กระทรวงสาธารณสุข ออกมาชี้แจงถึงปมการห้ามรถพยาบาลฉุกเฉินขับฝ่าไฟแดง และห้ามขับเร็วเกินกำหนดที่ 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพราะมองว่าในรถฉุกเฉินต่างมีอุปกรณ์ที่พร้อมช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว แต่จะยกเว้นให้บางกรณีที่ประเมินว่าผู้ป่วยต้องการการรักษาอย่างเร่งด่วนเท่านั้น พร้อมเผยข้อมูลจากปี 2559 ถึงปัจจุบันให้เห็นว่า การที่รถฉุกเฉินขับเร็วกว่ากำหนดส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุมากกว่า 110 ครั้ง
ช่วงบ่ายวันนี้ (19 เม.ย.) นพ.ประพนธ์ ตั้งศรีเกียรติกุล รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ชี้แจงประเด็นการตั้งกฎข้อห้ามการขับรถที่มีความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมงและการฝ่าไฟแดงว่า ในส่วนแรกคือการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจากโรงพยาบาลในท้องถิ่นไปสู่โรงพยาบาลที่มีขนาดใหญ่ขึ้น จะต้องมีการประเมินอาการผู้ป่วยจากโรงพยาบาลต้นทางว่าสามารถเดินทางไปโรงพยาบาลที่มีความพร้อมเรื่องของเครื่องมือได้หรือไม่ เพราะเดิมทีในรถพยาบาลฉุกเฉินกว่า 3,000 แห่งทั่วประเทศมีอุปกรณ์สำหรับช่วยเหลือผู้ป่วยอยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเหตุจำเป็นให้เจ้าหน้าที่ควบคุมรถพยาบาลฉุกเฉินขับรถด้วยความเร็วเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
ในส่วนต่อมาคือกรณีการเกิดอุบัติเหตุที่เกิดตามท้องถนนหรือที่ต่างๆ เพราะเดิมทีรถฉุกเฉินต้องเดินทางไปให้ถึงจุดเกิดเหตุ จะต้องไปให้ถึงไม่เกิน 8 นาที ซึ่งในรถก็จะมีอุปกรณ์ที่พร้อมปฐมพยาบาลคนไข้อยู่แล้ว และเปรียบรถฉุกเฉินเหล่านี้ว่า เหมือนห้องฉุกเฉินขนาดย่อมๆ ที่พร้อมประเมินอาการคนไข้อยู่แล้ว ฉะนั้นจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องขับรถเร็วกว่ากำหนด แต่ถ้าหากมีเหตุฉุกเฉินที่ร้ายแรงกว่านั้น เช่น ผู้ป่วยเสียเลือดเป็นจำนวนมาก ก็จะสามารถให้เจ้าหน้าที่ขับเร็วเกินกำหนดและฝ่าไฟแดงได้ ซึ่งจะอนุญาตเป็นบางกรณีเท่านั้น
นอกจากนี้ ทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการศึกษาข้อมูลและพบว่า ในปี 2559-2562 ที่ผ่านมา รถที่เกิดอุบัติเหตุส่วนหนึ่งเป็นรถพยาบาลฉุกเฉินที่มีการขับเร็วเกินความจำเป็น ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุกว่า 110 ครั้ง และเสียชีวิตมากถึง 318 ราย โดยส่วนใหญ่เกิดขึ้นระหว่างที่มีการส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: