Q: หัวหน้าผมเป็นคนพูดอย่างหนึ่ง แต่ทำอย่างหนึ่ง ชอบพูดจาหล่อๆ แต่การกระทำสวนทางกัน ดีแต่พูด ผมไม่รู้ว่าเขาเป็นหัวหน้าได้อย่างไร ไม่อายบ้างหรือไง คนแบบนี้ควรเป็นหัวหน้าต่ออีกเหรอครับ เขาควรจะเป็นแบบอย่างให้คนอื่น แต่มาทำตัวแบบนี้เอง ผมควรจะทำตัวอย่างไรในฐานะเป็นลูกน้องของหัวหน้าที่ไม่รักษาคำพูดดีครับ
A: สวัสดีครับน้องไอติม เอ้ย! ไม่ใช่ นึกว่าเป็นคำถามจากพรรคพระแม่ธรณีบีบมวยผม มันช่างตร๊งตรง ฮ่าๆ น้องไอติมเอ๋ย ขอโทษ ลืมๆ น้องเอ๋ย ที่น้องบอกว่าหัวหน้าควรเป็นแบบอย่างให้คนอื่น ควรรักษาคำพูด ควรมีการกระทำที่สอดคล้องกับคำพูดแบบที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Walk the talk’ ที่น้องว่ามาน่ะถูกทุกอย่าง ไม่มีผิดเลย สิ่งที่พี่จะบอกก็คือตามหลักการแล้วมันควรเป็นอย่างนั้น แต่ใช่ว่าทุกคนจะทำ ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์แล้ว เราไปกะเกณฑ์ว่าเขาต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ไม่ได้หรอก คือเขาควรจะทำแหละ แต่เขาไม่ทำไง เขาไม่แคร์ ถ้าแคร์เขาทำไปแล้ว ชิ!
สังคมไทยเราให้ความสำคัญกับระบบอาวุโส เรานับถือคนที่อายุมากกว่า สิ่งที่พี่อยากบอกก็คือการได้รับเกียรติ ได้รับการยกย่อง ได้รับการนับถือนั้นไม่สามารถได้มาจากแค่การแปะป้ายตำแหน่ง แต่มาจากการเห็นถึงความดีที่ควรค่าแก่การได้รับเกียรติ ได้รับการชื่นชม ของแบบนี้มันต้องสร้างถึงจะได้รับ ไม่ใช่ว่าแค่แก่แล้วหรือมีตำแหน่งสูงก็จะได้รับความเคารพทันที คนอาจจะยกมือไหว้ แต่ในใจชูนิ้วกลางก็เป็นได้
ตอบคำถามน้องที่ว่า ไม่รู้ว่าเขาเป็นหัวหน้าได้อย่างไร ไม่อายบ้างเหรอ อันนี้พี่ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเขาเป็นหัวหน้าได้อย่างไร คือคนเรามีเหตุผลที่มาของการเป็นหัวหน้าได้ล้านแปดวิธี ได้เป็นเพราะอยู่มานาน ได้เป็นเพราะเป็นเจ้าของ ได้เป็นเพราะอายุมาก ได้เป็นเพราะเสียงดัง ได้เป็นเพราะช่วงชิงอำนาจเขามา (อูย…) ได้เป็นเพราะได้รับความไว้วางใจ ได้เป็นเพราะความสามารถ บางชนเผ่าในแอฟริกาใต้เลือกหัวหน้าเผ่าจากการวัดรอบเอวว่าใครเอวใหญ่สุดก็มี เพราะฉะนั้นวิธีการก้าวมาเป็นหัวหน้ามันมีหลายวิธีมาก ใครๆ ก็อยากเป็นหัวหน้าเพราะจะได้มีอำนาจ ได้มีการเติบโต แต่ได้เป็นแล้วจะอยู่อย่างไรให้มั่นคงนี่สิ ตัวใครตัวมันแล้ว
เหมือนกันครับ หัวหน้าน้องก้าวมาเป็นหัวหน้าด้วยวิธีใดไม่รู้ แต่ถ้าเขาไม่รักษาคำพูดมานานแล้ว พี่ก็เดาว่าเขาอาจจะไม่อายมานานแล้วก็ได้นะ ฮ่าๆ
