×

‘ดีอยู่แล้วทำไมต้องเปลี่ยน’ โจทย์ใหญ่ของ ภากร SET กับการฝ่าวิกฤต Disruption

29.09.2019
  • LOADING...

“ยิ่งประสบความสำเร็จมากเท่าไร คนในองค์กรยิ่งสงสัยว่าทำไมต้องเปลี่ยนแปลง”

 

แม้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะประสบความสำเร็จมายาวนานสักแค่ไหน แต่ภากร ปีตธวัชชัย ย้ำแน่ชัดว่า SET กำลังอยู่ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เพื่อตอบรับกระแสความปั่นป่วนของเศรษฐกิจโลก และ Technology Disruption โดยเฉพาะการมาถึงของ Libra, Blockchain และ ICO

 

สุทธิชัย หยุ่น คุยเจาะลึกกับ ดร.ภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในรายการ THE ALPHA

 


 

รับชม THE ALPHA: Era of Digital Transformation EP.2 ในรูปแบบวิดีโอสัมภาษณ์

 

คำว่า Transformation ภาษาไทยนี่ผมยังหาคำแปลตรงๆ ไม่ได้นะครับ ถ้าจะให้คุณภากร นิยามคำว่า Transformation ในยุคดิจิทัลให้คนไทยทั่วไปเข้าใจ อธิบายให้เขาฟังอย่างไรครับ

สำหรับผม Transformation มันคือการเปลี่ยนแปลงที่จะทำให้การให้บริการดีขึ้น ทำอย่างไรให้ชีวิตของพวกเราสามารถได้รับบริการที่ดีขึ้นจากการใช้เทคโนโลยี บางทีมันไม่ใช่แค่เทคโนโลยีหรอกครับ แต่เรามักจะนึกถึงก่อนว่าจะ Transform ต้องใช้เทคโนโลยี ผมและองค์กรของเรามองว่าการเปลี่ยนแปลงวิธีการให้บริการที่ดีขึ้นไม่ว่าจะด้วยวิธีการไหนก็ได้ คนของเราบริการดีขึ้น กระบวนการของเรามีประสิทธิภาพขึ้น หรือใช้เทคโนโลยีมาทำให้การให้บริการดีขึ้น มันเป็น Transformation ทั้งหมด แล้วไม่ใช่ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือปรับตัวแบบนี้เพิ่งเกิด มันปรับมาตลอด เพียงแต่ว่าในอดีตอาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยีมากนัก อาจจะเป็นใช้การเปลี่ยนแปลงวิธีให้บริการของคน เปลี่ยนเป็นวิธีการให้บริการของระบบการทำงาน แต่ในปัจจุบันสิ่งที่มันเกิดขึ้นมาแล้วมันเป็น Disruption ใหญ่คือว่า เทคโนโลยีเดี๋ยวนี้ดีจริงๆ ช่วยทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะฉะนั้นเราก็ต้องใช้ประโยชน์จากตรงนี้เข้ามาปรับปรุงการทำงานของเรา

 

ทำไมตลาดหลักทรัพย์ต้อง Transform ตัวเอง เราอยู่ของเราอย่างนี้ไม่ได้เหรอ เราค่อยๆ ปรับของเราตามที่เราพร้อมไม่ได้เหรอครับ 

คุณสุทธิชัยครับ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ถ้าเรามาดูกันว่าเป็นตลาดหลักทรัพย์ที่มีผลงานดีไหม มีผลิตภัณฑ์ที่ดีไหม มีนักระดมทุนที่เข้ามาระดมทุนอย่างต่อเนื่องไหม เราทำได้ดีนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงหลังๆ ถ้าเราไปดูทั่วโลกตลาดหลักทรัพย์ทั่วโลกมีการระดมทุนที่น้อยลง มีเฉพาะในกลุ่มประเทศเกิดใหม่  อย่างประเทศเราที่มีการเจริญเติบโตเยอะๆ ยังมีการระดมทุนอย่างสม่ำเสมอ และยังมีนักลงทุนที่เข้ามาลงทุน มีสภาพคล่องที่สูงขึ้นเรื่อยๆ แต่ว่าถ้าเราอยู่เฉยๆ อย่างนี้ ลองคิดดูสิครับเรามีคน 67 ล้านคน มีบริษัทจดทะเบียนอยู่ตอนนี้ 700 บริษัท มันจะโตขึ้นไปได้สักเท่าไร ถ้าเกิดเรายังโตเฉพาะอยู่ในประเทศ

 

ถ้มีคนมาบอกคุณภากรว่าเราดีแล้วนี่ เราจะต้องไปเดือดร้อนทำไม เราตกใจมากเกินไปหรือเปล่า

ที่น่ากลัวคือเราดีแล้ว แต่ว่าคนอื่นเขาดีเร็วกว่าเราหรือเปล่า แล้วเราจะเล็กลงไหมเมื่อเทียบกับคนอื่น ในประเทศเรา เราโตขึ้นอย่างสม่ำเสมอนะครับ แต่ว่าลองไปดู เราโตปีละ 3% ตลาดเราอาจจะโตปีละสัก 10% แต่ถ้าเศรษฐกิจรอบๆ เราเขาโตปีละ 7% แล้วบริษัทจดทะเบียนเขาโตปีละสัก 2 เท่าของ GDP เราจะทำอย่างไรครับ เราจะมา Marginally ลงเรื่อยๆ จุดขายของประเทศจะเป็นอะไร จุดแข็งของเราคืออะไรถ้าเรายังอยู่ในประเทศ โจทย์ของเราในวันนี้ก็เลยคือ 1. ถ้าเป็นเฉพาะที่ในประเทศ เรามีประสิทธิภาพขึ้นหรือยัง เราสามารถให้บริการคนในประเทศได้ดีที่สุดหรือยัง 2. เราจะต่อไปต่างประเทศอย่างไรบ้าง แล้วถ้าต่อไปมันมีต้นทุนที่สูงกว่าวิธีที่เข้าออกไปได้เอง ก็ไม่มีใครจะมาใช้เรา อันนี้ครับเลยเป็นสิ่งที่เราต้องใช้เทคโนโลยีเราต้องมีการปรับตัวตลอด บอกว่าเราจะทำให้การบริการในประเทศได้ดีขึ้น ได้ถูกลง ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไรบ้าง พอออกไปต่างประเทศ เราจะเชื่อมกับสิ่งที่คนให้น้ำหนัก คนมีความสนใจ ได้อย่างไรบ้าง

 

ช่วงไหนที่คุณภากรรู้สึกว่าเราไม่เปลี่ยนไม่ได้แล้ว อะไรหรือช่วงไหน หรือเหตุการณ์อะไร หรือตื่นขึ้นมาเช้าวันหนึ่งเราบอกว่า ถ้าตลาดหลักทรัพย์ไม่เปลี่ยนเจ๊งเลยนะ

ผมเรียนอย่างนี้นะครับ ตลาดหลักทรัพย์ของเรา ข้อดีคือเรามีฝ่ายบริหาร เรามีคณะกรรมการ เรามี Stakeholder ซึ่งต้องแข่งกับคนทั้งโลกมาโดยตลอด เพราะฉะนั้นผมมองว่าการปรับตัวของเรามีมาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ว่าในอดีตการปรับตัวยังไม่ชัดเจน แต่ในวันนี้สิ่งที่เราเห็นว่ามันชัดเจนมากขึ้น เห็นว่าตลาดออกมาทำโน่นทำนี่เยอะขึ้น เพราะว่าเราเริ่มเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียของเราเขาปรับตัวด้วยตามเรา

 

เขาปรับตามเรา หรือเราปรับตามเขา

เขาปรับตามเรา เพราะเรามองมาก่อนเลยครับ ยกตัวอย่างเช่น คุณสุทธิชัยทราบไหมครับว่าประเทศไทยระบบซื้อขายเราเป็น Computerized Trading Engine ที่แรกในเอเชีย ต่อมาคือเราปรับระบบซื้อขายของเราให้มันเร็วที่สุด ที่จริงแล้วเทียบเท่าได้ระดับโลกเลย เมื่อสัก 6 ปีที่แล้ว ระบบซื้อขายหลังบ้านรองรับ Multi-Currency ต่างๆ ได้ที่จริงเราค่อยๆ ปรับตัวมาโดยตลอด เพียงแต่ว่าในอดีตเทคโนโลยีทำอะไรช้า แต่เดี๋ยวนี้เทคโนโลยีมีหลักการคิดใหม่เป็น Agile Development เป็น Cloud Computing เป็นอะไรต่างๆ ที่ค่อยๆ ทำเป็นชิ้นเป็น Module แล้วมาประกอบเป็น Connecting The Node ได้มากขึ้นเรื่อยๆ อันนี้แหละครับคือสิ่งที่ผมมองว่าพอมันมีการพัฒนาวิธีการ Development ได้มันสามารถทำให้เร็วขึ้น ยกตัวอย่างนะครับ ในอดีตเราอยากจะสร้างแพลตฟอร์มตัวหนึ่งขึ้นมา อย่างเช่นระบบกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผมเชื่อว่าแต่ก่อนเราใช้เวลา 2-3 ปี ครั้งหลังสุดที่เราพัฒนาระบบ ที่จะเชื่อมต่อระหว่าง Selling Agent ของกองทุนรวมกับบริษัทจัดการกองทุนรวม เราใช้เวลาน้อยกว่า 1 ปี แต่เราทำเป็นชิ้นๆ มาประกบ วันแรกเราบอกเลยครับว่ามี 8 ชิ้นที่เราอยากจะทำ ปีนี้เราจะทำ 4 ชิ้นก่อน แล้วอีกปีเราจะทำ 3 ชิ้น แล้วปีสุดท้ายทำชิ้นสุดท้ายที่เหลือ แล้วตอนแรกทำเฉพาะเชื่อมต่อในประเทศ หลังจากนั้นเชื่อมต่อจากต่างประเทศ หลังจากนั้นทำ Back Office มาเป็นชิ้นๆ 

 

แบบนั้นไม่ได้อีกแล้ว ถ้าคิดแบบเดิมทุกวันนี้ไม่ได้แล้ว

ไม่ได้เลย เพราะว่าเดี๋ยวนี้ผมทำ Module เสร็จ ล้าสมัยเลยครับ เดี๋ยวนี้คือทำเป็นชิ้นๆ แล้วสามารถอัปเดตให้มันทันสมัยขึ้นได้เรื่อยๆ นี่แหละครับคือเป็นสิ่งที่เราสามารถพัฒนาได้เร็วขึ้น Agile Development การลงทุนที่เป็นขั้นตอนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เป็นสิ่งที่ทำให้การ Transition การพัฒนาของเราทำได้เร็วขึ้น

 

กลัวไหมครับในใจลึกๆ ว่าถึงจุดหนึ่ง ถ้าเทคโนโลยีไปถึงจุดนั้น ตลาดหลักทรัพย์ก็ไม่มีความจำเป็นต้องมีอยู่ เหมือนกับผมคุยกับแบงก์ชาติ ธนาคารพาณิชย์ มหาวิทยาลัย ถามเขาตรงๆ เลยนะ เคยคิดไหมว่าวันหนึ่งเราเนี่ย เขาบอก Invaluable เราไม่มีความจำเป็น มีเราหรือไม่มีเราก็ไม่ต่างกันเลย กลัวไหม

คำถามนี้เป็นคำถามที่ผมคิดมาอยู่ตลอด วันแรกที่ผมรับตำแหน่งที่นี่ นักข่าวถามผมว่า อีก 4 ปีข้างหน้ามองว่าตลาดหลักทรัพย์จะใหญ่แค่ไหน จะเป็นอย่างไรบ้าง สิ่งที่ผมตอบคือ อีก 4 ปีข้างหน้าผมยังไม่รู้เลยว่าตลาดหลักทรัพย์หน้าตาจะเป็นอย่างไร

 

เป็นคำตอบที่ถูกต้องที่สุด ‘ผมไม่รู้’ ใช่ไหม

แต่ผมรู้ว่าเรายังสามารถให้บริการในจุดที่เราทำได้ดี เราต้องมาเริ่มคิดก่อนครับว่าจุดแข็งของเราคืออะไร เราเป็นคนที่เป็น Trust Platform ในเรื่องตลาดทุน คุณจะทำอย่างไรให้คุณเป็น Trust Factor ตรงนั้นได้ คุณจะทำอย่างไรให้คุณมีประสิทธิภาพในการบริการตรงนั้นดีกว่าคนอื่นได้ ตรงนี้แหละครับคือตรงที่จะทำให้ตลาดหลักทรัพย์หรือใครก็ตามเจอ Disruption ยังสามารถให้บริการและโตต่อได้ เขาต้องรู้ก่อนว่าจุดแข็งของเขาคืออะไร เสร็จแล้วเขาทำตรงนั้นให้ได้มีประสิทธิภาพสูงกว่าคนอื่นได้อย่างไร 

 

ถ้า Trust มีความสำคัญขนาดนั้นเนี่ย Blockchain ก็คือ Trust Blockchain มี Trust ที่ตรวจสอบได้ Blockchain เป็น Trust ที่ทั่วโลก คนที่อยู่ในวงการเขารับรอง Verify ได้ ตลาดหลักทรัพย์จะสู้ Trust ของ Blockchain ได้อย่างไร 

ตรงนี้แหละครับคือตรงที่เป็นโจทย์ของเราว่า End game อาจจะเป็นอย่างที่คุณสุทธิชัยว่า แต่ว่าก่อน Transition คุณสุทธิชัยว่ามันจะไปได้ตรงนั้นเลยหรือเปล่า ประชาชนจะเชื่อ Node ทุก Node ที่มีอยู่ไหม จะต้องมีใครหรือเปล่าที่เป็น Trust Node ที่คอยยืนยันสิ่งที่เป็นจริงอยู่ กฎหมายจะยอมรับการกระจาย Accountability พวกนี้ได้หรือยัง ผมเลยมองว่าตอนนี้มันอยู่ในช่วง Transition ที่จะมีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด ถ้ากฎหมายออกมา จะมีการปรับ Ecosystem อย่างไร ตลาดหลักทรัพย์จากที่เคยเป็นศูนย์กลางจะกลายไปเป็นหนึ่งใน Node ในนั้นหรือเปล่า แล้ว Node แต่ละ Node ที่ตลาดหลักทรัพย์เคยทำหน้าที่ให้บริการทั้งหมดตั้งแต่จดทะเบียน ซื้อขาย บริการหลังการซื้อขายทั้งหมด จะยังอยู่เป็น Node เดียวไหม จะแยกเป็น Node เล็กๆ หลายๆ Node ของหรือเปล่า แล้ว Node แต่ละ Node ของเราที่ตลาดหลักทรัพย์ทำหน้าที่จะไปแข่งขัน และไปอยู่กับคนอื่นได้อย่างไร ผมว่าอันนี้แหละครับคือสิ่งที่จะเกิดขึ้น

 

คำถามเหล่านี้หาคำตอบอย่างไรครับ

สิ่งที่เราทำคือ ฝ่ายจัดการของเราจะต้องมาคิดกันว่าตอนนี้อุปสรรคของเราใหญ่ที่สุดอยู่ที่ไหน ในแต่ละจุด อุปสรรคดังกล่าวนั้นเราจะปิดความเสี่ยงของเราอย่างไร จะมีการปรับตัวอย่างไร จะมีการทดลอง มีเป็น Current เป็นเหมือนกับที่เราทำอยู่ กับการทำธุรกิจแบบใหม่ขนานกันไปหรือเราจะเปลี่ยนไปเป็นแบบใหม่เลย อันนี้คือโจทย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ในแต่ละสายงานจะมาพูดกันว่า Listing คุณต้องแข่งกับ Security Organization Offering (ICO) เราจะแข่งอย่างไร Trading เราต้องไปแข่งกับพวก Dark Pool เราจะแข่งอย่างไร Post-trade Registrar Depository เราต้องไปแข่งกับ Blockchain Technology, Wallet Technology เราจะแข่งอย่างไร เรื่อง Market Data, Fintech เราจะแข่งอย่างไร แต่ละสายงานต้องเริ่มคิดว่าเราจะปรับตัวอย่างไร แต่จุดแข็งของเราคือเรามี Value Chain ทั้งหมดที่เราให้บริการ เราจะมี Synergy เราจะมีประโยชน์ที่เราทำให้นักลงทุนเข้ามาคนหนึ่ง หรือบริษัทจดทะเบียนเข้ามากับเรา ได้ประโยชน์จากการที่ทำธุรกิจทั้ง Value Chain ของเราได้อย่างไร คุณสุทธิชัยลองคิดดูสิครับ ถ้าเกิดเป็น Fintech เข้าไปก็ได้บริการอันเดียว ต้องมี Customer Acquisition ต้องมี Know Your Customer ต้องมี Usability พอเสร็จ อยากจะมีจดทะเบียนอยากจะมา Trade ก็ไปเจอกันทำ Process พวกนี้เต็มไปหมด ตลาดหลักทรัพย์มีหมดเลย ให้บริการได้หมด แล้วถ้าเรามีประสิทธิภาพเท่า เราแข่งขันได้ ทำไมลูกค้าจะไม่อยู่กับเรา ผมถึงเรียนไงครับว่าทั้งสองเรื่อง เราต้องมีประสิทธิภาพและความน่าเชื่อถือ แล้วเราจะเปลี่ยน การทำงานในอนาคตให้เหมาะกับโลกในอนาคตได้อย่างไร

 

คุณภากรจัดการการเปลี่ยนแปลงตรงนี้ได้อย่างไรจัดการคนให้เข้าใจตรงกันได้อย่างไร

อันนี้คือโจทย์เลย ยิ่งในองค์กรที่ประสบความสำเร็จแล้วเนี่ย เขายิ่งมีความรู้สึกว่า Why Change? ก็ทำได้ดีอยู่แล้ว จะเปลี่ยนไปทำไม

 

ถูกต้อง ถึงบอกว่าความสำเร็จเนี่ย มีคนบอกว่าความสำเร็จเนี่ยเป็นอุปสรรคของความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุด เพราะว่าก็บอกเขาสำเร็จแล้ว ทำไมเขาต้องเปลี่ยนล่ะ บริหารตรงนี้อย่างไรครับ

อันแรกนี่ต้องให้เขาเห็นเลยว่า ใช่ คุณประสบความสำเร็จตอนนี้ คุณทำได้ดีมากเลย แล้ววันพรุ่งนี้ล่ะ คุณยังจะทำเหมือนเดิม หรือคุณคิดว่ามีอะไรที่ทำได้ดีขึ้น ตรงนี้ครับคือตรงที่เราต้องสร้างความท้าทายให้คนของเราเริ่มคิดเลยว่า แล้วคนอื่นเขาทำอะไรกันอย่างไร คุณมองแล้วนี่คุณกลัวไหม ถ้าคุณกลัว คุณจะปรับตัวอย่างไรบ้าง แล้วอันนี้มันไม่ใช่แค่คนเดียว ต้องปรับทั้งองค์กร เราต้องบอกเลยบอกว่าทั้ง Value Chain ของเรา เรากลัวอะไร เราจะปรับตัวอย่างไร แล้วถ้าคุณจะปรับตัว คนอื่นจะถูกกระทบยังไงบ้าง เพราะว่าคนของเรา เรามีหลายกลุ่ม ถ้าที่หนึ่งปรับ อีกที่หนึ่งไม่ปรับเกิดสภาวะคอขวดแน่นอน อันนี้เป็นโจทย์ที่ผมต้องเรียนเลยว่า เรื่องความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่เราเชื่อเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เราต้องพยายามทำให้คนของเราเชื่อว่า ถ้าเราไม่ปรับตัว เราลำบากแน่ 

 

ยากที่สุดคือ

Mindset นี่แหละครับ แต่ผมเชื่อว่าคนของเราถ้าทำได้สำเร็จมาในอดีตนะครับ อย่างน้อยเขามีต้นทุนแล้ว มันเหมือนเขามี Cushion ที่สามารถรองรับอะไรก็ได้ เพราะฉะนั้นถ้าเมื่อไรเขาเปิดรับเนี่ย เขาจะสามารถเริ่มทำของใหม่ๆ ได้ แต่เป็นไปได้มากเลยที่ความชำนาญ หรือ Knowledge, Know-how ของเขาในอนาคตอาจจะไม่ตรงกับในอดีต เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเริ่มคิดถึงการผสมคนสองกลุ่ม คนกลุ่มเดิมที่รู้ Pain Point กับคนกลุ่มใหม่ที่สามารถเข้ามาช่วยในการทำเรื่องใหม่ๆ ได้ จะผสมคนสองกลุ่มนี้ก็ไม่ง่าย

 

มีคนกลุ่มเดิมกับคนกลุ่มใหม่ ในบางแห่ง บางองค์กร คนรุ่นเก่าก็บริหารแบบหนึ่ง คนรุ่นใหม่ก็บริหารแบบหนึ่ง คุณภากรบริหารแบบไหน

ขอเล่าตัวอย่างตลกอันหนึ่งให้ฟังครับ ตอนนั้นเราอยากทำโปรเจกต์ใหม่ ซึ่งต้องจ้างเด็กรุ่นใหม่เข้ามา ผมก็หัวโบราณ ผมก็บอกว่าผมจะไปตั้งเป็นออฟฟิศอยู่ในแคมปัส อยู่ในพาร์กสวยงามให้เลย คือเผอิญเรามีสถานที่อยู่ น้องๆ เขามองหน้าผมแล้วเขาบอกว่า พี่ผมขอรถไฟฟ้า ผมไม่ขออะไรเลย ผมแค่ขอรถไฟฟ้ามาถึงข้างหน้าตึก นี่คือจุดเลย คนเขาไม่เหมือนกันเลย คนรุ่นเรากับคนรุ่นใหม่ วิธีคิดต่างกันมาก สิ่งที่ผมพยายามทำคือ ยากมากครับที่เราจะแบ่งองค์กร เพราะว่าจะทำให้มีการดูแลที่ไม่เหมือนกัน ซึ่งจะทำให้คนยิ่งรู้สึกว่าแตกต่างกัน สิ่งที่เราพยายามทำคือเราค่อยๆ ทำเป็น Transition ของที่เราจะทำใหม่ๆ เราจะเซตอัพเป็น Project Development Team ให้คนรุ่นเก่า คนรุ่นใหม่ คนที่เกี่ยวข้องทั้ง Value Chain ของการทำธุรกิจมาอยู่ร่วมกัน ให้เขาได้เห็นเลยว่าคนใหม่ให้อะไร คนเก่ารู้อะไรแล้วก็สามารถบอกอะไรที่จะทำให้เราไม่ต้องมีการเรียนรู้ซ้ำจากข้อผิดพลาดอันนั้น แล้วอันนี้ครับ แล้วการพัฒนาต่างๆ ให้มันเป็น Agile Development ทุกอย่างต้องมีการปรับได้เสมอ ผิดได้ ลองผิดลองถูกได้ เพราะว่าเราไม่รู้ว่าถูกคืออะไร คนยังไม่รู้เลยว่าผลิตภัณฑ์สุดท้ายหน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร หรือว่าลูกค้าจะอยากได้อะไรในตอนท้ายสุด เพราะว่ามันเป็นของใหม่ มันสามารถที่จะปรับตัวได้ แล้วยิ่งไปกว่านั้นจะทำยังไงให้วิธีการวัดสามารถวัดและปรับได้เสมอ เพราะฉะนั้น KPI ที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้ผมจะบอกเลย ว่ายากมากเราจะทำอย่างไรให้ KPI เป็นสั้นๆ แล้วก็วัดเป็นช่วงๆ สามารถเห็นได้ว่ามันมีความคืบหน้า หรือมีความสำเร็จอย่างไร และเรื่องที่สำคัญที่สุดคือ เราจะทำอย่างไรให้ลูกค้าของเราเข้าใจว่าไม่ใช่ทำทีเดียวแล้วได้เลย แต่จะต้องค่อยๆ เป็น Minimum Variable Product ค่อยๆ ปรับตัวไปเรื่อยๆ ให้ตรงความต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ นี้คือ สิ่งที่ยากมาก การสื่อสารทั้งในกลุ่มและนอกกลุ่ม

