อีกไม่ถึง 5 ชั่วโมง นิทรรศการ What is MUJI? แก่นแท้งานดีไซน์สไตล์มูจิ ที่จัดขึ้นในโถงชั้น G ของเซ็นทรัล เอ็มบาสซี จะเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นทางการ
จะว่าไปมันเป็นงานอีเวนต์สำคัญ เพราะนอกจากจะเป็นการฉลอง 70 ปีของห้างเซ็นทรัล ยังเป็นการเปิดตัว MUJI Flagship Store แห่งแรกซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยที่เซน เซ็นทรัลเวิลด์ อีกด้วย
แต่เหตุผลที่มาก่อนเริ่มงาน เพราะ THE STANDARD มีโอกาสได้พูดคุยกับ นาโอโตะ ฟุคาซาวา โปรดักต์ดีไซเนอร์ที่ผลงานออกแบบของเขาส่งให้แบรนด์ ‘มูจิ’ โด่งดังไปทั่วโลก
“มูจิใช้ความเรียบง่าย ราคาที่สมเหตุสมผล และการประหยัดทรัพยากรธรรมชาติเป็นปรัชญาหลักในการออกแบบของเรา ซึ่งผมคิดว่านั่นคือเสน่ห์ของมูจิ นอกจากนี้เราก็พยายามนำเสนอสินค้าที่กระตุ้นความอยากซื้อ เพราะผมเชื่อว่าทุกคนมีจุดร่วมอย่างเดียวกันเมื่อเลือกซื้อของ
“การที่มูจิสามารถเปิดสาขารอบโลกได้ ไม่ใช่เพราะตัวผลิตภัณฑ์เท่านั้น แต่ยังรวมถึงการทำการตลาดที่ดี เราต้องหาจุดร่วม หรือ Archetype ของกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มที่เขามีอยู่ในใจเหมือนกัน แล้วนำสิ่งนั้นมาใช้ในการออกแบบ
“ผมอยากให้มูจิในสายตาคนไทยนั้นเป็นประโยชน์และสร้างความอุ่นใจให้กับคนไทยที่จะมีผลิตภัณฑ์มูจิอยู่ในชีวิตประจำวันของพวกเขา
“การสร้างความอุ่นใจถือเป็นจุดสำคัญของมูจิ เพราะลูกค้าไม่ได้ซื้อสินค้ามูจิเพื่อเอาไว้ใช้อย่างเดียว แต่มูจิสร้างความรู้สึกผูกพัน เป็นเครือข่ายของคนที่ใช้มูจิเหมือนกัน ความเป็นเมมเบอร์ชิปที่ทำให้เขาอยากซื้อของใช้จากเราเรื่อยๆ แต่ถ้านั่นทำให้คนรุ่นใหม่ๆ อินตามได้ด้วยก็ยิ่งดีเข้าไปใหญ่”
ถ้าลองเสิร์ชหาบทความเกี่ยวกับ ‘มูจิ’ เราจะพบคำอธิบายเหล่านี้จากบทสัมภาษณ์ของเขา ที่วันนี้บทบาทในฐานะ ‘ดีไซเนอร์’ และตัวเขาแทบจะเป็นหนึ่งในภาพลักษณ์สำคัญของแบรนด์
แต่นอกเหนือจากหน้าที่ ‘สื่อ’ นี่จะเป็นครั้งแรกด้วยเช่นกันที่ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์มูจิจะได้พบและร่วมพูดคุยกับผู้ออกแบบตัวจริง… หลังจากเราหมดเงินไปสินค้าหลากหลายอย่างของเขามานานหลายปี
ความรู้สึกประเภท ‘ไม่เคยพบแต่กลับผูกพัน’ ทำให้เราอยากจะนำเสนออีกมุมหนึ่งของดีไซเนอร์ระดับโลกที่มากไปกว่า ‘คำตอบ’ เรื่องแนวคิดการออกแบบผลิตภัณฑ์ และภาพพอร์เทรตประกอบโทนขาว-ดำด้วยหน้านิ่งๆ ยิ้มเล็กๆ และกอดอกบ้างในบางครั้งบางคราว
บทสัมภาษณ์ครั้งนี้จึงเป็นเหมือนการใส่ฟิลเตอร์สีสันสดใสให้ภาพสแนปของ นาโอโตะในโมเมนต์ที่เขากำลังหัวเราะมากกว่า
001
ในห้องรับรองกว้างใหญ่กำลังดี ช่างภาพกำลังรัวชัตเตอร์ และสื่อมวลชนหลากหลายหัวกำลังรุมล้อมรอคอยที่จะได้ร่วมพูดคุยกับนาโอโตะ ฟุคาซาวา ซึ่งจะว่าไปก็ไม่ต่างกับพระเอกของงานในวันนี้
นาโอโตะมีผู้ช่วยที่คอยจัดท่าโพสให้อยู่ตลอด ทำให้ทุกภาพที่ออกมาเหมือนภาพที่เราคุ้นตาในอินเทอร์เน็ต ภาพโทนเข้มสีขาว-ดำ หน้าตานิ่ง ดูเคร่งเครียด พร้อมท่ากอดอก (ซึ่งดูไม่เป็นตัวเขาสักนิด)
5 นาทีแบบพอดิบพอดี
คือโอกาสทองที่เราจะได้ยืมตัวเขามานั่งพูดคุยด้วยแบบถามอะไรก็ได้ตามใจ เรียกได้ว่าเป็นการสัมภาษณ์แบบน้อย… และหวังว่าจะได้มาก แม้คุณนาโอโตะจะดูเป็นกันเองมากกว่าที่เราคิดเอาไว้ แต่การมีโอกาสได้นั่งพูดคุยกับเขาในระยะ ‘หนึ่งไม้แขวนเสื้อมูจิ’ มันก็ทำให้ต้องแอบเกร็งอยู่ดี
ตารางกิจกรรมของคุณตลอดทั้งวันนี้ดูยุ่งและอัดแน่นมากๆ เลยอยากรู้ว่าในวันปกติที่ไม่ต้องทำงาน ชีวิตของนาโอโตะ ฟุคาซาวา เวลาอยู่ที่บ้านกับครอบครัว คุณชอบทำกิจกรรมอะไรบ้าง
“ทำงานบ้านครับ” เขายิ้มตอบสั้นๆ… และด้วยใบหน้าของผู้ถามและความเงียบที่เหมือนจะได้ยินเสียงแอร์ ดีไซเนอร์ระดับโลกคงรู้ว่าควรจะใส่รายละเอียดอะไรเพิ่มเติมอีกสักนิด
“ผมทำงานบ้านเองทั้งหมดเลยนะ ตั้งแต่ซักผ้า ถูบ้าน ล้างจาน ทำอาหาร… อ้อ แล้วก็วิ่ง ผมวิ่งทุกเช้าเลย”
แสดงว่าของใช้ในบ้านต้องเป็นของมูจิแน่เลย
“ไม่นะ”
อ้าว… จาก ‘What is MUJI?’ ก็กลายเป็น ‘Why not MUJI?’ ทันที
“ผมเป็นนักออกแบบของมูจิ แต่ก็ไม่ได้ใช้ผลิตภัณฑ์ของมูจิเท่าไรเลย… แต่จะมีของใช้เล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันแหละครับ พวกนั้นผมก็ใช้ของมูจิแทบจะทั้งหมด แต่พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะเป็นแบรนด์จากยุโรปมากกว่า”
คุณดีไซน์เครื่องเล่นซีดีติดผนัง ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบที่โด่งดังและถูกจดจำอย่างมาก เราเลยอยากรู้ว่าช่วงที่กำลังออกแบบ ตอนนั้นคุณชอบฟังเพลงอะไร
“เพลงอิตาเลียนครับ เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ของคอมโพสเซอร์ชาวอิตาเลียน เอนนิโอ มอร์ริโคเน (Ennio Morricone) แต่ผมจำชื่อเพลงไม่ได้แล้วแฮะ”
เราไม่แปลกใจที่เขาเลือกฟังเพลงบรรเลงจากเอนนิโอ มอร์ริโคเน ผู้ประพันธ์บทเพลงให้ภาพยนตร์ระดับตำนานอย่าง The Good, the Bad and the Ugly (1996) และล่าสุดกับ The Hateful Eight (2015) เพลงเหล่านี้น่าจะช่วยให้เขาสมองแล่นขณะคิดงาน
“เขาดังมากเลยนะ ลองเสิร์ชในกูเกิลก็จะเจอ” นาโอโตะบอกเสริม
แต่นั่นเป็นงานออกแบบในยุคที่การฟังเพลงด้วย ‘ซีดี’ กำลังเป็นที่นิยม เดี๋ยวนี้คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยฟังเพลงด้วยซีดีกันแล้ว คุณกลัวบ้างไหมว่าคนจะไม่ซื้อเครื่องเล่นซีดีของมูจิ และงานออกแบบชิ้นสำคัญของคุณจะหมดความน่าสนใจไป
“ไม่หรอก บางทีมันก็เหมาะจะฟังเพลงจากเครื่องเล่นซีดีมากกว่า แบบติดในห้องน้ำหรือในห้องครัวแล้วเปิดฟังเพลินๆ อะไรแบบนี้ ผมเข้าใจว่าเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้มันมาไวไปไวมาก มูจิก็ต้องปรับตัวตามให้ทันและต้องติดใจคนให้ได้ แต่ในขณะเดียวกัน งานดีไซน์บางอย่างมันก็ไร้กาลเวลา อย่างเครื่องเล่นซีดีติดผนังอันนี้ คุณก็ไม่เห็นต้องใช้มันจริงๆ ก็ได้ บางคนที่ชื่นชอบมูจิ ชื่นชอบผลิตภัณฑ์นี้ เขาก็ซื้อไปเก็บไว้ ซื้อไปสะสม”
เมื่อไม่นานมานี้ ในโซเชียลเน็ตเวิร์กของเมืองไทยมีการแชร์ทั้งไวรัลคลิปและเรื่องราวเกี่ยวกับ ‘ยาดม’ ที่มีวางจำหน่ายในเมืองไทยว่าคนญี่ปุ่นฮือฮาและตื่นเต้นกับมันมาก อยากรู้ว่าคุณเคยรู้จักมันไหม คิดอย่างไรกับโปรดักต์นี้ และถ้าจะต้องออกแบบใหม่ คุณจะออกแบบมันแบบไหน
ทันทีที่เห็น คำตอบยังไม่มา แต่มันเรียกเสียงหัวเราะได้จากนาโอโตะ สิ่งที่เขาเห็นตรงหน้าดูจะเป็นโปรดักต์ที่ออกแบบมาได้ตรงกันข้ามกับสินค้ามูจิโดยสิ้นเชิง
“อ้อ ผมไม่เคยเห็นเลย แต่เคยได้ยินมาบ้าง”
แน่นอนว่าระหว่างคำถาม เราไม่ลืมยื่นแผงยาดมหลากสีของดีของเมืองไทยมาแกะโชว์ให้นาโอโตะทั้งดูและดมด้วย เขาหยิบดูพร้อมเสียงหัวเราะ และพยายามหาวิธีเปิด
“มันใช้ยังไงเนี่ย…ป้ายกับมือเหรอ”
“คุณดมมันได้เลย เปิดฝาแล้วใช้จมูกดม” เราบอกเขาถึงวิธีใช้งานแบบไทยๆ โมเมนต์ที่นาโอโตะทดลองดม ‘ยาดม’ เป็นอะไรที่ยิ่งกว่าไฮไลต์! ถึงแม้ว่าการดมยาดมครั้งแรกของเขาจะถึงกับทำให้ต้องทำท่าหงายหลัง ซึ่งความขี้เล่นของเขามันช่างต่างจากมาดนักออกแบบระดับโลกที่เราเคยเห็นจริงๆ
