นับวันสถานการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีจะยิ่งตึงเครียดขึ้น จากการเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธของเกาหลีเหนืออย่างก้าวกระโดดที่ทำการทดสอบไปแล้วถึง 14 ครั้งในปีนี้ ภายในระยะเวลาเพียง 8 เดือนเท่านั้น
นอกจากขีปนาวุธนิวเคลียร์จะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดที่เกาหลีเหนือจะใช้ในการต่อรองกับมหาอำนาจตะวันตกและชาติพันธมิตรในการปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนแล้ว เครื่องมือนี้ยังช่วยลบคำสบประมาทที่มีต่อผู้นำสูงสุดรุ่นที่ 3 อย่าง คิมจองอึน ลงได้ไม่มากก็น้อย แม้จะเป็นการนำพาประเทศไปสู่จุดเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นก็ตาม
ที่ผ่านมา สหรัฐฯ เกาหลีใต้ และประชาคมโลก ต่างดำเนินมาตรการต่างๆ ในการที่จะเยียวยาแก้ไขสถานการณ์ความตึงเครียดนี้ลง ซึ่งวันนี้ THE STANDARD ได้รวบรวมทางเลือกที่เป็นไปได้และภาพรวมของความพยายามในการแก้ไขวิกฤตการณ์บนคาบสมุทรเกาหลีที่เคยเกิดขึ้นและอาจจะเกิดขึ้นอีกในอนาคตมาอยู่ในบทความนี้เเล้ว
ทางเลือกที่ 1 การเจรจา
น่าจะเป็นทางเลือกที่สันติวิธีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย สหรัฐฯ เองก็เคยพยายามเจรจาในประเด็นนี้กับเกาหลีเหนือมาแล้วในสมัยรัฐบาล บิล คลินตัน โดยยื่นข้อเสนอให้เกาหลีเหนือยุติการเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธ และผลักดันให้เกาหลีเหนือเข้าเป็นสมาชิกในสนธิสัญญาว่าด้วยการไม่แผ่ขยายอาวุธนิวเคลียร์ (The Treaty of Non-Proliferation of Nuclear Weapons) โดยแลกเปลี่ยนกับการช่วยเหลือทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่เกาหลีเหนือ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องประสบความล้มเหลว หลังจากที่ จอร์จ ดับเบิลยู บุช ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดี และมีท่าทีที่แข็งกร้าวมากขึ้นต่อประเด็นนี้ ส่งผลให้เกาหลีเหนือออกจากการเป็นภาคี
ทั้งนี้ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ยังมีความพยายามที่จะผลักดันให้เกาหลีเหนือเข้าสู่พื้นที่ของการเจรจาด้วยการจัดการประชุม 6 ฝ่าย (Six Parties Talk) ระหว่างสหรัฐฯ จีน เกาหลีเหนือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น และรัสเซีย เพื่อร่วมกันแก้ไขวิกฤตการณ์เกาหลี ก่อนที่จะประสบความล้มเหลว เนื่องจากความคิดเห็นไม่ตรงกันและไม่สามารถรอมชอมกันได้ จนกระทั่งลดบทบาทลงในที่สุด
นอกจากนี้ ผู้นำเกาหลีเหนือเองยังเรียนรู้บทเรียนจากอดีตผู้นำเผด็จการคนสำคัญของอิรักอย่าง ซัดดัม ฮุสเซน และ โมอัมมาร์ กัดดาฟี ผู้นำเผด็จการของลิเบีย ที่ยอมเจรจาอ่อนข้อให้แก่มหาอำนาจตะวันตก และท้ายที่สุดก็ต้องจบชีวิตลงด้วยน้ำมือของกองทัพสหรัฐฯ เกาหลีเหนือเองก็จะไม่ยอมให้ตนต้องพบจุดจบเช่นนั้นแน่นอน
สิ่งที่ท้าทายสำหรับทางเลือกนี้คือ ความยากลำบากในการร่างหลักการที่จะใช้ในการเจรจาที่ทุกฝ่ายพึงพอใจ จะทำอย่างไรเมื่อผลประโยชน์แห่งชาติของเกาหลีเหนือส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประชาคมโลก อะไรคือคือเป้าหมายของการเจรจา ทุกฝ่ายจะร่วมมือกันถอยคนละก้าวได้อย่างไร การเรียกร้องให้เกาหลีเหนือยุติการครอบครองขีปนาวุธทั้งหมดอาจเป็นข้อเรียกร้องที่สุดโต่งและมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากการมีขีปนาวุธนิวเคลียร์ไว้ในครอบครองคือเครื่องมือเดียวที่ทำให้เสียงของประเทศปิดแห่งนี้รักษาผลประโยชน์แห่งชาติของตนไว้ได้ การตอบคำถามที่ว่า ทำอย่างไรที่จะสร้างความเชื่อมั่นด้านความมั่นคงให้กับเกาหลีเหนือได้อีกครั้ง และทำให้เกาหลีเหนือไม่พัฒนาขีปนาวุธที่ตนมีอยู่เพิ่มเติมอีกน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า
ทางเลือกที่ 2 การป้องปรามและการใช้จิตวิทยา
สหรัฐฯ และชาติพันธมิตร ต่างร่วมมือกันใช้วิธีการนี้มาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการตัดความสัมพันธ์ทางการทูต การสร้างสงครามน้ำลาย การเสริมสร้างระบบป้องกันการโจมตีขีปนาวุธภายในภูมิภาคเอเชีย การเพิ่มกองกำลังประจำการตามจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ การลาดตระเวน การซ้อมรบทางทหาร และอาจจะรวมถึงการติดตั้งอาวุธนิวเคลียร์ให้แก่บรรดาชาติพันธมิตรอีกด้วย
ซึ่งวิธีการนี้ส่งผลกระทบในเชิงจิตวิทยาเป็นอย่างมาก การซ้อมรบที่จัดขึ้นประจำทุกปีอยู่แล้ว หากเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความตึงเครียดร้อนระอุ ก็อาจจะยิ่งทำให้คู่ขัดแย้งดำเนินมาตรการตอบโต้ก็เป็นได้ โดยเกาหลีเหนือมักจะใช้การทดสอบขีปนาวุธพิสัยต่างๆ ที่ยิงระยะได้ไกลขึ้นและมีจำนวนครั้งในการทดสอบที่ถี่ขึ้น เพื่อกดดันฝ่ายตรงข้ามกลับ
หากสหรัฐฯ และชาติพันธมิตรยังคงดำเนินมาตรการป้องปรามและใช้สงครามจิตวิทยาถี่ขึ้นในช่วงเวลานี้ อาจจะยิ่งทำให้สถานการณ์ตึงเครียดมากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งอาจจะดูเหมือนเป็นการส่งเสริมให้ประเทศต่างๆ เร่งพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของตนเพื่อป้องปรามเกาหลีเหนือกลับ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความไร้เสถียรภาพภายในภูมิภาคมากยิ่งขึ้น และอาจเกิดสงครามนิวเคลียร์ขึ้นได้ในอนาคต
ทางเลือกที่ 3 การคว่ำบาตร
นับเป็นอีกหนึ่งวิธีการที่ประชาคมโลกมักเลือกที่จะดำเนินมาตรการนี้ต่อเกาหลีเหนือ รัฐสภาสหรัฐฯ เองก็เพิ่งจะมีมติเห็นชอบยกระดับมาตรการคว่ำบาตรที่มีต่อเกาหลีเหนือไปพร้อมๆ กับการคว่ำบาตรรัสเซีย หลังสืบทราบว่ามีความเป็นไปได้ที่รัสเซียจะเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เมื่อปลายปี 2016 ที่ผ่านมา พร้อมทั้งเรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรปฏิบัติตามมาตรการเหล่านี้ด้วย
การเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ โดยเฉพาะการทดสอบขีปนาวุธข้ามทวีป (ICBM) ที่ประสบผลสำเร็จเมื่อต้นเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เร่งเร้าให้ประชาคมโลก โดยเฉพาะคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) จัดการประชุมหารือเร่งด่วนในประเด็นนี้ และมีมติเห็นชอบต่อการยกระดับมาตรการในการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งใหม่ ด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ 15 เสียง
โดยจะมุ่งเป้าไปที่สินค้าส่งออกที่สำคัญของเกาหลีเหนือ เช่น ถ่านหิน แร่เหล็ก ตะกั่ว และอาหารทะเล รวมถึงยุติการทำธุรกรรมทางการเงินและเจรจาการค้าระหว่างประเทศกับเกาหลีเหนือทั้งหมด ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า การยกระดับมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่ในครั้งนี้จะสามารถตัดช่องทางรายได้ของเกาหลีเหนือกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 1 ใน 3 ของรายได้ทั้งหมดของเกาหลีเหนือเลยทีเดียว นับเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่รุนแรงที่สุดของสหประชาชาติที่มีต่อเกาหลีเหนือ
แต่ดูเหมือนว่ามาตรการคว่ำบาตรต่างๆ อาจจะยังไม่เป็นผล เนื่องจากปกติเกาหลีเหนือแทบจะเป็นประเทศปิด และคบค้าสมาคมกับไม่กี่ประเทศเท่านั้น แต่การยกระดับมาตรการคว่ำบาตรและปิดช่องทางด้านเงินทุนก็ยังคงเป็นวิธีการที่นานาประเทศและองค์กรระหว่างประเทศต่างๆ อาจจะต้องร่วมมือกันคว่ำบาตรกดดันเกาหลีเหนือต่อไป ซึ่งอาจจะเห็นผลชัดเจนขึ้นในระยะยาว
ทางเลือกที่ 4 การใช้กำลังทางทหารและการทำสงคราม
เป็นวิธีการที่มีต้นทุนที่ต้องจ่ายสูงที่สุด แม้ใครจะเป็นฝ่ายเริ่มเปิดฉากชิงโจมตีก่อนก็ตาม แต่ทางเลือกนี้ก็ยังมีความเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดขึ้น เนื่องจากทุกประเทศล้วนมีบทเรียนจากบาดแผลของประวัติศาสตร์สงครามในอดีต
หากทางเลือกนี้เกิดขึ้นจริง และเกาหลีเหนือเป็นฝ่ายเปิดฉากเริ่มโจมตีก่อน โอกาสที่จะชนะในสงครามครั้งนี้เป็นไปได้น้อยมากเมื่อเทียบกับแสนยานุภาพทางทหารของกองทัพสหรัฐฯ และพันธมิตร นอกจากนี้อาจจะยิ่งทำให้พลเมืองชาวโสมแดงของตนต้องตกอยู่ในสถานการณ์เสี่ยงจากการถูกตอบโต้กลับอย่างรุนแรงมากยิ่งขึ้น
แต่ถ้าหากสหรัฐฯ และพันธมิตรเป็นฝ่ายเริ่มโจมตีเกาหลีเหนือก่อน แม้ดูเหมือนว่าจะมีโอกาสชนะสงครามมากกว่า แต่ในเรื่องของความชอบธรรมและความปลอดภัยของประเทศพันธมิตรในภูมิภาคที่อาจจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากสงครามในครั้งนี้ ก็เป็นปัจจัยที่มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ ไม่สามารถละเลยได้
ยิ่งไปกว่านั้น หากสหรัฐฯ และพันธมิตรสร้างความชอบธรรมด้วยการขอมติเห็นชอบในการเริ่มทำสงครามกับเกาหลีเหนือจากสหประชาชาติ มีความเป็นไปได้ว่า จีน หนึ่งในสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงฯ และพันธมิตรที่ใกล้ชิดเพียงหนึ่งเดียวของเกาหลีเหนือ อาจจะคัดค้านการร้องขอนั้น แม้ว่าจีนจะไม่ต้องการให้เกาหลีเหนือเดินหน้าพัฒนาและทดสอบขีปนาวุธต่อไป
แต่ในขณะเดียวกัน เกาหลีเหนือเองก็ถือว่า เป็นรัฐกันชนที่สำคัญของจีนในภูมิภาคนี้ การทำให้เกาหลีเหนือเลือนหายไปจากแผนที่โลกจึงส่งผลกระทบโดยตรงต่อจีน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผู้อพยพที่ไหลทะลักเข้าประเทศ หรือแม้แต่การถ่วงดุลกับกองทัพสหรัฐฯ ภายในภูมิภาคเองก็อาจจะประสบความยากลำบากมากยิ่งขึ้น
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า การพยายามผลักดันให้เกาหลีเหนือเข้าสู่พื้นที่ของการเจรจาพูดคุยเพื่อสร้างความเข้าใจระหว่างกันให้ได้ ดูท่าจะเป็นทางออกเดียวที่พอจะช่วยให้สถานการณ์ความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีทุเลาลงได้บ้าง การหาจุดร่วมของการพูดคุย พร้อมกับสร้างความเชื่อมั่นให้กับรัฐบาลโสมแดงและประชาชนในประเทศว่าพวกเขาจะไม่ถูกโค่นล้มเหมือนกับรัฐบาลเผด็จการคนก่อนๆ ที่จบชีวิตลงจึงเป็นเรื่องสำคัญ
มาลองจับตาดูกันว่า ทิศทางของเกมการเมืองระหว่างประเทศ โดยเฉพาะบนคาบสมุทรเกาหลีนี้จะเป็นไปในทิศทางไหน?
…หรือคุณมีวิธีการที่ดีกว่านี้
Cover Photo: KCNA/AFP
อ้างอิง: