คุณคงเคยชมภาพยนตร์ที่สะท้อนถึงการเข่นฆ่ากันเองของสังคมมนุษย์ในอดีต แต่ใครจะคาดคิดล่ะว่า เหตุการณ์ราวกับ ‘นรกบนดิน’ นี้จะยังคงเกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ในวันที่โลกก้าวเข้าสู่ยุคโลกาภิวัตน์ของศตวรรษที่ 21 บนแผ่นดินสหรัฐที่ได้ชื่อว่า ‘ดินแดนแห่งเสรีภาพ’ เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นสะท้อนถึงปัญหาการเหยียดและต่อต้าน ‘ความเป็นอื่น’ ที่ฝังรากลึกในสังคมอเมริกัน
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ผศ.ดร. จันจิรา สมบัติพูนศิริ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านความขัดแย้งและการแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี ถึงเหตุการณ์การปะทะกันที่เกิดขึ้นที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ รวมถึงรากเหง้าและทางออกในการแก้ไขความขัดแย้งในครั้งนี้
เกิดอะไรขึ้นที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์?
เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (11 ส.ค.) กลุ่มชาตินิยมขวาจัดกลุ่มต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มนิยมคนผิวขาว กลุ่มนิยมนาซี และกลุ่มคูคลักซ์แคลน (KKK) ต่างรวมตัวกันในนาม ‘กลุ่ม Alt-Right’ ประท้วงทางการรัฐเวอร์จิเนีย หลังจากที่มีแผนจะทำลายสัญลักษณ์ต่างๆ ที่สะท้อนถึงการกดขี่ การเหยียดเชื้อชาติ และความไม่เท่าเทียมกันในสังคมอเมริกัน รวมถึงอนุสาวรีย์ของนายพลโรเบิร์ต อี ลี (Robert E. Lee) ผู้นำที่สนับสนุนการค้าทาสในช่วงสงครามกลางเมืองของสหรัฐ เป็นผู้นำที่กลุ่มขวาจัดต่างยกย่องราวกับเป็นวีรบุรุษของประเทศ
การชุมนุมในครั้งนี้นับเป็นการแสดงพลังครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดในรอบสิบกว่าปีของกลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่คลั่งไคล้คนผิวขาวในสหรัฐ ผู้เข้าร่วมการชุมนุมต่างชุมนุมกันภายในมหาวิทยาลัยเวอร์จิเนีย พร้อมกับจุดคบเพลิงประท้วง เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ถึงความไม่พอใจที่ทางการพยายามจะรื้อทำลายอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์ต่างๆ ที่เกี่ยวโยงกับความรุ่งโรจน์ของ ‘ชาตินิยมอเมริกันในอดีต’
กลุ่มชาตินิยมขวาจัดต่างนัดชุมนุมประท้วงกันอีกครั้งที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ ในเช้าวันเสาร์ (12 ส.ค.) ผู้ชุมนุมต่างร้องตะโกนสโลแกนของกลุ่มตน ต่อต้านและขับไล่กลุ่มคนเห็นต่าง คนผิวสี กลุ่มรักร่วมเพศ ชาวมุสลิม และผู้อพยพทุกคนให้ออกไปจากแผ่นดินสหรัฐ โดยพวกเขามองว่ากลุ่มคนที่มีความแตกต่างหลากหลายเหล่านี้มาเจือปนให้สังคมอเมริกันที่นิยมคนผิวขาวของพวกเขามัวหมอง
การเผชิญหน้าและการปะทะคารมระหว่างกลุ่มชาตินิยมขวาจัดและกลุ่มต่อต้านการเหยียดสีผิวและเชื้อชาติค่อยๆ ตึงเครียดขึ้น ก่อนจะลุกลามบานปลาย กลายเป็นการใช้กำลังและความรุนแรงเข้าปะทะกัน จนเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าปราบปรามเหตุจลาจลดังกล่าว
พวกเราจะต้องไม่ถูกแทนที่จากโลกใบนี้ คนผิวขาวจะต้องมีอนาคต จะมีพลังอำนาจ กลายเป็นสิ่งดีงามและมีสิทธิในการแสดงออกในเรื่องต่างๆ
เมืองที่มีความสุขที่สุดในสหรัฐ กลายเป็นสนามรบ
ในปี 2014 เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ เคยถูกจัดอันดับให้เป็น ‘เมืองที่ผู้คนมีความสุขมากที่สุดในสหรัฐ’ โดยสถาบัน National Bureau of Economic Research ก่อนที่เมืองแสนสุขแห่งนี้จะกลายเป็นหนึ่งในสนามรบของความแตกต่างหลากหลายในสังคมอเมริกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
เมืองชาร์ลอตส์วิลล์แห่งนี้โอบอุ้มประวัติศาสตร์แห่งบาดแผลที่เกิดขึ้นในสังคมอเมริกันในอดีต เมืองแห่งนี้มีอนุสาวรีย์และสัญลักษณ์ต่างๆ ของชาตินิยมอเมริกันกระจายอยู่รอบๆ เมือง ปัจจุบันสัญลักษณ์ต่างๆ เหล่านี้ต่างถูกยกเลิกและรื้อถอนไปแล้วกว่า 60 แห่ง ซึ่งสร้างความไม่พอใจให้แก่กลุ่มคลั่งคนผิวขาว รวมถึงกลุ่มชาตินิยมขวาจัดในสหรัฐเป็นอย่างมาก
ทางสภาเมืองชาร์ลอตส์วิลล์ ต่างมีมติให้มีการรื้อถอนอนุสาวรีย์ของนายพลโรเบิร์ต อี ลี เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ก่อนที่กลุ่มชาตินิยมขวาจัดจะออกมาคัดค้านการรื้อถอนดังกล่าว ริชาร์ด สเปนเซอร์ (Richard Spencer) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มชาตินิยมคนผิวขาวให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าว CBS ในช่วงเวลานั้นว่า “พวกเราจะต้องไม่ถูกแทนที่จากโลกใบนี้ คนผิวขาวจะต้องมีอนาคต จะมีพลังอำนาจ กลายเป็นสิ่งดีงามและมีสิทธิในการแสดงออกในเรื่องต่างๆ”
เหตุปะทะกันเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ในช่วงแรกดูเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะสามารถควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่เหตุการณ์ไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อสมาชิกของกลุ่มขวาสุดโต่งคนหนึ่ง ขับรถยนต์พุ่งเข้าชนกลุ่มผู้ต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 20 คน ก่อนที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะจับกุมผู้ก่อเหตุไว้ได้ คือ เจมส์ อเล็กซ์ ฟิลด์ส (James Alex Fields) หนึ่งในสมาชิกกลุ่มลัทธินิยมนาซี
ส่วนผู้เสียชีวิตทราบชื่อภายหลังคือ ฮีทเธอร์ เฮเยอร์ (Heather Heyer) หญิงอเมริกันวัย 32 ปี เธอได้รับการยกย่องจากชาวอเมริกันจำนวนมากว่า เป็นนักต่อสู้และผู้เสียสละเพื่อความหลากหลายในสังคมอเมริกัน กลุ่มต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและสีผิว รวมถึงผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงของกลุ่มชาตินิยมขวาจัดในครั้งนี้จากทั่วสหรัฐ ต่างรวมไว้อาลัยต่อการจากไปของเธอ
หลายหน่วยงานของสหรัฐเรียกเหตุการณ์ในครั้งนี้ว่าเป็น ‘การก่อการร้ายภายในประเทศ (Domestic Terrorism)’ ผศ.ดร. จันจิรา กล่าวว่า “จากสถิติชี้ให้เห็นว่า จำนวนการก่อการร้ายโดยคนผิวขาวสุดโต่งมีมากกว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจากชาวมุสลิม แต่ที่เหตุการณ์ในครั้งนี้พิเศษไปกว่าครั้งอื่นคือ นี่คือการเกลียดความไม่ไว้วางใจที่มีรากลึกและซับซ้อนกว่าที่เราเห็น เป็นมากกว่าการปะทะธรรมดาที่เกิดขึ้น”
นอกจากนี้ ผศ.ดร. จันจิรา ยังให้ความเห็นว่า “เมืองชาร์ลอตส์วิลล์ที่ตั้งอยู่ในรัฐเวอร์จิเนียที่เป็นรัฐทางตอนใต้ รัฐเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับ Westism และการค้าทาส กลุ่มชาตินิยมขวาจัดในสหรัฐจึงใช้ประโยชน์จากประวัติศาสตร์บาดแผลต่างๆ เหล่านี้หยิบยกขึ้นมา เป็นการต่อสู้เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมของคนผิวขาวที่เชื่อว่าเป็นแกนกลางของสหรัฐอเมริกา”
จากสถิติชี้ให้เห็นว่า จำนวนการก่อการร้ายโดยคนผิวขาวสุดโต่งมีมากกว่าการก่อการร้ายที่เกิดขึ้นจากชาวมุสลิม
โดนัลด์ ทรัมป์ บทบาทและจุดยืนที่ถูกทวงถาม
ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ออกมาเรียกร้องให้ยุติการใช้ความรุนแรง แต่หลีกเลี่ยงการกล่าวเฉพาะเจาะจงถึงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เป็นเหตุให้หลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์ถึงจุดยืนที่แท้จริงของประธานาธิบดีสหรัฐต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จนทำเนียบขาวต้องออกมาแถลงการณ์ปกป้อง
ก่อนที่ในวันนี้ทรัมป์จะออกมาให้สัมภาษณ์แก่กองทัพสื่อมวลชน พร้อมประณามเหตุความรุนแรงของกลุ่มขวาจัดที่ขับไล่และต่อต้าน ‘ความเป็นอื่น’ จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมากรวมกว่า 40 คน
ทรัมป์กล่าวว่า “การเหยียดเชื้อชาติคือปีศาจร้าย สิ่งนี้คือสาเหตุของการใช้ความรุนแรง และคนที่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับอาชญากรและพวกอันธพาล กลุ่ม KKK, กลุ่มนิยมนาซี, ลัทธิคลั่งคนขาว และกลุ่มความเกลียดชังอื่นๆ กลุ่มเหล่านี้รังเกียจทุกสิ่งที่คนอเมริกันอย่างพวกเรารัก”
นักวิชาการจำนวนมากกล่าวว่า ทรัมป์เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้เหตุการณ์นรกบนดินเกิดขึ้นที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
อีกทั้งผลการสำรวจของ YouGov ยังพบว่า 71 เปอร์เซ็นต์ของสมาชิกพรรคเดโมแครตมองว่า ทรัมป์และนโยบายต่างๆ ของเขา บรรจุการเหยียด การแบ่งเชื้อชาติ และความเกลียดชังลงไปในนโยบาย ส่งผลให้กลุ่มฝ่ายซ้ายจัดอย่างกลุ่ม ‘Antifa (Anti Fascist หรือ Anti-Fascist Action)’ เพิ่มจำนวนขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะภายหลังจากที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งและเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีเมื่อเดือนมกราคม ปี 2017
การเหยียดเชื้อชาติคือปีศาจร้าย สิ่งนี้คือสาเหตุของการใช้ความรุนแรง และคนที่มีสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับอาชญากรและพวกอันธพาล
รากเหง้าของปัญหาการเหยียดและความเกลียดชังที่ฝังลึกในสังคมอเมริกัน
ผศ.ดร. จันจิรา กล่าวว่า “สิ่งที่ทรัมป์ทำคือ เป็นครั้งแรกที่มีนักการเมืองออกมาบอกว่า ถ้าคุณพูดจาเหยียดสีผิวและให้ความสำคัญกับคนผิวขาวมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น เป็นเรื่องที่คุณทำได้และไม่ต้องรู้สึกผิดในฐานะคนผิวขาว ทั้งหมดที่ทรัมป์ทำมาตั้งแต่แคมเปญหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง จนถึงเข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในปัจจุบัน เป็นการเปิดทางให้กับการพูดถึง Racism ในแบบที่ไม่ได้เป็นการตำหนิ เพราะฉะนั้น มันคือการเปิดที่ทางให้กับกลุ่มชาตินิยมขวาจัดเหล่านี้ในพื้นที่สาธารณะ ที่จะพูดถึงความภาคภูมิของคนผิวขาวอีกครั้งหนึ่ง”
การทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่าน เราอาจจะต้องทำความเข้าใจกระแสวัฒนธรรมการเมืองที่เกิดขึ้นในโลก ผศ.ดร. จันจิรา กล่าวว่า “ก่อนหน้านี้มีกระแสทางวัฒนธรรมการเมืองกระแสหนึ่งเกิดขึ้นในสังคมโลก เนื่องจากมีการเรียกร้องสิทธิของผู้หญิงและเพศอื่นๆ รวมถึงชนกลุ่มน้อยทางศาสนาและชาติพันธุ์อื่นๆ ทั้งหมดนี้มาพร้อมกับ ‘กระแสแนวคิดเรื่องพหุวัฒนธรรม’ ซึ่งเกิดจากกระแสผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาในยุโรป รวมถึงสังคมอเมริกัน อีกทั้งมีแนวคิดและสถาบันทางการเมืองที่สอดรับกับกระแสวัฒนธรรมการเมืองนี้ซึ่งบอกว่า คนที่เป็นคนผิวขาวจะต้องอดทน ต้องยอมรับวัฒธรรมอื่นๆ
“ดังนั้นสิ่งต่างๆ ที่คนผิวขาวเคยพูด เคยทำ ไม่ว่าจะเป็นการพูดเหยียดเชื้อชาติอื่นๆ หรือแม้แต่การตั้งคำถามกับการกระทำของคนศาสนาอื่นที่เป็นการแสดงความเห็นธรรมดา ก็ถูกกล่าวหาว่าเป็น ‘ความไม่ถูกต้องทางการเมือง (Politically Incorrect)”
จึงไม่น่าแปลกใจที่ระบบการเมืองของสหรัฐและยุโรปในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจึงพยายามที่จะเซนเซอร์ภาษาที่เหยียดเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา หรือเพศสภาพออกไป คนผิวขาวเหล่านี้จึงรู้สึกว่า วิธีคิดแบบนี้คล้ายๆ จะทำให้ตัวตนของพวกเขาถูกลืม ‘เป็นการต่อสู้กันของกลุ่มอนุรักษ์นิยมในแง่วัฒนธรรม กับกลุ่มแนวคิดก้าวหน้าที่สนับสนุนพหุวัฒนธรรม’
นอกจากนี้ ผศ.ดร. จันจิรา ยังชี้ให้เราเห็นถึงประเด็นปัญหาที่ฝังรากลึกในมิติเศรษฐกิจ มีอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนผิวขาวที่เลือกทรัมป์จะถูกมองว่า ทั้งหมดเป็นลัทธินิยมนาซี จริงอยู่ที่คนที่เลือกทรัมป์เป็นกลุ่มชนชั้นกลางล่าง (Lower Middle Class) ที่มีอุดมการณ์ฝักใฝ่ฝ่ายขวา แต่ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่เป็นกลุ่มชนชั้นกลางล่างที่ผิวขาว ที่ไม่ได้ฝักใฝ่ชาตินิยมขวาจัด หรือกลุ่มนิยมนาซีอย่างที่เราเข้าใจ
ผศ.ดร. จันจิรา กล่าวว่า “คนกลุ่มนี้รู้สึกว่า ตนไม่ได้รับความเป็นธรรมจากระบบการเมืองและเศรษฐกิจโลกในช่วงที่ผ่านมา คนพวกนี้เป็นแรงงานคนผิวขาวในพื้นที่อุตสาหกรรมของสหรัฐที่เคยรุ่งเรือง ก่อนที่จะเข้าสู่โลกาภิวัตน์และย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่ค่าแรงถูกกว่า ในขณะเดียวกันแรงงานอพยพจากลาตินอเมริกา โดยเฉพาะเม็กซิโกที่มีค่าแรงถูกกว่าก็เข้ามา คนกลุ่มนี้จึงรู้สึกว่าแรงงานอพยพเหล่านี้เข้ามาแย่งงานในประเทศของตน เกิดเป็นความระแวงเกี่ยวกับคนนอกประเทศหรือต่างประเทศสูง เนื่องด้วยเหตุที่พวกเขาถูกลิดรอนรายได้และสวัสดิการต่างๆ จากการเปิดพรมแดนของรัฐบาลสหรัฐในช่วงเวลาที่ผ่านมา
“การปะทะกันที่เกิดขึ้นที่เมืองชาร์ลอตส์วิลล์จึงมองได้ทั้งจากมุมวัฒนธรรมและมุมเศรษฐกิจ ผู้อพยพกลายเป็นแพะรับบาปได้ง่าย เป็นคนที่เข้ามาแย่งงานคนอเมริกันผิวขาว ความรู้สึกของการเกลียดกลัวคนข้างนอก (Xenophobia) มันจึงผสมผสานกันระหว่างความเกลียดกลัว เพราะเหตุผลทางเศรษฐกิจและความรู้สึกไม่มั่นคงทางวัฒนธรรม”
