×

เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ละครเวที 6 มิติ Universal Design ที่คนตาบอดและคนตาดีใช้ร่วมกันได้ โดย Blind Experience

07.08.2019
  • LOADING...
ละครเวที 6 มิติ Universal Design

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • จากละครเวที เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ซึ่งเคยจัดแสดงครั้งแรกไปเมื่อปี 2558 ล่าสุดกำลังจะรีสเตจอีกครั้งใน เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019 เป็นโปรดักชันประเดิมเปิดโรงละครใหม่เอี่ยม​ Theatre 3 ของ Lido Connect ที่หลังจากโปรโมตไปเพียงไม่นานก็มีการสำรองบัตรจนเหลือที่นั่งอีกเพียงไม่มากนัก 
  • เมื่อ ‘ผู้ชม’ กลุ่มหนึ่งไม่สามารถที่จะรับชมผ่านประสาทสัมผัสการมองเห็น ‘รูป’ ได้ดังเช่นคนปกติทั่วไป จึงมุ่งเน้นความสำคัญไปที่การออกแบบประสบการณ์การรับชมผ่านประสาทสัมผัสส่วนที่เหลือ ได้แก่ เสียง กลิ่น รส สัมผัส เวลา สถานที่ และจินตนาการ กลายเป็น ‘ละครเวที 6 มิติ’

เมื่อพูดถึง ‘การชมละครเวทีที่ไม่ใช้สายตา’ หลายคนอาจจะนึกสงสัยว่าคืออะไร เพราะการจะชมละครเวทีก็ต้องใช้ตาดูไม่ใช่หรือ แต่ถ้าจะบอกว่านี่คือ ‘ละครเวที 6 มิติ’ ที่ออกแบบการแสดงให้ผู้ชมทั้งที่มองไม่เห็นและคนตาดีสามารถรับชมและสัมผัสประสบการณ์ไปพร้อมๆ กันได้ก็คงฟังดูน่าสนใจไม่น้อย 

 

จากละครเวที เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ซึ่งเคยจัดแสดงไปครั้งแรกเมื่อปี 2558 และล่าสุดกำลังจะกลับมาจัดแสดงอีกครั้งที่ Lido Connect ซึ่งถือเป็นการคัมแบ็กอย่างเป็นทางการของโรงภาพยนตร์ขวัญใจมหาชนใจกลางมหานครที่เปิดพื้นที่ให้กับศิลปะในรูปแบบอื่นๆ โดยมีละครเวที 6 มิติเรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019เป็นโปรดักชันประเดิมเปิดโรงละครใหม่เอี่ยม Theatre 3 ของ Lido Connect

 

ละครเวที 6 มิติคืออะไร  

อย่างที่เกริ่นไปแล้วเบื้องต้นว่า เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย นั้นเคยจัดแสดงไปเมื่อหลายปีที่แล้ว โดยกลุ่มละครที่เรียกตัวเองว่า Blind Theatre ในตอนนั้น โดยเริ่มแรกมีความมุ่งหวังที่จะจัดแสดงละครที่คนตาบอดก็สามารถรับชมได้ ซึ่งเมื่อ ‘ผู้ชม’ กลุ่มนี้ไม่สามารถที่จะรับชมผ่านประสาทสัมผัสการมองเห็น ‘รูป’ ได้ดังเช่นคนทั่วไป จึงมุ่งเน้นความสำคัญไปกับการออกแบบประสบการณ์การรับชมผ่านประสาทสัมผัสส่วนที่เหลือ ได้แก่ เสียง กลิ่น รส สัมผัส เวลา สถานที่ และจินตนาการ กลายเป็น ‘ละครเวที 6 มิติ’ หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นละครเพื่อคนตาบอดที่ไม่สามารถมองเห็นได้นั่นเอง ทั้งนี้สิ่งที่น่าสนใจก็คือคนตาดีเองก็ยังสามารถที่จะเสพได้โดยการปิดตาเพื่อเปิดรับประสบการณ์เช่นเดียวกับคนที่มองไม่เห็น 

 

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย

ในวาระที่แล้ว

 

