×

อาหารเช้าสำคัญจริงหรือ? เมื่อผลวิจัยบอก หรืออาหารเช้าอาจไม่สำคัญอย่างที่คิด

08.08.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 Mins. Read
  • มีวิจัยทางการแพทย์เรื่องภาวะโภชนาการฉบับหนึ่ง ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1971 ถึงปี 2010 สำรวจประชากรชาวอเมริกันจำนวนกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งมีอายุระหว่าง 20-74 ปี และพบว่ามีประชากรมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า แต่พวกเขาก็ยังมีสุขภาพที่ดี
  • ใน Wellness Clinic บางแห่ง จัดให้ผู้เข้าโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพบางราย งดอาหารเช้า เพราะพบว่าการให้ร่างกายได้พักผ่อน งดการเผาผลาญอาหารเป็นเวลา 14-16 ชั่วโมง จะช่วยปรับสมดุลของระบบฮอร์โมน ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายของเสียให้กลับมาทำงานเป็นปกติดีอีกครั้ง

 

     “ต้องกินอาหารเช้านะ ถ้าไม่กินเดี๋ยวหัวไม่แล่นคิดอะไรไม่ออก”

     “ไม่กินข้าวเช้า ไม่มีแรงทำงาน”

     “อดอาหารเช้า ทำให้เรียนไม่เก่ง”

 

     เรารับรู้และเชื่อกันมานานแล้วว่าอาหารเช้า เป็นอาหารมื้อสำคัญที่สุด การอดอาหารเช้าอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ ทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ เบาหวาน รวมถึงโรคอ้วน แต่เอาเข้าจริงเรื่องนี้ถึงแม้เราจะรู้ แต่หลายคนก็ทำไม่ได้ การสำรวจครั้งล่าสุดของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ พบว่ามีคนไทยจำนวนนับแสนคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน เช่น ไม่มีเวลา ตื่นสาย ประหยัด ไม่รู้สึกหิว เป็นต้น

     มีวิจัยทางการแพทย์เรื่องภาวะโภชนาการในคนอเมริกันฉบับหนึ่ง ทำการศึกษาอย่างต่อเนื่องยาวนานถึง 40 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 1971 ถึงปี 2010 สำรวจประชากรชาวอเมริกันจำนวนกว่า 6 หมื่นคน ซึ่งมีอายุระหว่าง 20-74 ปี และพบว่ามีประชากรมากถึง 25 เปอร์เซ็นต์ที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้า แต่พวกเขาก็ยังมีสุขภาพที่ดี ไม่ได้เจ็บป่วยอย่างที่คาดคิด ส่งผลให้นักวิจัยทางการแพทย์รุ่นใหม่ๆ เริ่มมีข้อสงสัยว่า ที่จริงแล้วการที่คนเราไม่ได้รับประทานอาหารเช้า มีผลเสียต่อสุขภาพจริงๆ หรือเปล่า

 

 

     การรับประทานอาหารเช้า อาจช่วยให้เราไม่อ้วน อาจช่วยลดความเสี่ยงกับการเกิดโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวานหรือโรคหัวใจ เพราะมีวิจัยอีกหลายฉบับบอกว่าอย่างนั้น แต่ถ้าเราลองมาวิเคราะห์กันแบบเจาะลึกแล้วจะพบว่าวิจัยพวกนั้นเกือบทั้งหมดเป็น Observational Study หรือวิจัยที่เกิดขึ้นจากการเฝ้าสังเกตและบันทึกข้อมูล ไม่ได้เป็น Experimental Study หรือการทดลองแบบเอาคนมาอดอาหารเช้า แล้วทำการศึกษาเปรียบเทียบกับกลุ่มคนที่รับประทานอาหารเช้าอย่างจริงจัง นักวิชาการหลายคนจึงบอกว่ายังสรุปไม่ได้หรอกว่าการรับประทานอาหารเช้าจะทำให้สุขภาพดี เพราะที่จริงแล้วยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกหลายอย่างที่ส่งผลต่อสุขภาพของคนเรา

     แถมเมื่อปี 2014 ที่ผ่านมา มีวิจัยของนักโภชนาการญี่ปุ่น แสดงให้เราเห็นว่าการอดอาหารเช้า ไม่มีผลต่ออัตราการเผาผลาญพลังงานในแต่ละวันด้วยซ้ำ นั่นแปลง่ายๆ อย่างตรงไปตรงมาว่า การอดอาหารเช้าไม่ได้ส่งผลทำให้เราอ้วนครับ!

     วิจัยฉบับเดียวกันยังบอกอีกด้วยว่า อดอาหารเช้าอาจทำให้เราหิว และส่งผลทำให้กินอาหารกลางวันมากกว่าเดิม แต่เอาเข้าจริงแล้ว นักวิจัยพบว่าการที่เราหิวและกินมื้อกลางวันมากขึ้น เป็นการกินมากขึ้นอีกนิดหน่อยไม่ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ และจำนวนพลังงานแคลอรีที่เพิ่มขึ้นก็ไม่เท่ากับการกินสองมื้อ (มื้อเช้า + มื้อกลางวัน) ด้วยซ้ำ

อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจเริ่มกังวลใจว่า ตกลงเราควรรับประทานอาหารเช้าหรือเปล่า คำตอบคือ  “เอาที่สบายใจครับ”

 

     และสำหรับคนที่ไม่ได้รับประทานอาหารเช้ามานานแล้ว ก็ไม่ต้องเป็นกังวลว่าร่างกายจะรับได้หรือเปล่า สำหรับเรื่องนี้ Mayo Clinic ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาแล้วพบว่าคนเราอยู่ในสภาวะอดอาหารได้นานกว่าที่คิด ร่างกายของผู้ชายสามารถอดอาหารได้นานถึง 16 ชั่วโมง ผู้หญิงนาน 14 ชั่วโมง โดยไม่ส่งผลอะไรกับสุขภาพ นั่นหมายความว่าหากคุณเข้านอนตอน 22.00 น. และใช้เวลานอน 8 ชั่วโมง ก็จะตื่นเช้าเวลา 06.00 น. คุณอาจจะไปเริ่มทานอาหารมื้อแรกเวลาเที่ยงได้สบายๆ โดยที่ร่างกายยังไม่ทันจะรู้สึกอะไรเสียด้วยซ้ำ

     ใน Wellness Clinic บางแห่ง ยังจัดให้ผู้เข้าโปรแกรมฟื้นฟูสุขภาพบางราย งดอาหารเช้าด้วยซ้ำ เพราะพบว่าการให้ร่างกายได้พักผ่อน งดการเผาผลาญอาหารเป็นเวลา 14-16 ชั่วโมง จะช่วยปรับสมดุลของระบบฮอร์โมน ระบบหมุนเวียนโลหิต ระบบขับถ่ายของเสียให้กลับมาทำงานเป็นปกติดีอีกครั้ง

     เห็นไหมครับ ถึงวันนี้เริ่มมีข้อมูลสนับสนุนออกมาเรื่อยๆ แล้วว่า การอดอาหารเช้า ไม่ได้ส่งผลเสียกับสุขภาพแต่อย่างใด บางครั้งกลับมีผลดีอีกด้วย อ่านถึงตรงนี้หลายท่านอาจเริ่มกังวลใจว่า ตกลงเราควรรับประทานอาหารเช้าหรือเปล่า คำตอบคือ  “เอาที่สบายใจครับ”

     ผมหมายความอย่างนั้นจริงๆ ไม่ได้คิดจะยอกย้อนแต่อย่างใด คุณผู้อ่านเคยทำอย่างไรแล้วร่างกายรู้สึกดีก็ทำไปอย่างนั้นครับ คนที่กินอาหารเช้าเป็นประจำอยู่แล้วก็ไม่จำเป็นจะต้องมาอด ส่วนคนที่ไม่เคยกินมานานหลายปีก็อาจจะปฏิบัติเช่นนั้นต่อไป เพราะความสำคัญไม่ได้อยู่ที่มื้ออาหาร แต่อยู่ที่คุณภาพของอาหารที่เรารับประทานเข้าไปมากกว่า

 

 

     สำหรับอาหารเช้าที่มีคุณภาพดีนั้น ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า ควรเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูงครับ แต่เป็นโปรตีนจากสัตว์เล็กๆ ย่อยง่าย เช่น ปลา ไก่ ไข่ ชีส นม ธัญพืช เช่น ถั่วชนิดต่างๆ เมล็ดฟักทอง ผักใบเขียว เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่ดีและมีประโยชน์ต่อร่างกายโดยแท้จริงครับ

FYI
  • Fast นอกจากหมายถึงความเร็ว ยังแปลว่า ‘การอดอาหาร’ อีกด้วย
  • Breakfast จึงมีความหมายว่า Break จาก Fast คือ การรับประทานอาหารหลังจากอดมานานๆ ซึ่งส่วนมากหมายถึง อาหารมื้อแรกของวันหลังจากอดมาตลอดทั้งคืนนั่นเอง ใน Old English Word คำที่ใช้เรียกอาหารเช้าคือ  ‘Morgenmete’ หรือ Morning Meal นั่นเอง
  • มีหลักฐานว่าในสมัยกรีกโบราณ อียิปต์และโรม มนุษย์นิยมเริ่มอาหารมื้อแรกของวันด้วยเครื่องดื่มจำพวกไวน์และเบียร์ เรียกภาษาบ้านเราก็ว่าเมากันตั้งแต่เช้าเลยทีเดียว!
  • ยุโรปยุคกลางไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมื้อเช้ามากนัก ผู้คนในยุคนั้นตื่นขึ้นมาแล้วนิยมออกไปทำงานกันเลยมากกว่า อาหารมื้อหนักของพวกเขาคือมื้อค่ำที่จะรับประทานกันอย่างเต็มที่ ก่อนจะตื่นขึ้นมาในวันถัดไปด้วยความสดชื่นกระปรี้กระเปร่า
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X