ปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้วสำหรับงาน Chiang Mai Pride 2019 งานไพรด์ครั้งแรกในรอบ 10 ปีของจังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่งานเกย์ไพรด์เมื่อวันเสาร์ที่ 21 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552 ที่ถูกต่อต้านจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่นในขณะนั้น จนต้องยุติการจัดงานในที่สุด
#เสาร์ซาวเอ็ด ได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นและแรงผลักดันให้นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิฯ ในไทย กำหนดให้วันที่ 21 เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เป็นวันยุติความรุนแรงต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Stop Violence Against LGBTIQs Day)
ในปีนี้มีผู้ให้ความสนใจเข้าร่วมงานเป็นจำนวนมาก ทั้งผู้คนในพื้นที่ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ รวมถึงนิสิตนักศึกษา กลุ่มคนรุ่นใหม่ กลุ่มองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึงพรรคการเมืองที่กำลังจะลงสนามเลือกตั้งในวันที่ 24 เดือนมีนาคมนี้ โดยขบวนเชียงใหม่ไพรด์เริ่มตั้งต้นที่พุทธสถานเชียงใหม่ ผ่านไนท์บาซาร์และเข้าสู่พื้นที่ลานอเนกประสงค์ ช่วงประตูท่าแพ
ภายในงานนอกจากจะมีการเดินขบวนพาเหรดแล้ว ยังมีกิจกรรมแสดงความสามารถบนเวที เฟ้นหาผู้ที่จะครองตำแหน่ง Chiang Mai Pride Ambassador 2019 อีกหนึ่งไฮไลต์ที่สำคัญคือ การอ่านคำแถลงการณ์ประวัติศาสตร์การต่อสู้ของเครือข่ายผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงการจุดเทียนรำลึกถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน ที่เป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้คนจำนวนไม่น้อยอยากที่จะสร้างสังคมแห่งความเท่าเทียม สังคมที่ทุกคนเคารพและให้เกียรติกันบนพื้นฐานของความแตกต่างหลากหลาย โดยไม่มีข้อแม้หรือเงื่อนไขใดๆ
ภาพบรรยากาศของงานไพรด์ที่เลือนหายไปจากสังคมไทยนับตั้งแต่รัฐประหารได้กลับมาอีกครั้ง เชียงใหม่ไพรด์ในปีนี้ได้ย้ำเตือนเราอีกครั้งว่า ‘ไพรด์’ ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับกลุ่ม LGBTIQs หรือกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศเท่านั้น แต่เป็นพื้นที่ที่เปิดรับสำหรับ ‘ทุกคน’ ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร มาจากไหน มีผิวสีอะไร มีเพศหรือรสนิยมทางเพศแบบใด นับถือศาสนาหรือมีความคิดความเชื่อทางการเมืองอย่างไรก็ตาม คุณสามารถ Pride และ Proud ในแบบที่คุณเป็นได้
เพราะความแตกต่างหลากหลายคือสีสันที่มีเสน่ห์และน่าหลงใหลของโลกใบนี้