การแสดง เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย นั้นได้รับแรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์เรื่อง สุสานหิ่งห้อย หรือ Grave of The Fireflies แอนิเมชันแสนเศร้า ซึ้ง กินใจ ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสืออัตชีวประวัติของ อะคิยูกิ โนซากะ ผู้สูญเสียน้องสาวในสงครามโลกครั้งที่สอง ทั้งยังได้รับแรงบันดาลใจจากบทเพลง นิทานหิ่งห้อย ของวงเฉลียง นำมาดัดแปลงเป็นเรื่องราวอันสุดประทับใจ ถ่ายทอดเป็นเรื่องเล่าของคุณยายกับการเดินทางของสองพี่น้องที่จะนำพาฝ่าฟันทุกอุปสรรคที่ขวางกั้นเพื่อค้นพบความหมายของชีวิต  

 

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

 

การจัดแสดงครั้งแรกเมื่อหลายปีก่อนนั้นได้รับการกล่าวขวัญถึงปากต่อปาก ได้รับความสนใจจนต้องเพิ่มรอบการแสดง เพราะไม่บ่อยนักที่จะมีคนลุกขึ้นมาสร้างสรรค์ผลงานสื่อในรูปแบบนี้เพื่อคนตาบอด ทั้งยังเป็นการเปิดพื้นที่ให้คนตาบอดและคนตาดีได้มารับชมสื่อในพื้นที่เดียวกัน และยังเปิดประสบการณ์ให้ผู้ชมที่ไม่ได้อยู่ในโลกสว่างได้มีความเข้าใจเกี่ยวกับคนที่อยู่ในโลกมืดมากขึ้นอีกด้วย 

 

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์

แกนนำของ Blind Experience  

และผู้กำกับของ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย

 

จาก Blind Theatre สู่ Blind Experience โตและเป็นผู้ใหญ่มากขึ้น…เมื่อกลับมาอีกครั้งในปี 2019

หลุยส์-กฤษณ์ สงวนปิยะพันธ์ แกนนำของ Blind Experience และผู้กำกับของ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุที่เปลี่ยนชื่อกลุ่ม และการกลับมาของ เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย ในเวอร์ชัน 2019 นี้ว่า 

 

“จากจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณ 4-5 ปีที่ทางทีมทำละครเวทีด้วยจุดประสงค์ที่อยากจะสร้างสรรค์สังคม ตอนนั้นเราหยิบยกประเด็นเรื่องการเปิดพื้นที่ทางศิลปะให้กับคนที่มองไม่เห็น และต้องการจะรวมทั้งคนที่มองไม่เห็นและคนที่มองเห็นให้สามารถรับชมศิลปะการละครร่วมกันได้ และหลังจากการแสดงจบ ทางกลุ่มก็มีการจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้มาโดยตลอด 

 

“เมื่อเราเดินทางมาจนถึงปีที่ 4-5 ก็เริ่มตั้งธงว่าเราอยากจะทำสิ่งนี้อย่างจริงจังมากๆ คือมันไม่ควรจะเป็นเพียงแค่กิจกรรมที่อาสาสมัครทุกคนมารวมตัวกันเพียงปีละ 1-2 ครั้ง แต่เราอยากจะทำสิ่งนี้ให้มีความยั่งยืนตลอดไป ก็เลยย้อนกลับไปมองถึงสาเหตุที่คนเขามาดูละคร มาร่วมอยู่ในคอมมูนิตี้ และทำกิจกรรมร่วมกับเรา ซึ่งจะพบว่าหลายๆ คนเขาเดินเข้ามาและอยู่กับเราเพียงระยะหนึ่งแล้วก็ไป เราต้องเจอกับคนใหม่ๆ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนหน้ามาตลอด จึงกลับมาตั้งคำถามว่าเป็นเพราะอะไร ในที่สุดก็ได้คำตอบว่าเพราะเขาอยากจะมา ‘ช่วย’ คนตาบอด แต่เมื่อเข้ามาอยู่ตรงนี้ไปนานๆ ก็จะพบว่าการที่คนตาบอดจะสามารถเล่นละครหรือทำกิจกรรมอะไรได้นั้นเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ คือคนตาบอดมีศักภาพมากกว่าที่คิด ก็เลยมองว่าไม่มีอะไรให้ช่วยเหลือ แล้วเขาก็ไม่จำเป็นจะต้องอยู่ตรงนี้ 

 

“ดังนั้นในปีนี้เมื่ออยากจะหลุดจากกรอบที่ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นั้นเป็นการสร้างสรรค์สังคมหรือเพื่อ ‘ช่วยเหลือ’ เราพยายามคิดว่าจะทำอย่างไรให้ผู้ชมกลับมารับชมและร่วมกันทำกิจกรรมกับเราได้เรื่อยๆ ก็ตกผลึกว่าสิ่งหนึ่งที่สามารถมาทดแทนได้ก็คือ ‘เรื่องของความรู้และประสบการณ์’ อันเป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อกลุ่ม ซึ่งตั้งใจจะปรับให้เป็นในรูปแบบขององค์กรที่ชัดเจนมากขึ้น จึงได้เปลี่ยนชื่อเป็น Blind Experience ซึ่งมีรูปแบบของบริษัทที่เป็น Social Enterprise หรือกิจการเพื่อสังคมที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

 

“เราต้องการที่จะเป็นผู้สร้าง เป็นคณะทำงานศิลปะผู้สร้างพื้นที่ ‘ประสบการณ์ในความมืด’ ที่จะบอกกับผู้คนในสังคมว่าในความมืดตรงนี้มีอะไรหลายๆ อย่างให้พวกคุณได้สนุก ได้เรียนรู้ ไม่ว่าคุณจะเป็นคนที่มองไม่เห็นหรือคนที่มองเห็นก็ตาม เราเชื่อว่าถ้าอยากจะทำตรงนี้ให้ยั่งยืน การที่คนดูจะกลับมาอีกคงไม่ได้มาเพื่อที่จะช่วยเหลือใครเป็นประเด็นอันดับแรกอีกต่อไป แต่คนเขาน่าจะอยากกลับมาอีกเพื่อที่จะได้เรียนรู้ ได้รับประสบการณ์และแรงบันดาลใจดีๆ แน่นอนว่าประเด็นแรกที่อยากจะช่วยก็น่าจะยังอยู่ แต่ก็น่าจะเป็นประเด็นรอง” 

 

เมื่อมีการตั้งเป็นรูปแบบขององค์กรธุรกิจเพื่อสังคมที่ชัดเจนขึ้น เราถามหลุยส์ถึงโมเดลที่จะทำให้ธุรกิจนี้อยู่ได้อย่างยั่งยืนตามความมุ่งหวังของเขาว่าเป็นอย่างไร หลุยส์มองว่ารายได้ที่จะทำให้ Blind Experience อยู่ได้โดยไม่ต้องหาผู้สนับสนุนหรือทำ Funding นั้นน่าจะมาจาก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของการทำโปรดักชัน หรือก็คือค่าบัตรในยามที่มีการแสดง หากในยามที่ไม่มีการแสดงนั้น Blind Experience ก็ยังมีเซอร์วิสในส่วนของการจัดกระบวนการเรียนรู้ หรือการจัดอบรม ซึ่งก็คล้ายๆ กับการนำกระบวนการศิลปะไปใช้ออกแบบเพื่อพัฒนาศักยภาพของคนหรือองค์กร ซึ่งสามารถจัดอบรมในประเด็นต่างๆ ได้ ทั้งภาวะความเป็นผู้นำ ความกล้าแสดงออก ทีมเวิร์ก Deep & Active Listening ยกระดับความสามารถในการสื่อสาร ฯลฯ โดยอยู่บนพื้นฐานของการออกแบบประสบการณ์จากเงื่อนไขที่ผู้เข้าร่วมกระบวนการมองไม่เห็นหรือต้องปิดตา ซึ่งมาจาก ‘องค์ความรู้ในความมืด’ ที่พวกเขาทดลองมาจนเชี่ยวชาญ 

 

ฟังดูไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสิ่งที่เขาตั้งใจจะทำนั้นดูเหมือนไม่มีใครเคยทำมาก่อน แต่สิ่งที่ชายหนุ่มในวัย 31 ปีคนนี้ย้ำอยู่เสมอก็คือการที่เขามาทำตรงนี้ไม่ได้มาเล่นๆ เขาต้องการให้สิ่งที่ทำอยู่นั้นเกิดความยั่งยืนขึ้นจริงๆ  

 

“ตามปกติแล้วเวลาเราทำกิจกรรมเพื่อสังคมมักจะเป็นลักษณะของ Funding หรือหาเงินทุนสนับสนุน แต่เมื่อมาถึงวันนี้ที่ต้องการอยู่ให้ได้อย่างยั่งยืน ผมมองว่ามันไม่ได้แล้วจริงๆ เพราะอย่างที่บอกว่าถ้าเรามุ่งหาแต่เงินทุน สิ่งที่เราจะโฟกัสมันก็คือการขอความช่วยเหลือ ผมมองว่าสิ่งนี้มันไม่ควรจะเกิดขึ้นอีกแล้ว เพราะถ้าทุกคนโฟกัสไปที่การช่วยเหลือ ตรงนี้ก็จะไม่สามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน คนที่ต้องการทำเพื่อสังคมไม่สามารถที่จะลุกขึ้นมาแล้วประกอบกิจการของตัวเองโดยยกมือขึ้นมาบอกว่า “ฉันกำลังทำดี กำลังช่วยเหลือคนอื่น ดังนั้นช่วยให้การสนับสนุนเงินทุนด้วยเถอะ” ผมจึงโฟกัสในสิ่งที่เรามี นั่นก็คือ ‘องค์ความรู้ในความมืด’ ตรงนี้ว่ามันสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการจัดกระบวนการเรียนรู้พัฒนาศักยภาพหรือการจัดอบรมได้” 

 

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

 

สิ่งหนึ่งที่พิสูจน์ถึงความตั้งใจจริงของหนุ่มคนนี้คือการเซ็น MOU หรือสัญญาความร่วมมือระหว่าง Blind Experience และมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์

 

“การเซ็น MOU ครั้งนี้เน้นไปที่เรื่องของกระบวนการเรียนรู้โดยเฉพาะครับ เพราะมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ เขาดูแลในเรื่องของนักเรียนที่เป็นคนตาบอดโดยเฉพาะ คือสุดท้ายแล้วผมก็มองกลับไปเรื่องเดิมที่ว่าปัจจุบันศิลปะกับคนที่มองไม่เห็นดูจะเป็นเรื่องที่ห่างไกลตัวจริงๆ ครับ เราก็กลับมาคิดกันว่าทำอย่างไรเราจะเข้าไปอยู่ในพื้นที่แบบนั้นได้

 

“เพราะฉะนั้นการเซ็น MOU กับมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ มันมีประโยชน์อยู่ 2 อย่าง อย่างแรกคือเป็นเครื่องยืนยันว่าเรามีความมุ่งมั่นตั้งใจจะทำตรงนี้จริงๆ โดยมีการวางแผนล่วงหน้าไว้แล้วว่าปี 2020 จะมีอะไรที่เราต้องทำร่วมกันบ้าง การเซ็น MOU มันก็เป็นเหมือนการให้คำมั่นสัญญาที่ยึดแน่นกว่าเดิมว่าเราจะไม่เลิกทำตรงนี้

 

“สองคือมันเป็นแรงผลักดันให้กับเราได้อีกทาง เพราะทางมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ เขาก็มีความรู้ความชำนาญ มีความเข้าใจในเรื่องของคนตาบอด ซึ่งผมมองว่ามันสำคัญมากๆ เพราะบางครั้งเวลาเราจะช่วยเหลือใครสักคน ถ้าเราช่วยไปโดยไม่มีความเข้าใจ มันก็เหมือนกับเป็นการให้ในสิ่งที่เขาไม่ต้องการ ผมคิดว่าการที่เราร่วมมือและทำงานร่วมกับมูลนิธิช่วยคนตาบอดฯ จะเป็นการช่วยให้เรามีความเข้าใจความต้องการของคนมองไม่เห็นได้ดีขึ้นครับ” 

 

ละครเวที 6 มิติ Universal Design

 

เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019 การตีความใหม่ มอบประสบการณ์ในความมืดที่ละเอียดขึ้น

“เมื่อหลายปีก่อนเราจัดแสดงกันที่โรงละครอาคารนวัตกรรม มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร ครั้งนั้นได้รับการพูดถึงกันแบบปากต่อปาก ทำให้เราสามารถเพิ่มรอบและจัดแสดงไปทั้งหมดประมาณ 15-20 รอบ กลับมาครั้งนี้เรามีแผนที่จะจัดแสดงกันประมาณ 50 รอบ 

 

