×

สุโก้ย! ‘ชนาคุง’ เล่นนัดแรกให้ซัปโปโร สื่อญี่ปุ่นชมเปาะ ‘ดีเกินความคาดหมาย’

31.07.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ‘เมสซีเจ’ ได้โอกาสลงประเดิมสนามในเกมเจ1 ลีก (ดิวิชันสูงสุดของเจลีก) ให้กับฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว
  • ​สื่อมวลชนและคนญี่ปุ่นประทับใจกับผลงานการลงสนามในเวทีระดับเจลีกของชนาธิปมาก และพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าทำได้ดีมาก อาจถึงขั้นเรียกได้ว่า ‘ดีเกินความคาดหมาย’
  • ทัศนคติความเป็นมืออาชีพอย่างแท้จริง ทั้งการทำงานหนัก ถ่อมตัว และเรียนรู้อยู่เสมอ ทำให้เพื่อนร่วมทีมและโค้ชชูเฮ โยโมดะ ยอมรับเขาในฐานะของ ‘นักฟุตบอล’ จริงๆ ไม่ใช่แค่นักเตะที่มาตามโควตาพิเศษของนักฟุตบอลจากชาติในอาเซียน หรือแค่มาเพื่อเหตุผลทางการตลาดอย่างที่นินทากัน

     “อยากรู้อะไรจากทางญี่ปุ่นบ้างไหม?”
​      คำถามจากความหวังดีของผู้ช่วยปริศนาที่คงเห็นสีหน้าไม่สู้ดีของผมนักเมื่อรู้ว่าผมตั้งใจจะเขียนถึงเรื่องราวของ ชนาธิป สรงกระสินธ์ หรือที่เราเรียกกันจนคุ้นชินว่า ‘เมสซีเจ’ โดยที่ผมยังเลือกไม่ถูกว่าจะหยิบแง่มุมไหนมาบอกเล่ากับคุณผู้อ่าน THE STANDARD หลังจากที่ได้โอกาสลงประเดิมสนามในเกมเจ1 ลีก (ดิวิชันสูงสุดของเจลีก) ให้กับฮอกไกโด คอนซาโดเล ซัปโปโร (Hokkaido Consadole Sapporo) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมาไปเรียบร้อยแล้ว
     ผู้ช่วยปริศนาที่ญี่ปุ่นของผมคือ ‘พี่เค’ (นามสมมติ) ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมงานที่ดูแลเรื่องการมาเล่นในเจลีกของชนาธิปตั้งแต่ต้น เพราะน่าจะมีสิ่งละอันพันละน้อยที่อยากมาแชร์กัน

     “ก็ดีนะ”​ ผมตอบกลับไปแบบแทบไม่ต้องคิด
​      หลังจากนั้นบทสนทนาผ่านคลื่นไฟฟ้าที่ลอยไปมาจากไทยไปญี่ปุ่นมีการแลกเปลี่ยนกันยาวนานพอสมควรครับ แต่สรุปได้โดยสั้นที่สุดเพียงประโยคเดียว และผมคิดว่าเป็นประโยคที่คนไทยน่าจะอยากได้ยินคือ…

     ชนาธิปทำได้ดีมาก อาจถึงขั้นเรียกได้ว่า ‘ดีเกินความคาดหมาย’

     สื่อมวลชนและคนญี่ปุ่นประทับใจกับผลงานการลงสนามในเวทีระดับเจลีกของไอ้หนุ่มจากเมืองสามพราน และเขากำลังเป็น ‘ปรากฏการณ์’ ที่ไม่ใช่แค่คนไทยหรือคนญี่ปุ่นจับตามอง หากแต่เป็นทวีปเอเชีย หรือทั้งโลก ที่กำลังจับตามองความภูมิใจของคนไทยด้วยสายตาที่สนใจใคร่รู้

 


