งานวิจัยล่าสุดในสหรัฐฯ พบว่า การดื่มกาแฟและชาก่อนนอน 4 ชั่วโมงไม่ส่งผลต่อการนอนหลับ แต่การดื่มแอลกอฮอล์หรือรับนิโคตินจากการสูบบุหรี่ อาจส่งผลให้นอนไม่หลับมากกว่าคาเฟอีน
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฟลอริดา แอตแลนติก, มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด, มหาวิทยาลัยเอมโมรี และศูนย์การแพทย์มิสซิสซิปปีในสหรัฐฯ ได้ติดตามศึกษาพฤติกรรมการนอน และกิจวัตรของกลุ่มตัวอย่างชาวอเมริกันเชื้อสายแอฟริกาจำนวน 785 คนเป็นเวลา 14 ปี ซึ่งส่วนหนึ่งมีปัญหานอนไม่หลับ มีภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ หรือมีความผิดปกติเกี่ยวกับการนอน
นักวิจัยให้กลุ่มตัวอย่างสวมสายรัดเซนเซอร์ที่ข้อมือเพื่อสังเกตการนอนหลับ รวมถึงให้จดบันทึกวิธีการนอน ความรู้สึก สิ่งที่รับประทาน ตลอดจนปริมาณการบริโภคคาเฟอีน และพฤติกรรมการสูบบุหรี่หรือดื่มแอลกอฮอล์ในเวลากลางคืน ซึ่งได้ข้อสรุปว่า กาแฟไม่มีส่วนสำคัญที่ทำให้คนนอนไม่หลับ
ถึงแม้รายงานจากกลุ่มตัวอย่างอาจมีความคลาดเคลื่อน แต่นักวิจัยแสดงความเชื่อมั่นในผลการศึกษาของพวกเขา โดยระหว่างการวิจัย กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 40 ยอมรับว่าได้บริโภคคาเฟอีนก่อนนอนในระหว่างที่ทำการศึกษาอย่างน้อยหนึ่งคืน นอกจากนี้ยังมีการควบคุมปัจจัยอื่นๆ ที่อาจส่งผลต่อการนอนหลับ เช่น อายุขัย เพศ เป็นโรคอ้วน หรือสภาพจิตใจ เช่น มีความเครียด วิตกกังวล เป็นต้น ซึ่งพบว่าคาเฟอีนมีผลต่อการนอนหลับน้อยมาก แต่กลุ่มตัวอย่างที่รายงานปัญหานอนไม่หลับตอนกลางคืนมักดื่มเหล้าก่อนเข้านอน ส่วนผู้ที่สูบบุหรี่มีแนวโน้มนอนหลับได้น้อยกว่าผู้ที่ไม่สูบเฉลี่ย 43 นาที
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- www.dailymail.co.uk/health/article-7327593/Drinking-coffee-close-bedtime-does-NOT-stop-sleeping-alcohol-study-finds.html
- www.telegraph.co.uk/science/2019/08/06/coffee-bed-may-not-bad
- www.bodyandsoul.com.au/health/health-news/hallelujah-science-says-drinking-coffee-close-to-bedtime-doesnt-impact-your-sleep/news-story/fe94cc7e4c09a16f1e29306f4f72f4a0
- www.stuff.co.nz/life-style/well-good/114816065/coffee-before-bed-does-not-affect-quality-of-sleep-study-finds