×

กรมควบคุมมลพิษแจง ฝุ่นควันจากกัมพูชาผ่านแค่ ‘ตราด’ ก่อนเคลื่อนตัวลงอ่าวไทย ไม่กระทบ กทม.

28.01.2019
  • LOADING...

กรมควบคุมมลพิษ เผยแบบจำลองฯ หลังพบจุดความร้อนหรือการเคลื่อนตัวของฝุ่นจากประเทศกัมพูชาที่กำลังเคลื่อนผ่านลงไปทางชายแดนจังหวัดตราด ก่อนจะเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทย พร้อมยืนยันว่าปัญหาดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อพื้นที่กรุงเทพมหานคร

 

วันนี้ (28 ม.ค.) นายประลอง ดำรงค์ไทย อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เปิดเผยว่าตามที่กรมควบคุมมลพิษได้ติดตามและรายงานสถานการณ์ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน หรือ PM2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบว่ามีปริมาณฝุ่นละอองขนาดเล็กอยู่ในระดับเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และในสังคมมีปรากฏเป็นข่าวว่าฝุ่นละอองข้ามแดนจากประเทศกัมพูชานั้น ทางกรมควบคุมมลพิษได้เฝ้าระวังติดตามแหล่งกำเนิดฝุ่นละอองและหมอกควันข้ามแดนจากการเผาในที่โล่ง (Hotspot) ทั้งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน

 

โดยทางกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ด้านอากาศ โดยใช้แบบจำลองฯ (Model) ของสำนักงานปกป้องสิ่งแวดล้อม (Environmental Protection Agency – EPA) ซึ่งเป็นหน่วยงานระดับรัฐบาลกลางของสหรัฐอเมริกา และองค์การบริหารสมุทรศาสตร์และบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (National Oceanic and Atmospheric Administration – NOAA) ซึ่งเป็นหน่วยงานด้านการจัดการและวิจัยสภาพชั้นบรรยากาศโดยเฉพาะของสหรัฐอเมริกาที่นักวิชาการด้านอากาศทั่วโลกใช้อยู่ เพื่อทำการประเมินผลกระทบของสถานการณ์ดังกล่าว

 

“ล่าสุดกรมควบคุมมลพิษได้จำลองสถานการณ์ของวันที่ 20 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นวันที่พบจุดความร้อนสูงสุดในประเทศกัมพูชา มีจำนวน 895 จุด และผลจากแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ฯ ชี้ให้เห็นว่ามีการเคลื่อนตัวของฝุ่นละอองขนาดเล็กจากประเทศกัมพูชาผ่านเข้ามาทางชายแดนจังหวัดตราด และเคลื่อนตัวลงสู่อ่าวไทย ซึ่งไม่พบว่าฝุ่นละอองขนาดเล็กจากประเทศกัมพูชาเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อกรุงเทพมหานคร”

 

ทั้งนี้สอดคล้องกับข้อมูลจากเว็บไซต์ของศูนย์พยากรณ์อากาศอาเซียน ที่รายงานสถานการณ์หมอกควันในภูมิภาคอาเซียนจากทิศทางลม สรุปได้ว่าลมจะพาหมอกควันจากประเทศกัมพูชาลงไปทางตะวันออก แถบชายแดนจังหวัดตราด ก่อนจะลงสู่อ่าวไทย  

“สำหรับฝุ่นควันจากการเผาในที่โล่ง 5 จังหวัดปริมณฑล ขณะนี้ผู้ว่าราชการจังหวัดทั้ง 5 จังหวัดได้สั่งหยุดห้ามเผาโดยเด็ดขาดในช่วงระหว่างเกิดเหตุการณ์แล้ว รวมทั้งกรมควบคุมมลพิษได้มีหนังสือขอความร่วมมือในการห้ามเผาในจังหวัดอื่นๆ ที่อาจจะส่งผลให้หมอกควันเข้าสู่กรุงเทพมหานคร ได้แก่ นครสวรรค์, พิจิตร, กำแพงเพชร, อุทัยธานี, ชัยนาท และสระแก้ว

 

“นอกจากนี้สาเหตุและปัจจัยที่มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของฝุ่นละออง PM2.5 จากการศึกษาของสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย พบว่าสาเหตุหลักเกิดจากยานพาหนะ (รถดีเซล) 52%, เกิดจากการเผาในที่โล่ง 35%, ฝุ่นจากพื้นที่อื่น 7% และฝุ่นจากดินและอื่นๆ 6%” นายประลองกล่าวทิ้งท้าย

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X