“ในส่วนของเนื้อหาและโครงสร้างบทละคร เราได้มีการตีความบทใหม่ นอกจากนั้นก็ยังมีการออกแบบการแสดงเพื่อสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่ๆ โดยตั้งโจทย์ว่าทำอย่างไรจะทำให้ผู้มารับชมได้สัมผัสประสบการณ์และได้รับประสบการณ์ที่ละเอียดอ่อนมากขึ้น จึงมีทั้งการเรียบเรียงเสียงประสานบทเพลงใหม่ เราทำงานกันอย่างหนักกับทั้งเรื่องกลิ่น รส ที่มาของเสียง และสัมผัส ฯลฯ​ เพื่อให้เหมาะสมกับสถานที่จัดแสดงใหม่ในครั้งนี้ด้วยครับ และอีกเรื่องก็คือเรื่องของนิทรรศการและกิจกรรมในความมืด ซึ่งหากผู้ชมสะดวกก็สามารถเข้าร่วมเพื่อเป็นการเติมเต็มประสบการณ์ได้ก่อนที่ละครจะเริ่มประมาณ 1 ชั่วโมง” 

 

เมื่อให้หลุยส์ทิ้งท้ายโดยการกล่าวชักชวนให้คนมาดู เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019 ชายหนุ่มคนนี้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ 

“ถ้าเป็นเมื่อสัก 4 ปีก่อน ผมก็อาจจะบอกว่าอยากเชิญชวนให้ทุกคนมาดูกันเพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือคนตาบอด แต่มาตอนนี้ผมไม่รบกวนให้ใครต้องมาช่วยเหลือใครแล้วดีกว่าครับ ผมคิดว่ามีคำหนึ่งที่น่าสนใจมากคือเรื่องของ ‘Universal Design’ ซึ่งมันไม่ได้โฟกัสไปที่เราจะไปช่วยเหลือใครอย่างเดียว แต่โฟกัสว่าทุกคนได้ประโยชน์จากสิ่งนั้นๆ ร่วมกันได้ เช่น ง่ายที่สุดก็คือทางเท้าที่คนตาบอดและคนตาดีสามารถใช้เดินร่วมกันได้ หรือการที่มีลิฟต์สักตัวเพื่อให้คนที่ใช้วีลแชร์ขึ้นไปบนตึกได้ ซึ่งมันก็เหมือนกับละครเรื่องนี้ที่เราออกแบบเพิ่มอีกนิด แต่มีคนที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกเยอะ นี่ล่ะที่ผมบอกว่ามันคือ Universal Design ที่เพียงแค่คุณบิดโปรดักต์ของคุณนิดเดียวก็มีคนที่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นอีกเยอะแล้ว ไม่ใช่ว่าคุณจะต้องไปช่วยเหลือใคร คุณแค่ทำสิ่งที่คุณรักนั่นแหละ และเพิ่มเติมอีกนิดเท่านั้นเพื่อให้คนอื่นได้ใช้บริการด้วย ซึ่งผมคิดว่ามันไม่ใช่แค่เฉพาะสำหรับ Blind Experience เท่านั้นนะครับ แต่มันควรจะเข้าไปอยู่ในทุกๆ มิติของชีวิตได้แล้ว” 

 

ใครที่ต้องการจะรับชมการแสดงสร้างสรรค์สังคมที่ไม่ใช่เพียงแค่นอกจากจะช่วยเหลือคนตาบอดแล้ว แต่ยังเพื่อตัวคุณเองที่จะได้รับประสบการณ์แปลกใหม่และได้รับแรงบันดาลใจดีๆ กลับไป นี่คือการแสดงอีกเรื่องที่เราขอแนะนำเป็นอย่างยิ่ง

 

ภาพ: Courtesy of  Blind Experience

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

FYI
  • แสดงระหว่างวันที่ 13-31 สิงหาคมนี้ ที่ Lido Connect ถนนพระราม 1 (BTS สยาม) บัตรราคา 1,050, 1,300 และ 1,500 บาท สำรองบัตรเข้าชมได้ที่ Zipevent
  • ข้อมูลเพิ่มเติม Facebook: Blind Experience 
  • ละคร เรื่องเล่าจากหิ่งห้อย 2019 มีทีมงานนักแสดงที่อยู่หน้าม่านกว่า 30 ชีวิต ซึ่งในจำนวนนี้มีนักแสดงผู้อยู่ในโลกมืดประมาณ 3-4 คน นอกจากนี้ยังมีทีมงานและอาสาสมัครที่ร่วมสร้างสรรค์อีกนับร้อยชีวิต 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X