“อย่างแรกเลย ผมจะดีไซน์ให้มันเรียบขึ้น เลือกสีของแพ็กเกจให้มันเข้ากับกลิ่นกว่านี้… แล้วท่าดมมันไม่เท่เอาซะเลย น่าจะเปลี่ยนเป็นใช้ป้ายที่มือ แล้วดมจากมือน่าจะเท่กว่านะครับ”
บางทีก็ไม่รู้ว่า ‘คำถาม’ ที่เลือกถาม เราเลือกมาเพราะอยากรู้คำตอบจริงๆ หรืออยากให้เขาจดจำได้ แต่แอบคิดเข้าข้างตัวเองนิดๆ ว่าหลังจากนี้เขาน่าจะจำ THE STANDARD ได้ในฐานะสื่อที่สัมภาษณ์เรื่องยาดมนี่ล่ะ
002
5 นาทีทองของ THE STANDARD ผ่านไปแล้วพร้อมกับโมเมนต์ดมยาดม (ที่แอบภูมิใจได้ไหมว่านี่คือการ cross-cultural แลกเปลี่ยนความสัมพันธ์ไทย-ญี่ปุ่น) และอีกไม่กี่อึดใจข้างหน้า เราจะยังอยู่กับเขาในช่วงสัมภาษณ์กลุ่มร่วมกับสื่อมวลชนไทยที่ต่างผลัดกันถามคำถามนาโอโตะในมุมที่ตนเองสนใจ ซึ่งแน่นอนว่าทำให้เราพลอยได้คำถามดีๆ และมีสาระเพิ่มมาบ้าง
งานออกแบบของคุณขึ้นชื่อเรื่อง ‘without thought’ มันแปลว่าอะไร
“ก็ตามนั้นเลย งานออกแบบของผมคือการใช้สัญชาตญาณล้วนๆ เพราะเวลาคนจะซื้อของมาใช้ เขาก็ใช้สัญชาตญาณในการเลือกซื้อ ทุกคนในที่นี้ก็เหมือนกัน ท่านั่งและตำแหน่งที่คุณเลือกนั่งก็มาจากจิตใต้สำนึกของคุณ เซนส์ของคุณเองทั้งนั้น”
คำตอบของคุณทำให้เรารู้สึกว่าการออกแบบดูเป็นศิลปินที่กำลังสร้างงานศิลปะมากกว่านักออกแบบที่ออกแบบผลิตภัณฑ์อีก
“สำหรับผม ศิลปะมันแบ่งออกเป็น 2 แบบ อย่างแรกคืองานศิลปะที่ทำตามใจตัวเองเลย ไม่สนว่าแก่นจะดีหรือไม่ดี ขอให้สร้างความสนใจเท่านั้นพอ กับอย่างที่สองคือศิลปะที่สร้างความรู้สึกดี หรือสร้างประโยชน์ ผมมองว่างานออกแบบของผมเป็นศิลปะอย่างที่สอง
“สำหรับผม งานดีไซน์ที่ดีจะสามารถทำให้เราสังเกตเห็นสิ่งที่เราไม่เคยสังเกตเห็นได้ เช่น เวลาคุณเดินดูของในมูจิ คุณจะเจอสินค้าที่ทำให้คุณคิดว่า พอดีเลย! ฉันคิดอยากได้สิ่งนี้มาตั้งนานแล้ว”
…นี่เองคือกลยุทธ์ที่มูจิใช้ และทำให้ลูกค้าขาประจำอย่างเราๆ ที่เผลอเดินเข้าไปต้องออกมาจากร้านพร้อมกล่องพลาสติกหลากไซส์ สมุดจด (ที่มีแล้ว 10 เล่ม) และของใช้จิปาถะอีกนับไม่ถ้วนที่ไม่ได้ตั้งใจจะมาซื้อ แต่ก็ต้องซื้อ
เราได้ยินมาว่าคุณมีแนวคิดการออกแบบที่เรียกว่า ‘Super Normal’ ที่คุณชอบสังเกตพฤติกรรมของมนุษย์เวลาไม่รู้ตัวแล้วหยิบออกมาดีไซน์ผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์นั้นๆ ยกตัวอย่างเช่น การวางร่มของคนที่ชอบวางพิงไว้กับผนัง แทนที่คุณจะทำที่แขวนร่ม คุณกลับดีไซน์ร่องเอาไว้บนพื้นแทน เมื่อคนจะพิงร่มกับผนังจะได้มีที่ยึดไม่ให้ร่มหล่นจากพื้น เราเลยอยากรู้ว่าตั้งแต่เดินทางมาถึงเมืองไทย คุณเห็นพฤติกรรมอะไรที่น่าสนใจ หรือใช้เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบได้บ้าง
แม้คำถามเราจะดูยืดยาว แต่ก็หวังว่าคำตอบที่ได้จากเขาน่าจะดีทีเดียว
ติดอยู่นิดตรงที่คำถามยืดยาวนี้ถูกแปลเป็นภาษาญี่ปุ่นผ่านล่ามใจดี ซึ่งเมื่อแปลออกมา เราก็ได้คำถามใหม่ที่กระชับ เรียบง่าย แต่น่าสนใจ ไม่ต่างกับผลิตภัณฑ์ ‘มูจิ’ ว่า…
“ตั้งแต่คุณมาที่ประเทศไทย คุณพบเจออะไรที่เป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบบ้างหรือเปล่า?” แม้ใจความจะหายไปเยอะ แต่ก็ยังพอไหว
“ผมมาประเทศไทยหลายครั้งแล้ว ไม่ใช่แค่ที่กรุงเทพฯ ด้วย ผมได้รับการต้อนรับที่ดีเสมอ มีของสวยงามหลายอย่างที่ผมเอามาออกแบบต่อได้ และความอ่อนโยนของคนไทยที่รู้สึกได้ทุกครั้ง ซึ่งผมอยากนำมาปรับใช้ในงานออกแบบ… แต่ก็มีสิ่งที่ผมคาใจอยู่นิดหน่อย
“สายไฟฟ้าในไทยครับ ทำไมสายมันถึงเยอะขนาดนั้น” ท่าทางการเล่าและคำตอบของเขาทำให้ทุกคนต้องหัวเราะอีกครั้ง
แล้วถ้าคุณต้องจัดการกับสายไฟพวกนั้น คุณจะทำอย่างไร
“มันมีตั้งหลายวิธีนะ แต่ลดจำนวนสายไฟลงหน่อยไม่ได้เหรอ”
แม้ว่านาโอโตะจะมีเวลาพูดคุยกับสื่อมวลชนไทยได้ไม่นาน แต่ก็ทำให้เราได้เห็นว่าทำไมเขาถึงกลายเป็นนักออกแบบที่ได้ร่วมงานกับบริษัทชั้นนำระดับโลก และยังเป็นต้นแบบของดีไซเนอร์หลายต่อหลายคน
การได้พบเจอนาโอโตะแบบตัวเป็นๆ ครั้งแรกถือว่าเป็นการรวบรวมทั้ง ‘สิ่งที่เราคิดว่าเขาน่าจะเป็น’ ทั้งความฉลาดและความจริงจังในการทำงาน ไปจนถึง ‘สิ่งที่เราอยากให้เขาเป็น’ นั่นคือความภาพลักษณ์ความเป็นกันเอง อ่อนน้อมถ่อมตน ขี้เล่น และคำตอบที่จริงใจ จะว่าไปการสัมภาษณ์คุณนาโอโตะ ฟูคาซาวา ในครั้งนี้ก็เหมือนผลงานการออกแบบของเขาที่ทั้งฉลาด เรียบง่าย และตอบคำถามที่อยู่ในใจเราได้จริงๆ หลังจากนี้ผู้เขียนคงไม่มีโอกาสเห็นภาพของคุณนาโอโตะ ฟุคาซาวา ดีไซเนอร์ระดับโลกแห่งมูจิในจอคอมพิวเตอร์ โทรทัศน์ หรือปกหนังสือ เพราะภาพเหล่านั้นจะถูกแทนที่ด้วยภาพของคุณลุงใจดีคนหนึ่งที่สร้างผลงานระดับโลกไว้แทน