ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการคมนาคมขนส่งทำให้เราเดินทางไปไหนมาไหนสะดวกรวดเร็วราวกับติดจรวด จากเดิมที่ต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ในการเดินทางข้ามจังหวัด กลายเป็นไม่กี่อึดใจก็ไปไกลได้หลายพันไมล์ค่อนโลก ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีสายการบินน้องใหม่เปิดให้บริการมากมาย ทั้งแบบสายการบินต้นทุนต่ำ (Low Cost) ที่ให้บริการเฉพาะตั๋ว อยากได้อะไรก็จ่ายเพิ่ม และแบบฟูลเซอร์วิส (Full Service) ที่เบ็ดเสร็จในขั้นตอนเดียว ครบเครื่องจัดเต็มทั้งบริการและอาหาร
เมื่อมีผู้ให้บริการมากขึ้น ตั๋วเครื่องบินก็ราคาถูกลง คนทั่วไปหันมาใช้บริการมากขึ้น มากเสียจนสนามบินบางแห่งผู้คนยั้วเยี้ยจนเรานึกว่ามีม็อบ แต่เชื่อเถอะว่ามีไม่ถึงครึ่งของผู้ใช้บริการทั้งหมดหรอกที่สนใจใคร่รู้ อ่านกฎระเบียบ เตรียมตัวมาอย่างดีพร้อม ส่วนใหญ่ก็แค่เก็บกระเป๋ามาให้ทันเช็กอินขึ้นเครื่องแล้วก็จบ ไม่อย่างนั้นข่าวเรียกร้องขอน้ำใจหลังทำผิดกฎแบบหน้าซื่อตาใสคงไม่มีให้เห็นแบบวันเว้นวัน
ก่อนคิดจะโดยสารเครื่องบินเป็นว่าเล่นเช่นเหล่า Jetsetter มาสำรวจกันหน่อยว่าคุณรู้เรื่องพื้นฐานเหล่านี้เพียงพอหรือยัง?
1. ใช่ว่ากระเป๋าทุกใบจะเอาขึ้นเครื่องได้
ตามกฎของสายการบินทั่วไป ผู้โดยสาร 1 ท่าน สามารถนำกระเป๋าติดตัวขึ้นเครื่องได้ 2 ชิ้นคือ กระเป๋าสัมภาระพกพา 1 ใบ และกระเป๋าติดตัวใส่ของจุกจิก 1 ใบ ซึ่งในที่นี้หมายถึงกระเป๋าสะพายข้าง เป้ใบเล็กที่ใช้เก็บกระเป๋าเงินและข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว
กระเป๋าเดินทางที่เราเห็นตามท้องตลาดมีหลายขนาด หลากรูปร่าง แต่ใช่ว่าทุกขนาดจะนำขึ้นเครื่องได้หมด ซึ่งแต่ละสายการบินมักกำหนดขนาดแตกต่างกัน แต่ส่วนใหญ่มักกำหนดตามนี้
กระเป๋าสัมภาระพกพาขึ้นเครื่อง (Carry-on Bag) ‘ต้องมีขนาดไม่เกิน 56x36x23 ซม. เมื่อรวมกับด้ามจับ ล้อ และกระเป๋าด้านข้างแล้ว’ ทั้งนี้ต้องสามารถนำขึ้นไปเก็บไว้ในช่องเก็บของเหนือศีรษะได้
สัมภาระชิ้นเล็ก ‘ต้องมีขนาดไม่เกิน 10x30x40 ซม. (5x12x16 นิ้ว) รวมล้อ ที่จับ และกระเป๋าข้าง’ สิ่งของดังกล่าว ได้แก่ กระเป๋าใบเล็ก กระเป๋าแล็ปท็อป กระเป๋าสะพายหลังใบเล็ก กระเป๋ากล้อง และกระเป๋าเอกสาร
และ ทั้ง 2 ใบ ต้องมีน้ำหนักรวมไม่เกิน 7 กิโลกรัมต่อหนึ่งผู้โดยสาร
ฉะนั้น เวลาเลือกซื้อกระเป๋าติดตัวขึ้นเครื่อง ถ้าคุณชอบกระเป๋าลากติดล้อ ให้เลือกไซส์เล็กแบบพกพา ซึ่งส่วนใหญ่ผลิตมาเพื่อการขึ้นเครื่องอยู่แล้ว แต่ถ้าในกรณีที่คุณเป็นนักแบกเป้ ขอให้คุณวัดไซส์กระเป๋าให้ดีๆ เพราะขนาดที่ใหญ่โตเกินไปจะไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ ต้องโหลดใต้ท้องเครื่องเพียงอย่างเดียว ส่วนใครที่เถียงว่า “ฉันก็เคยเอาขึ้นเครื่องมาแล้วนี่” เราอยากบอกว่าสายการบินอาจจะอนุโลมให้ แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณจะโชคดีแบบนั้นทุกครั้งไป ปฏิบัติตามกฎดีกว่า จะได้ไม่ยุ่งยากภายหลัง
2. ระวังของเหลวและแบตเตอรี่สำรอง
ขนาดของเหลวที่สามารถพกขึ้นเครื่องได้ต้องอยู่ภายใต้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เกิน 100 มิลลิลิตร รวมแล้วไม่เกิน 10 ชิ้น (ปริมาณรวม 1 ลิตร) กล่าวคือ ไม่ว่าของเหลวที่คุณเอาไปจะเป็นครีมทาผิว โฟมล้างหน้า ครีมกันแดด น้ำหอม น้ำตบหน้าต่างๆ รวมถึงสเปรย์และเจลด้วย ราคาขวดละกี่พันก็แล้วแต่ ทั้งหมดจะเอาขึ้นเครื่องไม่ได้เลย ถ้าไม่อยู่ในบรรจุภัณฑ์ขนาดไม่เกิน 100 มิลลิลิตร และสมควรอยู่ในถุงซิปล็อกใสเพื่อให้เจ้าหน้าที่ตรวจได้สะดวก (จะยืนตะโกนขอน้ำใจเรียกร้องว่า ‘คนไทยหรือเปล่า’ ไม่ได้หรอกนะ)
จากประสบการณ์การเดินทาง ผู้เขียนเคยมาแล้ว วันนั้นเกิดอุบัติเหตุบนทางด่วนจนเกือบขึ้นเครื่องไม่ทันที่ประเทศญี่ปุ่น เครื่องประทินผิวที่ซื้อมาทั้งหมด ขนาดยังไม่ได้แกะบรรจุภัณฑ์และขนาดไม่เกิน 100 มิลลิลิตร ทว่าไม่ได้อยู่ในถุงซิปล็อก ก็โดนเจ้าหน้าที่กวาดเรียบ เสียใจก็เสียใจ เสียดายก็ด้วย แต่ทำอะไรไม่ได้ เพราะเคาน์เตอร์โหลดสัมภาระปิดให้บริการแล้ว ได้แต่เลยตามเลย เอาไว้เป็นบทเรียนในการเดินทางครั้งต่อไป
ในขณะที่ของเหลวสมควรโหลดไว้ใต้ท้องเครื่อง แต่ ‘แบตเตอรี่สำรอง’ (Power Bank) ห้ามเก็บไว้ในกระเป๋าใบใหญ่แล้วโหลดลงใต้ท้องเครื่องเด็ดขาด! สิ่งที่ควรปฏิบัติคือ ต้องพกติดตัวไว้สถานเดียว และต้องแยกให้เจ้าหน้าที่ตรวจทุกครั้ง เมื่อถึงจุดตรวจสัมภาระเพื่อเดินทางไปยังหน้าประตูขึ้นเครื่อง (Gate)
‘สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ’ (International Air Transport Association – IATA) หรือ ‘ไอเอต้า’ ได้กำหนดขนาดไว้ตามนี้
- แบตเตอรี่สำรองขนาด 20,000 mAh หรือน้อยกว่า สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่จำกัด
- แบตเตอรี่สำรองขนาด 20,000 – 32,000 mAh สามารถนำขึ้นเครื่องได้ไม่เกิน 2 ก้อน
- แบตเตอรี่สำรองขนาดมากกว่า 32,000 mAh ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ในทุกกรณี
เหตุที่ไม่อนุญาตให้โหลดใต้ท้องเครื่อง นั่นก็เพราะว่าแบตเตอรี่สำรองเกิดความร้อนได้ง่าย และสามารถระเบิดหรือเกิดสะเก็ดไฟได้ทุกเมื่อ หากนำไปไว้ใต้ท้องเครื่องจะไม่สามารถดับไฟได้ทัน แต่ถ้าอยู่บนเครื่อง อย่างน้อยก็ยังอยู่ใกล้ผู้คน และสามารถดับไฟได้ทันท่วงที
นอกจากของเหลวและแบตเตอรี่สำรองแล้ว ของมีคมทุกชนิดก็ไม่สามารถนำขึ้นเครื่องได้ ก่อนจัดกระเป๋าอย่าลืมดูกฎระเบียบข้อบังคับให้แน่ใจ หาได้ดูตามเว็บไซต์ของสายการบินนั้นๆ
ในกรณีที่เกิดเหตุไม่คาดคิด เช่น ฝนตก รถติดแบบมหาประลัย ฟ้าดินไม่เข้าข้าง เช็กอินทางออนไลน์มาแล้ว แต่โหลดกระเป๋าไม่ทัน ถ้ายังพอมีเวลา เราแนะนำให้คุณเดินไปไปรษณีย์ที่อยู่ในบริเวณสนามบิน ไม่ว่าสนามบินของประเทศไหนก็มีหมด ถ้าสิ่งของนั้นคุ้มค่าแก่การขนส่ง มุ่งไปไปรษณีย์แล้วแพ็กของส่งกลับอย่างเร็วรี่ ดูเวลาด้วยล่ะ เดี๋ยวมัวแต่ห่วงของจนตกเครื่องกันพอดี
3. เครื่องบินไม่ใช่รถทัวร์ ขึ้นแบบปุ๊บปั๊บรับโชคไม่ได้
แม้การเดินทางโดยเครื่องบินจะรวดเร็วและราคาถูกลงมากจนบรรดารถทัวร์ทั้งหลายโบกธงขาว แต่ข้อเสียเพียงหนึ่งเดียวคือ ใช้เวลาในการเตรียมตัวค่อนข้างนาน
เที่ยวบินในประเทศ สมควรมาถึงสนามบินล่วงหน้า 1 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 2 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่เคาน์เตอร์เช็กอินมักปิดให้บริการก่อนเวลาออกเดินทาง 45 นาที
ส่วนเที่ยวบินระหว่างประเทศ แนะนำว่าควรมาถึงล่วงหน้า 2 ชั่วโมงครึ่ง ถึง 3 ชั่วโมง ยิ่งในกรณีที่บินเครื่องลำใหญ่อย่าง Airbus A380 หรือ Boeing 747-800 และ Dreamliner 787 ด้วยแล้ว ยิ่งต้องเผื่อเวลา อย่าเถลไถลเด็ดขาด เพราะคิวจะยาว ผู้โดยสารเยอะ เช็กอินเสร็จแล้วจะเดินช้อปปิ้ง กินข้าวอย่างไรก็ตามแต่ใจ
แต่ถ้าให้ชัวร์ แนะนำให้เข้าเว็บไซต์ของสายการบินแล้วทำการเช็กอินออนไลน์ล่วงหน้า โดยส่วนใหญ่มักเปิดให้เช็กอินล่วงหน้าก่อนเวลาบิน 24 ชั่วโมง เสร็จแล้วค่อยมาโหลดกระเป๋าลงท้องเครื่อง ไม่ต้องรอนาน
ที่สำคัญ เมื่อเช็กอินเสร็จแล้วก็ควรไปรอยังบริเวณประตูขึ้นเครื่องตามเวลาเรียกของสายการบิน อย่าคิดว่าทุกคนจะรอคุณ ประตูเครื่องบินมักปิดก่อนเครื่องออก 15-30 นาที โดยประมาณแล้วแต่เที่ยวบิน ฉะนั้นตรงต่อเวลาดีที่สุด
4. คู่มือความปลอดภัย สำคัญกว่าที่คิด
ผู้โดยสารเครื่องบินส่วนใหญ่มักคิดว่า ‘อุบัติเหตุทางการบิน ร้อยทั้งร้อยมักจบลงที่การเสียชีวิตและไม่มีผู้รอด’ แต่จากสถิติของ ‘National Transportation Safety Board’ ซึ่งเป็นหน่วยงานสอบสวนอากาศยานอุบัติเหตุ มีสำนักงานอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ได้ทำการศึกษาอุบัติเหตุทางเครื่องบินระหว่างปี 1983 ถึงปี 2000 พบว่า ผู้โดยสารที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุทางเครื่องบิน 53,487 คน มีจำนวนถึง 51,207 คน รอดชีวิต เสียชีวิตเพียง 2,280 คน อัตราผู้รอดชีวิตจากอุบัติเหตุทางเครื่องบินสูงถึง 95.7 เปอร์เซ็นต์
แน่นอนว่าจากสถิติเหล่านี้ ทั้งหมดไม่ได้เกิดขึ้นจากเครื่องบินตกเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการลงจอดผิดพลาด การเฉี่ยวชนกันที่ลู่ลานบิน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอุบัติเหตุที่เกิดได้ทุกขณะ และสามารถควบคุมได้ ดังนั้นเวลาพนักงานต้อนรับสอนการใช้อุปกรณ์ช่วยชีวิตยามฉุกเฉิน ใส่ใจเถอะ เพียงแค่ 10 นาทีระหว่างใช้บริการบนเครื่องก็สมควรรัดเข็มขัดตลอดเวลา คุณไม่รู้หรอกว่าอุบัติเหตุจะเกิดขึ้นเมื่อใด กันไว้ดีกว่าแก้ เพราะเราอาจแก้ไม่ทัน
5. ลืมของไว้ที่สนามบิน Boarding Pass หาย
ในกรณีที่บอร์ดดิ้งพาส หรือบัตรโดยสารหาย สิ่งแรกที่ทำเลยคือตรวจดูให้แน่ใจเสียก่อนว่าหายจริงๆ หายที่ไหน เมื่อใด และอย่างไร ถ้าหาไม่เจอจริงๆ ให้มุ่งหน้าไปที่เคาน์เตอร์สายการบิน แล้วแจ้งเจ้าหน้าที่ว่าบัตรโดยสารหาย ที่สำคัญอย่าลืมพกพาสปอร์ตไปด้วย เจ้าหน้าที่จะสอบถามประวัติเพื่อตรวจเช็ก จากนั้นก็จะออกบัตรโดยสารใหม่ให้ ทว่าในกรณีที่เข้าไปด้านในแล้ว อย่าตกใจ เดินเข้าไปหาเจ้าหน้าที่บริเวณหน้าประตูขึ้นเครื่อง เจ้าหน้าที่จะอำนวยความสะดวกให้เราเอง
กรณีที่บัตรโดยสารยังอยู่ดี แต่เราลืมของไว้ตามจุดต่างๆ ของสนามบิน กรณีนี้ให้ไปแจ้งที่จุด Lost & Found เพื่อฝากเรื่องไว้ ถ้าลืมไว้บริเวณหน้าประตูขึ้นเครื่อง แต่ตัวอยู่บนเครื่องแล้วให้แจ้งพนักงานต้อนรับบนเครื่องพร้อมส่งหน้าบัตรโดยสาร ถ้าลืมไว้บนเครื่องบินให้แจ้งพนักงานภาคพื้นดิน ถ้าหากเจอ เจ้าหน้าที่จะติดต่อเรากลับ อย่าเพิ่งทิ้งบัตรโดยสารล่ะ เก็บไว้ก่อน ทิ้งหลังจบทริป 10 วันก็ยังไม่สาย
6. กระเป๋าเดินทางไม่มีเมื่อถึงปลายทาง
ตัวมาถึงจุดหมายปลายทางแล้ว แต่กระเป๋าหายไปไหนล่ะ นั่นสิ! มีหลายเหตุผลมากที่กระเป๋าเดินทางเราหายไป เช่น หลงไปผิดเที่ยวบิน มีคนหยิบผิดไป ฯลฯ ในกรณีที่เป็นความผิดพลาดทางเทคนิค ให้คุณก้มตรวจดูแท็กกระเป๋าที่สายการบินส่งให้พร้อมบัตรโดยสารตั้งแต่สนามบินต้นทาง หยิบมันขึ้นมาแล้วมุ่งหน้าไปหาเจ้าหน้าที่สายการบินที่อยู่บริเวณนั้น เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจเช็กรหัสกระเป๋าว่าตอนนี้ไปอยู่ที่ไหน หรือหลงไปประเทศใด ในกรณีที่หาไม่เจอ ภายใน 6 ชั่วโมง ทางสายการบินจะมีเงินชดเชยจำนวนหนึ่งให้เราไว้ใช้จ่าย เป็นค่าเสื้อผ้า ค่าอาหาร ถ้าเขาไม่เสนอก็อย่าเพิกเฉย ร้องขอได้ เป็นสิทธิ์ของเรา
และถ้าคุณทำประกันการเดินทาง อย่าลืมขอเอกสารจากสายการบิน หรือใบแจ้งความเพื่อไปเบิกได้อีกต่อด้วยล่ะ (ตามรายละเอียดของกรมธรรม์)
แต่ถ้าเป็นกรณีหยิบกระเป๋าผิดใบ คงต้องรอให้ทางผู้โดยสารที่หยิบผิดแจ้งกลับมาทางเจ้าหน้าที่เพื่อประสานอีกที
7. Free City Tour ระหว่างรอเปลี่ยนเครื่อง
หากเที่ยวบินของคุณต้องแวะพักเครื่องเป็นเวลานานหลายชั่วโมง จะให้นั่งเล่นนอนเล่นในสนามบินอย่างเดียวก็เบื่อเต็มแก่ เราขอแนะนำให้คุณลองเช็กดูว่าสนามบินจุดแวะพักมีบริการทัวร์เมือง (City Tour) หรือเปล่า
เดี๋ยวนี้หลายสนามบินมีบริการทัวร์เมืองฟรี! แก่นักท่องเที่ยวขาจรเพียงไม่กี่ชั่วโมง ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น เตรียมไว้ก็แต่หลักฐาน เช่น หนังสือเดินทาง และบัตรโดยสาร ทั้งจากจุดต้นทาง-จุดแวะพัก และจุดแวะพัก-ปลายทาง ซึ่งส่วนใหญ่มักเป็นเมืองท่องเที่ยวชั้นนำ เช่น กรุงโซล (Seoul) ประเทศเกาหลี, กรุงโตเกียว (Tokyo) ประเทศญี่ปุ่น และ กรุงอัมสเตอร์ดัม (Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นต้น
8. สนามบินไม่ได้เปิดตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับคนไทย เราอาจคุ้นชินกับสนามบินสุวรรณภูมิที่เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง แต่สำหรับบางเมือง สนามบินอาจไม่ได้เปิดให้บริการตลอดเวลาเช่นบ้านเรา โดยเฉพาะสนามบินเล็กๆ ที่เปิดเที่ยวบินเพียงไม่กี่รอบ มักเปิดให้บริการตามช่วงเวลาที่เที่ยวบินขึ้นลง บางสนามบินเปิด 24 ชั่วโมงจริง แต่จำกัดพื้นที่ให้บริการเป็นภาคส่วน ร้านรวงปิดให้บริการ ฉะนั้นอย่าคิดไปพึ่งน้ำบ่อหน้า หาที่นั่งที่นอนที่กินในสนามบินเพื่อรอเวลา หรือถ้าจะทำก็เช็กล่วงหน้า จะได้ไม่เดือดร้อนเอา
- ที่สนามบินสุวรรณภูมิ มี Free Wifi ไว้ให้ใช้ 2 ชั่วโมง
- อาหารบนเครื่อง ถ้าเราไม่อิ่มสามารถขอเพิ่มได้ ในกรณีที่ยังเหลือ
- ถ้าอยากได้อาหารบนเครื่องเร็วกว่าคนอื่น แนะนำให้สั่งเมนูอาหารพิเศษ เช่น ไม่กินเนื้อ กินปลา หรือสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน เป็นต้น
- ทุกสนามบินทั่วโลกสามารถใช้จ่ายเงินได้ขั้นต่ำ 2 สกุลเงิน คือดอลลาห์สหรัฐ และสกุลเงินท้องถิ่น
- ตู้ ATM ที่อยู่ภายในสนามบินระหว่างทางไปประตูขึ้นเครื่อง ถ้าเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ ส่วนใหญ่จะให้บริการเป็นเงินดอลลาห์สหรัฐทั้งหมด
- น้ำดื่มในสนามบินมักมีราคาสูง ถ้าไม่อยากเสียเงินเกินเหตุ สามารถเอาขวดเปล่าเข้าด้านในได้ แต่ต้องแสดงให้เจ้าหน้าที่ดู
- ค่าใช้จ่ายสำหรับน้ำหนักกระเป๋าเกินกำหนดแพงมาก ถ้าคุณรู้ว่าอย่างไรก็ต้องเกินที่สายการบินตั้งไว้ แนะนำให้ซื้อน้ำหนักเพิ่มล่วงหน้า ราคาจะถูกกว่ามาก ซึ่งสามารถตัดสินใจได้ช้าสุดล่วงหน้า 4 ชั่วโมง ก่อนเคาน์เตอร์เช็กอินเปิดให้บริการ ถ้าให้ชัวร์ 24 ชั่วโมงก่อนออกเดินทาง
- บัตรเครดิตบางเจ้ามีให้บริการเลานจ์พิเศษในสนามบินฟรี เช่น JCB เป็นต้น
- อาหารที่ถูกที่สุดในสนามบิน เป็นศูนย์อาหารของพนักงานที่จะหลบซ่อนอยู่ตามซอก คนนอกเข้าไปกินได้ แต่คนส่วนมากมักไม่รู้ และไม่กล้า เช่น Magic Food Point ศูนย์อาหาร ชั้น 1 บริเวณ Gate 8 สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ เป็นต้น