×

กลยุทธ์ธุรกิจดุสิตธานี: พลิกวิกฤตยุคดิจิทัล สู่โมเดลกระจายสร้างรายได้จากทั่วโลก

08.10.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS. READ
  • เมื่อโรงแรมดุสิตธานี สีลม ปิดปรับปรุงถึง 4 ปี ทำให้รายได้หลักของบริษัทฯ หายไป ทางออกของดุสิตฯ ในการบริหารธุรกิจ บริหารคน และการปรับตัวในยุคดิจิทัลต้องทำอย่างไร
  • เปิดโลกธุรกิจใหม่ของดุสิตธานี เปิดโรงแรมเซกเมนต์ใหม่ ขยายธุรกิจอาหาร สุขภาพ เครื่องปรุงอาหาร ที่จะไม่ได้ขายแต่ในโรงแรมอีกต่อไป 

ต้นสายถนนสีลมที่ราคาที่ดินแพงระยับเป็นที่ตั้งของโรงแรมดุสิตธานีที่อยู่มากว่า 50 ปี ถือเป็นโรงแรมระดับแนวหน้าของไทยมาตลอด แต่เมื่อโลกเปลี่ยน ธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบไปด้วย จนล่าสุดตัดสินใจปิดปรับปรุงโรงแรมถึง 4 ปี ทว่า ดุสิตธานียังมีความน่าสนใจจนเข้าตาคณะกรรมการระดับโลก อย่าง Maekyung Media Group ผู้จัดงาน World Knowledge Forum กระทรวงการต่างประเทศสาธารณรัฐเกาหลี ฯลฯ จนได้รางวัลใหญ่ระดับภูมิภาค

 

THE STANDRAD มีโอกาสบินไปสัมภาษณ์พิเศษ ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC ที่ขึ้นรับรางวัล Regional Champion ถือเป็นรางวัลใหญ่ที่สุดในงาน ASEAN Entrepreneur Awards 2019 รางวัลแรกของคนไทยที่ผ่านการคัดเลือกจากทูตของอาเซียน

 

อ่านเบื้องหลังการปรับตัวของดุสิตธานีใต้มรสุมโลกดิจิทัลที่เปลี่ยนแปลงทุก Landscape อย่างไร

 

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของกลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC

 

Chapter 1: ปิดปรับปรุงโรงแรมดุสิตธานี สีลม ขยายธุรกิจใหม่ 

ศุภจีเล่าว่า ในระยะสั้นโรงแรมดุสิตธานีที่สีลมที่ปรับปรุงชั่วคราว 4 ปี อาจส่งผลกระทบกับงบการเงินช่วงไตรมาส 1 และ 2 เพราะเป็นส่วนที่สร้างรายได้หลักในพอร์ตของบริษัท แต่ภายในสิ้นปี 2562 คาดว่า รายได้จะกลับมาเติบโต 10% ตามแผน เพราะมีการกระจายการลงทุนในธุรกิจใหม่ เพื่อสร้างรายได้ชดเชยแล้ว

 

“โรงแรมดุสิตธานีที่ปรับปรุงชั่วคราวมีพนักงานราว 588 คน เราสร้างโครงการใหม่ขึ้นเพื่อรองรับพนักงานที่มีอยู่ และขยายไปธุรกิจใหม่ ได้แก่ บ้านดุสิตธานี ร้านอาหารที่รักษาความเป็นดุสิตฯ เปิดในย่านสีลม Dusit Event ที่ดูแลธุรกิจ Catering Dusit On Demand ทำธุรกิจเอาต์ซอร์สแม่บ้าน ช่างซ่อมให้โรงแรม 5 ดาวในกรุงเทพฯ นอกจากนี้มีธุรกิจ Dusit Street และ อสังหาริมทรัพย์ที่เปิดใหม่ ในหลายจุด โดยธุรกิจใหม่นี้เกิดจากอัตลักษณ์เดิมของดุสิตธานี โดยเฉพาะการบริการด้วยใจ”

 

แต่ธุรกิจใหม่ของดุสิตธานียังมีอีกมาก เน้นเซกเมนต์ Full Service Retail ทั้งลูกค้าปัจจุบันและลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ ที่แตกต่างออกไป เช่น ปี 2563 จะเปิดแบรนด์ใหม่ ‘อาศัย’ เพื่อขยายกลุ่มลูกค้ามิลเลนเนียลตอบโจทย์การบริการตามไลฟ์สไตล์คือ ไม่มีการ Check-In Check-Out ห้องจะไม่เน้นขนาดใหญ่ แต่ตกแต่งให้โดดเด่นเข้าถึงอัตลักษณ์ของท้องถิ่น   

 

นอกจากนี้จะขยายงานในต่างประเทศ ทั้งการซื้อโรงแรมเข้ามาบริหาร โดยภายใน 3 ปีนี้ โฟกัสในยุโรป อังกฤษ และญี่ปุ่น อีกทั้งมีการลงทุนในรูปแบบ Venture Capital ในบริษัทที่ให้บริการแพลตฟอร์มเพื่อการจองโรงแรมด้วย

 

ทั้งหมดนี้โดยเฉพาะ Business Unit ใหม่ ตั้งเป้าหมายภายใน 3 ปี จะสร้างรายได้ที่ 1,000 ล้านบาท ซึ่งภายในสิ้นปี 2562 น่าจะเห็นผลลัพธ์และทำได้ตามเป้าหมาย 

 

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงทุกขั้นตอน ต้องใช้เทคโนโลยีเพื่อทำให้พนักงานให้บริการได้ดียิ่งขึ้น ระบบการจัดการภายใน ทั้งระบบเก็บข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์สร้างบริการใหม่ เพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีให้ลูกค้า

 

บ้านดุสิตธานี 

 

Chapter 2: แตกไลน์ธุรกิจอาหาร เครื่องปรุง Health

ธุรกิจอาหารเพิ่งมาเริ่มเมื่อปี 2561 นอกจากจะเน้นธีม ‘Asia to the world’ ยังเน้นเทรนด์สุขภาพที่เกิดขึ้นทั่วโลก ได้แก่

1. การลงทุนโรงงานผลิตอาหาร ทั้งอาหารสำเร็จรูป อาหารกึ่งสำเร็จรูป เครื่องปรุง ที่ส่งออกไปต่างประเทศ ส่วนหนึ่งเพื่อแก้ปัญหาการขยายร้านอาหารที่อยู่ในโรงแรมที่ต่างประเทศ ซึ่งเครื่องปรุงบางอย่างหายาก ดังนั้น การควบคุมคุณภาพและรสชาติอาหารจะทำได้ดีขึ้น ซึ่งอนาคตจะขยายในตลาดทั่วไปด้วย

2. การลงทุนในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (ECC) ปัจจุบันทำธุรกิจอาหารในโรงเรียนนานาชาติของไทยราว 30 แห่ง ธุรกิจนี้คู่แข่งน้อย และดุสิตธานีสามารถต่อยอดไปถึงการทำอาหารสุขภาพ รวมถึงอาหารในดุสิตธานีด้วย

3. การตั้งบริษัท ดุสิต เรียล ฟู้ดส์ จำกัด (DRF) ผ่านความร่วมมือกับบริษัท เรียล ฟู้ดส์ พีทีวาย จำกัด ซึ่งเดือนตุลาคมนี้จะเปิดให้บริการอาหารสุขภาพใน ‘เวอร์จิ้น ฟิตเนส’ ของไทย และมีโอกาสที่จะขยายสู่สาขาในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ ออสเตรเลีย ฯลฯ

 

จากปัจจุบันที่ดุสิตธานีมีรายได้จากต่างประเทศเพียง 1 ใน 3 อนาคตคาดว่า จะมีสัดส่วนรายได้จากในประเทศไทย 50% และต่างประเทศเพิ่มขึ้นเป็น 50%  

 

บ้านดุสิตธานี (บ้านเบญจรงค์)

 

Chapter 3: อนาคตของดุสิตจะเป็นอย่างไร 

ศุภจีเล่าว่า ตั้งแต่เข้ามาทำงานที่ดุสิตธานีเมื่อ 3 ปีก่อน ได้วางแผน 9 ปีไว้ โดย 3 ปีแรก ​(พ.ศ. 2559-2561) จะแก้รากฐาน การบริหารจัดการ เพิ่มเทคโนโลยี ฯลฯ แต่ภายใต้โลกที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน ตอนนี้ถือว่ายังไม่พร้อมทุกด้าน แต่ยังคงต้องแก้ไปเรื่อยๆ 

 

แต่ช่วงที่ 2 (พ.ศ. 2562-2564) จะเริ่มเห็นการเติบโตจากหลายธุรกิจที่เริ่มลงทุนไปแล้ว ทำให้สิ้นปี 2562 คาดว่า รายได้จะเติบโตราว 10% แน่นอนว่า สัดส่วนธุรกิจของดุสิตธานีจะเริ่มเปลี่ยนไปจากปัจจุบัน สัดส่วนรายได้ของธุรกิจแบ่งเป็นธุรกิจโรงแรม 85% อื่นๆ 15% ในอนาคตจะเปลี่ยนเป็นธุรกิจโรงแรม 80% ธุรกิจอาหาร 10% ธุรกิจการศึกษา 10% 

ปัจจุบันธุรกิจด้านการศึกษาขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด การเปิดวิทยาลัยดุสิตการโรงแรมที่ประเทศฟิลิปปินส์ เตรียมการเปิดตัวโรงเรียนที่ประเทศศรีลังกา และอยู่ระหว่างการเจรจาในอีกหลายพื้นที่ เช่น ซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย

 

ส่วน 3 ปีสุดท้าย (พ.ศ. 2565-2567) ตั้งเป้าอยากเป็นดุสิตที่หลากหลาย เน้นเซกเมนต์ ไม่พึ่งพาธุรกิจใดธุรกิจหนึ่ง มีรายได้ในนอกประเทศ เพื่อสร้างสมดุลในพอร์ต 

 

Chapter 4: เมื่อความสำเร็จของดุสิตไม่ใช่แค่ประสบความสำเร็จ แต่ต้อง ‘นำไทยสู่สากล’

การที่ดุสิตธานีได้รับรางวัล Regional Champion ในงาน ASEAN Entrepreneur Awards 2019 น่าจะมาจากจุดแข็ง 3 ด้าน คือ



 

ข้อแรก โรงแรมเป็นธุรกิจที่เจอ Disrupt มาก มีทั้ง Business Model ใหม่ๆ ความต้องการใหม่ๆ ของลูกค้า หลังจากเข้ามาเป็นซีอีโอได้ 3 ปี ดุสิตฯ มีทิศทางรับการเปลี่ยนแปลงของโลกอย่างชัดเจน เพราะดุสิตฯ ไม่ได้ทำโรงแรมแบบเดิม แต่ทำธุรกิจให้หลากหลายขึ้น 

 

ข้อที่ 2 ดุสิตธานีสามารถรักษาความเป็นดุสิตที่มีมา 70 ปี แต่สามารถเชื่อมโยงอัตลักษณ์การบริการแบรนด์ลงมาอยู่ในทุกการเปลี่ยนแปลง อย่างการออกแบบ Dusit Central Park จะเก็บดีไซน์ของโรงแรมดุสิตธานีเดิมมาใส่ในโครงการใหม่ การบริการยังรักษาคุณภาพ ความน่ารักแบบไทยๆ ไว้ ผ่านโครงการต่างๆ ที่จะทยอยออกมาตั้งแต่ปีก่อน

 

3. การทำธุรกิจเพื่อนำอัตลักษณ์ของคนไทยให้คนทั่วโลกรู้จัก เป็นแบรนดิ้งที่สามารถขยายได้ทั่วโลก ปัจจุบันมีอสังหาริมทรัพย์ 271 แห่ง ใน 14 ประเทศ เช่น ไทย แอฟริกาใต้ ฯลฯ

 

คงต้องรอดูกันต่อไปว่า ‘ดุสิตธานี’ แบบใหม่ ที่ผสมผสานยุคดิจิทัลและความต้องการของคนยุคใหม่อย่างลงตัวจะเป็นอย่างไร

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising