×

กึ้ง เฉลิมชัย กับการทำธุรกิจที่ต้องบริหารความกลัว ความเสี่ยง และความสุขไปพร้อมๆ กัน

20.04.2019
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • กึ้ง เฉลิมชัย คือนักธุรกิจหนุ่ม ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA และผู้ก่อตั้งบริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ผู้จัดอีเวนต์พาศิลปินเกาหลีมาพบกับแฟนคลับในประเทศไทย
  • บทบาทล่าสุดของเขาคือการเป็นกรรมการ ที่ถูกเรียกว่า Shark ในรายการ Shark Tank Thailand
  • กึ้งเชื่อว่าทุกคนมีความกลัวอะไรบางอย่างเป็นเรื่องปกติ สิ่งสำคัญคือต้องยอมรับความกลัวนั้น และก้าวผ่านไปให้ได้
  • บริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด เริ่มต้นจากที่กึ้งอยากทำละครที่ร่วมมือกับประเทศเกาหลี จนมีคอนเน็กชันที่ดีต่อกัน และเริ่มขยับมาจัดงานแฟนมีตติ้งและคอนเสิร์ต ทั้งที่เขาไม่มีประสบการณ์ด้านนี้มาก่อน
  • เขาถูกต่อว่าที่บริหารงานจนบริษัทประสบกับภาวะขาดทุนอยู่หลายปี แต่เขาก็ไม่เคยหยุดที่จะทำ เพราะเขาไม่ชอบความล้มเหลว และต้องการพิสูจน์ตัวเองว่าเขาทำได้ ส่วนหนึ่งเพราะการส่งมอบความสุขให้กับแฟนคลับเวลาได้เจอศิลปินที่ชื่นชอบ วิธีคิดนี้ได้กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าที่สำคัญของเขาไปแล้ว

นอกจากภาพของนักธุรกิจหนุ่ม ผู้ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTA หลายคนน่าจะคุ้นชื่อของ กึ้ง-เฉลิมชัย มหากิจศิริ ในฐานะนักแสดง พิธีกร ผู้อำนวยสร้างละครเรื่อง ใต้ฟ้าตะวันเดียว รวมทั้งข่าวตามหน้าสื่อบันเทิงที่มักจะมีชื่อของเขาไปข้องเกี่ยวกับนักแสดงสาวอยู่เสมอ

 

แต่สิ่งที่ทำให้เราสนใจและอยากทำความรู้จักกับผู้ชายคนนี้ให้มากขึ้น คือภาพการเป็นหนึ่งในกรรมการจาก Shark Tank Thailand ที่เขาต้องสวมบทเป็น Shark หรือ ‘ฉลาม’ นักล่า ที่เต็มไปด้วยวาทศิลป์ในการต่อรอง และคอยตัดสินแผนธุรกิจที่นักลงทุนหลายคนนำเสนอ และเลือกว่ามีธุรกิจใดบ้างที่น่าสนใจพอให้เขาอยากร่วมลงทุนด้วยได้

 

และอีกบทบาทหนึ่งที่เขาใช้แพสชันส่วนตัวสร้างขึ้นมาเป็นระยะเวลามากกว่า 10 ปี ในฐานะผู้ก่อตั้งบริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือ 411ent ที่รับหน้าที่เป็นคนกลางส่งต่อความสุข จัดอีเวนต์พาศิลปินเกาหลีจำนวนมากมาพบกับแฟนคลับในประเทศไทย โดยเฉพาะอีเวนต์ระดับชาติที่สามารถพาสาวๆ วง BLACKPINK มาเปิดคอนเสิร์ต BLACKPINK 2019 World Tour [In Your Area] Bangkok ได้สำเร็จเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

ตลอดระยะเวลาการพูดคุยกับเขาเป็นเวลาเกือบหนึ่งชั่วโมง เราค้นพบว่าสิ่งสำคัญจริงๆ ไม่ได้มีแค่แนวคิดที่ว่าทำอย่างไรถึงจะบริหารธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ หากแต่ยังรวมถึงการบริหารแพสชัน อารมณ์ ความกลัว ความเสี่ยง และความสุข ซึ่งเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกคนต้องมี และทุกความรู้สึกของมนุษย์ล้วนมีความสำคัญ อย่างที่เขาย้ำกับเราในบทสัมภาษณ์ตอนหนึ่งว่า

 

“ธุรกิจไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง แต่เดินได้ด้วยคน”

 

 

ตามปกติเวลาได้ยินคำว่า Shark คุณจะนึกถึงอะไรเป็นอย่างแรก

ผมนึกถึงหนังเรื่อง Jaws (สตีเวน สปีลเบิร์ก, 1975) ฉลามที่ดุร้าย รวดเร็ว เด็ดขาด น่ากลัวนะ แต่ผมคิดว่าสิ่งที่ทำให้ฉลามน่ากลัวยิ่งกว่านั้น คือมันเป็นสิ่งที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ในท้องทะเล แล้วเราก็จะจินตนาการถึงความน่ากลัวนั้นมากขึ้น เพราะเรามองไม่เห็นนี่แหละ แล้วยิ่งรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนจินตนาการสูงอยู่แล้ว ก็จะยิ่งกลัวเป็นพิเศษ (หัวเราะ)

 

ความรู้สึกเกี่ยวกับคำนี้เปลี่ยนไปบ้างไหม เมื่อเข้ามาในรายการ Shark Tank Thailand จากคนที่กลัวฉลาม ก็กลายมาเป็นฉลามเสียเอง

ยังกลัวฉลามอยู่เหมือนเดิม แต่สิ่งที่เพิ่มขึ้นคือความรู้สึกที่ว่าเราสามารถทำให้คนอื่นกลัวเราได้ (หัวเราะ) เวลาถูกเรียกว่า Shark เป็นกรอบที่ทำให้เรามีพาวเวอร์มากขึ้น ทีนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้สิ่งที่เพิ่มมานี้อย่างไรให้ถูกต้องที่สุด

 

อย่างในรายการ Shark Tank Thailand ความสนุกอย่างแรกคือเวลาเจอคนที่มีประสบการณ์น้อยกว่ามาเสนอแผนธุรกิจ อันนี้เราสามารถ Push Fear ใส่เขาได้เต็มที่ (หัวเราะ) ซึ่งคนอาจจะมองว่าดุหรือน่ากลัว แต่นอกจากความกลัว Shark ทุกคนก็จะให้ข้อมูล ให้ความรู้กับคนที่มาในรายการ เพื่อให้เขานำไปปรับใช้กับธุรกิจของเขาในอนาคตได้

 

ในขณะเดียวกัน เวลาเจอคนที่มีประสบการณ์มากกว่า หรือมีไอเดียทำธุรกิจแปลกๆ มันก็เปิดโลกของ Shark อย่างพวกเราได้เหมือนกันว่า เฮ้ย โลกของเรามันมีคนเก่ง มีแนวความคิดให้เราเรียนรู้ได้อีกมากมาย ไม่ว่าเราจะเป็นใครก็ตาม

 

นอกจากความสนุกที่เกิดขึ้นในรายการ ความกลัวมีประโยชน์กับคุณในด้านไหนอีกบ้าง

ทุกคนต้องมีความกลัวอะไรสักอย่างเป็นเรื่องธรรมดา และเราต้องยอมรับความกลัวนั้นเพื่อหาวิธีลองเอาชนะมันให้ได้ดูสักครั้ง อย่างผมเป็นคนกลัวความสูง แต่สิ่งที่ทำคือไปกระโดดร่มที่ดูไบ กลัวมาก แต่อยากลองสู้กับความกลัวของตัวเองดู ตอนกระโดดนี่อะดรีนาลีนมันหลั่ง รูขุมขนเปิด ร่างกายอะเลิร์ตไปหมด สนุกมากนะครับ ดีมากที่ได้รู้ว่าสุดท้ายมันก็แค่นี้เอง ไม่เห็นต้องกลัวอะไรเลย เกิดเป็นพลังงานที่ดีที่ทำให้เรารู้สึกสนุก และเอาพลังงานนั้นไปทำอะไรที่มันดีขึ้น

 