เสียงปรบมือแด่ ‘เมสซีเมืองไทย’ (タイのメッシ)
     จากสิ่งที่ได้เห็นในสองเกมแรกของ ‘เจ’ กับคอนซาโดเล ในเกมฟุตบอลถ้วย ‘ลูวานคัพ’ (จริงๆ คือชื่อ Levain Cup ที่เรียกลูวาน เป็นการเรียกตามการอ่านแบบญี่ปุ่น) นัดที่ออกไปพ่ายเซเรโซ โอซาก้า ทีมจ่าฝูงเจลีกในเวลานี้ และล่าสุดคือการลงตัวจริงในเกมที่คอนซาโดเล เอาชนะอุราวะ เรด ไดมอนด์ส ได้ 2-0 โดยได้ลงสนาม 63 นาที ส่วนตัวแล้วผมคิดไม่ต่างจากคนอื่นครับ เขาทำผลงานได้ดีจริงๆ
     เพียงแต่ผมก็ไม่อยากทึกทักไปเอง เลยพยายามตรวจสอบว่าชาวบ้านชาวช่องเขามองฟอร์มของเจเป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งก็มีแฟนฟุตบอลชาวไทยที่ชำนาญการภาษาญี่ปุ่นแปลความคิดเห็นของแฟนบอลเมืองซามูไรที่มีต่อชนาธิปเอาไว้ สิ่งที่น่าสนใจคือคือ ส่วนใหญ่เขาชื่นชมกับผลงานของมิดฟิลด์ฉบับกระเป๋าจากเมืองไทยคนนี้ไม่น้อยครับ เช่น
     ชนาธิปเล่นดีมากๆ
     ชนาธิป คือเมสซีเมืองไทย
     ​ เขาคล้ายคางาวะ
     ​ เขามีความเร็วเป็นเลิศ สัมผัสบอลนุ่มนวล

     ขณะที่สื่อมวลชนในญี่ปุ่นเอง ทาง ‘พี่เค’ บอกว่าก็แอบมีอึ้งอยู่เหมือนกันครับที่เห็นเจเล่นได้ดีขนาดนี้ตั้งแต่เกมแรกๆ เรียกว่านอกจากจะแทบไม่ต้องใช้เวลาในการปรับตัวแล้ว เขายังแสดงให้เห็นว่าระดับฝีเท้านั้นเอาตัวรอดในเจลีกได้สบายๆ มากกว่านั้นคือมีโอกาสที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นได้เลยทีเดียว
     ความคิดเห็นในทางเดียวกันยังมีมาจากธงไชย แม็กอินไตร์ เอ้ย สกอตต์ แม็กอินไตร์ (Scott McIntyre) แห่ง Fox Sports Asia ที่ลงทุนเขียนบทความหัวข้อ ‘Five ASEAN talents who could follow in Chanathip’s footsteps’ 5 ดาวรุ่งแววดีของอาเซียนคนไหนที่จะตามรอยชนาธิปได้

     ในบทความเขาเขียนเอาไว้ชัดเจนครับว่า ชนาธิปมีศักยภาพที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสตาร์ของลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดของเอเชียได้
     ฟังแล้วหัวใจมันเต้นระรัวราวกับมีโยชิกิมาหวดกลองสองกระเดื่องอยู่ในอก ภาษาญี่ปุ่นเขาเรียกว่า Dokidoki (ตึกตัก ตึกตัก)

 


Stay Humble Stay Foolish
     ในความสำเร็จขั้นแรกของชนาธิปที่ญี่ปุ่นนั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือสิ่งที่ตัวเขาเองพยายามพูดเสมอเมื่อถูกสื่อมวลชนเอาไมค์จ่อปาก
      “ผมจะพยายามทำให้ดีที่สุด”
     ถ้าเป็นคนอื่นพูดคำนี้ ผมเองตามประสาคนข่าวกลางเก่ากลางใหม่ที่พอกร้านโลกอยู่บ้างก็อาจจะไม่เชื่อง่ายๆ แต่ถ้าเด็กคนนี้พูด ผม ‘เชื่อ’ ครับ
     ​ เพราะตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา ผมคิดว่าชนาธิปแสดงให้เราได้เห็นมาตลอดถึงความเป็นนักฟุตบอลที่ ‘รักดี’ ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อก้องภพ สรงกระสินธ์ พยายามพร่ำสอนมาตลอดตั้งแต่เด็ก และผลตอบแทนของมันนั้นคุ้มค่าครับ
     นอกสนามเขาอาจจะดูยียวนกวนประสาท (แบบน่ารักๆ) และมีเรื่องความรักที่เคยทำให้แฟนบอลทั้งประเทศแอบเป็นห่วง (ระคนอิจฉา) แต่ถ้าเป็นเรื่องในสนาม เจเต็มที่เสมอ และเขาเป็นหนึ่งในนักฟุตบอลต้นแบบที่ใช้ชีวิตในแบบ ‘นักกีฬาอาชีพ’ ดีที่สุดคนหนึ่งของประเทศ
     มองไปยังสถานะของเขาในปัจจุบันแล้ว มันไม่ง่ายเลยนะครับที่จะรับมือ โดยเฉพาะกับ ‘ความคาดหวัง’ ที่นับวันก็ยิ่งสูงขึ้น หนักขึ้น
     ผมคิดว่าเราเคยได้เห็นความล้มเหลวของนักกีฬาจำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถรับมือกับความคาดหวังเหล่านั้นได้ ซึ่งผลที่ตามมาคืออาจจะมีตั้งแต่เสียฟอร์ม (เก่ง) เสียอนาคต (การเล่น) ยันเสียคนจริงๆ แต่เจรับมือกับความคาดหวังเหล่านี้ได้ดีมาก ดีจนสมควรได้รับการยกย่อง
     ผมคิดย้อนกลับไปในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งเจมีอาการบาดเจ็บรบกวน แต่ได้รับทราบจากเพื่อนของผมที่ทำ ‘ห้องกาลเวลา’ (ความจริงก็คือห้องพัฒนาขีดความสามารถของนักกีฬานั่นแหละครับ) เล่าให้ฟังว่า แทนที่เขาจะพักรักษาร่างกายเฉยๆ เจกลับมาเข้ารับการฝึกซ้อมเสริมสมรรถภาพร่างกายด้วย Vertimax เครื่องมือทันสมัยจากต่างประเทศ ซึ่งเป็นเครื่องมือที่เมืองนอกเขาใช้พัฒนาความสามารถของนักกีฬากัน
     นอกจากนี้ก็สั่งซื้อเครื่องมือพิเศษในการช่วยลดอาการบาดเจ็บของร่างกาย เพื่อดูแลร่างกายให้อยู่ในสภาพที่ดีที่สุด สิ่งเหล่านี้เจทำโดยไม่ได้มีใครสั่ง เขาทำของเขาเอง
     ​ นี่คือทัศนคติของนักกีฬาระดับโลกครับ -ไม่ใช่ก็ใกล้เคียงมากแล้ว

     และทัศนคติแบบนี้เองครับที่ทำให้เพื่อนร่วมทีมคอนซาโดเล ซัปโปโร และโค้ชชูเฮ โยโมดะ (Shuhei Yomoda) ยอมรับเขาในฐานะของ ‘นักฟุตบอล’ จริงๆ ไม่ใช่แค่นักเตะที่มาตามโควตาพิเศษของนักฟุตบอลจากชาติในอาเซียน หรือแค่มาเพื่อเหตุผลทางการตลาดอย่างที่นินทากัน
​      พี่เคยืนยันว่า การที่เขาได้มาที่เจลีกเป็นเหตุผลในเรื่องของ ‘กีฬา’ จริงๆ และยังบอกว่าอีกเหตุผลที่ทำให้เจเป็นที่รักของทุกคนคือการที่เขามีความอ่อนน้อมถ่อมตน ไม่ได้เย่อหยิ่งจองหองเลยแม้แต่น้อย แต่กระหายที่จะทำผลงานให้ดีในสนาม
     ​ ขนาดทำผลงานในสองเกมแรกได้ดีแล้ว เขาก็ยังคิดที่จะพยายามและทำให้ดียิ่งขึ้นไปอีก
​      ยิ่งถ่อมตน ยิ่งสูงส่ง ผมคิดเบาๆในใจ

 


แผ้วถางทางเพื่อนักเตะรุ่นต่อไป
     ท่ามกลางคำถามและคำตอบที่ได้จากแหล่งข่าว​ (จำเป็น) ชาวญี่ปุ่นมากมาย สิ่งที่ทำให้ผมตกใจที่สุดคือการที่เขาบอกว่าความจริงเขา -ในฐานะแมวมองของเจลีกด้วย ติดตามดูฟอร์มของชนาธิปมานานกว่า 5 ปีแล้ว
​      หรือย้อนกลับไปตั้งแต่ในช่วงที่เจเพิ่งตั้งไข่ในวงการลูกหนังไทยด้วยซ้ำครับ
     ถึงจะมีรูปร่างที่เล็กมาก แต่ความสามารถของเด็กคนนี้เข้าตาแมวมองญี่ปุ่นมานานแล้ว และนั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาได้รับโอกาสจากเจลีกถึงสองครั้งสองครา
     ครั้งแรกกับชิมิสุ เอสพัลส์​ กับการไปทดสอบฝีเท้าเมื่อปี 2013 ซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ จนมาถึงครั้งนี้กับการเซ็นสัญญาอย่างเป็นทางการกับฮอกไดโด คอนซาโดเล ซัปโปโร ถึงแม้ว่าจะเป็นแค่สัญญายืมตัวก่อนก็ตาม
     ​ เรื่องนี้ตรงกับคำพูดของพงษ์ศักดิ์ ผลอนันต์ ประธานสโมสรเอสซีจี เมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อปลายปีก่อนที่เคยให้สัมภาษณ์ว่า การได้ย้ายไปคอนซาโดเลฯ ในครั้งนี้ของเจไม่ได้เกิดขึ้นแบบปุบปับ หากแต่สโมสรจากตอนเหนือของญี่ปุ่นให้ความสนใจในตัวของชนาธิปมานานแล้วตั้งแต่สมัยที่ยังเล่นในลีกเจ2 (ดิวิชัน 2 ของญี่ปุ่น)
     ​ ในเบื้องหลังคือ จากการที่เจลีกมีกฎโควตาพิเศษให้แก่ชาติในกลุ่มประเทศอาเซียนที่สามารถลงทะเบียนกับสโมสรเพื่อทำการแข่งขันได้ 1 คน (จะด้วยหวังผลทางการตลาดหรือมิตรไมตรีก็ว่าไป) ทำให้เจลีกต้องส่งคนมาติดตามดูฟอร์มการเล่นของชาตินักเตะในอาเซียน

     ไทยเป็นหนึ่งในชาติที่พวกเขาให้ความสนใจมากเป็นพิเศษครับ เพราะเรามีลีกที่คุณภาพสูงกว่าชาติอื่นในแถบบ้านเรา และนั่นหมายถึงเรามีโอกาสสูงที่จะได้เห็นนักเตะไทยคนอื่นๆ ไปค้าแข้งในดินแดนอาทิตย์อุทัยในอนาคต
​      โดยคนที่ถูกกะเก็งไว้คือนักเตะสตาร์ไทยลีกอย่าง ธีราทร บุญมาทัน, ทริสตอง โด (อันนี้สกอตต์ แม็คอินไตร์ แกเก็งไว้) ขณะที่ผมคิดว่า ‘เอล มุ้ย’ ธีรศิลป์ แดงดา หัวหอกสยามคนเดียวที่เคยไปค้าแข้งในลาลีกา ก็มีโอกาสจะถูกสโมสรระดับเจลีกคว้าตัวไปร่วมทีม
     ​ ความจริงในเวลานี้ นอกเหนือจากเจแล้ว เรายังมีดาวรุ่งอีกรายที่ไปเล่นในญี่ปุ่นแล้วคือสิทธิโชค ภาโส สายเลือดของสโมสรชลบุรี เอฟซี ที่ไปเล่นในเจลีกก่อนชนาธิปอีก แต่เป็นระดับเจ3 ลีก (ดิวิชัน 3) กับสโมสรคาโงชิมา เอฟซี (Kagoshima FC) ที่ผ่านการทดสอบฝีเท้าในโครงการ J League Open Trials และย้ายไปตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
     ​ ล่าสุดคือไอซ์-จักรกฤษณ์ เวชภิรมย์ ไอ้หนูดาวรุ่งในสังกัด ‘แข้งเทพ’ แบงค็อก ยูไนเต็ด ที่ไปเล่นให้กับสโมสรพันธมิตรอย่างเอฟซี โตเกียว (FC Tokyo) ซึ่งจะเริ่มต้นจากการเล่นกับทีมสำรองในลีกระดับเจ3 (ดิวิชัน 3) เช่นกัน

     ถือเป็นสัญญาณที่ดีครับที่นักเตะไทยจะได้โอกาสในการก้าวไปเล่นในระดับลีกที่ดีที่สุดของเอเชีย ซึ่งเราพูดกันมานานแล้วว่าน่าจะเป็นเป้าหมายแรกที่เป็นไปได้สำหรับนักเตะไทยมากกว่าความฝันที่จะได้ไปเล่นฟุตบอลในยุโรป ซึ่งยากและเต็มไปด้วยข้อแม้ที่มากมาย
     ​ เริ่มจากจุดเล็กๆ ตรงนี้ให้ได้ก่อน เราต้องสร้างชื่อให้นักเตะไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับในวงกว้าง
     ​ หากญี่ปุ่นนับหนึ่งจากคาซูโยชิ มิอุระ (Kazuyoshi Miura) นักเตะญี่ปุ่นคนแรกที่ไปค้าแข้งในกัลโช่ เซเรีย อา กับเจนัว เมื่อกลางยุค 90s ก่อนจะมีฮิเดโตชิ นากาตะ (Hidetoshi Nagata), ชุนสุเกะ นากามูระ (Shunsuke Nakamura) เรื่อยมาจนถึง ชินจิ คากาวะ (Shinji Kagawa)
     ​ นักเตะไทยก็ย่อมมีโอกาสจะทำได้เหมือนกันครับ
​      ชนาธิปช่วยนับหนึ่งให้เราแบบชัดๆ ดังๆ แล้วในตอนนี้
​      เหลือแค่รอใครมาช่วยนับเลข 2-3-4 ต่อไปเรื่อยๆ เท่านั้นครับ

FYI
  • นับตั้งแต่เจลีกก่อตั้งเมื่อปี 1993 นักฟุตบอลไทยคนแรกที่ได้ไปเล่นในญี่ปุ่นคือ อดุลย์ หละโสะ เมื่อปี 2008 กับสโมสรไกนาเร ต็อตตอริ (Gainare Tottori) สโมสรระดับเจ3 ลีกในขณะนั้น
  • ก่อนหน้ายุคเจลีก FourFourTwo ประเทศไทย เคยรวบรวมข้อมูลไว้ครับว่ามี 12 นักเตะสยามที่ไปเล่นในแดนซามูไร นำมาโดยตำนานรุ่นเดอะอย่างวิทยา เลาหกุล, วรวรรณ ชิตะวณิช, พิชัย คงศรี, นที ทองสุขแก้ว
  • ชนาธิปได้ลงเล่นเกมแรกในสนามซัปโปโร โดม รังเหย้าของคอนซาโดเล ซึ่งปกติไม่ใช่ทุกนัดที่จะได้เล่นในสนามนี้ เพราะหากโปรแกรมทับกับทีมเบสบอล ฮอกไกโด นิปปอน-แฮม ไฟเตอร์ส (Hokkaido Nippon-Ham Fighters) ก็ต้องหลีกทางให้ และไปแข่งที่สนามเล็ก ซัปโปโร อัตสุเบตสุ สเตเดี้ยม (Sapporo Atsubetsu Park Stadium) แทน
  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X