ย้อนกลับไปเมื่อ 13 ปีที่แล้ว คืนวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2549 เกิดการรัฐประหารขึ้นในรอบ 15 ปี โดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือ คมช. ซึ่งมี พล.อ. สนธิ บุญยรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้นเป็นหัวหน้าคณะ เพื่อยึดอำนาจจากรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร
โดยการรัฐประหารครั้งนั้นเป็นไปอย่างราบรื่น ปราศจากการต่อต้านด้วยอาวุธ หลังประชาชนจำนวนมากออกมาประท้วงขับไล่ทักษิณออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี จนเกิดเป็นภาพที่ประชาชนมอบดอกไม้ให้กับทหารท่ามกลางรถถัง สร้างความประหลาดใจไปทั่วโลก โดยนิตยสาร Time ฉบับออนไลน์พาดหัวข่าวว่า ‘รัฐประหารอันครื้นเครงในประเทศไทย’ (A Festive Coup in Thailand)
อย่างไรก็ตาม หลังเหตุการณ์รัฐประหารก็มีต่อต้านจากหลายฝ่าย อาทิ การประท้วงที่ลานหน้าตึกโดมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และจัดเสวนาในหัวข้อ ‘ทำไมเราต้องคัดค้านรัฐประหาร’
รวมถึงคนขับแท็กซี่ นวมทอง ไพรวัลย์ ขับรถพุ่งชนรถถังบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า เพื่อประท้วงคณะรัฐประหาร ต่อมานวมทองได้ผูกคอตายประท้วงเสียชีวิตในวันที่ 31 ตุลาคม 2549
รัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กลายเป็นหมุดหมายสำคัญของการแบ่งขั้วสีทางการเมือง ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งในสังคมอย่างร้าวลึกจนถึงปัจจุบัน