ในงานพบปะแฟนคลับของวง NGT48 เมื่อวันที่ 6 มกราคมที่ผ่านมา สมาชิกในวงคนหนึ่งอย่าง ‘มาโฮะ ยามากูชิ’ กลับไม่ได้ปรากฏตัวในงานแต่อย่างใด
ไม่กี่วันต่อมา เธอได้ออกมากล่าวขอโทษถึงเหตุการณ์ดังกล่าว พร้อมให้เหตุผลต่อสาธารณะว่า มีแฟนคลับสองคนก่อเหตุทำร้ายร่างกายเธอ โดยภายหลังสมาชิกวงเกิร์ลกรุ๊ปจากจังหวัดนีงาตะรายนี้ระบุเพิ่มเติมว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 8 ธันวาคมปีที่ผ่านมา
ยามากูชิทวีตข้อความในวันที่ 8 มกราคมว่า “ฉันขอโทษที่ทำให้พวกคุณตกใจ บางคนอาจกลัวเมื่อได้ยินเรื่องที่เกิดขึ้นกับฉัน… ฉันอยากช่วยเหลือคนที่กำลังเจอประสบการณ์แบบเดียวกันกับฉัน” ก่อนเสริมด้วยอีกทวีตว่า เธอไม่ได้ทำอะไรเลยเป็นเวลาเกือบเดือน และไม่ต้องการรบกวนคนที่สนับสนุนเธอหรือวง
หลังจากนั้นสองวัน ยามากูชิได้ปรากฏตัวในงานครบรอบ 3 ปีของวง โดยออกมาขอโทษที่กล่าวถึงเรื่องทำร้ายร่างกายและสร้างปัญหาให้แฟนคลับ
ในบริบทสังคมญี่ปุ่น การออกมาขอโทษต่อสาธารณชนมักจะมีขึ้นหากพวกเขาคิดว่าการกระทำของพวกเขากระทบต่อความกลมกลืนในสังคม
ด้านแถลงการณ์อย่างเป็นทางการบนเว็บไซต์ของวงไอดอล AKB48 ยืนยันสิ่งที่ยามากูชิเคยระบุไว้ก่อนหน้าว่า เหตุที่เธอถูกทำร้ายเป็นเพราะสมาชิกในวงคนหนึ่งหลุดปากบอกที่อยู่และเวลาที่เธอน่าจะกลับบ้านต่อบรรดาแฟนคลับ
รายงานระบุว่า ชายผู้ก่อเหตุสองคนถูกจับกุมหลังก่อเหตุใช้มือบีบหน้าไอดอลหญิงรายนี้อย่างรุนแรงจนเธอต้องป้องกันตัวและร้องขอความช่วยเหลือ แต่ทั้งคู่ได้รับการปล่อยตัวในภายหลัง ซึ่งยามากูชิออกมากล่าวเป็นนัยว่าทางบริษัทของเธอไม่ได้จัดการอะไรเลย
การออกมาขอโทษต่อสาธารณะในครั้งนี้มีขึ้นท่ามกลางกระแสความสนใจของสังคมญี่ปุ่นในปัญหาความรุนแรงต่อผู้หญิง โดยไม่กี่วันหลังเธอทวีตข้อความ ก็ปรากฏว่ามีการวิจารณ์การจัดการของบริษัทว่าไม่ได้รับมืออย่างถูกวิธีอย่างมากมาย
คูกี ชู ผู้เชี่ยวชาญด้านวัฒนธรรมศึกษาจากมหาวิทยาลัยโซเฟียในกรุงโตเกียวระบุว่า การออกมาขอโทษต่อสาธารณชนของยามากูชิช่วยให้เธอได้รับความเห็นใจจากสังคมญี่ปุ่นมากขึ้น
ผู้ช่วยศาสตราจารย์รายนี้ให้เหตุผลว่า “ในสังคมญี่ปุ่น ไอดอลให้ความรู้สึกว่าจับต้องได้อย่างมาก เนื่องจากบริษัทมักเลือกผู้หญิงที่มีลักษณะกลางๆ เพื่อให้ทุกคนรู้สึกว่า ลูกสาวของพวกเขาหรือเด็กข้างบ้านก็สามารถเป็นไอดอลได้
