×

ปาโบล ปิกัสโซ กับ 6 วิธีที่ทำให้คุณสร้างสรรค์งานได้อัจฉริยะใกล้เคียงเขา

10.01.2019
  • LOADING...

คนจำนวนไม่น้อยคิดว่าศิลปะเป็นเรื่องเข้าใจยาก หรือเป็นเรื่องที่เฉพาะเจาะจง แต่วิธีการคิดสร้างสรรค์และการทำงานเป็นสิ่งสำคัญ ที่คนทำงานไม่ว่าสายอาชีพไหนก็สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้ ถ้ารู้จักปรับให้ถูกวิธี

 

The Secret Sauce เอพิโสดนี้ เล่าถึง 6 วิธีคิดวิธีทำงานของ ปาโบล ปิกัสโซ ศิลปินที่ปฏิวัติวงการศิลปะ และได้รับยกย่องให้เป็น ‘อัจฉริยะ’ คนหนึ่งของโลก

 


 

 

เหตุผลหลัก 2 ข้อที่เป็นแรงบันดาลใจให้ผมหยิบเรื่องราวของ ปาโบล ปิกัสโซ มาพูดถึง เป็นเพราะผมมีโอกาสได้ไปชมผลงานของเขาที่ Musée Picasso ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ทำให้เห็นมุมมองเปิดกว้างมากขึ้น และอยากนำสิ่งที่ได้เรียนรู้มาแชร์ต่อถึงคนฟังและคนอ่าน

 

ส่วนเหตุผลอีกข้อ ผมได้อ่านนิตยสาร National Geographic ฉบับที่พูดถึงความเป็นอัจฉริยะและมีชื่อของ ‘ปาโบล ปิกัสโซ’ อยู่ด้วย เนื้อหาในนิตยสารเปรียบเทียบได้อย่างน่าสนใจ ผู้เขียนเล่าว่า ความอัจฉริยะของปิกัสโซไม่ต่างจาก ลิโอนาโด ดาวินชี, อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์, สตีฟ จ็อบส์ หรือแม้กระทั่ง อีลอน มัสก์

 

พอพูดถึงชื่อบุคคลเหล่านี้แล้วรู้สึกว่าศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นไหมครับ

 

Les Demoiselles d’Avignon ผลงานสร้างชื่อของปิกัสโซ ที่ปฏิวัติวงการศิลปะไปตลอดกาล

 

Guernica อีกหนึ่งผลงานชื่อดังที่สะท้อนถึงความเศร้าโศกเสียใจหลังเกิดสงครามกลางเมืองในประเทศสเปน

 

ในมุมของนักสร้างสรรค์ ปิกัสโซเปรียบเหมือนผู้สร้างนวัตกรรมในเชิงศิลปะให้คนรุ่นหลังดำเนินรอยตาม ผลงานของเขาเลยขีดจำกัดของคำว่า ‘ศิลปะ’ ไปสู่เรื่องของ ‘ทุนนิยม’ ส่งผลให้ป๊อปคัลเจอร์ของนักสร้างสรรค์ในยุคหลัง ไม่ว่าในเชิงผลงานเพลง ภาพยนตร์ หรือหนังสือ ก็มีชื่อของชายผู้นี้ปรากฏอยู่เสมอ

 

เราจะเรียนรู้อะไรได้บ้างจากเบื้องหลังการสร้างผลงานกว่า 50,000 ชิ้น ตลอดชั่วอายุขัยของปิกัสโซ นี่คือ 6 วิธีคิดสร้างสรรค์ของเขาที่ทำให้คุณสร้างสรรค์งานได้อัจฉริยะใกล้เคียงเขา

 

1. ได้รับการปลูกฝังพื้นฐานสำคัญตั้งแต่เด็ก
เชื่อไหมครับว่าคำแรกที่ปิกัสโซพูดได้ ไม่ใช่คำว่า ‘พ่อ’ หรือ ‘แม่’ แต่เป็นคำว่า ‘ดินสอ’ ในภาษาสเปน เขาชื่นชอบการวาดรูปตั้งแต่เด็ก คุณพ่อเป็นครูสอนศิลปะ เพียงแค่อายุ 9 ขวบ ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานได้นำหน้าเด็กคนอื่นไปไกล

 

แต่นอกเหนือจากพรสวรรค์ ครอบครัวก็มีส่วนสำคัญในการผลักดันตัวเขามากถึงมากที่สุด คุณพ่อส่งปิกัสโซไปเรียนในโรงเรียนที่ดีที่สุด แถมยังพาไปเปิดโลกกว้างซึมซับวัฒนธรรมอันหลากหลายของสเปนตอนใต้มาโดยตลอด ทำให้ความอัจฉริยะของเขาถูกขัดเกลามากขึ้นเรื่อยๆ จนฉายแววในที่สุด

 

Science and Charity ภาพวาดขณะที่ปิกัสโซอายุเพียง 16 ปี คว้ารางวัลระดับประเทศ สร้างความตื่นตะลึงให้กับวงการศิลปะ

 

ภาพเหมือนของศิลปินที่ปิกัสโซวาดขึ้นในวัย 15 ปี

 

2. ต้องมีเจตนารมณ์อันยิ่งใหญ่

ปิกัสโซมองเป้าหมายระยะยาวมากกว่าระยะสั้น ต่างจากสัญชาตญาณมนุษย์ส่วนใหญ่ที่มองเพียงระยะไม่ไกล เพื่อเอาตัวรอด

 

เขารู้ดีว่าตัวเองไม่ได้วาดภาพเพื่อเงินทอง แต่ต้องการความยิ่งใหญ่ เขาฝึกวาดรูปทุกวันโดยไม่เคยกำหนดเวลาว่าในหนึ่งวันต้องวาดกี่ชั่วโมง แต่เขาจะวาดไปเรื่อยๆ วาดทุกอย่างตรงหน้า ในยุคที่เริ่มขายผลงานได้ เขาสร้างสตูดิโอเพื่ออำนวยความสะดวกสบายให้ตัวเองได้วาดรูปเท่าที่ใจอยาก เหมือนขอทานที่ร่ำรวย

 

ทั้งหมดนี้สะท้อนกลับมาถึงคติที่เขายึดถือ “Action is the Fundamental Key to all Success.” การลงมือทำนำมาซึ่งหัวใจสำคัญของความสำเร็จ

 

 

3. พัฒนาผลงานผ่านการแข่งขันและร่วมมือ

ปิกัสโซเคยเล่าถึงวิธีการทำงานของตัวเองกับ จอร์จส์ บราค (Georges Braque) เปรียบเหมือนนักปีนเขาสองคนที่เป็นคู่แข่งกัน เอาชนะอีกฝั่งด้วยความเร็ว เพื่อไปให้ถึงยอดเขาก่อน แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องเป็นบัดดี้ให้กันและกัน โดยการใช้ปลายเชือกทั้งสองฝั่งผูกตัวเองและเชื่อมอีกคนเอาไว้ เพื่อป้องกันหากใครได้รับอันตรายเสี่ยงตกเขาเมื่อไร จะได้มีปลายเชือกของคนอีกฝั่งคอยเกาะไว้

 

ศิลปินสองคนนี้แชร์วิสัยทัศน์ร่วมกันตลอดเวลาในขณะสร้างสรรค์ผลงานศิลปะสไตล์คิวบิสม์ เช่นเดียวกัน เขาก็ใช้วิธีนี้กับเพื่อนศิลปินมากมายของเขา บางครั้งแยกย้ายกันไปทำงาน บางครั้งแข่งขันกันเอง บางครั้งมาทำงานร่วมกัน ทำให้เขามีผลงานหลายรูปแบบ กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด

 

ปิกัสโซกับจอร์จ บราค

Photo: news.masterworksfineart.com

 

หญิงสาวกับแมนโดลิน ผลงานสไตล์คิวบิสม์ของปิกัสโซในปี 1910

 

