เทคโนโลยีทางการแพทย์สมัยนี้ดูจะเริ่มพัฒนาไปอย่างรวดเร็วและก้าวกระโดดชนิดที่เหมือนหลุดออกมาจากภาพยนตร์มากขึ้นทุกวันๆ ล่าสุดเป็นคิวของ อีลอน มัสก์ นักธุรกิจและวิศวกรนักประดิษฐ์มากความสามารถที่เพิ่งเปิดตัวโครงการใหม่สดๆ ร้อนๆ ภายใต้สตาร์ทอัพ Neuralink ไปเมื่อวันอังคารที่ 16 กรกฎาคมที่ผ่านมา ตามเวลาท้องถิ่น เพื่อผลิตอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองของมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์และ AI หวังยกระดับและสร้างประโยชน์ให้กับวงการการแพทย์
พูดง่ายๆ คือบริษัท Neuralink (ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2017) ของมัสก์ต้องการจะพัฒนาเครื่องมือที่สามารถปลูกถ่ายให้กับผู้ป่วยอัมพาต ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยโรคมะเร็ง หรือผู้ป่วยโรคอื่นๆ ที่สูญเสียการควบคุมร่างกาย เพื่อให้พวกเขาสามารถควบคุมการทำงานของสมาร์ทโฟนหรือคอมพิวเตอร์ได้ตามความรู้สึกนึกคิดโดยตรงผ่านเทคโนโลยี Threads หรือสายสื่อประสาทเข้ากับสมองที่มีความยืดหยุ่นสูง
ความได้เปรียบของเทคโนโลยีสายสื่อประสาทโดย Neuralink คือการที่มันมีโอกาสจะสร้างความเสียหายใหักับสมองของมนุษย์น้อยกว่าวัสดุที่ใช้ในส่วนต่อประสานระหว่างสมองมนุษย์และคอมพิวเตอร์ในปัจจุบันทั่วไป ที่สำคัญมันยังสามารถโอนถ่ายส่งต่อข้อมูลขนาดมหาศาลได้อย่างไร้ข้อจำกัดใดๆ
ในแง่ของขนาดอุปกรณ์ มีการเปิดเผยว่าสายสื่อประสาทของเจ้าอุปกรณ์ Neuralink จะมีขนาดบางกว่าเส้นผมมนุษย์เราด้วยซ้ำ! โดยมีขนาดอยู่ที่ราวๆ 4-6 ไมโครเมตรเท่านั้น ขณะที่การติดตั้งและการปลูกถ่ายอุปกรณ์เพื่อเชื่อมต่อกับสมองมนุษย์นั้น ทีมงานนักวิทยาศาสตร์ของ Neuralink หวังว่าพวกเขาจะใช้แสงเลเซอร์เพื่อเจาะผ่านกะโหลกศีรษะแทนที่จะใช้การเจาะทะลุโดยตรงด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ในปัจจุบัน
มัสก์ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนถึงความตั้งใจในการก่อตั้งบริษัท Neuralink พัฒนาอุปกรณ์เชื่อมต่อสมองมนุษย์เข้ากับคอมพิวเตอร์และสมาร์ทโฟนว่า นอกจากจะเป็นไปเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตหรือควบคุมอุปกรณ์สมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ต่างๆ ได้เหมือนปกติแล้ว เขายังต้องการจะพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ให้เชื่อมต่อกับมนุษย์ได้อย่างไร้รอยต่อและเกิดประโยชน์มากที่สุดอีกด้วย
แม้จะไม่มีหลักฐานพิสูจน์หรือยืนยันอย่างเป็นทางการ แต่มัสก์ก็บอกเป็นนัยๆ แล้วว่าการทดลองในห้องแล็บของ Neuralink ช่วยให้สัตว์อย่าง ‘ลิง’ สามารถควบคุมการใช้งานคอมพิวเตอร์ได้ด้วยตัวมันเองแล้ว โดยคาดว่าจะได้เริ่มทดลองจริงกับผู้ป่วยที่เป็นมนุษย์ภายในช่วงปลายปีหน้า
อย่างไรก็ดี ปราการด่านสำคัญที่มัสก์และ Neuralink จะต้องผ่านไปให้ได้เสียก่อนคือการได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาสหรัฐฯ (FDA) เพื่อให้อุปกรณ์ของพวกเขาสามารถทดลองกับมนุษย์ได้จริงๆ
เสียงสะท้อนจาก เฟรเดอริก คัลธิวเนอร์ ผู้นำคณะทำงานองค์กรด้านความเป็นส่วนตัวนานาชาติ (Privacy International) ที่ให้สัมภาษณ์กับ CNN ก็แสดงทัศนะมุมมองที่น่าสนใจไว้ว่า ทาง Neuralink จะมีการจัดเก็บหรือควบคุมดูแลข้อมูลที่สมองเชื่อมต่อผ่านระบบเข้ากับคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟนด้วยวิธีใด รวมถึงจะมีการส่งต่อกับผู้ให้บริการหรือบริษัท Third Parties หรือไม่
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- www.vox.com/future-perfect/2019/7/17/20697812/elon-musk-neuralink-ai-brain-implant-thread-robot
- www.theverge.com/2019/7/16/20697123/elon-musk-neuralink-brain-reading-thread-robot
- www.forbes.com/sites/alexknapp/2019/07/17/elon-musk-sees-his-neuralink-merging-your-brain-with-ai/#2b8878674b07
- edition.cnn.com/2019/07/17/tech/elon-musk-neuralink-brain-implant/index.html