 

ขณะที่เราขยับภายใน พฤติกรรมผู้บริโภคข้างนอก ลูกค้าข้างนอกก็เปลี่ยนไปด้วย มันเหมือนกับขยับพร้อมกัน

ใช่ครับ ไดนามิกมากเลยครับ

 

เพราะฉะนั้นมันก็มีโอกาสที่เราจะลื่นตกได้ตลอดเวลา

ถึงต้องเรียนไงครับว่ามันเป็น Minimum Variable Product ออกมาได้เร็ว แล้วดูว่ามันใช่ไหม ถ้าไม่ใช่ปรับ แต่ถ้าใช่ทำให้มันดีขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนเลยว่า โลกในอนาคตคงยากมากที่เราจะสามารถมีผลิตภัณฑ์เดียวแล้วสามารถให้บริการได้กับคนทุกประเภท One Size Fit All ที่เราเคยมองนี่ไม่ค่อยมีแล้วล่ะครับ ถ้าจะเป็นอะไร มันต้องเป็นอะไรที่ค่อนข้างพื้นฐาน แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่เป็น Customized Product เป็นสิ่งที่เฉพาะเจาะจง เราจะต้องใช้ข้อมูลวิเคราะห์ ต้องเสนอให้ตรงความต้องการและเป็นไปได้ในขณะที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด เราจะทำอย่างไรให้มันเปลี่ยนได้

 

ความกล้าที่จะตัดสินใจ เช่น ยุบแผนกนี้ เลิกกิจกรรมนั้น ใช้วิธีการตัดสินใจอย่างไร

ขั้นแรกนะครับ เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้ดี แล้วข้อมูลของเราจะต้องถูกต้อง ต้องตรวจสอบยืนยันข้อมูลให้ชัดเจน อย่าลืมว่าการที่เราจะปรับองค์กรมีผลกระทบกับคน แล้วเรื่องที่สำคัญที่สุดขององค์กรในการให้บริการคือเรื่องคน เราจะเก็บคนของเราได้อย่างไร เราจะทำอย่างไรให้คนของเราเขามีความจงรักภักดีกับองค์กร จะสร้างคนสร้างความสามารถให้เขาได้อย่างไร เพราะเวลาที่เราลงทุนไปแล้ว เราก็อยากให้คนของเราอยู่กับเรา และก็อยากให้คนใหม่ๆ เก่งๆ มาอยู่กับเรา แต่ถ้าเราไม่มีการบันทึกประวัติการทำงานที่ดีในการที่จะดูแลคนของเราอย่างที่เหมาะสมมันก็ยากที่เราจะสามารถสร้างองค์กรแบบนั้นได้ เพราะฉะนั้นตรงนี้คือตรงที่ต้องเรียนเลยว่าไม่ใช่วิทยาศาสตร์อย่างเดียว แต่ต้องรวมทั้งศิลปะและวิทยาศาสตร์ค่อนข้างเยอะ และบางทีพอรวมกันแล้วการตัดสินใจตรงนั้นก็สำคัญ

 

ยากไหม

ยากสิครับ (หัวเราะ)

 

(หัวเราะ) แล้วต้องทำการตัดสินใจยากๆ นี้บ่อยแค่ไหนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา

ที่ตลาดหลักทรัพย์ผมมองว่าเรามีการทำงานที่ค่อนข้างไดนามิกมาก เพราะฉะนั้นสิ่งต่างๆ ที่เคยเป็น Legacy ของเราถ้ามีความจำเป็นต้องเปลี่ยนก็ต้องเปลี่ยน แต่การเปลี่ยนก็กระทบคนกระทบองค์กรต่างๆ เราก็ต้องสร้างความเข้าใจว่าเหตุผลที่เราเปลี่ยน เราเปลี่ยนเพื่อให้มันดีกว่าอย่างไรบ้าง แล้วก็เรามีการทำให้คนที่ถูกกระทบการจากการเปลี่ยนเนี่ย ถูกกระทบน้อยที่สุดได้อย่างไร อันนั้นครับผมว่าเป็นปัจจัยหลักเลยที่สำคัญคือ หนึ่ง เราต้องสื่อสารให้รู้ว่าทำไมมันต้องเปลี่ยน และสอง ผลกระทบของมันเราจะทำให้มีผลเสียน้อยที่สุดได้อย่างไรบ้าง

 

แต่ว่าการตัดสินใจเปลี่ยน ถึงแม้จะยืนยันแล้ว ถึงแม้จะหาข้อมูลวิเคราะห์แล้ว ก็ยังมีความเสี่ยงอยู่

มีครับ มีเสมอ

 

เพราะเราไม่มีอะไรรับรองว่าเราเปลี่ยนแล้วเราจะดีขึ้น

ครับ

 

ดังนั้นคำว่า Risk Management (การจัดการความเสี่ยง) ก็เปลี่ยนความหมายใช่ไหมครับ

Risk Management ในอดีตมักจะบอกว่า ถ้าเราจะทำจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง แต่เดี๋ยวนี้มันต้องดูอีกด้านหนึ่งด้วยครับ ถ้าเราไม่ทำจะมีความเสี่ยงอะไรบ้าง คือการทำธุรกิจสมัยนี้ผมมองเลยว่ามันคือเรื่องการจัดการความเสี่ยงทั้งนั้นเลย คือเราจะเข้าไปทำมีความเสี่ยงอะไร เราไม่เข้าไปทำมีความเสี่ยงอะไรบ้าง แล้วต้องมาเปรียบเทียบกัน หลังจากนั้นเราต้องหาให้ได้ว่าวิธีการของเรามีหลายๆ ทาง เรารับความเสี่ยงอะไรได้มากที่สุด แล้วเราก็เลือกอันที่เหมาะสมเมื่อเทียบกับผลตอบแทนที่เราคาดหวัง ผมว่าอันนี้จะเป็นจุดในอนาคตที่ไม่ว่าจะเป็นนักลงทุน บริษัทจดทะเบียนอะไรต่างๆ จะต้องให้น้ำหนักกับเรื่องการบริหารความเสี่ยงนี้มาก

 

มันจะเปลี่ยนไปแล้วด้วยซ้ำไปใช่ไหมครับ

โลกสมัยนี้ความเสี่ยงมันเยอะครับ อย่าใช้คำว่าความเสี่ยง ใช้คำว่าความไม่แน่นอนดีกว่า เพราะความเสี่ยงบางอันเป็นความเสี่ยงด้านโอกาส แต่ความไม่แน่นอนมีเยอะขึ้น

 

แต่ว่าในฐานะเป็นกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ ต้องรับมือกับบอร์ด ปัญหาของการรับมือกับบอร์ดที่อาจจะไม่ทุกคน เห็นพ้องต้องกันกับเรา ในแง่ของความจำเป็นที่จะต้อง Transform ทำอย่างไรครับ

ไม่ใช่เฉพาะกับบอร์ดนะครับ กับทีมการจัดการด้วยกันนี่แหละ เราก็ไม่เห็นด้วยกันบางทีเหมือนกัน วันแรกอาจจะไม่ได้คิดว่า ถูกต้องหรือไม่ถูกต้อง สิ่งที่ต้องทำคือเหตุผลของเราต้องมีหลักการ เราต้องมีหลักการที่ชัดเจน เราต้องแสดงให้เห็นได้ชัดว่าการที่เราจะทำ ประโยชน์ของเรา ประโยชน์ขององค์กรคืออะไร เราปิดความเสี่ยงได้อย่างไร วิธีปิดความเสี่ยง วิธีที่เราจะทำมันเหมาะสมกับในสถานการณ์นั้นอย่างไรบ้าง เมื่อกี้คุณสุทธิชัยพูดน่าสนใจมาก เราไม่รู้หรอกว่ามันจะออกมาอย่างไร เพราะตอนนี้ที่เราดูความจริงข้อมูล การวิเคราะห์ของเราทุกอย่างบอกว่าใช่ แต่ถ้าเกิดมันไม่ใช่ล่ะ เราปิดความเสี่ยงอย่างไรบ้าง เรามีวิธีลดความเสี่ยงเรามีวิธีที่เราจะต้องธุรกิจอย่างไรบ้าง เมื่อกี้นี้ผมใช้คำว่า Connecting the Dot สำคัญที่สุดเลยนะครับว่า เรามี Dot อะไรที่เรารู้บ้าง แล้ววันนี้เราจะเลือกจุดไหน เราจะไปเส้นไหน วันนี้เราอาจจะบอกเราวิ่งเส้นตะวันออกเฉียงเหนือ แต่พอเราไปบอกไม่ใช่ เราเปลี่ยนได้อย่างไรบ้าง ถ้าเราไม่มีทางเลือก ไม่มี Dot ที่ให้เราไปได้เราจะมีปัญหาแน่ 

 

เราต้อง Agile พอด้วย

ถูกครับ

 

เราต้องปราดเปรียวพอที่ว่าพอเลี้ยวซ้ายปั๊บ ติด เราต้องออกซ้ายขวาได้ ไม่ได้ตกตะลึงมึนงงอยู่ ไม่รู้จะทำอะไรอย่างนั้นใช่ไหมครับ

Contingency Plan หรือ Business Contributes ที่ตลาดเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถ้าเกิดอันนี้ขึ้นมาปุ๊บ เราต้องทำอะไรตามขั้นตอน 1 2 3 4 สิ่งที่ถูกคาดหวังไว้แล้วเนี่ยเราต้องมีประสิทธิภาพ ส่วนสิ่งที่ไม่ได้คาดหวังไว้เราต้องหา วิธีการรองรับเตรียมไว้ นี่คือเรื่องที่เราให้น้ำหนักให้ความสำคัญมาโดยตลอด

 

วิธีเดียวกับบอร์ดทำอย่างไรครับ

บอร์ดนี่ครับ สิ่งที่เราต้องเสนอให้บอร์ดเขาเข้าใจคือ หนึ่ง ประเด็นของเราคืออะไร อันนี้เป็นความเสี่ยงหรือเป็นโอกาส ความเสี่ยงหรือโอกาสที่เกิดขึ้นเนี่ย แผนการทำงานของเราคืออะไรบ้าง เราจะทำอะไรอย่างไรบ้างกับความเสี่ยงนั้นหรือโอกาสนั้น ถ้าเกิดไม่ประสบความสำเร็จเราจะปิดความเสี่ยง หรือเราจะถอยออกมาได้อย่างไร อย่างน้อยนี่คือสิ่งที่เราต้องเสนอเพื่อให้กรรมการของเราได้คิดแล้วบอกว่า โอเค เราให้คุณทำโดยจากการที่เหตุผลที่คุณให้ แต่ถ้าเกิดมันไม่เป็นอย่างนั้น คุณมีวิธีทำให้ความเสี่ยงหรือความสูญเสียเนี่ยมันน้อยที่สุดได้อย่างไรบ้าง หรือคุณได้ประโยชน์จากการที่คุณทำอะไรบ้าง

 

คือกับ Management เราเปลี่ยนเขาได้ แต่กับบอร์ด เขาเปลี่ยนเรานะ

ใช่ครับ เขาเป็นคนให้ Direction เรา แต่โจทย์ของเราคือเราสามารถอธิบายได้ว่าทิศทางที่ให้ เราขอทำอะไรเพิ่มเติมหรือเราสามารถจะเลือกทำอะไรก่อนได้ อันนี้ครับคือความสำคัญ เพราะในสถานะการบริหารจัดการเรามีหน้าที่ที่จะต้องบอกบอร์ดบอกว่า สิ่งที่ท่านให้มานี่คือไกด์ไลน์ แต่วิธีทำของเราคืออะไร แล้วเราจะทำอะไรอย่างไรบ้าง

 

แล้วที่ผ่านมามีปัญหากับบอร์ดไหมครับหรือบางส่วนของบอร์ดไหมครับ

ผมมองอย่างนี้ครับ ข้อดีของคณะกรรมการที่เรามีคือ ท่านมีความรู้ความสามารถในคนละด้าน เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้คือคำแนะนำที่บางทีเราไม่ได้คิด บางทีเราอาจจะคิดน้อยไป ผมคิดว่าอันนี้เป็นสิ่งที่ได้ประโยชน์จากคณะกรรมการ แน่นอนครับความคิดอาจจะไม่ตรงกัน แต่สิ่งที่ได้มาก็คือ หน้าที่ของเราก็คือ เมื่อได้รับฟังความคิดเห็นหรือได้รับทิศทางการทำงานมาแล้วเนี่ย เราจะสามารถเสนออะไรที่ทางกรรมการยอมรับ แล้วเราสามารถทำงานได้ อันนี้คือความท้าทาย

 

บอร์ดปัจจุบันของตลาดหลักทรัพย์ มองเรื่อง Transformation อย่างไรครับ นโยบายของบอร์ดเลยคืออะไรครับ

คณะกรรมการมีความคิดอย่างนี้เลยครับว่า เราจะถูก Disrupt แล้วเราจะปรับตัวอย่างไรบ้าง เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราได้นำเสนอกรรมการมาโดยตลอดก็คือว่า Transition ของเราหรือความมุ่งมั่น หรือวิสัยทัศน์ หรือเป้าหมายของเรา เป็นอะไร แล้วเราจะไปตรงนั้นได้อย่างไรบ้าง ด้วยเทคโนโลยี ด้วยการใช้คน ด้วยการสร้าง Business Model ต่างๆ เราจะต้องมีความชัดเจนในแต่ละเรื่อง แล้วก็จัดลำดับความสำคัญของเราคืออะไรอุปสรรคใหญ่ที่สุดคืออะไร เมื่อกี้สิ่งที่ผมได้พูดกับคุณสุทธิชัยก็คือ ประเด็นที่เรามองมาโดยตลอดเลยครับว่าเรามีอุปสรรคอะไร เราจะปรับตัวอย่างไร เราทำอะไรได้ดีอยู่ เราจะทำให้มันดีขึ้นได้อย่างไรบ้าง ของใหม่ๆ ที่เราจะทำเป็นอะไรบ้าง ผมขอลองยกตัวอย่างเลยแล้วกันครับ ถ้าเรามาดูตลาดหลักทรัพย์เนี่ยครับ สิ่งที่เราทำมาได้ดีโดยตลอดนี่ก็คือจดทะเบียนรับบริษัทใหม่ มีการซื้อขาย มีการ Clearing Settlement ทุกอย่างทำได้ดี ด้วยเหตุผลที่ว่าตอนนี้เราเป็นที่หนึ่งในอาเซียน เรามีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนเยอะที่สุดในอาเซียน แต่โจทย์ต่อคือ ในอนาคตเขาไปที่ไหนก็ได้ ทั้งนักลงทุน คนระดมทุนจะทำอย่างไรให้เขามี Stickiness อยู่กับเรา เราก็บอกเลย ขั้นตอนแรก เราจะสร้างโครงสร้างพื้นฐานของตลาดทุน การโอนเงินในตลาดทุน การต่อเชื่อมนักลงทุนสถาบันกับ Selling Agent การทำเรื่องเกี่ยวกับการทำ Customer Acquisition ให้ง่าย ทำ National Digital ID Proxy ต่อไปต่อระบบการซื้อขายกองทุนรวมกับต่างประเทศ ทั้งเอาของไทยไปขายเมืองนอก เอาของเมืองนอกมาขายในไทย อันนี้คือสิ่งที่เราทำเหมือนเป็นโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ได้เกี่ยวกับระดมทุน ไม่ได้เกี่ยวกับซื้อหุ้นแต่ว่าเป็นของใหม่ ทีนี้ข้อดีคืออะไร คนที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในตลาดทุน พอเขาเข้ามาในระบบตลาดหลักทรัพย์ เขาทำ KYC ทำ Suitability ทำ Due Diligence ทีเดียว เขาใช้ของพวกนี้ได้หมดเลย 

 

เป็น Platform ให้เขา

ใช่เลยครับ เวลาเราพูด เราได้ยินคำว่า Platform เยอะๆ นั่นคือสิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์มองเลยว่าเราต้องเป็น Platform แต่เป็น Platform แบบที่ว่าถ้าคิดถึง Operating System ของ iPhone ก็คือ iOS แต่เราต้องมีแอปพลิเคชันบนนั้นมาใช้เยอะ นี่คือสิ่งที่เราสร้างอยู่ แล้วทีนี้ในอนาคต อันนี้คือปัจจุบันแล้วล่ะ เรามี Exchange Market ของ Equity Product เรามี Platform ที่ต่อเชื่อมไปได้เยอะขึ้น แล้วในอนาคต พวก Digital Assest เราจะทำอย่างไรกับตรงนี้ Crypto Currency, STO, Security Organize Offering เรื่องเกี่ยวกับการต่อเชื่อมต่างประเทศแบบที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นโดยไม่ต้องเป็นต่อเชื่อมแบบธรรมดา เราจะทำอย่างไรกับตรงนี้ได้บ้าง

 

แล้วพวกนี้ไม่ได้อยู่ภายใต้กติกา หรืออยู่ภายใต้การครอบคลุมของเราด้วยนะ

ถ้าอยากเข้ามา เขาก็เข้ามา

 

ใช่

ใช่ครับ

 

ใช่ไหม ครับ ไอ้ตรงนี้แหละที่มันไม่ได้อยู่ในขอบข่ายของความรับผิดชอบของเราด้วยซ้ำไป แต่มันเป็นภัยคุกคามให้เราได้ เราเข้าไปหาเขาเพื่อจะไปทำลายภัยคุกคามหรือเราตั้งกำแพงเพื่อที่จะไม่ให้ไปทำลายเรา

ผมมองว่าเราทำทั้งสองอย่างไม่ได้เลยครับ ลองคิดถึงเรื่อง Libra ก็ได้ครับ วันแรกที่เราเห็น Libra นี่เราแบบ โอ้โห 

 

ช็อกเลย

เราชอบ

 

ชอบเหรอ

เพราะว่าวันแรก คุณสุทธิชัยลองคิดดูสิครับ แต่ก่อนสมมติว่าประเทศไทยจะเป็นจุดเชื่อมต่อไป CLMV กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนาม อะไรคือความยากที่สุด การโอนเงิน

 

ถูกต้อง

การแลกเงินเป็นเงินสกุลท้องถิ่นแล้วก็ไปซื้อขายหุ้นในประเทศนั้นๆ Libra แก้ปัญหาพวกนี้หมดเลย ที่ตลาดหลักทรัพย์เราคิดเรื่องพวกนี้มานานแล้วครับว่า เราจะทำไหม ออกเป็นเซตเป็น Coin แล้วทำให้ตลาดหรือคนในภูมิภาคสามารถแลกสกุลเงินต่างๆ มาเป็นเซต Coin เพื่อการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ พอมาเป็นอย่างนี้ ถ้าเรามีสองทางเลือกเลยครับจะทำเซต Coin ขึ้นมาแข่งกับ Libra หรือจะใช้ Libra เมื่อกี้ที่คุณสุทธิชัยถามว่าเราจะบล็อกหรือเราจะอย่างไร ผมว่ามันเป็นตัวเลือกครับ เราจะเลือกไปทำ ไปใช้เขาเลยหรือเราจะทำแข่งกับเขา แต่คำตอบที่บอกว่าบล็อกไม่สนใจ คงยากมาก เพราะถ้าเกิดเราบล็อกนี่เราจะยิ่งเล็กไปเรื่อยๆ อย่างที่เมื่อกี้เราพูดกัน

 

Libra นี่เราชอบ เพราะว่า Concept แต่ว่ามันก็เป็นภัยคุกคามให้เรา

ลองฟังคอนเซปต์ของเขาอันแรกสิครับ เทคโนโลยีที่เขาใช้จะเป็นโทคโนโลยีที่เปิดไม่ใช่เป็นของใครเลย อันที่จะมาทำเป็นพื้นฐาน อันที่สองมี Access Back คือเป็นสกุลเงินต่างๆ ที่เข้ามา Back อันที่สามให้คนเข้ามาเป็น Trust Factor เขาพยามแก้ปัญหาเรื่องสกุลเงิน Crypto หมดเลย นั่นคือสิ่งที่ทำไมผมถึงเรียนไงครับว่าวันแรกที่เราเห็น มันคือไอเดียที่ใช่เลยในอนาคต

 

แต่ถ้าคุณมองเป็นภัยคุกคามนะ

อันนั้นในมุมมองธนาคารกลาง ในมุมมองของรัฐบาล ใช่ แต่ในมุมมองของผู้ใช้พอเห็นปุ๊บมันช่วยแก้ปัญหาเกี่ยวกับเรื่องความยากลำบากในการทำธุรกิจข้ามพรมแดน

 

ถ้าอย่างนั้น ตลาดหลักทรัพย์จะกล้ากระโดดลงไปไหม เพราะว่านักกฎหมายแบงก์ชาติ กลต. ก็อาจจะบอกระวังหน่อยนะ ไอ้นี่เราไม่รู้ว่าจะมาไม้ไหน แล้วเราเชื่อได้แค่ไหน แต่ตลาดหลักทรัพย์เห็นว่าสุดยอดเลย นี่เป็นเครื่องมือใหม่เลย เรากระโดดลงไปเลย หรือเราต้องปรึกษานักกฎหมาย

อันแรก ต้องปรึกษานักกฎหมายแน่นอน แต่สิ่งที่เราจะขอปรึกษานี่จะเป็นว่า เราจะขอทำอย่างไรที่จะทดลองในขอบเขตที่ภาครัฐหรือนักกฎหมายควบคุมได้ แล้วมีความสบายใจ ยกตัวอย่างเช่น ขอทำเฉพาะเป็นวงเงินประมาณแค่นี้ กับกลุ่มนักลงทุนในภูมิภาค CLMV ในการซื้อขายหุ้นแค่ 20 ตัวใหญ่สุดในตลาดหลักทรัพย์ ชื่อนี้ๆ โดยให้การทำธุรกรรมในแต่ละวันไม่เกิน คือผมว่ามันต้องเป็นแบบนี้อะครับ ที่ค่อยๆ ทำให้ภาครัฐหรือ Regulator เขาสามารถมีความสบายใจได้ว่าเขาทำสิ่งต่างๆ มันควบคุมดูแลได้อย่างถูกต้อง

 

แล้วจะทำไหม

ผมว่าอันนี้เป็นสิ่งที่เราคิดอยู่โดยตลอด แล้วก็เป็นสิ่งที่คงต้องดูกันว่า เราจะสามารถทำอะไรได้ แต่ว่าเรามีการปรึกษากับทางภาครัฐของเรามาโดยตลอดว่าถ้าจะทำ ควรจะทำอะไรอย่างไรบ้าง

 

ที่ผมมองว่าจัดเป็นคู่แข่งก็คือ ICO ที่เขามาระดมทุน โดยไม่ต้องผ่าน IPO แล้ว อย่างนี้ตลาดมองว่าเป็นภัยคุกคามหรือว่าเป็นโอกาสที่จะสร้างความร่วมมือ

ผมมองว่ามีทั้ง 2 ส่วนนะครับ เราทำเองก็ได้ หรือเราร่วมมือก็ได้ ถ้าเราทำเอง จะทำในจุดไหน ถ้าเราร่วมมือจะเป็นจุดไหน ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเป็นธุรกิจในประเทศไทยเราไม่ต้องร่วมมือกับใครเพราะเราเป็น Trust Factor ในประเทศไทยอยู่แล้ว เราทำเรื่องนี้ได้ดีที่สุด เราทำเรื่องนี้เรามีกลุ่มนักลงทุนที่มีอยู่แล้ว ยกตัวอย่างสมมตินะครับ ถ้าเราจะเลือกทำ STO เคสแรกๆ จะเป็น STO ประเภทไหน อาจจะเป็น STO ของประเภทบริษัทที่เป็น MNC ในประเทศไทย เอา R&D Project มาทำ STO เป็น R&D Project  หลายๆ โปรเจกต์ ซึ่งนักลงทุนสามารถเลือกลงทุนได้เป็นชิ้นๆ เล็กๆ แล้วก็สามารถกระจายความเสี่ยงได้ แบบนี้ครับเป็นจุดเริ่มต้นที่เราสามารถทำได้ แต่ถ้าเรามองจะทำพาร์ตเนอร์ ทำข้ามประเทศล่ะ เราควรจะมีพาร์ตเนอร์ไหม ใช่ เพราะข้ามประเทศนี่เราไม่ได้มีความชำนาญเราไม่รู้จักคนในต่างประเทศเลย ถ้าผมจะไปเอาโปรเจกต์จากในยุโรปมาขายให้คนไทย ยกตัวอย่างเช่นเป็นบริษัทที่มีธุรกิจในประเทศไทย อยากจะ Spin-off (เรียกหุ้นทั้งหมดคืน) บางโปรเจกต์มาขายคนไทย ทำไมผมจะไม่อยากมีพาร์ตเนอร์เป็นคนในยุโรปใช่ไหมครับ อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเพิ่งเรียนว่า เราจะทำอะไรเราต้องรู้ว่าจุดแข็งของเราคืออะไร ถ้าเราจะมีพาร์ตเนอร์ จุดแข็งของพาร์ตเนอร์คืออะไร แล้วจะทำร่วมกันได้อย่างไร ในโลกในอนาคต ถ้าจะพัฒนาขึ้นมาเองทุกอย่างคงยาก เพราะฉะนั้น Partnership หรือ Platform ที่ต่อเชื่อมแอปพลิเคชันได้เยอะๆ น่าจะเป็นคำตอบที่เราให้เราสามารถขยายธุรกิจได้เร็วขึ้น แล้วก็เป็นการให้บริการที่สามารถดูความพร้อม ดู Security ดูเรื่องเกี่ยวกับความปลอดภัยได้ง่ายกว่า

 

อยู่ในแผนไหมครับตอนนี้

อันนี้เป็นแผนของเรามาโดยตลอดนะครับ เราจะมีแผนที่เราพูดให้กับทางสื่อมวลชน แล้วก็คนในอุตสาหกรรมของเราได้ทราบว่าแผนในตลาดหลักทรัพย์อีก 3 ปีข้างหน้า หน้าตาจะเป็นอย่างไรบ้าง แล้ว 3 ปีที่ผ่านมา หรือแผนในปีนี้เนี่ยเราทำอะไรไปแล้วบ้าง เราจะต่อยอดอย่างไรบ้าง เพราะว่าตลาดหลักทรัพย์ทำเองไม่ได้ครับ เราเป็นตัวกลาง เราไม่ใช่คนทำธุรกิจเราต้องต่อเชื่อมคนทำธุรกิจให้ไปกับเรา

 

ในท้ายที่สุดอะไรจะเป็นอุปสรรคเป็นภัยคุกคามใหญ่ที่สุดสำหรับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

ถ้าเราไม่เคลื่อนไหว ถ้าเราไม่ปรับตัว แต่ถ้าเราปรับตัวแล้วเรารู้ตัวว่าเราทำอะไรได้ดี ต่อยอดอย่างไรบ้าง เราทำอะไรไม่ได้ดี เรามีพาร์ตเนอร์ เราเอาคนเข้ามาช่วยเราทำอะไรได้บ้าง ผมมีความเชื่อครับว่าเราไม่ Irrelevance อย่างที่คุณสุทธิชัยพูด แล้วเราจะสามารถหาจุดแข็งของเราได้ในอนาคต แล้วยิ่งไปกว่านั้น ผมเชื่อว่าจากการที่เราทำแบบนี้ ตลาดทุนไทยจะแข็งแรงขึ้น แล้วตลาดทุนไทยจะสามารถต่อเชื่อมกับประเทศอื่นๆ ได้มากขึ้น

 

ในโลกนี่ดูตัวอย่างตลาดหุ้นไหนครับที่เราคิดว่าเขาปรับตัวได้ แต่ตามแนวทางที่เราอยากจะทำบ้าง

เป็นคำถามที่ดีมากนะครับ เพราะว่าตลาดทุนทั่วโลกนี่เขามีจุดแข็งที่ไม่เหมือนกัน ในตลาดทุนของเขา ลักษณะของเขาก็ไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นเลยครับว่า ส่วนนี้ของตลาดนี้คือเราชอบ ส่วนนี้ของตลาดนี้คือเราอยากได้ มันจะเป็นเหมือนการรวมกลุ่มของหลายๆ ตลาด แล้วก็น่าสนใจครับ ตลาดที่มีการปรับตัวเรื่องพวกนี้เยอะๆ ไม่ใช่ตลาดใหญ่ๆ แต่เป็นตลาดที่อยู่ในขนาดกลางๆ นี่แหละ ที่มองว่าจะใหญ่ขึ้นทำอย่างไร ถ้าเกิดไม่ใหญ่ขึ้น คนใหม่จะขึ้นมาแข่งกับเขาอย่างไร เพราะฉะนั้นเราจะเห็นครับตลาดตรงกลางๆ นี่แหละครับจะเป็นคนที่ปรับตัวเยอะที่สุด

 

ประเทศไทยบ้างที่เราดูอยู่

ถ้าเราดูอยู่เนี่ยจะมีสวิตเซอร์แลนด์ แล้วก็มีเยอรมนี มีกลุ่มพวกนี้นะครับที่เขาปรับตัวได้เร็ว แล้วเขาก็เริ่มทำ

 

เขาปรับตัวอะไรบ้างที่เราคิดว่า เราควรจะต้องเลียนแบบเขา ประเด็นไหน อย่างไร 

ลองยกตัวอย่าง สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี ออสเตรเลีย เขาปรับคนละแบบกันหมดเลย ออสเตรเลียเขาพูดก่อนเลยว่าระบบหลังบ้านเขาต้องมีการปรับทุกอย่าง เขาอยากจะใช้เป็น Block Chain ทั้งๆ ที่ระบบปัจจุบันของเขาก็เป็นระบบที่ทันสมัยมาก แต่เขามองเลยบอกว่าในอนาคต เทคโนโลยีอันนี้ ทำให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นได้ เขาดูเรื่องการซื้อขายเรื่อง Back Office ก่อน อย่างสวิตเซอร์แลนด์ตั้งตลาดใหม่มาเป็น Digital Asset Exchange

 

ตลาดใหม่เลยนะ

ตลาดใหม่เลย

 

แยกจากของเดิมเลยนะ

ครับ ขนานกับ Traditional Market ไปเลย

 

แต่บริหารคนละแบบ คนคนละกลุ่ม แนวคิดวิธีการก็คนละแบบ

การเข้าถึงคนละแบบหมด อย่างเยอรมนีก็จะมีตลาดบางแห่งที่บอกเลยว่า ผมสนใจสกุลเงิน Crypto ผมซื้อ Crypto Currency Exchange เลย แล้วผมก็ขยายตรงนั้นต่อไป แล้วในอนาคตผมจะมีพวก Digital Access มาอยู่ใน Crypto Exchange ของเขา อันนี้ผมถึงเรียนว่ามันเป็นจุดแข็งของแต่ละที่หมดเลย 

 

ของเราล่ะ เราเอาแบบไหนมา ส่วนนั้นนิด ส่วนนั้นหน่อย หรือว่าเอาแบบเยอรมนีไปเลย หรือเอาแบบสวิตเซอร์แลนด์ไปเลย

เรามองอย่างนี้ครับ ถ้าเป็นด้านตลาดที่เราเก่งอยู่แล้ว Traditional Market ทำอย่างไรให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทำอย่างไรให้ Back Office ของเรามีประสิทธิภาพขึ้น จะใช้เทคโนโลยี Block Chain หรือไม่ใช้ ทำอย่างไรให้ดีขึ้น เราก็ต้องไปดูว่าสามารถปรับอย่างไรได้บ้าง ถ้าเป็นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานเราก็บอกเลยเราเป็นหนึ่งในประเทศในตลาดไม่กี่ประเทศนะครับ ที่เราบอกว่าเราทำโครงสร้างพื้นฐานให้กับตลาดทุน คุณสุทธิชัยทราบไหมครับที่สวิตเซอร์แลนด์ ตลาหลักทรัพย์ของสวิตเซอร์แลนด์รายได้ที่สองเขารองจาก Trading คืออะไร 

 

Clearing Credit Card เวลาเราเซ็นเครดิตการ์ด เขาเป็นระบบในการส่งข้อมูลเรื่องการโอนเครดิตการ์ด คือเขาทำตัวเป็น Infrastructure รายได้ของเขา 30% นี่มาจากตรงนี้เลย ของพวกนี้คือสิ่งที่ผมเรียนบอกว่าตลาดหลักทรัพย์เราทำแล้วนะ เรื่องการเพิ่มประสิทธิภาพใน Core Exchange Function ในส่วนที่สองที่เป็นโครงสร้างพื้นฐาน เราก็เริ่มทำแล้วเริ่ม Mutual Fund Platform ของเรา เรื่องเกี่ยวกับการโอนเงินต่างๆ เดี๋ยวนี้ส่วนแบ่งตลาดของเราขึ้นมาสูงมากเลยจากการทำเรื่องพวกนี้นะครับ เรื่องที่สามเรื่องเกี่ยวกับ Digital Asset เราจะทำเรื่องพวกนี้อย่างไรบ้าง เราจะปรับตัวตรงนี้อย่างไร STO Platform นะครับ Trading Platform ที่เป็นสำหรับ Digital Asset เรื่องเกี่ยวกับการทำ Wallet อันนี้คือสิ่งที่เรากำลังดูอยู่เลย

 

3 ปีข้างหน้า ผมเห็นมีแผน 3 ปี เดี๋ยวนี้ไม่พูดถึง 5 ปีแล้วนะ 3 ปีก่อน (หัวเราะ)

จริงๆ 1 ปีนี่ก็ต้องมาปรับกันแล้วแหละครับ

 

ใช่ (หัวเราะ) เอาล่ะ 3 ปีข้างหน้า วางไว้อย่างไรว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยจะเดินไปอย่างไร

สิ่งที่ผมได้พูดไปทั้งหมดนะครับเจ้า 3 กล่องที่เป็น Business Model ของตลาดหลักทรัพย์กล่องซ้ายสุดของเราเราก็มีเป้าหมายของเราที่ชัดเจนเลยว่าเราจะต้องโต มีการ IPO มีการระดมทุนในตลาดรองเท่าไรบ้าง จะต้องมีการซื้อขายประมาณเท่าไร มีสภาพคล่องอย่างไรบ้าง อันนั้นคือเป้าหมายของตลาดแรกเลย ในส่วนที่ 2 โครงสร้างพื้นฐาน จะทำอย่างไรให้เรามีการให้บริการ เรื่องเกี่ยวกับการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานมากขึ้น เพื่อให้มีคนให้บริการต่อยอดจากเราได้ ในส่วนที่ 3 เราจะมี Digital Exchange ขึ้นมา แล้วสามารถมีผลิตภัณฑ์ ซึ่งไม่ใช่เฉพาะเป็น Financial Asset นะครับ ผลิตภัณฑ์ที่เป็น Social Enterprise ต่างๆ จะอยู่บนนี้ได้อย่างไรบ้าง เราลองมายกตัวอย่างอันหนึ่งครับ ในปัจจุบันสิ่งที่นักลงทุนทั่วโลกให้ความสำคัญเยอะคือเรื่อง ESG เรื่อง ความยั่งยืนเราจะมีโครงสร้างพื้นฐานอะไรสักอย่างได้ไหม ที่ทำให้บริษัทจดทะเบียนสามารถใช้โครงสร้างอันนี้ แล้วสามารถแสดงให้นักลงทุนเห็นได้ว่าเขามีโครงการที่ดีต่อสังคมดีต่อสิ่งแวดล้อม ดีต่อเรื่อง Governance ลองยกตัวอย่างนะครับ ปัจจุบันเรื่องคาร์บอนเครดิตเนี่ยเป็นเรื่องที่คนสนใจมาก เราจะทำยังไงที่มีระบบโครงสร้างพื้นฐานที่สำหรับคนที่ทำการลดคาร์บอนเครดิตได้ เราสามารถตรวจสอบยืนยันเขาสามารถมาจดทะเบียนได้ว่านี่คือสิ่งที่เขาทำ แล้วนอกจากนั้นจะทำอย่างไรที่ถ้าเกิดเขาอยากจะขายคาร์บอนเครดิต เขาสามารถขายให้คนที่อยากซื้อได้ แล้วเงินทุนที่ได้มาเอาไปใช้ลงทุนเพื่อลดคาร์บอนจริงๆ อันนี้ครับคือ Platform ที่จริงๆ แล้วมันคือเทคโนโลยีเดียวกับ SCO เลยเพราะมันคือ Block Chain เทคโนโลยี เราสามารถขยายตรงนี้ต่อยอดออกไปไม่ใช่เฉพาะเรื่องเกี่ยวกับ Financial Asset  แต่เป็น Social Asset นี้ได้อย่างไรบ้าง

 

ตรงนี้ก็อยู่ในแผน

อันนี้ก็อยู่ในสิ่งที่เราทำอยู่เลย

 

คนเนี่ย จะต้องเอามาทำให้แผนมันเกิดขึ้น สกิลของคน ทักษะของคนปัจจุบันนี่พอไหมครับ

คนปัจจุบันของเราสามารถทำให้เขามาทำธุรกิจพวกนี้ได้ส่วนหนึ่ง แต่มันต้องมีส่วนใหม่เหมือนกันครับ ที่เข้ามาเสริม อย่างเช่นคน IT ของเราอย่างในอดีตเขาอาจจะเก่งเรื่อง Platform แบบหนึ่ง แต่พอมาเป็น Block Chain นี่เขาต้องเรียนรู้เลย โจทย์เรา อันนี้เป็นสิ่งที่ผมเรียนคุณสุทธิชัยครับว่า เราจะทำอย่างไรที่เราทำ Partnership ได้ เราสร้างเองนี่มันไม่ทันแน่นอน เราจะเอามาเป็นสำเร็จรูปหรือ Joint Venture เป็นอะไร อันนี้ครับคือสิ่งที่เรากำลังค่อยๆ ขยายไปเรื่อยๆ 

 

จากการหาพาร์ตเนอร์ในด้านต่างๆ 

ใช่ครับ

 

บางเรื่องอาจจะ Outsource ไป บางเรื่องอาจจะเป็นพาร์ตเนอร์เฉยๆ 

บางเรื่องอาจจะลองทำเอง

 

อาจจะต้องทำเอง คนต้องเปลี่ยน คุณสมบัติของคนต้องเปลี่ยนอย่างไรบ้างถ้ามองไปอีก 3 ปีข้างหน้า

เรื่องคุณสมบัติเรื่องความสามารถอะไรอย่างนี้ แน่นอนอยู่แล้ว Mindset สำคัญที่สุด

 

เนี่ยถึงบอกว่ามันยากที่สุด แล้วมันไม่มีที่ไหนสอนได้ด้วย (หัวเราะ)

ผมถึงได้เรียนรู้ว่าเราต้องทำให้เขาเข้าใจว่ามันต้องเปลี่ยน เสร็จแล้วต้องสร้างทีมที่ทำให้คนของเรามาอยู่รวมกันแล้วสามารถคิดไปในทาง เดียวกันได้ คนเก่าคนใหม่ต้องมี Mindset ที่คิดว่า เออ มันต้องทำแบบนี้ไปด้วยกัน ต้องเป็น Agile ต้องใช้เทคโนโลยีแบบนี้ อันนี้คือสิ่งที่วันแรกจะยากมากเลย เพราะบางคนมาบอกว่าไม่เห็นต้องใช้เลย Block Chain ใช้ Dynamic Database ก็ได้ แต่เราก็ต้องบอกข้อดีข้อเสีย ถ้าใช้แบบเดิมเป็นอย่างไรบ้าง แบบใหม่เป็นอย่างไรบ้าง โอเค ตกลงร่วมกันแล้วนะ ขั้นตอนต่อไปเราจะทำอย่างไร

 

พูดถึง Mindset การปรับการเปลี่ยนเนี่ย คุณภากรอยู่บนสุด เป็นซีอีโอแต่ลงมาเนี่ย มันก็จะมีระดับรองซีอีโอ รองซีอีโอก็จะลงมาถึงระดับหัวหน้าฝ่ายต่างๆ นานา ลงมาถึงฝ่ายปฏิบัติการทั้งหลายแหล่ การจะทำให้มันเวิร์ก เราต้องเริ่มจากข้างบนลงมาข้างล่าง หรือเราต้องจากข้างล่างไปข้างบนครับ ในการ Transform หลายบริษัทบอกผมว่ามันต้อง Top Down มัน Bottom up ไม่ได้มันก็ผิดหลักการบริหารที่เราเคยเรียนรู้มาสิว่ามันต้อง Bottom up ทุกอย่างมันต้องลงไปถึงระดับปฏิบัติการ จะอยู่ดีๆ สั่งการข้างบนได้อย่างไรตอนนี้มันก็ต้องเปลี่ยนวิธีคิดวิธีปฏิบัติสิครับ 

ผมใช้ทั้ง 2 วิธีครับ อันแรกเนี่ยเราต้องได้รับการยอมรับจาก Management นั่นแน่นอนในกลุ่มคนที่เป็นผู้บริหาร ต้องทำให้เขายอมรับ ต้องทำให้เขาเข้าใจ ในขณะเดียวกันเราต้องสื่อสารกับพนักงานทั้งหมดของเรา เพราะว่าการที่เราจะเปลี่ยนองค์กรเนี่ย มันกระทบเขาหมดเลย เพราะถ้าเขาไม่เข้าใจหรือมันอาจจะมีการสื่อสารที่ไม่ครบถ้วน เขาก็อาจจะไม่ไปกับเราด้วย เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมพยายามทำคือทั้ง 2 ด้าน ในส่วน Management เราตั้งเป็นคณะกรรมการ Management เลยครับ แล้วทุกอย่างที่เราจะทำ ผมจะไม่บอกเขาว่าผมอยากได้อย่างนี้ แต่ผมจะให้พวกเราช่วยกันคิด และให้พวกเราบอกว่าพวกเราอยากได้แบบนี้ ให้มันเป็นมติเอกฉันท์ เพราะฉะนั้นความยากมันอยู่ตรงนี้ล่ะครับ ถ้าเกิดจะบอกให้เขาทำเนี่ยมันง่าย แต่ถ้าเกิดจะบอกให้เขาช่วยกันคิดแล้วเห็นด้วยว่าควรจะทำเนี่ยมันต้องใช้เวลาค่อนข้างเยอะ แล้วมันก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากที่จะทำให้ทุกคนคิดแล้วก็ได้ผลมาเหมือนกัน เพราะฉะนั้นเราต้องมีความชัดเจนให้ได้ว่าทิศทางเราเป็นแบบนี้ ข้อดีเราชัดเจน ทำให้ทุกคนเห็นพ้องด้วย แต่ในส่วนที่เราต้องสื่อสารลงไปให้กับพนักงานของเราทั้งหมดเนี่ย เราต้องพูดให้เขาได้ยิน ให้เขารู้เลยว่าที่ทิศทางของเราเป็นแบบนี้เนี่ย ภาพกว้างๆ ของเราที่จะทำคืออะไรบ้าง จะกระทบคนของเราอย่างไรบ้าง คำถามแรกใน Town Hall ที่เราทำ ก็คือถามเลยว่าจะมีการลดขนาดไหม จะมีการเปลี่ยนคนไหม สิ่งที่ผมจะต้องอธิบายให้ทุกคนฟังก็คือ ถ้าเราปรับตัวได้แล้ว เราสามารถทำอะไรที่มีประโยชน์ต่อองค์กรได้ มันไม่มีความจำเป็นเลย มักจะมีคำถามครับว่า AI จะมาทดแทนคนหรือเปล่า ถ้าเราทำงานเหมือนเดิมนะ เป็นไปได้ แต่ถ้าเราเปลี่ยนวิธีทำงาน เราสามารถทำให้สิ่งที่เราทำ AI ทำไม่ได้ อันนั้นไม่มีทางเลยที่ AI จะมาทดแทนได้ เหมือนกันครับ เราก็เลยบอกกับพนักงานเราเลยว่า ถ้าคุณทำให้งานของคุณมีประสิทธิภาพสูงขึ้น คุณทำงานได้มากขึ้น คุณทำงานใหม่ๆ ได้ อันนี้เป็นอะไรที่ไม่ต้องห่วง แต่ในความเป็นจริงก็มี ที่บางคนอาจจะบอกเลยว่า เขาปรับตัวไม่ได้ อันนี้ก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายของเราเลยครับว่าเราจะทำอย่างไรที่ทำให้คนกลุ่มนี้ ยังสามารถทำงานให้ได้

 

สมมติเขาอายุสัก 45 อยู่กับองค์กรนี้มา 20 ปีแล้ว เป็นคนซื่อสัตย์สุจริตทำงานขยันขันแข็ง ไม่เคยทำอะไรผิดเลย เดินมาหาคุณภากรบอก ท่านผมเข้าใจทุกอย่างเลยนะ แต่ผมปรับตัวไม่ได้ จะให้ผมทำอย่างไร แล้วผมก็กลัวตกงานด้วยผม 40 กว่า คงยังไม่เกษียณอะ ผมรู้ว่าผมต้องปรับต้องเปลี่ยนนะแต่มันยากมากเลยอะ จะแนะนำเขาอย่างไร

ก็มีอยู่ 2 วิธีนะครับ สำหรับผม วิธีแรกก็คือบอกว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้เขาทำงานได้มากขึ้นในสิ่งที่เขาทำได้นะครับ ลองยกตัวอย่างก็ได้ อย่างวันนี้ผมดูในองค์กร เรามีระบบเรามี IT อะไรต่างๆ มากมายที่มันสามารถทดแทนงานบางอย่างของคนได้ ถ้าเรามีงานแค่นี้ คนของเราอาจจะมีมากเกินไป เป็นไปได้ไหมที่เราจะไป Insourcing งานจากที่อื่นมาทำ ยกตัวอย่างเช่น เรามีองค์กรที่เกี่ยวข้องกับเราเยอะแยะ ที่เขามีฟังก์ชันที่บางทีเขาไม่จำเป็นต้องมี อย่างเช่นเรื่องบัญชี เรื่อง IT เรื่อง HR อะไรต่างๆ Insourcing เขามาได้ไหม

 

แทนที่จะไป Outsource เรา Insource เขามา

Insource เลยเพื่อที่ว่าคนของเราจะได้มีงานมากขึ้น มีมูลค่าที่สามารถ ไปทำให้คนอื่นสามารถใช้คนในการทำธุรกิจต่อยอดได้ อย่างที่ผมเรียนครับ เมื่อกี้ที่ผมบอกว่า เราทำโครงสร้างพื้นฐานให้ดีขึ้นได้ไหมโครงสร้างพื้นฐานไม่จำเป็นแค่ต้องเป็น IT เป็นคนก็ได้ เราทำเป็นโครงสร้างพื้นฐานเรื่องการทำ Operation ให้คนอื่นได้ไหม ให้เขา Outsource แล้วเรา Insource งานพวกนี้เข้ามา แล้วคนของเราก็จะไม่ Redundant โจทย์แบบนี้ครับคือสิ่งที่ผมฝากให้คนของผมคิดเลยว่า ถ้าเกิดเราไม่สามารถลดขนาดได้ เราจะทำยังไงให้งานเราของมากขึ้นทำให้มูลค่างานของเราสูงขึ้น

 

อีกคนหนึ่งมาเป็นเด็กจบใหม่เลย เก่งมากสุดยอด มีความคิดสร้างสรรค์และรวดเร็วแล้วก็มาหาคุณภากร ผมมาทำงานที่นี่ด้วยความฝันเลยนะว่าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นที่ที่มีเกียรติที่พ่อแม่ผมก็ภูมิใจมาก แต่ผมอึดอัด ผมอยากจะทำโน่นก็ไม่ได้ ทำนี่ก็ไม่ได้ มันมีกฎโน่นกฎนี่ไม่ได้ หัวหน้าก็ไม่ฟังผม แต่เราจะรักษาเขาไว้ให้ได้ 

นี่คุณสุทธิชัย มีใครไปบ่นให้ฟังหรือเปล่าครับ (หัวเราะ)

โจทย์อย่างนี้มันมีแน่นอน เพราะน้องๆ ใหม่ๆ เนี่ยเขาก็เหมือนกับมีไฟ ทุกคนที่เก่งๆ จะเป็นคนเหมือนที่คุณสุทธิชัยพูดเลย เราจะทำอย่างไรให้คนกลุ่มนี้เขาได้มี ความท้าทาย ขอเล่านิดหนึ่งให้ฟังละกันครับ ที่ตลาดหลักทรัพย์เนี่ย เรามีการแข่งขันเรื่องการประกวดนวัตกรรม เพราะเรามองเลยครับว่าเด็กของเราเก่งมากเรื่องวิธีคิด วิธีปรับกระบวนการ วิธีคิด ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เราเลยเริ่มจากให้มีแข่งนวัตกรรม แล้วเรามีเลยนะครับว่า นวัตกรรมอันไหนดี เราพยายามสนับสนุนส่งสเริมให้กลายเป็นโปรเจกต์แล้วก็เกิดขึ้นจริงๆ เรามีแม้กระทั่งส่งคนของเราที่อยากไปแข่งพวก Hackathon ที่เมืองนอก จัด Hackathon ที่เมืองไทยเพื่อเปิดโอกาสให้เด็กของเราได้ทำเรื่องพวกนี้ แล้วคนที่ชนะ เราก็มีโปรเจกต์ให้เขาทำต่อเลย ถ้าจะมีการทำเรื่อง Digital Exchange คุณคือคนกลุ่มแรกที่จะได้ทำ พวกคุณจะเป็นคนที่ได้ฟังที่ปรึกษา มาเล่า ให้ฟังว่าในต่างประเทศทำอะไรอย่างไรบ้าง โปรเจกต์ใหม่ๆ เรื่อง Digital Asset คนพวกนี้คือคนที่เราอยากจะดึงเข้ามา ซึ่งน่าสนใจมากนะครับ มันไม่ใช่คนของ Front Office ที่เป็นคนที่มีนวัตกรรมพวกนี้ คนที่เป็นหน่วยสนับสนุนของเรา คนที่ทำเรื่องจัดซื้อคนที่ทำเรื่องอะไรนี้ เป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์สูงมาก เพราะอะไร เพราะเขาเห็น Pain Point

 

เขาสัมผัสกับลูกค้า

ใช่ครับ อันนี้น่าสนใจมากเลย ตอนนี้เราบอกเลยว่าทุกอย่างเปิดกว้างสำหรับทุกคน ขอให้คุณมี Mindset หรือมีความตั้งใจที่อยากจะทำเรื่องพวกนี้ อันนี้จริงเลยครับเพราะไม่งั้นเด็กๆ รุ่นใหม่เนี่ยเขาจะเบื่อ

 

ผมเห็นคนหลายเจเนอเรชันในแต่ละองค์กรที่มีปัญหาแตกต่างกันไป ท้ายที่สุดมันก็มาที่ซีอีโอต้องแก้ปัญหาเหล่านั้น แล้วมันเป็นปัญหาที่ยากมาก เพราะมันเป็น Transition มันเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่านจริงๆ สำหรับคนรุ่นใหม่เนี่ย เขาไม่มีปัญหาเรื่อง Disruption เพราะเขาโตมาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงใหม่ คนรุ่นกลางๆ หน่อยเจอกับ Disruption หนักที่สุด เพราะว่าเขาเรียนมาทางนี้ วิถีทำงานเขาเคยชินเป็นอย่างนี้มา แล้วอยู่ดีๆ ก็บอกว่าสิ่งที่คุณทำทั้งหมดเนี่ยมันไม่ได้แล้วนะ มันใช้แบบเดิมอีกต่อไปไม่ได้แล้วนะ คนเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่มีปัญหากับการปรับตัวที่สุด ส่วนคนที่อาจจะอยู่นานที่สุดใกล้เกษียณแล้วก็อาจจะสบายใจแง่ที่ว่า ไม่ต้องเดือดร้อนมากนัก ฉะนั้นอาจจะไม่มีความเครียดเท่าไร ดังนั้นต้องบริหารคนอย่างน้อย 3 กลุ่มอะ ที่ท้าทายซีอีโอปัจจุบัน

ใช่เลยครับ คือผมเริ่มทีละกลุ่มเลยแล้วกันนะครับ อย่างกลุ่มที่เป็นอาจจะอายุมากหน่อยเนี่ย ก็สบายแล้วอยู่ใน Comfort Zone สิ่งที่เราทำก็คือว่า จะทำอย่างไรให้เขามีประสิทธิภาพสูงขึ้น ของใหม่ๆ เขาอาจจะช่วยไม่ค่อยได้ แต่บางคนก็ช่วยได้นะครับ แต่ถ้าเกิดเป็นบางคนที่ยังไม่สามารถปรับตัวได้ เราก็ต้องพยายามครับว่าเราจะใช้เทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการทำงานของเขาได้อย่างไร ลองยกตัวอย่างก็ได้ครับ อย่างบัญชี บัญชีเป็นอะไรที่ Vary Procedure เป็นไปได้ไหม มีเครื่องจักรกลมาช่วยทำในการลงบัญชีลงอะไรต่างๆ ซึ่งสำหรับเขามันไม่ได้มีอะไรเปลี่ยน เขากลายเป็นคนที่คอยดูว่าการใช้ Artificial Intelligent ต่างๆ มันถูกต้องตามวิธีการบัญชีที่ถูกต้องอย่างไรบ้าง จากการที่เขาเป็นคนทำกลายเป็นคนควบคุม

 

แต่เขาจะกลัวตกงานไหม

อันนี้สิครับ เขารู้อยู่แล้วว่าเขาเป็นคนดีไซน์ระบบใหม่ แล้วในอนาคตเขายังมีงานประเภทแบบนี้ที่เขาสามารถทำได้ต่อไปอย่างต่อเนื่อง คือเป็นการที่ใช้ความเชี่ยวชาญของเขาเนี่ยมาทำให้มันมีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนี้คือกลุ่มแรกสำหรับผมนะครับ ว่าจะทำอย่างไรให้กลุ่มนี้สามารถมีการเพิ่มมูลค่ากับองค์กรในการปรับตัวในอนาคตได้ เพื่อที่ว่าคนรุ่นใหม่จะได้ไม่ต้องมาทำเรื่องนี้ ไปทำเรื่องอื่นได้ คนกลุ่มเด็กก็เป็นคนกลุ่มที่ง่ายที่สุดอย่างที่เมื่อกี้ว่าก็ต้องจัดทำแบบที่ได้เรียนนะครับ ให้เขารู้สึกท้าทาย ทำอย่างไรให้เขามีโปรเจกต์ใหม่ๆ ที่ได้ท้าทายเขา ซึ่งตรงนี้เนี่ยสิ่งที่ทาง Management ของเรา ทางเราเนี่ยจะต้องบอกทิศทางแล้วลองท้าทายเขาดู บอกว่า เนี่ยคุณจะปรับของพวกนี้ได้ มุมมองของคุณคุณใช้เทคโนโลยีได้อย่างไรบ้าง คุณใช้คนในตลาดที่คุณเห็น คุณใช้ Fintech ต่างๆ อย่างไรบ้าง เพราะน้องพวกนี้วันๆ เขาคล่องเรื่องพวกอย่างนี้อยู่แล้ว

 

เราบอกว่าไปทำมาเลย

เขาจะแบบเสิร์ชมาได้เยอะมากเลยใช่ไหมครับ คนกลุ่มกลางนี่สิคือกลุ่มที่ต้องบาลานซ์ 2 ด้าน งานที่เคยเป็น Manual จะกลายเป็น Automated งานที่จะต้องคอยคิดของใหม่ๆ ให้น้องๆ ทำ ที่เคยเป็นงานที่ทำประจำวันต้องเป็นงานที่เริ่มแตกต่างออกไป อันนี้ครับคือสิ่งที่ผมมองว่าองค์กรในอนาคตเนี่ย เราต้องสร้างคนกลุ่มนี้ให้มีความรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของบริษัท เริ่มคิดโปรเจกต์ของตัวเอง ทำเรื่องเดิมให้มีประสิทธิภาพขึ้น ทำเรื่องใหม่ให้มากขึ้น กลุ่มนี้ครับจะเป็นกลุ่มที่ในอนาคตมีความสำคัญที่สุดในมุมมองของผม เขาจะพาองค์กรให้เติบโตได้อย่างไร เรามองเลยนะครับว่ากลุ่มนี้ จะเป็นกลุ่มที่เวลาเรามีธุรกิจใหม่ๆ หรือมีไอเดียใหม่ๆ อยากให้เขาเป็นคนริเริ่ม แล้วดึงน้องๆ ขึ้นมาเกี่ยวข้อง เขาใช้น้องๆ เป็นคนที่ทำให้ประสบความสำเร็จ แต่ตัวเขาเหมือนเป็นเจ้าของกิจการ ทำตัวเป็นเถ้าแก่ 

 

ในบางกรณีนี่อายุอาจจะไม่เกี่ยวด้วยซ้ำไปเลยใช่ไหมครับ

ไม่เกี่ยว ขอให้มาอยู่ในกลุ่มตรงนี้ครับ กลุ่มที่เป็น Middle Management เพราะ Middle Management  ไม่จำเป็นต้องแก่หรือเด็กครับ

 

บางครั้งผมเห็นคนที่อายุน้อย อาจจะไม่ค่อยอยากเปลี่ยน แต่คนอายุกลางๆ มากหน่อย รู้ว่าจำเป็นต้องเปลี่ยนก็มีใช่ไหมครับ ในหลายๆ องค์กรเป็นเช่นนั้นใช่ไหมครับ แล้วเราสปอตได้ไหม เราจับได้ไหมว่าคนกลุ่มนี้เข้ากรอบนี้ กรอบพร้อมจะเปลี่ยน กรอบนี้ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง กรอบนี้เฉยๆ ยังไงก็ได้ เราแบ่งอย่างนั้นหรือเปล่า

อันนี้ผมมองว่าเราคงไม่ไประบุขนาดนั้น แต่เรามองว่าหลังจากที่เราได้มีการให้ทิศทางไปแล้วเนี่ย เขาสามารถตอบโจทย์พวกนี้ได้อย่างไรบ้าง ถ้าเกิดเขาสามารถตอบโจทย์ได้ อย่างน้อยก็รู้ละว่าถ้าเขาไม่แอ็กทีฟก็คงมีไอเดีย อันที่สองถ้าเกิดไม่มีล่ะ ฝั่งที่ไม่มีล่ะเป็นเพราะอะไร ผมว่าตรงนี้มากกว่าครับที่เราต้องระบุให้ชัดว่าเราจะสามารถทำให้เขาเปลี่ยนได้อย่างไรบ้าง 

 

3 ปี 5 ปีจากนี้ไป เห็นภาพตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเป็นอย่างไร 

ยังอยู่แน่นอนครับ แต่ว่าถ้าถามว่าวิธีการทำงานจะเป็นอย่างไรนั่นอีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็จะมีในความฝันของผมนะครับ จะมีธุรกิจ 3 ประเภทที่ตลาดหลักทรัพย์เข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างหนึ่งก็คืออย่างที่ผมได้เรียน ยังทำหน้าที่เป็น Fundraising Platform เป็น Investment Platform ให้กับนักลงทุนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ในผลิตภัณฑ์ที่ประเทศไทยมีจุดแข็งก็คือบริษัทจดทะเบียนไทย กองทุนต่างๆ Mutual Fund ต่างๆ Infrastructure Fund Breed ต่างๆ ของในไทย แล้วก็เป็นของที่อยู่ในภูมิภาคเราเป็นจุดตรงนั้น อย่างที่ 2 ตลาดหลักทรัพย์ทำหน้าที่เหมือนกับเป็นคนให้บริการเรื่องเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานในตลาดทุน เรื่องการโอนเงินในระบบตลาดทุนนะครับ เรื่องเกี่ยวกับการทำแอปพลิเคชันต่างๆ ในการออม ไม่ใช้คำว่าลงทุนแล้วนะ ออม คือไม่ว่าจะซื้อกองทุนรวม ประกัน อะไรที่สามารถทำเป็นการออมได้ เราเป็นโครงสร้างพื้นฐานตรงนั้น สุดท้ายเรามีธุรกิจที่ให้บริการเกี่ยวกับ Digital Asset ที่ชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการทำ STO การซื้อขาย การที่จะทำ Wallet ต่างๆ เชื่อมต่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันนี้ครับคือความฝันที่ผมมองว่าใน 3 ปี 5 ปี ตลาดหลักทรัพย์จะสามารถให้บริการในเรื่องพวกนี้ได้ แล้วทุกอย่างควรจะต้องเชื่อมถึงกันได้หมด ลูกค้าเข้ามาที่ใดที่หนึ่งสามารถใช้บริการได้ครบ 

 

แล้วถ้าจะบรรลุความฝันนั้น วันนี้ที่วางแผนเอาไว้ พอไหมที่จะทำเป้าหมายนี้ให้สำเร็จ 

สมัยนี้นะครับไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้นเราจะค่อยๆ รู้ไปเรื่อยๆ ว่า สิ่งที่เราอยากจะได้มันใช่ไหม บางส่วนจะเป็นอย่างที่เราหวัง แต่บางส่วนอาจจะเป็นเปลี่ยนจากที่เราคิดไปเลยก็ได้ ถ้าเรามาดูกันนะครับ อย่างยกตัวอย่างเช่น Mutual Fund Platform ของผม ที่ผมได้เล่าให้คุณสุทธิชัยฟัง ไม่แน่นะครับในอนาคตมันอาจจะไม่ใช่แค่ Mutual Fund มันอาจจะมี Provident Fund มันอาจจะต่อกับทั้งในประเทศและต่างประเทศ มันอาจจะกลายเป็นระบบ Register Office ของระบบ Mutual Fund มันเป็นอะไรที่ต่อไปได้หมดเลย 

 

ที่พูดคืออยากเห็นสิ่งที่จะมีใน 3 ปี 5 ปี ข้างหน้า มีอะไรบ้างไหมที่ไม่อยากเห็นใน 3 ปี 5 ปีข้างหน้า คือที่มีอยู่ปัจจุบันแล้วต้องสลายหายไปจะด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งก็ตาม มีไหมครับน่าจะมีนะ 

ผมมองว่าถ้าสภาพแวดล้อมมันเปลี่ยนแปลงไป เป็นไปได้ที่บางอย่างเราอาจจะทำมากขึ้น บางอย่างเราอาจจะทำน้อยลง เพราะว่ามันอาจจะมาจากหลายเหตุผล เราไม่เก่งในเรื่องนั้นกฎเกณฑ์ต่างๆ ไม่เอื้ออำนวยผู้ที่เกี่ยวข้องของเรา บอกว่าอันนี้ไม่ทำ เราทำเองคนเดียวก็ไม่ไหว เพราะฉะนั้นเป็นไปได้ครับที่จะมี แต่ทุกอย่างที่จะปรับตัวไปผมเชื่อว่ามันจะเหมาะสมกับสภาวะแวดล้อม เหมาะสมกับสิ่งที่อยู่รอบๆ ตัวนะครับ ในวันนี้ยังหวังว่าไม่มีอะไร แต่ถ้าเกิดมันมีอะไรก็ต้องมาหาเหตุผล ต้องมาจากหลักการ ต้องมาจากความจำเป็น 

 

ถ้าเราประสบความสำเร็จแปลว่า ระวังกฎเกณฑ์เอาไว้ หลักเอาไว้ แผนการเอาไว้ ถึงแม้แต่ตัวเราเองไม่อยู่แล้ว ถ้าเจอความเปลี่ยนแปลงที่คาดไม่ถึงมันก็ Agile พอ ปราดเปรียวพอที่จะปรับเปลี่ยนได้ ณ ขณะนั้นๆ เลย

อันนี้ครับจะเป็นเรื่องของคนของเราแล้ว ซึ่งแผนความสำเร็จของเรา ที่เราจะมีสำคัญมาก ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ผมให้น้ำหนักจะมากที่สุดเลยครับในช่วงนี้คือ จะทำอย่างไรให้คนของเราสามารถครอบคลุมในประเด็นแต่ละเรื่องได้ คนนี้เรื่องนี้ คนนี้เรื่องนี้ เพราะคงยากที่คนเดียวจะครอบคลุมได้หมดเขาจะเป็น Superman แต่ว่าถ้าเรามีผู้บริหารที่ทำงานร่วมกันได้ มีความรู้ความสามารถในแต่ละด้าน แล้วก็มี Mindset ที่พร้อมที่จะปรับตัวผมเชื่อว่าองค์กรจะอยู่ได้ในระยะยาวและจะเป็นใครคงไม่ใช่เรื่องสำคัญ แต่ว่าทีมสามารถรับมือสามารถปรับตัวได้ครับ

 

คุณภากรประเมินตัวเองอย่างไรว่าคุณได้ปรับ ได้เปลี่ยนอย่างที่เหมาะสมหรือยัง ตัวเองเคยรู้สึกต่อต้านความเปลี่ยนแปลง รู้สึกไม่สบายใจที่จะออกจาก Comfort Zone รู้สึกว่าทำไมต้องเป็นเราไหม 

ผมว่าคนทุกคนชอบอยู่ใน Comfort Zone แต่มันมีความจำเป็นที่เราจะต้องออกจาก Comfort Zone นะครับแล้วก็การที่เราจะออกจาก Comfort Zone เราจะทำอย่างไรที่เราจะสามารถทำในเรื่องใหม่ๆ ให้ดีขึ้น จากการเรียนรู้จากการทำงานร่วมกันกับคนอื่น ผมว่าอันนี้คือการปรับตัวนะครับ ในอดีตผมอยากเป็น Trader เพราะฉะนั้นง่ายมากชีวิตผมแค่หาเงิน แต่พอผมต้องมาเป็นคนเข้ามาบริหารจัดการต้องมาทำสร้างองค์กรสร้างเกี่ยวกับว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง เราต้องปรับตัวเราต้องออกจาก Comfort Zone ผมว่าตรงนี้แหละครับ ผมถึงไม่ได้มองว่าเราจะต้องเปลี่ยนอะไรยังไง แต่มันคือสิ่งที่เราจะต้องทำให้องค์กรให้หน้าที่ของเราบรรลุจุดประสงค์ได้ 

 

สนุกไหมที่ต้องปรับต้องเปลี่ยนแล้วต้องมาบริหาร ท่ามกลาง Disruption ขนาดนี้ สนุก ท้าทาย เหนื่อย ท้อแท้ หรือมันดี ความรู้สึกเป็นอย่างไร

อันแรกที่คิดคือ ทำไม Disruption มาเร็วจัง (หัวเราะ) คือถ้ามาช้ากว่านี้ผมคงสบายกว่านี้ แต่ถ้าถามว่า พอเจอแล้วคิดอย่างไร เราก็ต้องทำให้มันประสบความสำเร็จอันนั้นครับคือความสำคัญ แล้วก็เรามีหน้าที่ที่จะต้องทำอะไรบ้างอันนั้นก็คือสิ่งต่อมาที่ต้องทำ ถามว่าท้อไหมมันก็มีเหนื่อยนะครับ แต่ว่าผมมองว่าเป็นความท้าทาย ถ้าเราสามารถที่จะตอบโจทย์ ทำองค์กรของเราให้สามารถข้ามผ่านความท้าทายนี้ได้ก็จะเป็นความสำเร็จ สิ่งหนึ่งที่สำคัญคือเราจะวางแนวทางในอนาคตต่อไปอย่างไรให้คนต่อยอดได้ง่ายขึ้น ผมว่านี้คือโจทย์ที่ตลาดหลักทรัพย์ในอดีตก็เป็น เพียงแต่ว่าในปัจจุบันมีมากขึ้นเท่านั้นเองนะครับ 

 


 

 


 

Credits

 

The Host สุทธิชัย หยุ่น

The Guest ภากร ปีตธวัชชัย

Show Producers อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor อสุมิ สุกี้คาวา

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X