คนแบบนี้สมควรเป็นหัวหน้าต่อไหม อันนี้พี่คิดว่าตอบยาก คือโดยหลักการแล้วเราก็อยากได้คนเก่ง คนดี คนที่ได้รับการยอมรับมาเป็นหัวหน้า แต่ในความเป็นจริง อย่างที่พี่บอก บางทีคนเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นหัวหน้า แล้วเราก็ได้ใครก็ไม่รู้มา (อันนี้ไม่เกี่ยวกับการเมืองนะน้องนะ ฮ่าๆ) อันนี้เป็นปัญหาขององค์กรแล้วล่ะว่าไม่ได้เลือกคนที่ควรค่ามาอยู่ในตำแหน่ง มันก็จะมีปัญหาแบบนี้แหละครับ ตัวลูกน้องเองก็จะไม่ศรัทธา เออเนอะ แล้วเขาจะทำงานยังไงล่ะนี่ หรือปกติเขาก็ไม่ทำ ฮ่าๆ
สิ่งหนึ่งที่น่าชื่นชมก็คือพี่ดีใจที่น้องรู้สึกเป็นเดือดเป็นร้อนกับการกระทำของหัวหน้า ถ้าหัวหน้าทำไม่ดีแล้วเรายังรู้สึกว่า เฮ้ย เขาทำไม่ถูกนี่หว่า อันนี้แปลว่าเรายังใช้ได้อยู่ แต่ถ้าเห็นหัวหน้าทำไม่ดีแล้วเราก็ไม่หือไม่อือ เผลอๆ จะคล้อยตามเขาไปด้วยถ้าเรายังได้รับประโยชน์จากเขาอยู่ อันนี้พี่ว่าไม่โอเคแล้ว
ทีนี้รู้สึกไม่โอเคกับการกระทำของหัวหน้าแล้วจะทำอย่างไร มันมีวิธีรับมือหลายแบบนะครับ แบบแรกก็คือถ้าน้องรู้สึกว่าตัวเองต้องการต้นแบบที่ดี หัวหน้าคนนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ แต่ยังมีคนอื่นๆ ในที่ทำงานอีกไหมที่น้องพอจะดูเป็นแบบอย่างได้ ถ้าดูทรงแล้วองค์กรนี้ไม่ได้มีคนที่น้องจะเอาเป็นแบบอย่างได้เลยจริงๆ พี่ก็แนะนำว่าโลกมันกว้าง เราไม่ได้มีหัวหน้าได้แค่คนเดียว ไปที่อื่นที่จะหล่อหลอมเราให้โตมาเป็นหัวหน้าที่ดีได้ดีกว่า
แบบที่สอง บางทีหัวหน้าที่ไม่ค่อยทำงานทำการก็อาจทำให้เราโดดเด่นขึ้นมาได้ เพราะเราทำงานไงน้อง แปลว่ามีตัวเปรียบเทียบให้เห็น คือถ้าเราทำงานดี ขณะที่หัวหน้าไม่ทำงานเป็นชิ้นเป็นอันเลย มัวแต่เกาะผลงานลูกน้อง ถ้าหัวหน้าของหัวหน้าน้องมีตา เขาก็ควรผลักดันให้น้องหรือคนอื่นก้าวเป็นหัวหน้าแทน มีหัวหน้าเยินๆ ไม่ใช่ปัญหาเลวร้ายเท่าการที่องค์กรยังเก็บหัวหน้าเยินๆ ไว้ อันนี้พี่ว่าก็ต้องวัดใจองค์กรน้องเหมือนกันว่าจะมองเห็นปัญหานี้หรือเปล่า ถ้าน้องรู้สึกว่ามันกระทบกับองค์กรและเพื่อนร่วมงานจริง พี่คิดว่าน้องต้องส่งสัญญาณบางอย่างว่าหัวหน้าคนนี้ไม่ไหวแล้ว บางองค์กรพนักงานสามารถสื่อสารโดยตรงได้กับผู้บริหารสูงสุด มีปัญหาอะไรในองค์กรก็ยิงตรงไปบอกได้เลย ปัญหาก็คือผู้บริหารสูงสุดจะได้อ่านไหม หรือจะโดนสกัดดาวรุ่งจากคนที่กรองปัญหาก่อน อันนี้อยู่ที่องค์กรแล้วล่ะว่าจริงจังกับการแก้ไขปัญหาแค่ไหน พูดง่ายๆ คือองค์กรนั้นมีบุญมากพอที่จะรู้ไหมว่าตัวเองน่ะมีปัญหา
แบบที่สาม ถ้าน้องไม่ได้รู้สึกว่าต้องการแบบอย่างจากคนเป็นหัวหน้าเท่าไร และน้องอยู่ได้ด้วยตัวเองอยู่แล้ว หาวิธีคอนโทรลหัวหน้าให้ได้เป็นพอ พี่ไม่ทำงานใช่ไหม ผมทำงานนะ แต่พี่อย่าขวางผมก็พอ และถ้าผมทำอะไร พี่สนับสนุนนะ คือถ้าหัวหน้าน้องเป็นหัวหน้าที่เลว แต่ฉลาดพอ (ชมหรือเปล่าวะเนี่ย) เขาจะไม่ทำงาน แต่รู้ว่าต้องสนับสนุนลูกน้องคนไหน แล้วเขาจะเจริญตามลูกน้องไปด้วย สิ่งที่พี่จะบอกน้องก็คือ อย่างไรเสียพี่ก็อยากให้น้องยึดมั่นในความดีว่าคนเราเข้ามาทำงานในองค์กรต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์กับองค์กร ไม่ใช่เข้ามากินเงินเดือนแล้วไม่ทำงานทำการใดๆ อย่าได้เดินตามหัวหน้าน้อง เพียงแต่ว่าเราอาจจะต้องรู้จักใช้คนให้เป็นประโยชน์ แล้วน้องเอ๋ย ถ้าน้องทำงาน แต่หัวหน้าไม่ทำงาน ใครๆ ก็มองเห็น ใครๆ ก็ดูออก แล้วไม่ต้องกลัว เพราะน้องทำงานทุกวันแปลว่าน้องเก่งขึ้นทุกวัน
วันหนึ่งน้องลาออกไปอยู่ที่ไหน น้องมี ‘ของ’ อยู่แล้ว แต่หัวหน้าที่ไม่ทำงานนี่สิ ไม่มีอะไรติดตัวเลยนะนอกจากป้ายแปะบอกตำแหน่งหน้าห้อง เขาน่ะจะซวยเอง แต่ช่วยไม่ได้ เขาเลือกเองนี่นา แต่วิธีนี้ปัญหาก็คือมันมีเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างการเป็นพวกเดียวกับคนเลวกับการอยู่ในจุดที่ไม่สร้างความขัดแย้งระหว่างคนอื่น มันยากเหมือนกันนะน้อง เพราะการอยู่ในจุดที่ “ฉันจะไม่ขัดแย้งกับใครทั้งนั้น” บางทีมันไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาเท่าไร คือคนทำเลวก็ทำไป คนทำดีก็ทำไป ปัญหาคือคนทำเลวมันสร้างความเดือดร้อนให้คนดีอยู่นี่ไง แต่เราดันบอกว่า ไม่ ฉันจะไม่ทะเลาะกับใคร ไอ้เราก็ก้มหน้าไถนาต่อไปสิ คนเกเรก็เกเรไป ปัญหาก็ไม่แก้
แบบที่สี่ องค์กรที่ดีจะรับฟังปัญหาของพนักงาน มันมีทางไหมที่เราจะสะท้อนปัญหาที่เราเจออยู่ให้องค์กรทราบ หัวหน้าเราแย่แบบนี้ เราไม่ควรนิ่งเฉยนะ เพราะคนที่จะลำบากคือตัวเราเอง และนั่นแปลว่าเราทนได้ที่จะเห็นความฉิบหายเกิดขึ้นใน ‘บ้าน’ ตัวเองทุกวัน บอกฝ่ายบุคคลได้ไหม บอกผู้บริหารได้หรือเปล่า ถ้าบอกแล้วอาจเกิดแอ็กชันก็ดีไป แปลว่าปัญหาได้รับการแก้ไข แต่ถ้าบอกแล้วเงียบกริบ น้องก็ได้รู้แล้วว่า อ๋อ องค์กรนี้มันเป็นแบบนี้นี่เอง แล้วก็กลับมาถามตัวเองว่ายังอยากอยู่บ้านหลังนี้ไหม
เวลาเจอหัวหน้าเลวๆ ให้เรามองดูเขาแล้ววิเคราะห์ครับว่าเขาทำแบบไหนถึงได้เป็นหัวหน้า (วะ) แล้วกลับมาถามตัวเองว่าถ้าเราจะเติบโตที่องค์กรนี้ เราต้องใช้วิธีเดียวกับเขาไหม (วะ) เป็นไปได้ไหมที่เราจะต้องใช้วิธีเดียวกับเขา หรือเป็นไปได้ไหมที่เราจะใช้วิธีที่ต่างจากเขา และเป็นวิธีที่เราจะภูมิใจในตัวเองได้อยู่ ถ้าได้คำตอบแล้ว พี่คิดว่าคำตอบของเรานี่แหละจะบอกว่าที่ทำงานแห่งนี้มัน ‘ใช่’ สำหรับเราไหม
ถ้าเราต้องเติบโตด้วยวิธีเดียวกับหัวหน้าแย่ๆ เราโอเคไหมที่จะทำตัวเองให้กลายเป็นคนแบบนั้น และถ้าเราจะเติบโตขึ้นได้ด้วยวิธีการอื่นๆ ที่เราเชื่อมั่นว่าดี ที่นี่พอจะเปิดโอกาสให้เราได้ทำวิธีนั้นไหม ว่ากันง่ายๆ ก็คือองค์กรมันต้องโตด้วยความชั่วหรือต้องโตด้วยความดีกันแน่ ถ้าน้องมององค์กรได้ออก น้องจะรู้ว่าที่นี่ ‘ใช่’ สำหรับน้องไหม
ในมุมหนึ่ง น้องมีโอกาสดีมากเลยที่ได้เจอหัวหน้าเลวๆ แม้ว่าน้องจะรู้สึกรำคาญแค่ไหนก็ตาม แต่ให้มองดูเขาเป็นแบบอย่างที่เลวไว้ครับ แล้วบอกตัวเองว่าอย่าได้เป็นแบบนั้นเป็นอันขาด น้องจำความรู้สึกโกรธ ความรู้สึกอายแทน ความรู้สึกเสื่อมศรัทธา ความรู้สึกที่มีคำถามต่อการเลี้ยงดูของพ่อแม่เขาไว้ แล้วมองกลับมาที่ตัวเองว่าเรารับได้ไหมถ้าวันหนึ่งเราจะทำงานไปแล้วทำให้คนเกิดความรู้สึกแบบนี้ต่อเรา ถ้าทนไม่ได้ น้องอย่าเป็นแบบหัวหน้าคนนี้ อย่าเดินรอยตาม เพราะน้องควรจะรู้ซึ้งดีที่สุดว่าหัวอกลูกน้องมันร้อนรนแค่ไหนเวลามีหัวหน้าแย่ๆ เยินๆ แบบนั้น
ถ้าเขาไม่รักษาคำพูด น้องต้องโตไปเป็นคนรักษาคำพูดให้ได้ ถ้าเขาเป็นคนดีแต่พูด น้องต้องโตไปเป็นคนที่ลงมือทำให้ดังกว่าสิ่งที่พูด หาจุดที่เลวของหัวหน้าแล้วบอกตัวเองให้ได้ว่าอย่าเป็นคนแบบนั้น บอกคนรอบข้างก็ได้นะครับว่าถ้าวันหนึ่งโตไปแล้วเราเป็นคนแบบนั้นให้ช่วยกระโดดถีบเราที ฮ่าๆ
การมาของหัวหน้าแต่ละคนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเราก็มีไว้เพื่อสอนให้เราเป็นหัวหน้าคนในอนาคต น้องจะได้เจอคนหลากหลาย ทุกคนเป็นครูได้หมดเลย อยู่ที่ว่าเราจะถอดบทเรียนอะไรจากแต่ละคนที่เจอได้หรือเปล่า เช่นเดียวกันครับ พี่เชื่อว่าไม่มีใครเลวไปทั้งหมด เอาว่าบนเรื่องดีแต่พูด ไม่รักษาคำพูด ความไม่ละอายต่อความเลวของตัวเอง (ทำไมมันหลายข้อจังวะ ฮ่าๆ) ก็เป็นเรื่องที่แย่ของหัวหน้าคนนี้แหละ แต่ลองมองดูอีกด้าน หัวหน้าคนนี้เขามีอะไรดีไหม มันต้องมีบ้างแหละน่า เห็นข้อดีเขาไว้หน่อย เรื่องนั้นเขาไม่ดี แต่มีเรื่องไหนที่ดีของเขาบ้าง เราก็เก็บมาเป็นแบบอย่างได้ วันหนึ่งน้องก็ต้องเป็นหัวหน้าแหละ เพราะฉะนั้นเรียนรู้จากหัวหน้าทุกคนให้ได้มากที่สุด
กลับไปเรื่องเดิมที่พี่ชวนคุยตอนแรก อำนาจมันไม่ได้มาเพราะตำแหน่งหรอกครับ แต่ได้มาเพราะการทำดีและความสามารถของเรา อำนาจที่มั่นคงที่สุดไม่ได้มาจากการมีป้ายแปะบอกตำแหน่งอยู่หน้าห้อง แต่มาจากการกระทำแล้วมีคนเห็น คนยอมรับ คนสนับสนุนเรา เป็นลมใต้ปีกให้เราบินสูงขึ้น
เจอแบบนี้แล้วพี่หวังว่าน้องจะเป็นนักการเมือง เอ้ย! เป็นหัวหน้าที่ดีในอนาคตนะครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์