คำตอบคือ “ไม่จริงค่ะ” หมอขอยกงานวิจัยประกอบเหตุผลที่ว่าดังนี้
งานวิจัยตีพิมพ์ใน Human Reproduction เมื่อปี 2016 ที่ทำการศึกษาในผู้หญิงอายุ 18-45 ปี จาก 4 มหาวิทยาลัยทั้งจากประเทศไทย บราซิล สิงคโปร์ และฮังการี จำนวน 321 คน โดยให้พวกเธอกินยาคุมฉุกเฉินภายใน 24 ชั่วโมง ก่อนหรือหลังเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง นาน 6 เดือน พบว่าผู้หญิงที่ร่วมงานวิจัยทั้งหมดมีการตั้งครรภ์เฉลี่ยร้อยละ 7.5
สำหรับหญิงอายุต่ำกว่า 35 ปี มีการตั้งครรภ์ร้อยละ 11 ซึ่งสูงกว่าการกินยาคุมเป็นแผง ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 9 และยาฉีด DMPA ที่ร้อยละ 6 ส่วนห่วงอนามัย ต่ำกว่าร้อยละ 1 และยังมีอาการข้างเคียงซึ่งทนได้ ได้แก่ ปวดหัว คลื่นไส้ ปวดท้อง โลหิตจาง
การคุมกำเนิดด้วย ‘ยามาดอนน่า’ หรือยาคุมฉุกเฉินเป็นที่ยอมรับของสาวๆ ที่มาร่วมวิจัยจำนวนมาก (ร้อยละ 90) ซึ่งพวกเธอเลือกใช้การคุมกำเนิดโดยยาคุมฉุกเฉินทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ ทั้งยังแนะนำให้คนอื่นเลือกใช้เนื่องจากสะดวก เพราะไม่ต้องกินยาคุมทั้งเดือน โดยเฉพาะคนที่นานๆ ครั้งจะมีเพศสัมพันธ์ หรือมีเพศสัมพันธ์ไม่ได้แพลนไว้ก่อน
แต่ทั้งนี้ผู้วิจัยเสนอว่า ไม่ควรใช้การคุมกำเนิดฉุกเฉินแทนการคุมกำเนิดเดิม แม้ว่าจะไม่มีข้อห้ามในการกินยาคุมกำเนิดฉุกเฉิน แต่ประสิทธิภาพของยาไม่ดีเท่าการคุมกำเนิดมาตรฐานที่ใช้กันอยู่ และหากพลาดตั้งครรภ์ อาจเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้ อีกทั้งยังมีผลข้างเคียง ทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ อาจมามาก มานาน หรือมากะปริบกะปรอยได้
และงานวิจัยนี้ก็ยังมีจุดอ่อน โดยจำนวนคนเข้าร่วมงานวิจัยยังมีไม่มาก ติดตามผลไม่นาน ดังนั้นจึงควรใช้ยาคุมกำเนิดชนิดแผงตามมาตรฐานเดิม หากแพ้ชนิดที่มีฮอร์โมนสองตัว หมอแนะนำให้เลือกใช้ยาคุมที่มีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนตัวเดียว ซึ่งต่อเม็ดมีฮอร์โมนน้อยกว่ายาคุมฉุกเฉินจำนวน 10-20 เท่า ทำให้มีเลือดออกผิดปกติได้น้อยกว่า เสี่ยงต่อการเสียเลือดน้อยกว่า และยังคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากกว่าด้วย
สรุปที่ว่ากันว่าไม่ควรกินยาคุมฉุกเฉินเกินสองครั้งในชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่เล่ากันแบบไม่มีมูล และแนะนำว่าหากสาวๆ มีความจำเป็นต้องกินยาคุมฉุกเฉิน ก็สามารถเลือกกินได้ แต่ไม่ควรนำมาใช้แทนการคุมกำเนิดมาตรฐานนั่นเอง
เราควรใช้ยาคุมฉุกเฉินต่อเมื่อเกิดเหตุต่อไปนี้
- ไม่พร้อมจะมีลูก และมีเพศสัมพันธ์ไปแล้วไม่เกิน 120 ชั่วโมง
- มีปัญหากับการคุมกำเนิดปัจจุบัน ได้แก่
-
- ถุงยางอนามัยรั่ว แตก หลุด หรือไม่แน่ใจว่าสวมใส่ถูกวิธี
- ลืมกินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนสองตัวต่อกันสองวัน
- กินยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนตัวเดี่ยวไม่ตรงเวลา ห่างเวลาเดิมไป 3 ชั่วโมง
- ลืมฉีดยาคุมกำเนิดชนิด 3 เดือน (DMPA) เลยไป 1-2 สัปดาห์
- ลืมฉีดยาคุมกำเนิดชนิดหนึ่งเดือน (Cyclofem) เลยไป 2-3 วัน
- หมวกยางหรือไดอะเฟรมกั้นปากมดลูกหลุด ฉีก หรือเอาออกก่อน 8 ชั่วโมงหลังเพศสัมพันธ์
- แผ่นแปะคุมกำเนิดเลื่อนหลุด หรือเอาออกก่อนกำหนด
- ห่วงคุมกำเนิดหลุด เลื่อน หรือหายไป
- ใช้วิธีนับวัน วัดอุณหภูมิ เครื่องมือตรวจฮอร์โมน คำนวณวันไข่ตก แต่ไม่แน่ใจว่าจะนับถูก
- หลั่งภายนอก แต่ไม่แน่ใจว่าอสุจิปนเปื้อนกับอวัยวะเพศของฝ่ายหญิงหรือไม่
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- Festin MP, Bahamondes L, Nguyen TM, et al. A prospective, open-label, single arm, multicentre study to evaluate efficacy, safety and acceptability of pericoital oral contraception using levonorgestrel 1.5 mg. Hum Reprod 2016; 31:530.