ในช่วงสัปดาห์นี้ เรียกได้ว่าเป็นสัปดาห์เนื้อหอมสำหรับประเทศไทยเลยทีเดียว หลังจากที่ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน (Rex Tillerson) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศแห่งสหรัฐฯ เดินทางเยือนไทยในสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ก่อนที่ เซอร์เกย์ ลาฟรอฟ (Sergey Lavrov) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัสเซีย จะมีกำหนดการเยือนไทยอยู่ในขณะนี้ (9-10 ส.ค.)
โดยรัฐมนตรีของมหาอำนาจทั้ง 2 ประเทศต่างเดินทางไปลงนามถวายความอาลัยต่อการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อหารือในประเด็นต่างๆ
เป็นที่น่าสังเกตว่า การที่รัฐมนตรีต่างประเทศของ 2 มหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ต่างเดินทางมาเยือนประเทศไทยในเวลาที่ไล่เลี่ยกัน สะท้อนนัยบางประการของเกมการเมืองระหว่าง 2 มหาอำนาจนี้หรือไม่ อย่างไร
THE STANDARD มีโอกาสพูดคุยกับ ศ.ดร. จุลชีพ ชินวรรโณ อาจารย์ประจำสาขาการระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการต่างประเทศและนโยบายมหาอำนาจ ถึงนัยทางการเมืองดังกล่าว รวมถึงเกมการเมืองของมหาอำนาจที่มีต่อไทยและภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นี้ในปัจจุบัน
ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของสหรัฐอเมริกา
รัฐมนตรีต่างประเทศของทั้ง 2 มหาอำนาจต่างเดินทางมาเข้าร่วมการประชุม ARF ที่เมืองมะนิลา ฟิลิปปินส์ และตัดสินใจเดินทางเยือนไทยในโอกาสนี้ด้วย ศ.ดร. จุลชีพ ให้ความเห็นว่า
“สำหรับสหรัฐฯ ฟิลิปปินส์เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ไทยเองก็เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ ด้วยเช่นกัน ถ้าสหรัฐฯ เดินทางมาเยือนฟิลิปปินส์แต่ไม่มาเยือนไทย ก็เหมือนจะไม่ให้ความสำคัญกับประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น รัฐมนตรีสหรัฐฯ ก็ยังเดินทางไปเยือนมาเลเซีย หุ้นส่วนที่สำคัญของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้อีกด้วย อีกทั้งสหรัฐฯ เองก็ยังคงมีผลประโยชน์ทางด้านยุทธศาสตร์และผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจกับประเทศไทยอยู่นับตั้งแต่อดีต
“ข้อที่น่าสังเกตก็คือ ตั้งแต่มีการรัฐประหารในปี 2014 ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา ตัวแทนรัฐบาลระดับสูงของสหรัฐฯ ไม่ค่อยได้เดินทางมาเยือนไทยเท่าใดนัก แต่ในสมัยประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ท่าทีของสหรัฐฯ ได้เปลี่ยนแปลงไป ทรัมป์ให้ความสำคัญกับผลประโยชน์มากกว่าค่านิยมหรืออุดมการณ์ประชาธิปไตย เพราะฉะนั้นเขาก็ต้องการจะแสดงให้เห็นว่าสหรัฐฯ ยังคงให้ความสำคัญกับประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะมีการยึดอำนาจก็ตาม
“ไทยเองก็ได้แสดงถึงความพยายามในการกลับสู่ประชาธิปไตยอีกครั้ง ด้วยการผ่านร่างและประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้ว รอเพียงกฎหมายลูกและประกาศวันเลือกตั้ง สหรัฐฯ เองอาจจะใช้ความคืบหน้าตรงจุดนี้ เพื่อจะมาเน้นย้ำและยืนยันกับไทยอีกครั้งในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ของประเทศทั้งทางด้านยุทธศาสตร์และทางเศรษฐกิจ”
ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวว่า “ในทางยุทธศาสตร์ สหรัฐฯ กำลังประสบปัญหาความตึงเครียดกับเกาหลีเหนือ เขาก็อยากจะให้ไทยร่วมมือกับเขาให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายหลังจากที่สหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการผลักดันมติสหประชาชาติ เพื่อลงโทษและคว่ำบาตรเกาหลีเหนือครั้งใหม่ โดยไม่ได้รับเสียงคัดค้าน (Veto) จากประเทศมหาอำนาจอย่างรัสเซียและจีน ซึ่งจุดยืนของไทยยืนยันในเรื่องนี้อยู่แล้ว เนื่องจากอาเซียนเองก็มีมติในเรื่องนี้ออกมา ดังนั้น ไทยเองก็จะปฏิบัติตามมติของสหประชาชาติ ซึ่งสอดคล้องกับมติของอาเซียนที่มีต่อเกาหลีเหนือ”
นอกจากนี้ในทางเศรษฐกิจ แม้ไทยจะเป็นประเทศขนาดเล็ก แต่ประเทศไทยได้เปรียบดุลการค้าของสหรัฐฯ ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะต้องการให้ไทยซื้อสินค้าจากประเทศของตนเองมากขึ้น โดยเฉพาะอาวุธยุทโธปกรณ์ต่างๆ
ส่วนไทยเองอาจเรียกร้องสหรัฐฯ ในประเด็น Trafficking in Persons หรือการค้ามนุษย์ ที่เป็นโอกาสแสดงให้เห็นว่าไทยได้พยายามเต็มที่แล้วในการแก้ไขปัญหา และเรียกร้องให้สหรัฐฯ ปรับระดับไทยให้อยู่ในลิสต์ที่สูงขึ้น นอกจากนี้การเจรจายังอาจรวมไปถึงการเยือนสหรัฐฯ อย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีที่กำลังจะเกิดขึ้นเร็วๆ นี้ด้วย
ปี 2017: ครบรอบ 120 ปีความสัมพันธ์ทางการทูตไทย-รัสเซีย
รัสเซียเองก็ให้ความสำคัญกับประเทศไทยไม่แพ้กัน เนื่องจากนายกรัฐมนตรีของไทยเพิ่งจะเดินทางไปเยือนรัสเซียอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว
การเดินทางมาเยือนไทยของตัวแทนรัฐบาลรัสเซียในครั้งนี้อยู่ในช่วงที่รัฐบาลรัสเซียถูกรัฐบาลสหรัฐฯ ดำเนินมาตรการคว่ำบาตรครั้งใหม่ ภายหลังจากสืบทราบว่า มีความเป็นไปได้ที่รัสเซียอาจจะเข้ามาแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปลายปี 2016 และในช่วงเวลานี้ ไทยและรัสเซียก็กำลังอยู่ในช่วงเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ทางการทูตครบ 120 ปี
ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวว่า “รัฐบาลรัสเซียเองไม่อยากให้รัฐบาลไทยดำเนินมาตรการคว่ำบาตรตนร่วมกับสหรัฐฯ และไทยเองก็ต้องการจะติดต่อค้าขายกับรัสเซียมากกว่า ซึ่งความจริงแล้วรัสเซียเองก็ต้องการผลผลิตทางการเกษตรจากเราหลายๆ อย่าง เราอาจจะใช้โอกาสนี้ในการเจรจาค้าขายระหว่างกันให้มากขึ้น ซึ่งรัสเซียก็เป็นประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยในด้านอาวุธอยู่แล้ว”
ความสำคัญของไทย ต่อเกมการเมืองมหาอำนาจ
ศ.ดร. จุลชีพ ให้ความเห็นว่า ไทยมีความสำคัญต่อชาติมหาอำนาจ เนื่องจากไทยตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ระหว่าง 2 มหาสมุทร และยิ่งไปกว่านั้น แม้ประเทศไทยจะเป็นประเทศเล็ก แต่ในอดีตที่ผ่านมา ไทยเองก็แสดงบทบาทเป็นมหาอำนาจขนาดกลาง (Medium Power) ภายในภูมิภาคนี้มาโดยตลอด
นอกจากนี้ไทยยังเคยแสดงบทบาทที่สำคัญ เช่น ก่อตั้งสมาคมอาเซียน มีบทบาทในการแก้ไขปัญหากัมพูชา โดยนายกรัฐมนตรีอานันท์ ปันยารชุน ของไทยเองก็เสนอให้อาเซียนขยายกรอบความร่วมมือเป็นเขตการค้าเสรี
“เพราะฉะนั้นไทยมีบทบาทและเป็นมิตรกับทุกประเทศ ไทยไม่มีปัญหาพิพาทกับมหาอำนาจชาติหนึ่งชาติใดเลย ไทยจึงสามารถพูดคุยหารือได้กับทุกประเทศ เป็น ‘สะพานเชื่อม’ ระหว่างมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งมีปัญหากันอยู่ในขณะนี้ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ กับรัสเซีย หรือแม้แต่สหรัฐฯ กับจีนเองก็ตาม”
จุดยืนของไทยในความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจ
ศ.ดร. จุลชีพ เห็นว่า ไทยควรจะดำเนินนโยบายเกี่ยวพันกับทุกมหาอำนาจอย่างสมดุล (Balanced Strategic Engagement) ในทุกๆ ด้าน เพราะการจะเอนเอียงเข้าข้างมหาอำนาจฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนับเป็นเรื่องไม่มีประโยชน์
“เราก็เป็นมิตรกับทุกฝ่าย สหรัฐฯ ก็เป็นพันธมิตรทางทหารของไทยมาอย่างช้านาน ส่วนจีนก็เป็นชาติที่ทำการค้าขายกับไทยตั้งแต่อดีต ในปัจจุบันจีนก็เป็นผู้ค้าอันดับ 1 ของไทย ถ้าไม่นับรวมอาเซียนและมีการลงทุนค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างขั้นพื้นฐาน นักท่องเที่ยวจากจีนก็เดินทางมาเที่ยวประเทศไทยเป็นจำนวนมาก”
เมื่อถามว่าไทยถ้าจำเป็นต้องเลือก ไทยควรยืนอยู่ข้างมหาอำนาจฝ่ายใด ศ.ดร. จุลชีพให้คำตอบว่า
“ถ้าไทยต้องเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ไทยคงเข้าข้างฝ่ายอาเซียนหรืออย่างน้อยที่สุดก็ให้อาเซียนมีท่าทีต่อประเด็นต่างๆ ชัดเจนมากขึ้น เช่น กรณีพิพาทในทะเลจีนใต้ ซึ่งในขณะนี้อาเซียนกับจีนก็เจรจากันได้ในระดับหนึ่งแล้วว่า จะพยายามให้มีกติกา Code of Conduct ให้ทุกๆ ฝ่ายปฏิบัติให้สอดคล้องกัน และไม่นำไปสู่ความขัดแย้ง อีกทั้งช่วยกันแก้ไขปัญหาต่างๆ ด้วยสันติวิธี
“มหาอำนาจทุกฝ่ายต่างอยากจะให้ไทยและอาเซียนอยู่กับฝ่ายของตน และดำเนินนโยบายให้สอดคล้องกับผลประโยชน์ของฝ่ายเขา ถ้าเราเป็นประเทศเล็กๆเพียงประเทศเดียว เราอาจจะประสบความยากลำบากในการขัดขืนมหาอำนาจ หากเรารวมกันเป็น 10 ประเทศแล้ว เราก็จะต้องมีท่าทีเป็นตัวเชื่อมระหว่างประเทศมหาอำนาจต่างๆ ซึ่งเราก็จะต้องพยายามแสดงบทบาทในการเป็นศูนย์กลางการติดต่อ (Centrality) กับมหาอำนาจและมีความเป็นเอกภาพให้มากกว่านี้”
ศ.ดร. จุลชีพ กล่าวทิ้งท้ายกับ THE STANDARD ว่า “ณ ตอนนี้อาเซียนยังขาดผู้นำที่โดดเด่นอยู่ ต่างจากสมัยก่อน ดังนั้น ช่วงเวลานี้จึงเปิดโอกาสให้ไทยแสดงบทบาทในการเป็นสะพานเชื่อมนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งไทยเองก็มีผลประโยชน์กับประเทศต่างๆ อีกทั้งยังไม่มีปัญหาพิพาทเป็นการส่วนตัว”
ท่าทีที่เปลี่ยนแปลงไปของชาติมหาอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือรัสเซียที่ต่างก็เดินทางมาเยือนไทยในครั้งนี้ สะท้อนให้เห็นว่า ไทยเองยังคงเป็นพันธมิตรที่สำคัญของพวกเขาอยู่ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
Photo: AFP