×

Grab ประกาศกลยุทธ์ ‘แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ ยกระดับความรู้ด้านดิจิทัล ร้านค้า และทักษะแรงงาน

24.09.2019
  • LOADING...
Grab for Good

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แกร็บรายงานผลลัพธ์ทางสังคมเล่มแรก พบว่า ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ราว 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 12 เดือน
  • เปิดตัวกลยุทธ์เพื่อสังคม ‘Grab for Good แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ วางแผนภายใน 5 ปี ต้องพัฒนาคน 5 ล้านคน ให้เข้าใจเทคโนโลยี ช่วยร้านค้าขนาดเล็ก 5 ล้านร้านค้า และพัฒนาแรงงาน 20,000 คน
  • 2 โครงการแรกที่เริ่มก่อนคือ การร่วมกับไมโครซอฟท์เรื่องพัฒนาทักษะความเข้าใจการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และขยาย ‘Break the Silence’ โครงการสำหรับผู้พิการไปอินโดนีเซียและสิงคโปร์ และพัฒนาโครงการในมาเลเซียและไทย

กว่า 7 ปีที่ ‘แกร็บ’ โลดแล่นอยู่บนถนน Ride-Hailing จากจุดเริ่มต้นที่สิงคโปร์ ขยายไปสู่อินโดซีเนีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เวียดนาม พม่า กัมพูชา และไทย จากบริการเรียกรถแตกแขนงไปสู่บริการ เรียกรถมอเตอร์ไซค์ ส่งพัสดุ อาหาร ไปจนถึงบริการด้านการเงิน แกร็บขยายบริการหลากหลายจนเราคาดไม่ถึง

 

วันนี้ (24 กันยายน) ณ โรงแรมเวสทิน จาการ์ตา กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย แกร็บได้ออกรายงานผลลัพธ์ทางสังคมเล่มแรก โดยระบุว่า แกร็บได้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไปราว 5,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ในระยะเวลา 12 เดือน จนถึงเดือนมีนาคม 2562 โดยผลการคำนวณนี้ได้รับการรับรองจากบริษัทตรวจสอบบัญชี KPMG ตามกระบวนการที่ตกลงกันไว้

 

ผู้ประกอบการขนาดย่อมกว่า 9 ล้านราย หรือราว 1 ใน 70 คนของประชากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรายได้เพิ่มขึ้นผ่านแพลตฟอร์มแกร็บ ทั้งจากการเป็นผู้ขับขี่ ผู้ส่งของ ร้านค้า และตัวแทน ซึ่ง 21% ของผู้ขับขี่แกร็บ ไม่เคยทำงานมาก่อน ขณะที่อีก 31% ของพาร์ตเนอร์ตัวแทน ไม่เคยมีรายได้ก่อนเข้าร่วมตัวแทนแกร็บ-คูโด้ (Grab-Kudo) 

 

รายงานนี้ได้เปิดเผยข้อมูลอีกว่า แกร็บช่วยพัฒนาการเข้าถึงบริการทางการเงินและการจ่ายเงินแบบดิจิทัล ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งในปี 2555 โดยช่วยให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กจำนวน 1.7 ล้านราย เปิดบัญชีธนาคารบัญชีแรกได้สำเร็จ ที่สำคัญยังได้เข้ามาช่วยผลักดันภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในการก้าวสู่อนาคตสังคมไร้เงินสด โดยมีผู้ใช้เงินดิจิทัลมากกว่า 9 เท่าบนแกร็บ เมื่อเทียบกับอัตราการทำธุรกรรมไร้เงินสดทั่วประเทศทั้งหมด 

 

Grab for Good

 

Grab for Good แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า 

 

การมาอินโดนีเซียของ THE STANDARD ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ใจความสำคัญของการมาเยือนประเทศที่ธุรกิจของแกร็บใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คือการเข้าร่วมรับฟังการประกาศกลยุทธ์เพื่อสังคม ‘Grab for Good แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ 

 

แอนโทนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมที่จะก้าวขึ้นเป็นภูมิภาคที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลกภายในปี 2573 แต่ยากจะปฏิเสธความจริงที่ว่า ไม่ใช่ทุกคนจะได้รับโอกาสอย่างเท่าเทียม ซึ่งรวมถึงโอกาสความสำเร็จในการเติบโตของภูมิภาคนี้ด้วย 

 

หากภาคเอกชนร่วมกันสร้างโปรแกรมสำหรับชุมชนในแต่ละประเทศ เทคโนโลยีจะเป็นสิ่งที่สามารถเอื้อมถึงได้สำหรับหลายคน นอกจากนี้ทักษะการเรียนรู้ในสิ่งใหม่ๆ ยังจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ที่อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้มากขึ้น

 

“แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่าคือ การสร้างแพลตฟอร์มที่ทั่วถึง และเป็นพันธกิจของเราในการสร้างผลลัพธ์ในทางบวกและยั่งยืนในประเทศที่เรากำลังดำเนินธุรกิจอยู่”

 

Grab for Good

(ที่ 2 จากซ้าย) แอนโทนี ตัน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้งแกร็บ

 

ภายใต้ ‘แกร็บเพื่อชีวิตที่ดีกว่า’ วางเป้าหมายที่ต้องการบรรลุภายในปี 2568 หรืออีก 5 ปีต่อจากนี้ จำนวน 3 ข้อ ได้แก่ 

 

1. พัฒนาการมีส่วนร่วมและทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิทัล: โดยแกร็บตั้งเป้าที่จะส่งมอบทักษะความเข้าใจ รวมถึงการเข้าถึงการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลให้กับประชาชนทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวน 3 ล้านคน ภายในปี 2568 ด้วยการร่วมมือกับรัฐบาล บริษัทเอกชน และองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร

 

2. ส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็ก: แกร็บมุ่งมั่นที่จะช่วยธุรกิจดั้งเดิมและร้านค้าขนาดเล็กกว่า 5 ล้านแห่ง ในการใช้เทคโนโลยีมาประยุกต์เข้ากับขั้นตอนและกระบวนการทำงาน เพื่อที่จะช่วยในเรื่องของการจัดการค่าใช้จ่ายและเพิ่มการผลิต

 

3. เสริมสร้างแรงงานที่พร้อมก้าวสู่อนาคต: แกร็บมีแผนการจะให้การอบรมแก่นักศึกษาจำนวน 20,000 คน ผ่านโครงการค้นหาผู้ที่มีความสามารถด้านเทคโนโลยี

 

Grab for Good

 

เริ่มต้นด้วย 2 โครงการ พัฒนาทักษะเทคโนโลยี และ Break the Silence

 

เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ แกร็บประกาศเปิดตัวโครงการหลัก 2 โครงการ ได้แก่ 

 

1. การอบรมเพื่อพัฒนาทักษะ รวมถึงความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลระหว่างแกร็บและไมโครซอฟท์ โดยจะมีการฝึกฝนนักศึกษาทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค ทางไมโครซอฟท์จะให้ข้อมูลที่เป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรม รวมถึงหลักสูตร แพลตฟอร์มการเรียนรู้ และประกาศนียบัตร

 

สนับสนุนให้พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่สามารถเข้าเรียนหลักสูตรพัฒนาทักษะออนไลน์ของไมโครซอฟท์ได้ผ่านแอปพลิเคชันแกร็บ โดยจะเริ่มเปิดตัวด้วยภาษาอังกฤษในแกร็บอคาเดมี ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มอบรมออนไลน์ในแอปพลิเคชันแกร็บ ก่อนที่จะเปิดตัวภาษาอื่นๆ ปีหน้า และปูทางให้ผู้ขับขี่สามารถทำงานในสายเทคโนโลยี โครงการทดลองแรกจะเริ่มในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งจะเพิ่มทักษะให้กับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่จำนวน 100 คน โดยจะเริ่มฝึกอบรมกลุ่มแรกในเดือนมิถุนายนปีหน้า 

 

2. โครงการ ‘Break the Silence’ ที่เป็นโครงการระดับภูมิภาค ซึ่งเปิดตัวที่มาเลเซียในปี 2561 โดยได้ช่วยให้ผู้ขับขี่ที่หูหนวกและมีอุปสรรคทางการได้ยินมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการพูดคุยกับผู้ขับขี่ แกร็บได้พัฒนาฟีเจอร์เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ขับขี่ให้ดียิ่งขึ้น ได้แก่ ข้อความแจ้งเตือน เพื่อช่วยแจ้งให้ผู้โดยสารและผู้ใช้บริการทราบว่ากำลังใช้บริการจากพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวกอยู่, แชตสดผ่านแอปพลิเคชันแกร็บ, แผ่นป้ายสื่อสารบนรถยนต์และมอเตอร์ไซค์ และจัดการอบรมและจัดทำอุปกรณ์ช่วยสื่อสารขณะเดินทาง 

 

Grab for Good

ภายในงานมีล่ามภาษามือมาแปลให้กับผู้พิการทางการได้ยินที่เข้าร่วมด้วย

 

แกร็บวางแผนจะขยายโครงการ Break the Silence ไปยังอินโดนีเซียและสิงคโปร์ รวมถึงการพัฒนาโครงการในมาเลเซียและไทยที่กำลังดำเนินการอยู่ โดยแกร็บมีพาร์ตเนอร์หูหนวกมากกว่า 500 คน บนแพลตฟอร์ม และวางแผนที่จะเพิ่มจำนวนอีก 2 เท่าภายในปีต่อมา

 

เพื่อรองรับความต้องการของผู้พิการ แกร็บเปิดตัว GrabGerek บริการการเดินทางสำหรับผู้พิการโดยเฉพาะในอีก 2 เมืองของอินโดนีเซีย โดย GrabGerek จะเปิดตัวในเมืองเมดานและเมืองเซอมารังในเดือนธันวาคมปีนี้ 

 

อย่างไรก็ตาม แกร็บได้วางแผนที่จะเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ในอนาคต รวมถึงป้ายแขวนบนยานพาหนะที่ระบุว่า พาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่เป็นคนหูหนวก ในปัจจุบันผู้โดยสารจะได้รับการแจ้งผ่านแกร็บแชต ปิดระบบการโทรสำหรับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวกหรือบกพร่องทางการได้ยิน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการติดต่อจากการโทร. และคู่มือการสื่อสารกับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวกในแอปพลิเคชัน ที่จะแนะนำวิธีการสื่อสารกับพาร์ตเนอร์ผู้ขับขี่ที่หูหนวก 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising