*คำเตือน บทความนี้มีการสปอยล์เนื้อหารายการ
หลังจากปล่อยให้เราหาวตบยุงมาสามเทป พอขึ้น Ep.4 ตอนท้ายเท่านั้นแหละ! ต่อมดราม่าของเมนเทอร์เริ่มทำงานกันสักทีแล้วคุณเอ๊ย! เรียกว่าออนแอร์ปุ๊บ เมนเทอร์แต่ละคนเตรียมพื้นที่ไอจีรอรับคอมเมนต์ถล่มทลายได้เลยจ้า
แต่ถึงจะดราม่าอย่างไรก็ตาม สัปดาห์นี้เรายังคงได้เรียนรู้บทเรียนโลกการทำงานจาก The Face Men Thailand กันอย่างเข้มข้นเหมือนเดิม ไม่ว่าคุณจะเป็น #ทีมพีช #ทีมหมู #ทีมลูกเกด เราสามารถเรียนรู้โลกการทำงานไปพร้อมกับดราม่าได้เช่นกัน
ประเด็นแรกที่อยากพูดถึงคือ การแข่งขันแคมเปญรอบนี้ แต่ละทีมมีเวลาเพียงแค่ 15 นาที โดยแต่ละคนมีเวลาต่อการถ่ายทำรอบละ 60 วินาทีเท่านั้น ทำให้แต่ละทีมวางกลยุทธ์แตกต่างกัน
แต่มีเมนเทอร์หมูคนเดียวที่ดูทรงการแข่งขันแล้วเลือกที่จะไม่ส่งเติร์ดและธามเข้าแข่งขัน เพราะลุคไม่น่าจะตอบโจทย์ของลูกค้าตั้งแต่ต้น เพราะฉะนั้นถ้าเอาไปแข่งอาจเสียเวลาและอาจส่งผลต่อภาพรวมของทีมได้ (ต่อให้เป็นการแข่งขันแบบใครคนหนึ่งชนะก็ชนะทั้งทีมก็เถอะ แต่ในทางจิตวิทยา ภาพรวมของทีมก็อาจมีผลต่อความรู้สึกของกรรมการอยู่ดี)
เราสามารถมองกลยุทธ์ของทีมหมูได้หลายมุม อยู่ที่ว่าตอนที่เราทำงาน เราจะอยากใช้วิธีแบบไหน
Put the right man on the right job
มองในมุมว่าการแข่งขันมีเวลาจำกัด และทีมต้องบริหารเวลาให้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานสูงสุดเพื่อชัยชนะ การเลือก Put the right man on the right job ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำได้ เพราะอ่านเกมแล้ว โจทย์นี้อาจจะไม่เข้าทางบางคนในทีม สู้เอาเวลา 60 วินาทีของคนที่ไม่เหมาะกับโจทย์มาใช้กับคนที่เราคิดว่าจะทำหน้าที่เหมาะกับโจทย์ได้มากกว่า ก็อาจจะเป็นวิธีการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพก็เป็นได้ เพราะแทนที่จะใช้พลังไปกับคนเยอะๆ ซึ่งไม่เหมาะกับโจทย์ ก็ทุ่มพลังไปกับคนที่ใช่บนวิธีการที่จะทำให้ชนะดีกว่า ซึ่งเมนเทอร์หมูก็คงคิดแบบนี้
ถ้าจะใช้วิธี Put the right man on the right job เราต้องแน่ใจและรู้จักทีมงานของเราจริงๆ ว่า ใครเก่งอะไร ใครเหมาะกับงานแบบไหน ไปจนถึงสภาพจิตใจของแต่ละคนเป็นอย่างไร แปลว่าหัวหน้าทีมต้องรู้จักจุดแข็งและจุดอ่อนของทีมอย่างดีจริงๆ