สิ่งที่ทรัมป์ทำคือ เป็นครั้งแรกที่มีนักการเมืองออกมาบอกว่า ถ้าคุณพูดจาเหยียดสีผิวและให้ความสำคัญกับคนผิวขาวมากกว่าคนเชื้อชาติอื่น เป็นเรื่องที่คุณทำได้และไม่ต้องรู้สึกผิด
แนวทางการแก้ไขและเยียวยาความขัดแย้งที่ถูกเสนอแนะ
กลุ่มชาตินิยมขวาจัด โดยเฉพาะกลุ่มนิยมนาซี เกิดมาขึ้นมานานแล้วในสังคมอเมริกัน มันไม่ได้เกิดขึ้นหลังจากที่ทรัมป์ขึ้นมามีอำนาจ นับตั้งแต่สหรัฐในสมัยโอบามานั้น มันไม่มี ‘พื้นที่ทางการ’ (Official Space) สำหรับคนเหล่านี้ รัฐบาลและสื่อกระแสหลักพยายามจะขับให้กลุ่มคนเหล่านี้กลายเป็นพวกนอกกระแส เนื่องจากคนเหล่านี้ทำในสิ่งที่ถูกมองว่าไม่ถูกต้องทางการเมือง (Politically Incorrect)
แต่ทรัมป์พยายามต่อต้านความไม่ถูกต้องทางการเมืองนี้ จุดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถทำให้ทรัมป์ชนะใจคนผิวขาวและได้รับคะแนนเสียงจากคนเหล่านี้ไปในที่สุด ทรัมป์จึงเป็นนักการเมืองที่ไม่ค่อยปรากฏมาก่อนในการเมืองสหรัฐ
ผศ.ดร. จันจิรา กล่าวว่า “การจะแก้ไม่ให้กลุ่มชาตินิยมขวาจัดที่เชิดชูคนผิวขาวไม่มีพื้นที่ในพื้นที่สาธารณะมากจนเกินไป ต้องทำให้คนอย่างทรัมป์ไม่ได้รับการเลือกตั้ง สิ่งที่ดีที่สุดในการเลือกตั้งคือ ทำให้คนเหล่านี้เป็นชายขอบ ลดความสำคัญของคนกลุ่มนี้ลง (Marginalization) ด้วยการออกนโยบายที่จูงใจคนเหล่านี้ ทำยังไงให้รัฐบาลสหรัฐสามารถโอบอุ้มคนชนชั้นกลางที่กำลังจะลดสถานะกลายเป็นคนจน ในแง่นี้เรากลับไปที่การเลือกตั้งได้”
สิ่งที่สังคมอเมริกันจะต้องทำคือ ทำให้พื้นที่ของการแสดงความเกลียดชังนี้แคบลง และตัวรัฐบาลหรือนโยบายไม่ไปสนับสนุนกลุ่มผู้ผลักดันความเกลียดชังเสียเอง
“สิ่งที่สังคมอเมริกันจะต้องทำคือ ทำให้พื้นที่ของการแสดงความเกลียดชังนี้แคบลง และตัวรัฐบาลหรือนโยบายไม่ไปสนับสนุนกลุ่มผู้ผลักดันความเกลียดชังเสียเอง เพราะกลุ่มชาตินิยมขวาจัดเหล่านี้ ต่างได้รับแรงสนับสนุนในแง่วิธีคิด วิธีพูด จากนโยบายหลายอย่างของทรัมป์ เช่น การแบนมุสลิม หรือนโยบายขู่ที่จะสร้างกำแพงกั้นพรมแดนสหรัฐกับเม็กซิโก ซึ่งนโยบายเหล่านี้สื่อสารข้อความบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความเกลียดกลัวต่างชาติทั้งนั้น”
ผศ.ดร. จันจิรา กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า “สิ่งสำคัญที่สุดที่สังคมอเมริกันหรือสังคมยุโรปอาจจะต้องพูดถึงกันก็คือ ‘พหุวัฒนธรรมที่สุดโต่งก็อันตรายเช่นกัน’ มันกลายเป็นว่า เรามีผู้อพยพที่เข้ามาอยู่ในประเทศ แทนที่เราจะบอกให้เขาพยายามปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่เรากลับบอกว่า เขาเป็นอย่างนั้น เขาเป็นอะไรก็ได้ สิ่งที่เกิดขึ้นคือ คนขาวกำลังรู้สึกสูญเสียอัตลักษณ์ของตน เพราะผู้อพยพเหล่านี้ไม่ยอมปรับตัว แทนที่เราจะพูดถึงเรื่องพหุวัฒนธรรม เราควรจะต้องพูดถึงเรื่องความกลมกลืนทางวัฒนธรรมด้วยเช่นกัน”
เหตุปะทะกันในครั้งนี้คือการปะทะกันของ 2 ชุดความคิดที่เกี่ยวข้องกับความถูกต้องและความไม่ถูกต้องในเกมการเมืองที่ผูกโยงอยู่กับการเหยียดและความเกลียดชัง เป็นปัญหาที่หยั่งรากลึกในสังคมอเมริกัน ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นและรุนแรงขึ้นอีกในอนาคต
อ้างอิง: