สมมติว่าคุณบินมาประชุมที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างที่คุณกำลังประชุมอยู่ เกิดเหตุขัดข้องกับเครื่องฉายโปรเจกเตอร์ ซึ่งส่งผลทำให้การประชุมเป็นที่ล่าช้ากว่าที่คุณกำหนดเอาไว้ หลังจากที่คุณประชุมเสร็จเรียบร้อยแล้ว คุณก็รีบนั่งรถแท็กซี่เพื่อที่จะบึ่งตรงไปยังสนามบินชางงี เพื่อจับเครื่องบินเครื่องสุดท้ายของคืน และจะได้บินกลับบ้านของคุณที่กรุงเทพฯ
แต่ถ้าคุณตกเครื่องบินที่มีกำหนดการบินตอน 21.30 น. คุณจะต้องค้างสิงคโปร์อีกหนึ่งคืน ซึ่งก็จะทำให้คุณพลาดงานโรงเรียนของลูก (ที่คุณสัญญาว่าจะไปให้ได้) ที่จะมีขึ้นในตอนเช้าของวันพรุ่งนี้
ด้วยความโชคร้าย รถแท็กซี่ที่คุณนั่งอยู่เกิดวิ่งไปเจอรถติดเข้า จนทำให้คุณมาถึงสนามบิน ณ เวลา 21.55 น. คุณวิ่งไปถึงประตูเครื่อง ณ เวลา 22.02 น. พอมาถึงที่ประตูเครื่องปุ๊บ คุณพบหนึ่งในเหตุการณ์ดังต่อไปนี้
1. คุณพบว่าเครื่องบินของคุณออกบินไปแล้วตามเวลาที่กำหนด 21.30 น.
2. คุณพบว่าเครื่องบินของคุณเพิ่งจะออกบินไป ณ เวลา 22.00 น. (คือคุณมาช้าไปเพียงแค่สองนาทีเท่านั้นเอง)
ถามว่า ระหว่างข้อ 1 และ 2 ประสบการณ์ไหนที่คุณคิดว่าคุณน่าจะเสียใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่ากันครับ
ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่ก็คงจะตอบคล้ายๆ กันว่า “เสียใจกับข้อ 2 มากกว่า เพราะว่าเราพลาดเครื่องบินไปแค่สองนาทีเท่านั้นเอง”
แต่ถ้าเราลองคิดถึงเหตุการณ์ทั้งสองเหตุการณ์นี้ดูดีๆ เราก็จะเห็นได้ว่า ผลลัพธ์ของทั้งสองข้อเหมือนกัน ซึ่งก็คือการตกเครื่องบินนั่นเอง แล้วทำไมเราถึงคิดว่าเราจะเสียใจกับประสบการณ์ที่เขียนไว้ในข้อ 2 มากกว่า
คำตอบก็คือ ความรู้สึกเสียใจและเสียดายของคนเรามักจะขึ้นตรงกับว่า เราใช้เวลาคิดถึงเหตุการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้น แต่สามารถเกิดขึ้นได้ (ภาษาอังกฤษเรียกการคิดอย่างนี้ว่า Counterfactual Thinking) มากน้อยขนาดไหน
พูดง่ายๆ ก็คือ คนเราอาจจะไม่รู้สึกดีใจมากนักจากการถูกลอตเตอรี่รางวัลที่สี่ ถ้าเรารู้ว่า เลขที่เราอยากจะเลือกจริงๆ แต่เปลี่ยนใจไม่เลือก เป็นเลขที่ถูกรางวัลที่หนึ่ง เป็นต้น
สำหรับตัวอย่างเบื้องต้น คนเราคิดว่าจะเสียใจกับประสบการณ์ข้อที่ 2 มากกว่า ก็เป็นเพราะว่าเราพลาดเครื่องบินไปเพียงแค่สองนาทีเท่านั้นเอง ซึ่งแม้จะพลาดเหมือนกัน แต่การพลาดแค่นิดเดียวนี้มันช่างเป็นอะไรที่ปวดใจกว่าการพลาดแบบเยอะๆ หลายเท่าตัว
และนี่ก็เป็นหนึ่งผลการวิจัยในหัวข้อของ Regrets หรือความเสียใจ เสียดายของ ทอม ไกโลวิช นักจิตวิทยาของ Cornell นั่นเอง
จริงไหมที่การเสียใจในสิ่งที่ทำนั้นเป็นอะไรที่ดีกว่าการเสียใจในสิ่งที่ไม่ทำ
และอีกหนึ่งงานวิจัยของไกโลวิชและทีมงานพบว่า คนเราสามารถแบ่งชนิดของความเสียใจในชีวิตของคนเราออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ๆ
ชนิดแรกก็คือ ความเสียใจในสิ่งที่ทำลงไป (Regretful Action)
ส่วนชนิดที่สองก็คือ ความเสียดายในสิ่งที่เราไม่ได้ทำ (Regretful Inaction)
ตัวอย่างของ Regretful Action ก็คือการตัดสินใจเลือกทำอะไรสักอย่าง แล้วผลมันออกมาไม่ดี อย่างเช่น การตัดสินใจขายหุ้นตัวหนึ่งทิ้ง แล้วราคาของหุ้นตัวนั้นก็ขึ้นสูงมากหลังจากที่ได้ขายมันทิ้งไปแล้วไม่นาน
ส่วนตัวอย่างของ Regretful Inaction ก็คือการตัดสินใจไม่ทำอะไรสักอย่างที่อยากจะทำ อย่างเช่น อยากเรียนต่อแต่ก็ตัดสินใจไม่เรียน เป็นต้น
ไกโลวิชบอกว่า ในระยะสั้นนั้น ความเจ็บปวดที่เราได้มาจาก Regretful Action มันมักจะมากกว่าความเจ็บปวดจาก Regretful Inaction
แต่ในระยะยาวแล้ว คนเรามักจะมีความรู้สึกเสียใจและเสียดายในสิ่งที่อยากทำในชีวิต แต่กลับไม่ได้ทำมากกว่า ซึ่งก็คือ Regretful Inaction นั่นเอง
ปัญหาก็คือ เพราะว่าความเจ็บปวดระยะสั้นของ Regretful Action มันช่างสูงกว่าความเจ็บปวดระยะสั้นของ Regretful Inaction เยอะ คนเราส่วนใหญ่จึงกลัวการตัดสินใจทำอะไรสักอย่างแล้วผลออกมาแย่ มากกว่าการกลัวพลาดโอกาสจากการไม่ทำ
สรุปก็คือ การที่คนเราเกลียดการเสียใจ/เสียดายมากนั้น สามารถทำให้เราตัดสินใจไม่ทำในสิ่งที่เราอยากจะทำ เพียงเพราะว่าเรากลัวความล้มเหลว หรือ Regretful Action นั่นเอง ซึ่งก็สามารถทำให้เรามีความเจ็บปวดมากกว่า จากความรู้สึกเสียดายในสิ่งที่ไม่ได้ทำในระยะยาวได้นะครับ
ภาพประกอบ: Chatchai C.
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล