ่งผู้บริการในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ชอบมาก เนื่องจากการจราจรที่ค่อนข้างติดขัด การมีบริการส่งอาหารถึงบ้านจึงไม่ต้องออกไปด้วยตัวเอง
สี่ การเพิ่มพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งสามารถเข้าถึงฐานลูกค้ากว่า 100 ล้านคนของ Grab
สำหรับในไทยได้มีการเปิดตัวบัตรเครดิตที่ร่วมกับซิตี้แบงก์ ความน่าสนใจของบัตรนี้อยู่ที่การช่วยให้ผู้ใช้เข้าถึง Grab Awards ซึ่งเป็นแพลตฟอร์ม Loyalty Program ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมไปถึงการเปิดตัว Grab Kitchen หรือ Cloud Kitchen การจับเอาร้านอาหารยอดนิยมมาไว้ในสถานที่เดียวกัน
“ทั้งหมดนี้ก็เพื่อทำให้ Grab ก้าวเข้าสู่การเป็น Super-App ซึ่งยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องทำเพื่อทำให้เป็น Super-App อย่างสมบูรณ์แบบที่สุด Grab มีความปรารถนาอันแรงกล้าที่จะทำสิ่งอื่นให้มากขึ้นสำหรับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะการช่วยแก้ปัญหาของผู้บริโภค”
วิธีที่จะทำให้รับรู้ความต้องการของผู้บริโภคมากที่สุด ในขณะที่พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว Grab เลือกใช้การรับฟังลูกค้าทั้งหลังจากการให้บริการ หรือโฟกัสกรุ๊ปเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่ละเอียดมากขึ้น ที่ผ่านมา Grab จึงปรับปรุงบริการเล็กๆ น้อยๆ มาโดยตลอด นอกเหนือจากนี้ Grab ยังเตรียมใช้ AI เข้ามาช่วย
“สำหรับ Grab ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่คือเราจะทำสิ่งนี้และขยายขนาดได้มากขึ้นได้อย่างไร ด้วยเราเองไม่สามารถทำได้ด้วยตัวคนเดียว เราจึงพยายามค้นหาความร่วมมือจากคู่ค้าที่ดีที่สุดเพื่อแบ่งปันวิสัยทัศน์ร่วมกัน รวมไปถึงร่วมมือกับรัฐบาลท้องถิ่นและองค์กรเอกชนเพื่อช่วยพัฒนาทิศทางในอนาคตของแต่ละประเทศ”
ท้ายนี้เราถาม ฮุย หลิง ตัน ว่าได้เรียนรู้อะไรบ้างตลอด 7 ปีของการทำ Grab ซึ่งปัจจุบันขยายไปสู่ 8 ประเทศ 300 เมือง พร้อมด้วยผู้ประกอบการขนาดย่อมกว่า 9 ล้านราย หรือราว 1 ใน 70 คนของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
เธอตอบว่า “ส่วนตัวชอบการเรียนรู้ แม้บางครั้งจะเป็นการเดินทางที่เจ็บปวด แต่ก็เป็นการเดินทางที่คุ้มค่ามากหลังจากที่คุณได้เรียนรู้บางสิ่งที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์