Q: คนเก่งๆ นี่เขาทำงานกันอย่างไรเหรอคะพี่ เขาถึงประสบความสำเร็จกัน
A: คำถามนี้ดีมากครับ และก็ตอบได้กว้างเหลือเกิน พี่เลยคิดว่า ลองเอาชีวิตของคนที่ประสบความสำเร็จมาเล่าให้น้องอ่านดีกว่า ว่าเขาทำงานกันอย่างไร
คนแรก พี่เห็น พี่ใหม่ เจริญปุระ ในละครเรื่อง กรงกรรม ที่มีแต่คนชื่นชมในฝีมือการแสดงของ ‘แม่ย้อย’ ที่แสดงเหมือนถวายชีวิตให้คนดูแล้วก็นึกถึงเมื่อครั้งที่พี่เคยถาม พี่ดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค นักแต่งเพลง ว่า พี่ใหม่ เจริญปุระ เขาทำงานแบบไหน พี่ดี้เล่าให้พี่ฟังว่า ตอนอัลบั้ม ความลับสุดขอบฟ้า ดังมากและมีคอนเสิร์ตใหญ่ พี่ใหม่มีอาการเจ็บหลังถึงขนาดที่ขยับไม่ได้ ต้องนอนเฉยๆ หมอแนะนำว่า พี่ใหม่ควรยกเลิกคอนเสิร์ต แต่พี่ใหม่ไม่ยอม เพราะแฟนเพลงรอพี่ใหม่อยู่ ก่อนขึ้นคอนเสิร์ตวันนั้น พี่ใหม่นอนเดี้ยงอยู่หลังเวที แต่พอเพลงขึ้น พอเสียงกรี๊ดมา และพี่ใหม่พุ่งออกไปบนเวที
ภาพที่พี่ดี้และทีมงานเห็นคือ นักร้องที่ไม่มีอาการเจ็บปวดใดๆ เธอเต้น เธอร้องอย่างถวายชีวิตให้คนดู เธอสะกดคนดูทั้งฮอลล์ได้ และหลังจากกลับเข้ามาหลังเวที พี่ใหม่ก็กลับมานอนเดี้ยงเหมือนเดิม
“เวลาที่มีศิลปินรุ่นใหม่ๆ อิดออดว่า ไม่ขึ้นไปร้องเพลงได้ไหม รู้สึกไอ้นั่นไอ้นี่ไม่พร้อม พี่จะบอกเขาว่า น้องเอ๋ย เคยมีนักร้องอยู่คนหนึ่งนอนเดี้ยงอยู่หลังเวที ขยับไม่ได้ แต่พอ 1-2-3 ต้องขึ้นเวที นักร้องคนนั้นทั้งเต้นทั้งร้องเหมือนไม่มีความเจ็บปวด ไม่รู้เธอไปเอาพลังมาจากไหน แต่ที่แน่ๆ เธอทำให้พี่เห็นในวันนั้นว่า เธอไม่เคยทอดทิ้งคนดู น้องอยากรู้ไหมว่านักร้องคนนั้นเป็นใคร…นักร้องคนนั้นชื่อ ใหม่ เจริญปุระ ตัวจริงเขาทำงานกันแบบนี้” พี่ดี้ทิ้งท้าย
คนที่ 2 นี้คือ พ่อของ ‘โนบิตะ’ หรือบุคคลที่สร้างสรรค์การ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน ขึ้นมา นั่นคือ ฟูจิโกะ เอฟ. ฟูจิโอะ (หรือชื่อจริงคือ ฟูจิโมโตะ ฮิโรชิ)
การ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน เป็นการ์ตูนในดวงใจของคนทั้งโลก รวมทั้งพี่ด้วยที่เติบโต
มากับการ์ตูนเรื่องนี้ พี่เพิ่งได้ไปเมืองทากะโอกะ ซึ่งเป็นเมืองบ้านเกิดของคุณฟูจิโมโตะที่ประเทศญี่ปุ่น ที่เมืองนี้มีพิพิธภัณฑ์ศิลปะประจำเมือง ซึ่งอุทิศพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับการจัดแสดงประวัติของคุณฟูจิโมโตะครับ และเมื่อพี่ได้ไปดู พี่ก็รู้สึกทึ่งหลายๆ อย่างในตัวเขา
คุณฟูจิโมโตะบอกว่า หลายอย่างใน โดราเอมอน และอีกหลายเรื่องมาจากชีวิตของเขา ลานที่พวกโนบิตะหรือคิวทาโร่ไปเล่นกันก็มาจากลานที่เขาเคยไปเล่นตอนเด็กๆ ถ้าจำได้ หลายครั้งเวลาไม่สบายใจ โนบิตะจะชอบไปนั่งอยู่ที่ภูเขาหลังโรงเรียน นั่นก็เหมือนชีวิตจริงของคุณฟูจิโมโตะเหมือนกันครับ ที่จริงชีวิตตอนเด็กของเขาไม่ต่างอะไรกับโนบิตะที่เรียนไม่เก่ง บางครั้งเขาก็รู้สึกว่า ตัวเองเป็นอะไรเอ่ย ไม่เข้าพวกกับคนอื่นๆ
พี่คิดไปเองว่า บางทีเขาวาดการ์ตูนเหล่านี้ออกมาก็เพื่อให้การ์ตูนเป็นเพื่อนของคน
อ่าน เพื่อนของเด็กๆ เป็นเพื่อนอย่างที่เขาอยากมี บางทีทั้งโดราเอมอน คิวทาโร่ ฯลฯ ก็คือเพื่อนแบบที่คุณฟูจิโมโตะอยากมีตอนเด็กๆ และรู้ว่าใครๆ ก็อยากมีเพื่อนแบบนี้เหมือนกันเลยส่ง ‘เพื่อนที่ดีที่สุด’ มาให้พวกเรา
ด้วยความเป็นคนชอบการ์ตูน เขาเลยถูกมองตั้งแต่เด็กว่าเป็นคนแปลกๆ ในสายตาเพื่อนๆ แต่ความชอบแต่งการ์ตูนของเขาก็ฉายแววตั้งแต่เด็ก เพราะในยุคที่ยังไม่มีเครื่องก๊อบปี้นั้น เขาจะวาดการ์ตูนเป็นเล่มๆ และเพื่อนๆ ที่โรงเรียนก็จะเวียนกันอ่านด้วยความสนุก และนั่นทำให้เขาเป็นที่รักของเพื่อน
ตั้งแต่สมัยเรียน เขายังคอยส่งผลงานการวาดการ์ตูนไปแข่งขันเสมอ และก็ได้รับราง
วัลอยู่บ่อยๆ เขาไม่ได้รอโอกาสให้หล่นลงมาหาเขา แต่เป็นคนสร้างโอกาสให้ตัวเอง มีโอกาสอยู่ตรงไหน เขาจะวิ่งไปหามันทันที
เมื่อความฝันในการเป็นนักวาดการ์ตูนของเขาชัดเจนมากขึ้น เขาตัดสินใจบอกแม่ว่าจะขอไปเอาดีทางนี้ และต้องไปจากเมืองทากาโอกะ เพื่อทำตามความฝัน แม่ของเขาตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า ได้สิ
นึกถึงว่ายุคนั้นที่อาชีพนักเขียนการ์ตูนยังเป็นอาชีพที่ไม่มั่นคง แต่แม่ของคุณฟูจิโมโตะเห็นว่า ลูกรักที่จะทำสิ่งนี้ก็สนับสนุนให้ลูกทำตามความฝันของตัวเอง คุณฟูจิโมโตะยังบอกอีกว่า การนั่งรถไฟออกจากเมืองทากะโอกะครั้งนั้นเป็นการนั่งรถไฟที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล เพราะฉะนั้นหนึ่งในผู้ทำให้เกิด โดราเอมอน ขึ้นมาอีกคนก็คือ คุณแม่ของคุณฟูจิโมโตะนี่แหละครับที่ส่งเสริมให้ลูกทำตามความฝันของตัวเอง ไม่อย่างนั้น โดราเอมอน อาจจะไม่เกิดก็ได้ ถ้าแม่ของเขาเกิดบังคับให้ลูกไปทำงานอื่นเสียก่อน
อีกเรื่องที่พี่ประทับใจคุณฟูจิโมโตะมากๆ จากการมาพิพิธภัณฑ์นี้ก็คือ การได้รู้ว่าคุณฟูจิโมโตะจะคอยส่งจดหมายจากแฟนการ์ตูนที่ชื่นชอบผลงานของเขาไปให้ โอซามุ เทซูกะ นักเขียนการ์ตูนมืออาชีพรุ่นพี่ที่มีชื่อเสียงก่อนหน้า และเป็นผู้จุดประกายให้เขาอยากเป็นนักเขียนการ์ตูน เป็นการขอบคุณและแสดงความระลึกถึงว่า เขามีวันนี้ได้ก็เพราะมีครู มีคนจุดประกายความฝันให้เขา เพราะการได้อ่านการ์ตูนที่คุณโอซามุเขียนตอนเด็ก ทำให้เขาหัวใจเต้นแรงและบอกตัวเองว่า นี่คือสิ่งที่เขาอยากทำ
และเมื่อได้รับจดหมายจากแฟนๆ ที่คุณฟูจิโมโตะส่งมาให้แล้ว คุณโอซามุก็มักจะเขียนจดหมายชื่นชมให้กำลังใจรุ่นน้องเสมอ และบางครั้งยังนึกสนุกเขียนพล็อตการ์ตูนกลับไปให้ด้วย เป็นความผูกพันของคนร่วมอาชีพที่รุ่นน้องก็ระลึกถึงรุ่นพี่ผู้มาก่อน และแผ้วถางทางไว้ให้ รุ่นพี่เองก็ชื่นชมรุ่นน้องที่ประสบความสำเร็จ เป็นความสัมพันธ์ที่งดงามมากจริงๆ ครับ
คำพูดหนึ่งของคุณฟูจิโมโตะที่พี่อ่านแล้วประทับใจมากก็คือ เขาบอกว่า เขาเพียงหวังว่า การ์ตูนที่เขาเขียนนั้นจะอยู่ในใจของเด็กทุกคน และทำให้พวกเขาเติบโตมาเป็นผู้ใหญ่ที่ดี
ใช่ครับ การ์ตูนเรื่อง โดราเอมอน เขียนโดยเด็กผู้ชายที่รู้สึกแปลกแยก เรียนไม่เก่ง ชอบไปนั่งคนเดียวบนภูเขา มีแม่ที่รักและสนับสนุนเขาในสิ่งที่เขาอยากทำ มีความฝัน และไม่ปล่อยให้มันเป็นเพียงความฝันฟุ้งไปวันๆ เห็นคุณค่าของคนที่ให้แรงบันดาลใจกับเขา และตั้งใจทำงานของตัวเองให้เป็นงานที่มีความหมาย นั่นคือการเขียนการ์ตูนให้เด็กทุกคนเติบโตมาเป็นคนดี
คนเก่งเขาทำงานกันแบบนี้ครับ
เราคุยกันเรื่องนักสร้างสรรค์จากญี่ปุ่นแล้ว ข้ามมาฝั่งสหรัฐอเมริกากันบ้างดีกว่า นั่นคือ วอลต์ ดิสนีย์ พี่ได้ไปดูนิทรรศการดิสนีย์ที่ญี่ปุ่นเมื่อ 2-3 ปีก่อน แล้วก็ได้ทึ่งกับวิธีการทำงานของ วอลต์ ดิสนีย์ ครับ จะว่าไปแล้วไม่ใช่ทึ่งในตัวเขาคนเดียว แต่ทึ่งกับทั้งองค์กรดิสนีย์เลย
รู้จักการ์ตูนเรื่อง Bambi ไหมครับ วอลต์ ดิสนีย์ ต้องการให้กวางในเรื่องมีลักษณะเหมือนกวางจริงๆ มากที่สุด ซึ่งต้องแลกกับการทำให้เวลาในการผลิตต้องยืดยาวออกไป
สิ่งที่ทีมแอนิเมเตอร์ทำเพื่อเข้าใจสรีระและการเคลื่อนไหวของกวางให้ได้มากที่สุด
ก็คือ การนำกวางมาเลี้ยงที่สตูดิโอ และนั่งดูมันเคลื่อนไหวทุกอิริยาบถทั้งวันเป็นเวลาหลายเดือนจนเข้าใจ เข้าใจในระดับไหนน่ะเหรอครับ…เข้าใจขนาดที่ว่า สามารถเขียนตำรากายวิภาคของกวางขึ้นมาได้เลยล่ะครับ สุดท้ายการ์ตูนเรื่อง Bambi ก็ทำให้คนทั้งโลกทึ่งว่า กวางในเรื่องดูมีชีวิตเหมือนกวางจริงๆ
วิธีการทำงานแบบนี้ตกทอดมาถึงตอนที่ดิสนีย์ทำการ์ตูนเรื่อง Lion King ครับ เพราะเรื่องนี้ก็เอาสิงโตมาเลี้ยงในสตูดิโอ เพื่อให้แอนิเมเตอร์ศึกษาเช่นกัน เขาเอาจริงกันขนาดนั้นครับ
เรื่อง Fantasia ก็มีเกร็ดการทำงานน่าศึกษาเยอะครับ ในเรื่องจะมีฉากลาวาเดือดปุดๆ ที่จริงมันก็เป็นเวลาแค่ไม่กี่วินาทีหรอกนะครับ แต่เพื่อให้ได้ภาพที่เหมือนลาวาเดือดจริงๆ ทีมแอนิเมเตอร์ใช้วิธีการนำโคลนมาต้มที่สตูดิโอ แล้วจับเวลาว่าฟองอากาศที่เกิดขึ้น กว่าจะแตกตัวนั้นเป็นเวลากี่วินาที กว่าที่จะแตกตัวมีสภาพอย่างไรบ้าง เขาก็นั่งจ้องโคลน จับเวลาโคลนกันแบบนั้นทั้งวันนี่แหละครับ แล้วก็เอามาวาดเป็นการ์ตูนด้วยมือ ใช่ครับ วาดมือล้วนๆ ให้ตรงกับวินาทีของจริง
ความเอาจริงเอาจังแบบนี้ตกทอดมาถึงการ์ตูนเรื่อง Frozen เหมือนกันครับ แต่คราวนี้เปลี่ยนจากการจับเวลาโคลนเดือดเป็นการนำคอมพิวเตอร์มาคำนวณ เพื่อหาว่า ถ้าปาหิมะที่มีน้ำหนักเท่านี้ไปโดนกำแพงด้วยแรงเท่านั้น หิมะจะแตกตัวเป็นลักษณะอย่างไร เขาต้องการให้มันถูกต้องตามหลักฟิสิกส์ที่สุด แม้จะเป็นช่วงเวลาไม่กี่วินาทีในเรื่อง และคนดูอาจไม่ได้สังเกตด้วยซ้ำ แต่ทีมงานเขาจริงจังในการทำงานระดับนี้เลยครับ
ยังไม่พอครับ ในเรื่อง Fantasia นี้ วอลต์ ดิสนีย์ ต้องการใช้ดนตรีคลาสสิกในการเล่าเรื่อง ที่ผ่านมาดนตรีคลาสสิกเป็นดนตรีสำหรับชนชั้นสูง แต่ วอลต์ ดิสนีย์ ต้องการให้ทุกคนสามารถเข้าถึงดนตรีที่ทรงคุณค่านี้ได้หมด ก็เลยจ้างวงออร์เคสตราเต็มวงมาทำเพลงประกอบภาพยนตร์ ซึ่งถือเป็นงบประมาณมหาศาลมาก แต่เพื่อให้เสียงดนตรีจากวงออร์เคสตราออกมาดีที่สุด ให้คนได้ทึ่งกับดนตรีคลาสสิกจริงๆ วอลต์ ดิสนีย์ ลงทุนติดตั้งลำโพงที่โรงภาพยนตร์ใหม่
ซึ่งระบบลำโพงที่แยกเสียงซ้ายกับขวาไม่เหมือนกัน แล้วสอดประสานกันแบบที่ วอลต์ ดิสนีย์ นำมาใช้กับโรงภาพยนตร์นี้เกิดขึ้นก่อนที่ระบบสเตอริโอจะเกิดขึ้นอีกครับ แต่นั่นก็เป็นลงทุนที่สูงมากจริงๆ ทำให้ Fantasia ไม่ประสบความสำเร็จทางรายได้เอาเสียเลย
แต่ในแง่คุณค่าของศิลปะและคุณค่าการทำงานแล้ว การทำงานของดิสนีย์น่าคารวะมากครับ และมันบอกเราว่าคนเก่งๆ เขาทำงานกันอย่างไร
มีคนเก่งๆ รอบตัวเราเต็มไปหมดครับ ทุกคนเป็นครูเราได้หมด ทั้งหัวหน้า ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน ลูกค้า ฯลฯ พี่คิดว่า เราสามารถเรียนรู้จากทุกคนได้หมด เรียนรู้ทั้งจากความสำเร็จและความล้มเหลวของคน และอย่าดูแค่ปลายทางของเขาอย่างเดียว ดูเรื่องราวระหว่างทางของเขาด้วยครับว่าเขาเจอกับอะไรและผ่านมันมาได้อย่างไร แล้วหยิบบทเรียนที่เราได้มาเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานของเรา
นอกจากดูว่าคนเก่งทำงานแบบไหนแล้ว อย่าลืมดูว่าทำงานแบบไหนแล้วทำให้สะดุดขาตัวเองด้วยนะครับ เราจะได้รู้ว่าควรทำงานแบบไหนและไม่ควรทำงานแบบไหน
ที่สำคัญ นอกจากเราเรียนรู้จากคนอื่นแล้ว เราลองกลับมาดูไหมครับว่า แล้วเราจะเป็นบทเรียนอะไรให้กับคนอื่นได้บ้าง อะไรที่จะทำให้เขามองดูการทำงานของเราแล้วเขาบอกกับตัวเองว่า คนเก่งๆ เขาทำงานกันแบบนี้นี่เอง
เป็นนักเรียนที่เรียนรู้จากคนอื่น และเป็นครูให้คนอื่นเรียนรู้จากเราไปพร้อมกันนี่แหละครับ
ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai