Q: ตอนนี้ที่ทำงานมีคนทยอยลาออกกันไปเรื่อยๆ ค่ะ หนูเองก็คิดเรื่องลาออกเหมือนกัน แต่ตอนนี้คนลาออกกันไปเยอะ ถ้าหนูออกไปเป็นคนหลังๆ จะดูแย่ หรือเขาจะไม่ยอมให้ลาออกไหมคะ หัวหน้าจะคิดว่าเราซ้ำเติมเขาในวันที่เขากำลังจะไม่เหลือลูกน้องไหมคะ
A: มันจะตลกร้ายกว่านั้น ถ้าระหว่างที่น้องกังวลอยู่นี้ว่าจะลาออกดีไหม หัวหน้าจะว่าเราหรือเปล่า แล้วพอน้องเข้าไปคุยกับหัวหน้า หัวหน้าบอกว่า “อ๋อ…พี่ก็กำลังจะไปเหมือนกัน” ตึงโป๊ะ! กอดคอกันลาออกได้เลย ฮ่าๆ
เวลาคนลาออก เหตุผลพื้นฐานเลยก็คือบริษัทเดิมไม่ตอบโจทย์ชีวิตตอนนี้แล้ว ถ้ายังตอบโจทย์สิ่งที่ต้องการในชีวิตของเราตอนนี้ได้อยู่ เราก็คงไม่ลาออกหรอกมั้งครับ ที่ต้องย้ำว่าเป็นโจทย์ของชีวิตตอนนี้ ก็เพราะว่าเมื่อก่อนบริษัทนี้อาจจะตอบโจทย์ชีวิตที่เราต้องการได้อยู่ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เมื่อเราได้ใช้เวลากับที่นี่มากขึ้น เราก็เติบโต บริษัทก็เติบโต เราเองก็เปลี่ยนไปจากวันแรกที่เข้ามา บริษัทเองก็เปลี่ยนไปจากวันแรกที่เราเข้ามา อะไรต่างๆ มันก็อาจจะไม่ได้ตอบโจทย์ชีวิตเราตอนนี้ก็ได้
ตอนนั้นใช่ แต่ตอนนี้ไม่ใช่แล้ว — แหม…ไม่ต่างอะไรกับความรักนะครับ ฮ่าๆ
เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องผิดหรือถูกครับ เป็นเรื่องความต้องการเราตรงกันหรือเปล่า ไม่ใช่บริษัทตอบโจทย์เราไหม ตัวเราเองล่ะตอบโจทย์สิ่งที่บริษัทต้องการหรือเปล่า ถ้าต่างฝ่ายต่างตอบโจทย์ซึ่งกันและกันก็อยู่ด้วยกันต่อได้ครับ ถ้าไม่ตอบโจทย์ซึ่งกันและกัน อยู่กันไปแบบคนที่ไม่ใช่ก็คงไม่ไหว ทนอยู่ได้แต่อยู่อย่างมีความหมายหรือสร้างคุณค่าให้แก่กันไหมคงอีกเรื่อง
จริงๆ แล้วทุกบริษัทมีการลาออกอยู่แล้วครับ ข้อดีของการที่พนักงานลาออกก็คือเป็นการเปลี่ยนเลือดใหม่มาบริหารองค์กร คิดในแง่ดีก็คือบริษัทก็จะได้คนเก่งๆ คนใหม่ๆ มาเติมไฟให้องค์กรได้รสชาติใหม่ๆ วิธีการทำงานใหม่ๆ ตามมาด้วย แต่ข้อเสียคือถ้าคนลาออกกันบ่อยๆ บางทีงานก็ไม่ต่อเนื่องนะครับ เคยไหมครับที่ทำงานไปได้เรื่อยๆ พอมีคนใหม่เข้ามาแล้วต้องรื้อใหม่ ล้างใหม่หมด ไม่ทำแล้วแบบเดิม เริ่มต้นใหม่หมด หรือบางทีก็ออกไปแบบตอนเริ่มงานวางแผนไว้แบบหนึ่ง แต่ได้ผลงานที่ไม่เหมือนกับที่คิดไว้เพราะคนทำเปลี่ยน ถ้าเปลี่ยนแล้วดีก็ดีไปครับ แต่อย่าลืมว่าคนใหม่เข้ามาก็ต้องให้เวลาเขาในการปรับตัวหน่อย เคมีเข้ากับทีมไหม เข้าใจงานหรือเปล่า ของแบบนี้มันต้องใช้เวลา
หลายๆ บริษัทจะมีวงจรของคนลาออกอยู่แล้ว เช่น หลังได้โบนัสเรียบร้อย คนที่อยากเปลี่ยนงานก็จะค่อยๆ สำแดงตัวออกมา เป็นเรื่องปกติครับ ใครๆ ก็อยากรับโบนัสก่อนทั้งนั้น
ทีนี้ต้องมาดูว่าการลาออกที่แห่กันลาออกนั้นเป็นการลาออกจากสาเหตุอะไร แน่นอนว่ามีคนลาออกแสดงว่าบริษัทเดิมไม่ตอบโจทย์ของพวกเขาแล้ว แต่ตัวเราเองล่ะครับ เรามีปัญหาอะไรที่ไม่ได้รับการแก้ไขจากองค์กรหรือเปล่า ตอนนี้เราต้องการอะไร และบริษัทให้สิ่งนั้นเราได้หรือเปล่า รวมทั้งมองกลับไปที่บริษัทว่าบริษัทต้องการอะไร แล้วตัวเราให้สิ่งนั้นกับบริษัทได้หรือเปล่า ที่สำคัญ เราเติบโตในบริษัทนี้ได้หรือเปล่าถ้าเราอยู่ต่อไป และถ้าโตจะโตแบบไหน ใช่แบบที่เราต้องการอยู่หรือเปล่า
ถ้าจะคิดเรื่องลาออก พี่คิดว่าน่าจะมองเรื่องเหล่านั้นเป็นหลัก ไม่ต้องมองดูคนอื่นๆ เพราะแต่ละคนมีเหตุผลส่วนตัวในการลาออกที่ไม่เหมือนกัน ต่างคนต่างต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเองครับ
พี่เข้าใจว่าพอเห็นเพื่อนร่วมงานลาออกกันไปหมด บางทีคนที่ยังอยู่ก็รู้สึกใจปิ๋วๆ ว่า แล้วเราอยู่ตรงนี้ทำไมล่ะ หรือเรือกำลังจะแตก เรือไททานิกกำลังจะล่ม เขาหนีกันไปหมดแล้ว เราจะอยู่ต่อทำไมล่ะ บางคนก็คิดแบบนี้ ยิ่งคนที่ทำงานที่เดิมนานๆ บางทีการเห็นเพื่อนร่วมงานเราลาออกแล้วไปเติบโตที่อื่นที่ดูแล้วชีวิตเขาดี๊ดี ไปแล้วตำแหน่งใหญ่โตเชียว ก็คงมีบ้างที่ทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่า ทำไมเรายังอยู่ที่เดิม หรือเราจะลาออกไปที่ใหม่ดี
ความรู้สึกเหล่านี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ครับ แต่กลับมาเรื่องเดิม เราอยากลาออกเพราะโดยเนื้อแท้แล้วที่นี่ไม่ตอบโจทย์เราอีกแล้ว หรือเราอยากลาออกเพราะเห็นคนอื่นลาออกเลยอยากออกบ้าง
ไปบอกหัวหน้าว่าขอลาออกไม่ใช่เรื่องแย่หรอกครับ จะมองว่าเป็นการซ้ำเติมหัวหน้าที่กำลังจะไม่เหลือใครหรือเปล่าอันนี้พี่ว่าอยู่ที่ว่าที่ผ่านมาเราทำงานเป็นอย่างไร คือถ้าคนที่ลาออกไปทำงานกันไม่ดีอยู่แล้ว หัวหน้าก็อาจจะดีใจก็ได้นะครับ ไม่ได้เป็นการซ้ำเติม แต่เป็นการทำให้หัวหน้าโล่งใจไปด้วยในตัว ฮ่าๆ
คนเป็นหัวหน้าอย่างไรก็ต้องเคยเจอลูกน้องลาออก นี่เป็นหลักสูตรภาคบังคับที่อย่างไรก็ต้องเจอครับ และหัวหน้าที่ดีก็ควรสนับสนุนลูกน้องให้เจอทางที่ดี ไม่ว่าทางที่ดีนั้นจะหมายถึงดีในบริษัทเดิมหรือดีในบริษัทใหม่ก็ตาม เอาว่าอันไหนดีกับลูกน้องเราที่สุดทำไมจะไม่อยากให้เขาไปสู่สิ่งที่ดีล่ะครับ ว่าไหม?
ถ้ามีปัญหาคับข้องใจใดๆ พี่คิดว่าลองคุยกับหัวหน้าก็ดีนะครับแล้วค่อยมาตัดสินใจลาออก หลายครั้งเราคิดเรื่องลาออกก่อนที่จะเริ่มแก้ปัญหาด้วยซ้ำ ลาออกมันง่ายครับ แต่หลังลาออกแล้วจะทำอย่างไรต่อนี่สิยากกว่า
แต่ถ้าตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะไปในช่วงเวลาที่แพแตกแล้วทุกคนแยกย้ายกันไปหมด พี่คิดว่าเราต้องคุยกับหัวหน้าดีๆ เป็นไปได้นะครับว่าพอคนแห่กันลาออกขนาดนี้ หัวหน้าหรือองค์กรของน้องอาจจะตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ถ้าหัวหน้าลงมือแก้ไขปัญหาจริง แล้วบริษัทนี้ยังใช่บริษัทที่เราอยากทำ และใช้ชีวิตอยู่ร่วมได้ น้องจะอยู่ต่อก็ได้ครับ และเหมือนเดิม ถ้าวันข้างหน้ามันไม่ตอบโจทย์แล้วน้องจะไปก็ไม่ผิด ไปจนถึงว่าบางทีบริษัทไม่ได้ทำอะไรผิด แต่น้องเจอโอกาสที่ดีกว่าแล้วอยากจะไป ก็ไม่มีใครผิดครับ
เคยฟังเพลงปาล์มมี่ไหมครับที่ร้องว่า “แต่คนจะไปก็ต้องไป…” การลาออกก็เป็นแบบนั้นครับ
ไปขอลาออกไม่ใช่เรื่องไม่ดีครับ แต่มันจะแย่ถ้าเราลาออกไปโดยที่ไม่ได้คิดมาให้ดีๆ เห็นเขาลาออกก็เลยลาออกบ้าง หรือไปบอกลาออกแบบไม่เหลือเยื่อใยใดๆ กับหัวหน้าเลย อันนี้น่ากลัวครับ ทำดีมาตลอด แต่มาตกม้าตายตอนจบก็ไม่สวยนะครับ
แต่ถ้าคิดอีกมุม ถ้าคนแห่กันลาออกแบบนี้แล้วน้องยังอยู่ ถ้าน้องไม่ได้มีปัญหาอะไรกับบริษัทอยู่แล้ว และก็ยังรู้สึกว่าทำงานได้อยู่ พี่คิดว่านี่แหละคือเวลาที่ทำให้บริษัทเห็นว่ามีน้องอยู่แล้วบริษัทดียังไง เป็นไปได้ว่าน้องจะได้งานเพิ่มขึ้นเพราะคนหายไป และคนใหม่ก็ยังต้องใช้เวลา แต่ก็ถือว่าเป็นเวลาให้น้องได้ฝึกประสบการณ์มากขึ้น น้องอาจจะใช้เวลานี้ทำให้น้องโดดเด่นขึ้นมาก็ได้
แต่ถ้าทำดีแล้วเขาไม่เห็นคุณค่าน้อง น้องจะเป็นฝ่ายบอกเขาว่า “แต่คนจะไปก็ต้องไป…” ก็ไม่ผิดหรอกครับ
กลับไปคิดดูดีๆ ก่อนว่า อยากลาออกจริงๆ หรืออยากลาออกเพราะคนอื่นเขาลาออกกัน และปัญหาที่เจออยู่นี้จำเป็นว่าต้องลาออกเลยไหม
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์