4. ทิ้งสิ่งที่เรียนรู้มา แล้ววาดเหมือนเกิดใหม่เสมอ

Every act of creation is first an act of destruction. ทุกๆ การกระทำที่สร้างสรรค์ งานใหม่คือขั้นตอนแรกของการทำลายล้างสิ่งนั้น

 

เพราะคำกล่าวนี้ของปิกัสโซ ทำให้เขาไม่เคยหยุดนิ่งที่จะเรียนรู้ และพร้อมเปิดรับสิ่งใหม่เสมอ เขามักทำในสิ่งที่ตัวเองทำไม่ได้ เพื่อเรียนรู้ว่ามันควรทำเช่นไรต่อ จนกว่าตัวเองจะกลายเป็นคนที่ทำสิ่งนั้นได้ แล้วค่อยก้าวไปทำสิ่งใหม่ที่ตัวเองยังไม่รู้อีก ปิกัสโซทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนถึงบั้นปลายชีวิต พร้อมพัฒนาผลงานอยู่ตลอดเวลา และเปลี่ยนจุดยืนใหม่ๆ โดยไม่ยึดติดงานเก่าที่เคยประสบความสำเร็จ

 

สิ่งนี้ทำให้งานของเขามีความสดใหม่ สร้างความเซอร์ไพรส์ และทำให้เป็นที่พูดถึงไม่เคยขาด

 

ผลงานที่หลากหลายในแต่ละช่วงชีวิตของปิกัสโซ

Photo: www.pablopicasso.org

 

5. มีจินตนาการสดใหม่เหมือนเด็กเพิ่งหัดวาดรูป

รูปวาดของปิกัสโซมักมีสีสันฉูดฉาดราวกับเป็นผลงานของเด็กตัวน้อยๆ เขาเคยเล่าถึงตัวเองไว้ว่าตั้งแต่ยังเล็กอายุเพียงไม่กี่ขวบ เขาสามารถวาดรูปได้เทียบเท่าศิลปินชื่อดังในยุคนั้น แต่กลับกัน เขาใช้เวลาทั้งชีวิต เพื่อย้อนกลับไปวาดรูปให้ได้เหมือนตอนเป็นเด็กอีกครั้งหนึ่ง เพราะความบริสุทธิ์ของวัยนั้น ทำให้เด็กมีสุดยอดจินตนาการ เขาจึงพยายามซ้ำๆ เพื่อพัฒนาจินตนาการอย่างไม่มีวันหยุดพัก

 

Head of Bull (1942) ผลงานที่ดัดแปลงจากอานจักรยานและแฮนด์จักรยาน เป็นรูปทรงหัววัวกระทิง ได้รับการกล่าวขานว่าเป็นงานที่สะท้อนถึงจินตนาการอันล้ำเลิศของปิกัสโซ

Photo: www.pablopicasso.org/bull-head.jsp

 

6. สั่งสมประสบการณ์จนเป็นมูลค่าของตัวเอง

ครั้งหนึ่งปิกัสโซเคยนั่งวาดรูปเล่นใส่กระดาษทิชชูอยู่ในร้านคาเฟ่ เผอิญคุณป้าโต๊ะข้างๆ มาเห็นเข้าจึงขอซื้อต่อในราคาย่อมเยา แต่เขาบอกว่า ถ้าจะให้ขาย เขาจะขายด้วยราคาสูงมหาศาล เพราะนี่ไม่ใช่การวาดรูปแค่  30 วินาที แต่มันสะสมไปด้วยประสบการณ์กว่า 30 ปี ของความเป็นศิลปินในตัวเขา

 

เรื่องนี้สอนให้เรารู้ว่า มูลค่าของผลงาน มาจากประสบการณ์ที่เริ่มต้นด้วยวินัย


 


Credits

 

The Host นครินทร์ วนกิจไพบลูย์

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producers เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์, ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Proofreader ภาวิกา ขันติศรีสกุล

Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X