ฝุ่นควันในพื้นที่ภาคเหนือยังคงเป็นสิ่งที่หน่วยงานต่างๆ กำลังเฝ้าจับตาดูสถานการณ์และหาทางแก้ไขอย่างเร่งด่วน ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายและแม่ฮ่องสอนสั่งการติดตามสถานการณ์หมอกควันที่เกิดจากไฟป่าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนอย่างเต็มกำลัง เนื่องจากบริเวณพื้นที่ภาคเหนือพบสถิติการเกิด Hotspot มากกว่า 1,969 จุด
ช่วงเช้าวันนี้ (2 เม.ย.) นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ได้ออกสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งติดตามสถานการณ์และผลการปฏิบัติงานป้องกัน รวมถึงแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน พร้อมวางมาตรการเชิงรุก หลังพบค่าดัชนีคุณภาพอากาศและปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 ที่มีค่าอยู่ที่ 159 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กระจายทั่วพื้นที่จังหวัดเชียงราย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจุบันพบจุดความร้อน Hotspot ในพื้นที่เชียงรายจำนวน 232 จุด
นอกจากนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายยังเผยว่าได้มีข้อสั่งการมาตรการพิเศษเพื่อแก้ไขปัญหาแบบเชิงรุก โดยให้สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 15 ร่วมกับสำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 2 เชียงราย สนธิกำลังกับชาวบ้านเพื่อจัดกำลังชุดดับไฟป่า 3 ชุดเฝ้าดับไฟทันทีเมื่อเกิดจุดความร้อน โดยจัดชุดลาดตระเวนฝังตัวอยู่ในพื้นที่เกิดเหตุ เฝ้าระวังไม่ให้เกิดไฟป่าซ้ำ ติดตามความเคลื่อนไหวตลอด 24 ชั่วโมง ส่วนในหมู่บ้านที่มีพื้นที่ติดกับป่า ให้ส่วนท้องถิ่นประสานผู้นำชุมชนตั้งฐานลอยกดดัน กำหนดจุดเข้าสังเกตการณ์ และดำเนินการภายในหมู่บ้านนับตั้งแต่ 15 วันต่อจากนี้ ตลอดจนขอให้ประชาชนรักษาสุขภาพตนเอง ตรวจเช็กสภาพยานพาหนะไม่ให้เกิดควันดำ และร่วมเป็นหูเป็นตาแจ้งเบาะแสให้กับภาครัฐด้วย
ด้าน นายสิริรัฐ ชุมอุปการ ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน เปิดเผยว่าเพื่อให้การแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM2.5) ที่ล่าสุดพบปริมาณฝุ่นอยู่ที่ 247 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงมีการดำเนินการให้หน่วยงานจังหวัดแบ่งพื้นที่ พร้อมทั้งมอบหมายหน่วยงานรับผิดชอบให้ชัดเจน ทั้งพื้นที่ป่าไม้ พื้นที่เกษตรกรรม พื้นที่ชุมชน พื้นที่ริมทาง และให้ติดตามผลการปฏิบัติในการแก้ไขปัญหาอย่างใกล้ชิด ให้ควบคุมการเผาในพื้นที่จังหวัดอย่างเข้มข้นและจริงจังโดยใช้มาตรการทางกฎหมาย ห้ามเผาอย่างเด็ดขาด และกําหนดระยะเวลาการปฏิบัติในการควบคุมการเผาให้สอดคล้องกับสภาพความรุนแรงของปัญหา รวมทั้งส่งเสริมการจัดการเศษวัสดุทางการเกษตรเพื่อนําไปใช้ประโยชน์แทนการเผาอย่างเป็นรูปธรรม
รวมถึงการเชิญชวนจิตอาสาและประชาชนเพื่อช่วยในการป้องกันแก้ไขปัญหา เช่น การดับไฟ การฉีดพ่นละอองน้ำเพื่อลดปริมาณฝุ่นละอองในอากาศ พร้อมทั้งลดแหล่งกําเนิดฝุ่นละอองอื่นๆ เช่น ยานพาหนะที่ก่อให้เกิดควันดํา เป็นต้น ให้ดูแลผลกระทบที่เกิดกับประชาชนโดยการแจกหน้ากากอนามัย การแนะนําข้อปฏิบัติในการป้องกันตนเองจากฝุ่นละออง และจัดเตรียมพื้นที่ปลอดภัยไว้บริการประชาชน
ขณะเดียวกันยังมีการเปิดเผยจากข้อมูลดาวเทียมระบบ VIIRS ผ่านทางเว็บไซต์ GISTDA ของวันที่ 2 เมษายน เวลา 01.36 น. แสดงให้เห็นการตรวจจับความร้อนในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งตรวจพบจุดความร้อน Hotspot เป็นจำนวน 1,969 จุด โดยค่าความร้อนในแต่ละพื้นที่สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
- แม่ฮ่องสอน จำนวน 821 จุด
- เชียงใหม่ จำนวน 478 จุด
- เชียงราย จำนวน 232 จุด
- ลำปาง จำนวน 116 จุด
- ตาก จำนวน 89 จุด
- น่าน จำนวน 77 จุด
- พะเยา จำนวน 74 จุด
- แพร่ จำนวน 63 จุด
- ลำพูน จำนวน 19 จุด
ภาพ: สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง: