หลายๆ คนคงเคยได้ยินเรื่องการ ‘ชะล้างหน้าดิน’ ปรากฏการณ์ที่ทำให้หน้าดินอันอุดมสมบูรณ์เลื่อนหลุดหรือพังทลายลงมา แต่ด้วยความที่ฟังดูเหมือนจะเป็นปัญหาที่ค่อนข้างไกลตัวพวกเรา เราอาจจะละเลยมันไปบ้างโดยไม่รู้เลยว่า แท้จริงแล้วปัญหาเหล่านี้ส่งผลต่อชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนโดยตรง เกี่ยวข้องกับความมั่นคงทางอาหาร และความอยู่รอดอย่างยั่งยืนของโลกใบนี้
THE STANDARD ได้มีโอกาสไปร่วมงาน ‘หยุดการชะล้างพังทลายของดิน คืนชีวิตให้แก่นมะกรูด’ ซึ่งเป็นพื้นที่ต้นแบบในการสืบสานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน และนี่นับเป็นครั้งแรกที่เราได้รู้ว่า นี่ไม่ใช่แค่ปัญหาสำหรับเกษตรกรเพียงอย่างเดียว แต่เป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศ และส่งผลต่อโลกในระยะยาวอย่างแน่นอน
1 ใน 3 ของดินในไทยไม่อุดมสมบูรณ์
หากจะเล่าถึงปัญหาของการชะล้างหน้าดินให้เห็นได้ชัดจริงๆ คงต้องระบุลงไปเป็นตัวเลขให้เห็นอย่างชัดเจน ซึ่งสถิติพบว่าพื้นที่กว่า 108 ล้านไร่ในประเทศ หรือคิดเป็นร้อยละ 33 ของพื้นที่ทั้งหมดกำลังประสบปัญหา เรียกได้ว่า 1 ใน 3 ของดินในประเทศเราเป็นดินที่ไม่อุดมสมบูรณ์ และยิ่งน่าตกใจไปอีกเมื่อรู้ว่า อัตราส่วนของการชะล้างพังทลายหน้าดินของโลก และกลุ่มประเทศในอาเซียนและแปซิฟิกนั้นอยู่ในอัตราเพียงร้อยละ 23 และร้อยละ 25 ตามลำดับเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าบ้านเราถึงราวๆ ร้อยละ 10 และหากเทียบเป็นจำนวนเงินจะพบว่า เราสูญเสียธาตุอาหารหรือปุ๋ยจากธรรมชาติจากการพังทลายของดินเป็นมูลค่าเฉลี่ย 5,015 ล้านบาทต่อปี และมีต้นทุนของความเสียหายจากการพังทลายของดิน เช่น ดินถล่มที่ส่งผลต่อทรัพย์สิน บ้านเรือน ถนน และอื่นๆ โดยไม่รวมการเสียชีวิต เป็นมูลค่า 157 ล้านบาทต่อปี ซึ่งนับว่าไม่ใช่จำนวนน้อยๆ เลย
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร นั้นทรงงานหนักเกี่ยวกับเรื่องดิน น้ำ ความมั่นคงทางอาหาร การอุ้มน้ำของดิน ไปจนถึงการหยุดการชะล้างหน้าดิน โดยทรงมีเป้าหมายที่สำคัญที่สุดคือ ‘จะไม่ให้ใครอดอยาก’ เพราะหากเรามีดินที่สมบูรณ์ นั่นหมายถึงคุณภาพชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ปัญหานี้จึงได้รับเลือกให้เป็นหัวข้อการรณรงค์สำหรับวันดินโลกในวันที่ 5 ธันวาคมที่จะถึงนี้ ในชื่อ ‘Stop Soil Erosion, Save our Future’ หรือ ‘ปกป้องอนาคต ลดการชะล้างหน้าดิน’
ถ้าจะแก้ปัญหาต้องแก้ที่ต้นเหตุ
ก่อนจะรู้ว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นต้องแก้ไขตรงไหน เราต้องเข้าใจก่อนว่าการชะล้างพังทลายของดินเกิดขึ้นได้อย่างไร ซึ่งสามารถเกิดได้ทั้งตามธรรมชาติ เช่น การกัดเซาะของลมและฝน การกัดเซาะของกระแสน้ำ รวมถึงเกิดขึ้นได้ด้วยการกระทำของมนุษย์ ไม่ว่าจะเป็นการตัดไม้ทำลายป่า การทำเหมืองแร่ ไร่เลื่อนลอย ไปจนถึงการเผาป่า ทำให้แร่ธาตุดินชั้นบนที่มีความอุดมสมบูรณ์ถูกทำลาย ดินชั้นล่างที่มีอินทรียวัตถุต่ำจึงโผล่มาแทนที่ แต่ไม่ใช่แค่นั้น เมื่อพื้นที่การเพาะปลูกเดิมทำการเกษตรไม่ได้ ก็เกิดการบุกรุกทำลายป่าเพื่อหาพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์กว่า กลายเป็นวงจรเช่นนี้ไม่จบสิ้นเสียที
พอหน้าดินถูกทำลาย เมื่อฝนตกอย่างต่อเนื่อง คุณพอจะจินตนาการได้ว่ามันจะทำให้เกิดภัยพิบัติที่รุนแรงขึ้น ทั้งปัญหาดินโคลนถล่ม น้ำป่าไหลหลาก กระทบระบบนิเวศทั้งป่าและน้ำ ส่งผลโดยตรงกับแหล่งผลิตอาหารของคน
และคำถามถัดมาคือ เราสามารถทำดินให้สมบูรณ์ได้อย่างไร เพื่อปัญหาการอดอยากจะค่อยๆ หมดไปในที่สุด
เริ่มจากจุดเล็กๆ ขยายไปในวงกว้าง
‘ห้วยขนุน’ คือพื้นที่ลาดชันในตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ที่เรามีโอกาสมาเยี่ยมชมในคราวนี้ เราพบว่าคนท้องถิ่นให้ความร่วมมือและมีความมุ่งมั่นที่จะแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดินกันอย่างมาก ซึ่งเป็นโครงการระหว่างสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ และบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ตั้งใจทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่ต้นแบบในการสืบสานแนวพระราชดำริเพื่อแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของดิน โดยทางบริษัท บางจากฯ เริ่มจากการเข้าไปพูดคุยกับคนท้องถิ่น ที่ส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรมเชิงเดี่ยว ทำไร่ข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ และแน่นอนว่าไม่มีระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำอย่างถูกต้อง
สิ่งหนึ่งที่พบหลังจากบางจากเข้าไปยังชุมชนคือ ทุกคนอยากปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไรดี บริษัท บางจากฯ จึงส่งชาวบ้านกลุ่มหนึ่งไปอบรมหลักสูตร ‘การพัฒนากสิกรรมธรรมชาติสู่ระบบเศรษฐกิจพอเพียง’ ที่ศูนย์การเรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงพระบรมธาตุดอยผาส้ม จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียนรู้ทฤษฎีและตัวอย่างของการทำเกษตรกรรมในพื้นที่ใกล้เคียงกัน
หลังการอบรมครั้งนั้น มีชาวบ้าน 4 รายสนใจที่จะนำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงพื้นที่ของตัวเอง บริษัทฯ จึงได้จัดอบรมเรื่องการทำปุ๋ยอินทรีย์ พาพนักงานจิตอาสาลงทำกิจกรรม สามัคคีลงแรงร่วมกับชาวบ้าน เพื่อสร้างแหล่งอาหาร ปรับพื้นที่ทำกินจากแปลงข้าวโพดเป็นเกษตรผสมผสาน ส่งเสริมให้ปลูกอ้อยชนิดคั้นน้ำ อบรมการแปรรูปกล้วย และสนับสนุนให้เกษตรกรนำผลิตผลที่ได้มาจำหน่ายให้ร้านสพาร์ของบางจาก เพื่อเป็นช่องทางกระจายสินค้า ไปจนถึงเพิ่มการบริหารจัดการน้ำ ทำให้การพัฒนาครั้งนี้ไม่ใช่แค่ที่ปลายทางอย่างเดียว แต่เป็นการพัฒนาพื้นที่ไปพร้อมกับการอนุรักษ์ดินและน้ำ ซึ่งเป็นพื้นฐานของทุกอย่าง และเป็นปัจจัยที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่นดีขึ้น
เพราะนอกจากดินดี น้ำดี คุณภาพความเป็นอยู่ของคนในชุมชนดีขึ้น ยังส่งผลไปสู่การท่องเที่ยวที่นำรายได้กลับสู่ท้องถิ่นได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
“เราสามารถแก้ปัญหานี้จากระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในพืชและดิน”
สิ่งแวดล้อมไม่ได้ดีขึ้นในชั่วข้ามคืน และต้องเริ่มที่ตัวเราก่อน
ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่การแก้วันนี้ แล้วพรุ่งนี้ก็หมดปัญหาไป เพราะอย่างน้อยต้องใช้เวลา 1-3 ปี และต้องทำอย่างต่อเนื่อง สิ่งสำคัญคือความคิดของคนในท้องถิ่นว่ามีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหามากแค่ไหน
ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องมาตรฐานอนุรักษ์ดินและน้ำ เพื่อความสมบูรณ์ของแหล่งอาหารของผู้คน ตั้งแต่การปลูกหญ้าแฝกเพื่อช่วยห่มและยึดหน้าดินไม่ให้พังทลายได้ง่าย ในขณะเดียวกันก็ช่วยปรับปรุงดินที่เสื่อมโทรม ไปจนถึงปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง คือหนึ่ง ปลูกไม้ใช้สอย สอง ไม้กินได้ สาม ไม้เศรษฐกิจ เพื่อประโยชน์ และข้อที่สี่คือ การฟื้นฟูระบบนิเวศดินและน้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ได้อีกครั้ง เป็นต้น
แต่การปลูกหญ้าแฝกหรือปลูกป่าอาจจะไกลตัวไปสำหรับคนส่วนใหญ่ ยิ่งเป็นคนในเมืองแล้วยิ่งห่างไกลเข้าไปอีก เราสามารถแก้ปัญหานี้จากระยะทางหลายร้อยกิโลเมตรได้ โดยเริ่มจากการปรับเปลี่ยนชีวิตประจำวันของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรอินทรีย์ หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีในพืชและดิน หรือที่ใกล้ตัวที่สุดคือการลดการใช้พลาสติกอย่างถุงและหลอด เพื่อลดการทิ้งซึ่งจะนำไปสู่สารปนเปื้อนในดิน
การเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่เริ่มต้นจากความร่วมมือร่วมใจของคนกลุ่มเล็กๆ ขยายออกไปเรื่อยๆ เสมอ และ ‘ห้วยขนุน’ ที่ตำบลแก่นมะกรูด คือจุดเริ่มต้นของการปกป้องโลกจากปัญหาชะล้างพังทลายของดิน ที่ไม่ได้ส่งผลแค่กับดินเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งต่อไปถึงความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของคนในอนาคต ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่สามารถแก้ได้ด้วยคนคนเดียว หรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง มันต้องอาศัยการร่วมมือกันในแบบที่แต่ละคนทำได้ เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่ เพราะเราไม่สามารถปฏิบัติแบบเดิมต่อโลกใบนี้ได้อีกแล้ว
ภาพ: Courstesy of Bangchak
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์