“ถ้าแม้แต่คนที่มีอิทธิพลมากๆ ยังไม่กล้าออกมาแสดงความรู้สึกของตัวเอง ผู้หญิงในสังคมญี่ปุ่นมักจะคิดว่าพวกเธอจะทำอะไรได้ แต่ไอดอลเหล่านี้ช่วยให้ผู้คนรู้สึกว่าพวกเธอก็เป็นเหมือนกันกับพวกเขา เหตุการณ์นี้จะช่วยให้หญิงสาววัยรุ่นคิดว่าถ้าพวกเขาออกมาพูดได้ ฉันก็สามารถทำได้เช่นกัน”
สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) จัดอันดับญี่ปุ่นว่ามีความเท่าเทียมทางเพศในอันดับ 110 จากทั้งหมด 149 ประเทศที่ได้รับการสำรวจ โดยญี่ปุ่นครองตำแหน่งท้ายสุดในประเด็นนี้หากนับเฉพาะกลุ่มประเทศจี 7
ชูกล่าวว่า ในวัฒนธรรมญี่ปุ่นยังคงต้องการให้ผู้หญิงมีความประพฤติแบบผู้หญิงเพื่อขอความเห็นใจ
“ในสังคมตะวันตก ผู้หญิงเก่งมักได้รับความเคารพ แต่ในสังคมญี่ปุ่น แม้คุณจะเก่ง แต่คุณก็ต้องทำตัวเหมือนเป็นเหยื่อด้วย”
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา ทางบริษัทที่ทำหน้าที่บริหารวงได้ไล่เจ้าหน้าที่รายหนึ่งออกจากปมปัญหาทำร้ายร่างกายไอดอลวัย 23 ปีรายนี้ พร้อมแจ้งว่าจะมีมาตรการป้องกันเพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นนาฬิกาแจ้งเตือนภัยหรือการเดินลาดตระเวนเพื่อรักษาความปลอดภัยให้สมาชิกในวง
นอกจากนี้แถลงการณ์ของผู้จัดการวงให้ข้อมูลอีกว่า จะสร้างความเชื่อมั่นระหว่างเมมเบอร์และช่วยเหลือเยียวยาจิตใจยามากูชิและสมาชิกคนอื่นๆ
ภายใต้ความล้มเหลวของบริษัทที่จะช่วยปกป้องไอดอลของพวกเขาจากความรุนแรงได้สร้างกระแสขยายตัวมากขึ้นจากแรงหนุนของสื่อสังคมออนไลน์ โดยมีผู้คนร่วมลงชื่อ 53,000 คน ผ่านเว็บไซต์แคมเปญอย่าง Change.org เพื่อแสดงความสนับสนุนยามากูชิและเรียกร้องให้ผู้จัดการวงลาออก
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมป๊อปไอดอลของญี่ปุ่น (J-Pop) เป็นที่นิยมและสร้างมูลค่าหลายแสนล้านบาท โดยค่ายต่างๆ มีวิธีบริหารภาพลักษณ์ให้แก่สมาชิกไม่ว่าจะอยู่บนหรือนอกเวที ซึ่งในประเทศไทยเองก็มีวงน้องสาว AKB48 อย่าง BNK48 และวงเกิร์ลกรุ๊ปแนว J-Pop อีกหลายวงที่ได้รับความนิยมด้วย
ภาพ: ngt48.jp
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- edition.cnn.com/2019/01/16/asia/japanese-pop-idol-sexual-assault-apology-bullying-intl/index.html?sr=LINECNN022718undefined1052AMStory
- www.sbs.com.au/popasia/blog/2019/01/10/ngt48s-maho-yamaguchi-assaulted-two-men
- www.billboard.com/articles/news/international/8493058/j-pop-girl-group-ngt48-apologizes-discussing-assault-yamaguchi-maho