ทีนี้ถ้าเลือกวิธีการเลือกและไม่เลือกบางคนลงสนามแบบที่เมนเทอร์หมูทำ เราต้องมีวิธีการจัดการกับความรู้สึกของทั้งคนที่เราเลือกและไม่เลือก กับคนที่เราเลือก แน่นอน เรากำลังบอกว่าเรามั่นใจในตัวเขา สิ่งที่เราต้องโฟกัสคือทำอย่างไรถึงจะดึงศักยภาพของเขาให้ออกมาดีที่สุดตามแผน ในขณะเดียวก็ต้องไม่ให้รู้สึกว่าเขาเป็นลูกรักที่มีอำนาจมากกว่าคนอื่น หรือเหยียบหัวสมาชิกคนอื่นได้ ส่วนคนที่เราไม่เลือก เราต้องทำให้เขารู้สึกว่า ไม่ใช่เพราะเขาไม่สำคัญ ไม่ใช่เพราะเขาไม่เก่ง แต่มันเป็นวิธีการทำงานอีกแบบหนึ่ง ไม่ได้ลงสนามตอนนี้ ใช่ว่าจะไม่ได้ลงสนามอีกตลอดไป เราต้องให้ความสำคัญกับคนที่ลงสนามและอยู่ข้างสนามเท่าๆ กัน
ในเรื่องนี้ เมนเทอร์หมูทำได้ดีด้วยการอธิบายลูกทีมว่า เป็นเรื่องธรรมดาของการแคสต์งานที่ลูกค้ามีภาพในหัวอยู่แล้วว่าต้องการคนแบบไหน ถ้าส่งคนที่คาแรกเตอร์ไม่ตรงกับภาพในหัวของลูกค้าไป ยังไม่ทันทำอะไร ลูกค้าก็ไม่เลือกอยู่ดี กลยุทธ์นี้ก็เพื่อชัยชนะของทีม และต้องชื่นชมสปิริตของธามและเติร์ดที่เข้าใจว่าเป็นการทำเพื่อทีม
สิ่งที่เติมแล้วทีมเมนเทอร์หมูจะดีขึ้นมากคือ ควรให้บทบาทหน้าที่บางอย่างกับธามและเติร์ด ซึ่งไม่ได้ลงสนาม เพื่อไม่ให้เขารู้สึกว่าไม่ต้องมาก็ได้ มาก็ไม่สำคัญ หรือมาแล้วมายืนดูเฉยๆ ก็ได้ ทุกคนในทีมต้องมีบทบาททั้งหมด ต่อให้ไม่ได้ลงสนาม เพราะที่สุดแล้วมันคือการทำงานเป็นทีม และทุกคนมีผลต่อชัยชนะของทีมทั้งหมด ถ้าทีมชนะก็เพราะทุกคนร่วมกันทำหน้าที่ ไม่ใช่เพราะคนที่ลงสนามเท่านั้น ต่อให้เป็นตัวสำรอง แต่ก็ต้องทำหน้าที่ได้เหมือนตัวจริง พร้อมลงสนามได้ทันที ไม่ใช่ว่าเป็นตัวสำรองแล้วแค่ไปนั่งข้างสนามเฉยๆ ก็พอ
Put everyone in the job and let them learn
มองอีกมุมหนึ่งก็เหมือนที่เมนเทอร์ลูกเกดพูดถึงการเลือกและไม่เลือกบางคนของเมนเทอร์หมูว่า ทุกคนเข้ามาที่รายการนี้ก็ควรจะได้ลงแข่งขันกันหมด
จริงอยู่ว่าคาแรกเตอร์ของเติร์ดและธามไม่น่าจะตรงกับภาพในหัวของลูกค้า ที่อยากเห็นภาพผู้ชายอายุ 20 ปลายๆ 30 ต้นๆ กำลังจะขอผู้หญิงแต่งงาน และเราก็รู้ว่าทำให้ตายอย่างไร คนไม่ใช่ก็คือคนไม่ใช่ คาแรกเตอร์มันไม่ได้ตามโจทย์ของลูกค้าอยู่ดี
แต่ถ้าเรามองว่ามันคือ ‘ข้อสอบ’ อีกชุดหนึ่งสำหรับสองคนนี้ที่ต้องทำเพื่อให้เขาได้เรียนรู้ เราก็อาจจะส่งเขาลงสนามแบบไม่ได้คาดหวังอะไรกับเขาว่าต้องชนะ แต่เราอยากให้เขาเรียนรู้ ถ้าจะกลายเป็นว่าเขาทำให้ทีมชนะขึ้นมา นั่นก็เป็นโบนัสที่เยี่ยมมาก
บางทีคนที่เราไม่ได้คาดหวังว่าเขาจะทำได้ดีมาก พอเขาทำงานแบบไม่ได้มีความกดดัน เขาอาจจะทำงานได้ดีมากก็ได้ บางทีคนที่เราไม่ได้คาดหวังนี่แหละกลับเป็นคนที่ทำงานได้ดี หรือเป็นคนกอบกู้สถานการณ์ได้ดีที่สุด
คนเราควรได้ลองไปอยู่ในสนามที่เราไม่ถนัดบ้าง หรือสนามที่เรารู้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้ชนะ เพราะเราจะได้เรียนรู้ว่าเราไม่ได้เก่งที่สุด สนามหนึ่งเราอาจจะเป็นผู้ชนะ เพราะเราถนัดมาก แต่พอเปลี่ยนสนามปุ๊บ เราอาจจะไม่ได้เป็นผู้ชนะก็ได้ นอกจากนั้น การอยู่ในสนามที่เราไม่ถนัดอาจจะทำให้เราค้นพบวิธีการใหม่ๆ ที่เราสามารถนำมาใช้ได้ต่อในสนามอื่นๆ ด้วย เรียนรู้ที่จะถูกปฏิเสธ เรียนรู้ที่จะผิดหวัง ไปจนถึงเรียนรู้ที่จะไม่คาดหวังแล้วยังคงมีสปิริตทำมันต่อไปด้วยความรับผิดชอบ
มองในมุมนี้ ต่อให้เราจะรู้ว่าสู้อย่างไรก็ไม่ชนะ แต่การที่เราสู้ การที่เราเรียนรู้ เราจะไม่พบกับคำว่าแพ้ เราอาจจะไม่ชนะบนการแข่งขัน แต่เราก็ไม่ได้ย่ำอยู่กับที่ เพราะเราได้เรียนรู้มากขึ้น
เราอาจจะเก่งมากเรื่องการว่ายน้ำ แต่พอเปลี่ยนมาอยู่ในลู่วิ่ง เราอาจจะไม่ได้วิ่งถึงเส้นชัยเป็นคนแรก แต่เราก็วิ่งถึงเส้นชัย และเราก็รู้ว่าการวิ่งมันเป็นแบบนี้นี่เอง
ทั้งหมดนี้ จะเลือก Put the right man on the right job หรือเลือก Put everyone in the job and let them learn อยู่ที่เป้าหมายของเราว่าอยากให้คำจำกัดความคำว่า ‘ชัยชนะ’ ของทีมคืออะไร
ถ้าชัยชนะของทีมคือผลแพ้ชนะ เราอาจจะต้องเลือก Put the right man on the right job
ถ้าชัยชนะของทีมคือการเรียนรู้ไปด้วยกัน Put everyone in the job and let them learn อาจจะเป็นคำตอบ
วิธีการทั้งสองอย่างนี้ต้องใช้ควบคู่กัน ใช้วิธีแรกอย่างเดียว คนที่ไม่เก่งก็จะไม่ได้พัฒนา ความสัมพันธ์ในทีมเองก็อาจจะแย่ เพราะเกิดสถานะคนที่ไม่เป็นที่ต้องการเกิดขึ้น ขณะเดียวกัน ใช้วิธีการที่สองอย่างเดียว ทุกคนได้เรียนรู้หมด แต่ในแง่การทำงานอาจจะต้องใช้พลังเยอะกว่า เพราะแต่ละคนระดับการเรียนรู้หรือระดับความสามารถก็ไม่เหมือนกัน หรือส่งคนที่ไม่ใช่ไปลงสนามแล้วอาจกลายเป็นทำให้พังทั้งทีมก็ได้ ไปจนถึงส่งไปแล้วเขารับความกดดันหรือความผิดหวังไม่ได้อีกก็จะแย่ได้
เพราะฉะนั้นต้องดูว่าเราอยู่ในสนามแบบไหน และเมื่อไรเราจะพร้อมส่งคนแบบไหนลงสนาม
ทำดีแทบตาย แต่ลูกค้าไม่ชอบจะทำอย่างไร
เมนเทอร์พีชไม่พอใจกับผลการตัดสินของลูกค้าจากแบรนด์ยาสระผมที่ดูว่าใครผมสวยกว่ากัน แต่ไม่ได้ดูที่ความสามารถ จึงประท้วงด้วยการไม่เข้าไปในห้องรวม บานปลายกลายเป็นดราม่าว่าเมนเทอร์พีชไม่เป็นมืออาชีพ ทำไมไม่เคารพคำตัดสินของกรรมการ
ในโลกการทำงาน บางทีเราจะเจอการตัดสินที่แหม่งๆ ไม่ตรงกับสิ่งที่เราคิด บางทีเราทำงานดีแทบตาย แต่หัวหน้าหรือลูกค้าไม่เอา ไม่ชอบ แบบที่เมนเทอร์พีชรู้สึก
การตัดสินงานบางทีก็เป็นเรื่อง subjective เอางานเดียวกันไปให้ต่างคนดูก็อาจจะได้ผลไม่เหมือนกัน ต่อให้ทำงานดีแค่ไหน เราต้องพร้อมที่จะถูกวิจารณ์ พร้อมที่จะถูกปฏิเสธ พร้อมที่จะถูกหันหลังให้
ถ้าเราเชื่อว่างานที่เราทำเป็นงานที่ดีต่อลูกค้าและเราไฟต์ที่สุดแล้วเพื่อให้ได้งานที่ดี แต่เขาไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วยกับแนวทางของเรา หน้าที่ของเราคือฟังว่าเขาต้องการอะไร แก้ไขและพัฒนาให้มันดีขึ้น แต่อย่าเสียใจ เพราะตั้งแต่ต้น เราทำงานด้วยเจตนาดีมาตลอด เราอยากทำงานที่ดีให้ลูกค้า อย่าสูญเสียเจตนาที่ดีนี้ไปเพียงเพราะเขาไม่เห็นด้วยกับเรา
อย่าให้เขาด่าเราได้ว่าเราไม่ตั้งใจทำงาน หรืออย่าให้เรารู้สึกได้ว่านี่เราน่าจะทำงานให้ดีกว่านี้ได้ตั้งแต่ต้น อันนี้สิน่าเสียใจ
อย่างในการแข่งขันแคมเปญก็เหมือนกัน ถ้าเรานำเสนองานที่คิดว่าดีที่สุดและเหมาะกับแบรนด์ลูกค้าแล้ว แต่ลูกค้ายาสระผมจะดูแค่ว่าถ่ายทำออกมาแล้วผมสวยไหม อันนี้ก็ต้องปล่อยลูกค้า มันเป็นเรื่องของเขา รสนิยมของเขา เขาเข้ามาด้วย mindset ว่า มิวสิกวิดีโอนี้ต้องขายยาสระผมได้ด้วย เขาก็ต้องดูที่ผมเป็นธรรมดาว่านายแบบคนไหนจะพรีเซนต์ผมได้สวยเป็นเรื่องธรรมดา และถ้าเขาจะเลือกเพราะแบบนั้นจริงๆ ก็ต้องเคารพการตัดสินใจของลูกค้า ลูกค้าเลือกแล้ว
มันอาจจะขัดใจเราอยู่บ้าง แต่ก็จะเป็นบทเรียนว่า แคมเปญต่อไป เราต้องไม่ลืมว่าลูกค้าก็ต้องหาทางขายของด้วย หรืออาจจะกลับมาคิดว่า เออ เมื่อกี้เราอาจจะสอนลูกทีมเรื่องการแสดงอย่างเดียว แต่น่าจะดีขึ้นถ้าเราสอนลูกทีมหวีผมหรือพรีเซนต์ผมด้วย คราวหน้าเราต้องเอาใหม่ว่ะ แค่นั้นเลย
เอาเวลาที่จะมาตีอกชกตัวเสียใจไปพัฒนางานต่อดีกว่า
ที่สำคัญ ไม่พอใจกรรมการแค่ไหน แต่ปล่อยให้ลูกทีมไปนั่งในห้องรวมโดยไร้เงาเมนเทอร์ไปอยู่เป็นกำลังใจด้วยกัน มันอาจจะดูไม่เป็นทีมหน่อยๆ มั้ง อย่างไรก็ต้องไปอยู่กับลูกทีม สู้มาด้วยกันขนาดนี้
ทุกอย่างในโลกไม่มีทางเป็นไปตามที่เราอยากให้มันเป็นได้หรอกครับ
สัปดาห์หน้าจะมีอะไรให้มนุษย์ทำงานอย่างพวกเราเรียนรู้จาก The Face Men Thailand กันอีก เดี๋ยวมาเรียนด้วยกัน!
Cover Photo: The Face Thailand/Facebook