ในการทำธุรกิจ ยังมีเรื่องอะไรที่ทำให้คุณกลัวได้อยู่ไหม

หลายอย่างนะครับ กลัวการไม่รู้ กลัวการตัดสินใจผิด แต่สิ่งที่น่ากลัวกว่านั้นคือการไม่ตัดสินใจ ผมเคยมีประสบการณ์ผิดพลาดจากการไม่ยอมตัดสินใจ แล้วก็ทำให้เราพลาดโอกาสที่น่าสนใจไปเลย ซึ่งก็จำไว้เป็นบทเรียนสำคัญมาตลอด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการทำธุรกิจคือการตัดสินใจ จะถูกหรือผิดเป็นอีกเรื่องหนึ่ง แต่ต้องคิดให้รอบคอบที่สุดก่อนตัดสินใจ

 

https://www.youtube.com/watch?v=Q4l4mO00Qpw

รายการ Shark Tank Thailand ตอนที่ 1

 

ในรายการ Shark Tank Thailand ใช้เกณฑ์อะไรในการตัดสินใจว่าจะให้ธุรกิจไหนผ่านหรือไม่ผ่าน

พอไปอยู่ตรงนั้นจริงๆ มันมีหลายอย่างนะครับ แต่จะพยายามมองที่ไอเดียและแผนธุรกิจเป็นหลัก เพราะหน้าที่ของ Shark คือการให้ความรู้ และตัดสินใจว่าควรลงทุนในธุรกิจแบบไหน เพราะถ้าเราใช้เกณฑ์ตัดสินใจจากเรื่องราวในชีวิต มันอาจจะไม่ใช่การตัดสินใจที่ถูกต้องจริงๆ พูดแบบนี้อาจจะดูดุไปหน่อยนะครับ แต่ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแยกหน้าที่กับความรู้สึกให้ออก เพราะถ้าเราตัดสินจากชีวิตของเขา มันจะกลายเป็นว่าทุกคนจะต้องมีสตอรีกันหมดถึงจะได้ธุรกิจนั้นมา

 

แต่ถ้าดูในรายการ จะเห็นว่ามีหลายครั้งที่คุณเองก็บอกว่า เป็นการตัดสินจากอารมณ์ของความเป็นมนุษย์อยู่เหมือนกัน

เพราะธุรกิจไม่สามารถเดินได้ด้วยตัวเอง แต่เดินได้ด้วยคน หลายคนอาจจะคิดว่าความคิดดี แผนธุรกิจคือที่สิ้นสุด แต่จริงๆ แล้วไม่ใช่ เพราะสิ่งที่นอกเหนือจากนั้นคือตัวคนที่มานำเสนอ ถ้า Shark สัมผัสได้ว่าเขามีแพสชันกับสิ่งที่เขาทำ และรักมันมากขนาดไหน นั่นก็เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้เราอยากลงทุนด้วย

 

ผมเชื่อว่าเรื่องไอเดีย แผนการตลาด หรือองค์ความรู้ในการทำธุรกิจเราสามารถแนะนำเขาได้ แต่เราไม่สามารถให้ความมุ่งมั่นตั้งใจจริงกับเขาได้ ซึ่งในหลายๆ ครั้งความพยายาม ความตั้งใจเกินร้อยนี่สำคัญกว่าความฉลาดจริงๆ

 

แต่ก็จะมีอีกมุมหนึ่งที่เรามองเห็นความตั้งใจ เห็นแผนธุรกิจว่าเป็น Best Business Idea มากๆ แต่ถ้ามันขัดกับความคิด ความเชื่อ ผมก็ไม่ลงทุนเหมือนกันนะ เช่น มีธุรกิจหนึ่งขายจิวเวลรีที่ทำจากอัฐิ สมมติสัตว์เลี้ยงหรือคนที่คุณรักและผูกพันมากๆ เสียชีวิต เขาจะเอาอัฐิมาอัดเป็นกรอบรูปหรือจิวเวลรีให้เอาไปใช้ต่อ

 

โห ไอเดียเก๋มาก เป็นการสร้างมูลค่าจากความผูกพันที่มีคุณค่ามหาศาล ให้ตายเหอะ ผมอยากลงทุนมากจริงๆ แต่ผมก็ลงทุนไม่ได้ เพราะดันมีความเชื่อแบบคนโบราณว่าจะไม่เอาของที่เกี่ยวกับเรื่องความตายมาไว้ในบ้าน เพราะฉะนั้นมันปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าในทุกๆ การตัดสินใจ ทุกๆ การลงทุนมันจะมีเรื่องความเชื่อ เรื่องอารมณ์มาเกี่ยวข้องอยู่เสมอ

 

ยังไม่นับพวกเรื่องศักดิ์ศรีที่บางทีก็ตัดสินใจเพราะอยากเอาชนะ Shark คนอื่นๆ เป็นเรื่องการหมั่นไส้กันระหว่าง Shark (หัวเราะ) ซึ่งเรื่องพวกนี้มันเป็นองค์ประกอบที่มีผลอยู่เสมอ และแผนธุรกิจนอกเหนือจากเรื่องตัวเลข กำไร ขาดทุน มันเลยทำให้รายการสนุกขึ้นด้วย เพราะเหมือนการจำลองการทำธุรกิจที่เหมือนจริงมากๆ มาไว้ในรายการ

 

 

อย่างบริษัท โฟร์ วัน วัน เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด หรือ 411ent ถือว่าเป็นธุรกิจที่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจมากน้อยขนาดไหน

อันนี้ก็พูดได้ว่ามาจากแพสชันล้วนๆ เหมือนกันครับ เพราะตอนเริ่มทำผมขาดทุนมาตลอด ผมหมดไม่รู้กี่ร้อยล้านแล้วนะกับคำว่าแพสชันอันนี้ (หัวเราะ) แต่ก็ไม่คิดที่จะเลิกทำ จนเริ่มอยู่ตัวและมีกำไรในช่วงไม่กี่ปีนี้เอง

 

ซึ่งจุดเริ่มต้นตอนแรกก็ไม่ได้เกี่ยวกับอีเวนต์ศิลปินเกาหลีแบบนี้ด้วยนะ มันแค่มาจากผมอยากสนองนี้ดตัวเองด้วยการลงทุนทำละครไทยเรื่อง ใต้ฟ้าตะวันเดียว เมื่อ 10 กว่าปีก่อน เป็นครั้งแรกที่นำนักแสดงจากเกาหลีมาเล่นด้วย (คิมคิบอม, คิมคยอนแซ, ซูจองฮัก และลีแฮวู) สมัยนั้นเขาถ่ายละครด้วยกล้องเบตา ผมก็ใช้กล้องดิจิทัลแบบ Hi-def ลงทุนค่าโปรดักชันไปสูงมาก ถามว่าเจ๊งไหม ก็เจ๊ง (หัวเราะ)

 

https://www.youtube.com/watch?v=47ktZ3kL44A

มิวสิกวิดีโอเพลง ใต้ฟ้าตะวันเดียว (Autumn Destiny)

 

แต่ทุกอย่างมันมีสองด้าน ถ้ามองแค่ว่าขาดทุนเราก็จะรู้สึกแย่ แต่การขาดทุนก็ทำให้เกิดโอกาส เพราะทีมงานเกาหลีได้เห็นการลงทุน เห็นการทำงาน จนเขาเริ่มเชื่อว่าบริษัทนี้มันเอาจริง จนมีคนติดต่อมาถามว่า สนใจเอาศิลปินเกาหลีมาจัดแฟนมีตติ้งที่เมืองไทยไหม ซึ่งตอนนั้นยังไม่รู้ด้วยซ้ำว่างานแฟนมีตคืออะไร (หัวเราะ) รู้แค่ว่ามันคือโอกาสที่ต้องคว้าเอาไว้

 

ก็เริ่มคนแรกที่ลีมินโฮ ที่รู้จักอยู่บ้างบวกกับความที่แม่ชอบดูซีรีส์เกาหลี ปรากฏว่าโดนเละ (หัวเราะ) ทั้งจากแฟนคลับ จากทีมงานเกาหลีว่าดูแลศิลปินไม่ดี ซึ่งยอมรับว่าตอนนั้นเราไม่เข้าใจ ทำไมเขาต้องมีรายละเอียดเยอะขนาดนี้ น้ำต้องยี่ห้อนี้ ห้องพักต้องติดกันแบบนี้ ต้องมีคนดูแลรถ เราไม่เคยทำอะไรแบบนี้มาก่อน

 

ซึ่งสิ่งที่ผมทำต่อมาคือการฟัง เอาคำติของเขามาดูว่าเราสามารถพัฒนาอะไรได้ไหม เพราะต้องเข้าใจว่าแฟนคลับศิลปินเกาหลี เขามีแพสชันในตัวศิลปินของเขามาก คือเขาสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไปเกาหลี แล้วนั่งรอที่หน้าร้านอาหารที่คิดว่าศิลปินจะไปได้เป็นอาทิตย์ นี่คือความรักที่เขามีให้ต่อคนคนหนึ่ง ซึ่งการที่คนเราจะรักกันขนาดนี้ เราต้องฟังเขานะ แล้วเอามาปรับปรุงว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้เขารู้สึกดีขึ้น อะไรพอทำได้ผมจะพยายามพูดคุยต่อรองกับทางทีมงานฝั่งเกาหลีเพื่อทำให้เขาพอใจ และมีความสุขมากที่สุด

 

 

 

เริ่มต้นทำละครก็ขาดทุน จัดงานแฟนมีตก็ถูกต่อว่า ถ้ามองในแง่ธุรกิจ การจัดอีเวนต์ตรงนี้ไม่น่าจะเป็นการลงทุนที่ควรเดินหน้าต่อหรือเปล่า

ต้องบอกก่อนว่าถึงผมจะขาดทุนเรื่องตัวเงิน แต่ผมได้กำไรทางความสุขนะ ผมมีความสุขเวลาเห็นแฟนคลับเขาได้มาเจอกับศิลปินที่เขารัก และกลับบ้านอย่างมีความสุข ความสุขพวกนั้นมันก็กลับมาถึงผมเหมือนกัน

 

ส่วนเรื่องเงินทุนจริงๆ ก็มีคิดบ้าง แต่อีกส่วนหนึ่งคือลึกๆ แล้วผมเป็นคนที่ไม่ชอบทำอะไรพลาดด้วย ยิ่งมีคนติเยอะ ยิ่งอยากพิสูจน์ตัวเองว่าเราทำได้ (หัวเราะ) ถ้าหยุดไปก่อนหน้านั้นก็คือเราแพ้และก็ล้มเลย โดยที่ไม่มีโอกาสรู้ด้วยซ้ำว่าจริงๆ แล้วเราทำได้หรือเปล่า

 

หลังจากนั้นก็ทำคอนเสิร์ตของค่าย JYP ก็ยิ่งหนักเลยคราวนี้ (หัวเราะ) จากงานแฟนมีตที่ต้นทุน 10 กว่าล้าน พอเป็นคอนเสิร์ตต้องเพิ่มเป็น 60-70 ล้าน ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร จะมีสปอนเซอร์หรือเปล่า แต่เอาไว้ก่อน เราจะแพ้ไม่ได้ ต้องลุย

 

ในหัวก็คิดเรื่องขาดทุนนะ เพราะเงินลงทุนเยอะ ถ้าเจ๊งอีกนี่เจ็บเลยนะ คงออกจากบ้านไม่ได้หลายปี (หัวเราะ) แต่มองกลับกัน ถ้าเราต้องเป็นผู้แพ้แบบยังไม่ได้ทำอะไรเลยมันยิ่งเจ็บใจ ยิ่งออกจากบ้านไม่ได้เข้าไปใหญ่ ก็เลยลุย สรุปก็โดนอีก (หัวเราะ) แต่ไม่เยอะเท่าไร

 

แล้วหลังจากนั้นก็ทำมาตลอด จากตอนแรกไม่เคยมีสปอนเซอร์เลยนะ เราสปอนเซอร์ตัวเองและทำมาโดยตลอด ผมคิดว่าแฟนคลับยังอยู่กับเรา เพราะเราไม่เคยลดโปรดักชัน เราคำนึงถึงความสุขของแฟนคลับเป็นหลัก เราดูแลศิลปินที่เขารักและหวงแหนอย่างดี และเราก็ทำตามในสิ่งที่เราบอกกับพวกเขาตลอดมา เราได้รับคอมเมนต์ตลอดว่าเขาอยากได้แบบไหน และเราก็ทำหน้าที่เป็นคนกลางประสานและต่อรองกับทางทีมงานเกาหลีให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ แล้วผมก็เชื่อว่าได้ดีลที่ดีที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ  

 

พอจะจำได้ไหมว่า จากจุดเริ่มต้นที่อยากทำธุรกิจเกี่ยวกับละคร เริ่มเปลี่ยนเป็นแพสชันเกี่ยวกับงานจัดอีเวนต์ของศิลปินเกาหลีตั้งแต่เมื่อไร

เริ่มมีมาเรื่อยๆ เวลาได้เห็นรอยยิ้มของแฟนคลับเวลาเขาได้เจอคนที่เขารัก ได้ดูโชว์ที่ดีจากศิลปินที่เขาชอบ บางทีผมแอบยืนดูอยู่ข้างนอก ได้เห็นเขามีความสุขเวลาได้ถ่ายรูป ได้เอ็นจอยโมเมนต์หลังโชว์จบ ผมก็มีความสุขไปด้วย เหมือนที่ผมบอกว่ามันเป็นกำไรทางใจที่ผมได้รับมาตลอด

 

หรือเหตุการณ์หนึ่ง ที่เขารักศิลปินคนหนึ่งมาก แต่เขาต้องอยู่โรงพยาบาลในวันที่ศิลปินคนนั้นมาที่ประเทศไทย เราก็ได้ประสานเรื่องของแฟนคลับคนนี้ ให้ศิลปินได้มาเยี่ยมแฟนคลับ สิ่งนี้ก็เป็นสิ่งที่เราทำให้โดยไม่ได้ออกสื่อนะ แค่ผมรู้สึกว่าเขาควรได้รับสิ่งนี้ จากความรักที่เขามอบให้ศิลปินที่เขารัก เป็นช่วงที่ทำให้เรารู้สึกดี ที่ได้เป็นคนช่วยประสานความรักระหว่างแฟนคลับกับศิลปินจริงๆ

 

นอกจากคอมเมนต์ในการปรับปรุงอีเวนต์ที่ทำอยู่ ก็จะมีคนมาบอกว่าอยากให้เอาคนนั้นคนนี้เข้ามาด้วย เราก็รวบรวมเอาเสียงเหล่านั้นไปศึกษาหาข้อมูลเพิ่มเติม หาความเป็นไปได้ แล้วก็พยายามติดต่อศิลปินมาให้ได้ อย่างคอนเสิร์ต BLACKPINK 2019 World Tour [In Your Area] Bangkok นี่ผมตามมา 3 ปีแล้วนะ กว่าจะพา BLACKPINK มาแสดงคอนเสิร์ตให้ชาว BLINK ดูจนได้

 

กลายเป็นว่านอกจากคำว่าแพสชันในการทำงาน เลยมีคำว่าหน้าที่เพิ่มเข้ามา ว่าเราต้องพยายามติดต่อพาศิลปินที่แฟนคลับชอบมาให้พวกเขาให้ได้มากที่สุดไปด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI
  • รูปแบบรายการ Shark Tank Thailand คือการเปิดโอกาสให้นักธุรกิจได้เข้ามาเสนอแผนการทำธุรกิจกับ 5 นักธุรกิจระดับแนวหน้าของเมืองไทยอย่าง กึ้ง เฉลิมชัย, ณัฐวุฒิ พึงเจริญพงศ์, กฤษน์ ศรีชวาลา, รวิศ หาญอุตสาหะ, นิชิต้า ชาห์ และแชนนอน กัลยาณมิตร ถ้าหากธุรกิจน่าสนใจ มีโอกาสได้ต่อรองเงินลงทุนกับกรรมการทั้ง 5 เพื่อทำธุรกิจร่วมกันในอนาคต
  • Shark Tank Thailand ออกอากาศทางช่อง 7HD ทุกวันอาทิตย์ เวลา 12.15 น.
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X