×

เป็นหัวหน้ามือใหม่กำลังจะมีลูกน้องคนแรก ต้องเลือกลูกน้องแบบไหนดีครับ

26.12.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

3 Mins. Read
  • แนะนำว่าอย่ามองหาคนที่เหมือนเราทุกอย่าง หรือเป็น ‘Mini-me’ ของตัวเรา ปกติแล้วเรามักจะชอบคนที่คล้ายเรา นิสัยคล้ายเรา มีความสามารถคล้ายเรา เพราะอยู่ด้วยแล้วสบายใจ แต่ทีมที่แข็งแกร่งคือทีมที่ประกอบไปด้วยคนที่แตกต่างกัน แต่ละคนเก่งกันคนละแบบ และนำความเก่งนั้นมาช่วยเสริมความแกร่งซึ่งกันและกัน เติมเต็มจุดอ่อนจุดแข็งให้กันและกัน
  • น้องต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อนว่าน้องเก่งในเรื่องอะไร และต้องการคนแบบไหนมาเสริมทีม เสริมในสิ่งที่น้องอาจจะไม่ได้ถนัดมาก หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ทีมต้องการเพื่อให้มีความสามารถรอบด้าน นั่นแหละครับ บทเรียนแรกของการเป็นหัวหน้าคือหาจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเองให้เจอและยอมรับมัน เพื่อเปิดใจให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มทีม อย่าคิดว่าการเป็นหัวหน้าแล้วแปลว่าเราต้องเก่งที่สุด เก่งทุกอย่าง มันไม่มีใครเก่งทุกเรื่องหรอกครับ แต่เราต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของเรา และต้องหาคนมาทำในสิ่งที่เราไม่ได้ถนัดที่สุด
  • เรื่องไหนที่เราเก่ง แน่นอนว่าเราก็ต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น แต่อย่าละเลยเรื่องที่เราไม่เก่ง พอรู้ว่าตัวเองไม่เก่งบนเรื่องไหนแล้ว เราต้องไปเพิ่มเติมความรู้ในส่วนนั้นด้วย เพราะที่สุดแล้ว เมื่อเรามาทำงานที่มีลูกน้องหรือคนในทีมต้องทำเรื่องนั้นแทนเรา เรายังต้องมีความรู้ ความสามารถในระดับที่สามารถทำงานกับเขาได้อยู่ อย่าไปกลัวที่จะเรียนรู้เรื่องที่เราไม่ถนัดครับ เปิดใจแล้วเรียนรู้ เรื่องที่เราไม่รู้ก็เพราะเราแค่ไม่คุ้นเคยกับมันเท่านั้นเอง

Q: เพิ่งได้รับการโปรโมตให้เป็นหัวหน้าที่ต้องมีลูกน้องครั้งแรกครับ ทั้งตื่นเต้นและกดดันกับการมีลูกน้องคนแรก ผมควรเลือกลูกน้องอย่างไรดีครับ

 

A: ยินดีกับหัวหน้ามือใหม่ด้วยครับ พี่บอกเลยว่าพอขยับมาเป็นหัวหน้าแล้วน้องจะได้เรียนรู้อะไรอีกมากมายที่ทำให้น้องเติบโตขึ้นอีกเยอะ ทำงานคนเดียวที่ต้องควบคุมตัวเองว่ายากแล้ว การทำงานเป็นทีมที่ต้องบริหารคนนี่ยากยิ่งกว่าครับ แต่ไม่ต้องกลัวครับ ครั้งแรกมันยากเสมอ

 

อย่างแรกเลย สิ่งที่น้องจะต้องเจอคือการเลือกลูกน้อง ถ้าน้องได้มีโอกาสสัมภาษณ์งานเพื่อหาลูกน้องตัวเอง พี่อยากแนะนำว่าอย่ามองหาคนที่เหมือนเราทุกอย่าง หรือเป็น ‘Mini-me’ ของตัวเรา ปกติแล้วเรามักจะชอบคนที่คล้ายเรา นิสัยคล้ายเรา มีความสามารถคล้ายเรา เพราะอยู่ด้วยแล้วสบายใจ แต่ทีมที่แข็งแกร่งคือทีมที่ประกอบไปด้วยคนที่แตกต่างกัน แต่ละคนเก่งกันคนละแบบ และนำความเก่งนั้นมาช่วยเสริมความแกร่งซึ่งกันและกัน เติมเต็มจุดอ่อนจุดแข็งให้กันและกัน

 

ตอนที่พี่ยังเป็นหัวหน้ามือใหม่แล้วต้องสัมภาษณ์งานลูกน้อง พี่ก็เคยได้บทเรียนนี้ครับ ด้วยความที่พี่เป็นคนถนัดเรื่องภาษา ถนัดการเขียน พี่ก็เลือกลูกน้องที่เขียนเก่งมา ซึ่งหัวหน้าของพี่ก็เคยแนะนำพี่ไว้ว่าควรเลือกลูกน้องที่ไม่เหมือนเรา แต่ตอนนั้นพี่รู้สึกชอบน้อง Mini-me มากกว่า ไม่ได้บอกนะครับว่าเลือกมาแล้วน้องไม่เก่ง น้องเขาเก่งมากเลยล่ะโดยเฉพาะเรื่องเขียน ให้เขียนอะไรเขียนดีหมด มีงานที่ต้องใช้การเขียนนี่ยกให้เขาแล้วหายห่วงเลย แต่กลายเป็นว่าหัวหน้ากับลูกน้องเหมือนกันไปหมด ไม่ได้มีทักษะอื่นในทีมที่งอกเงยออกมา เก่งเรื่องไหนก็เก่งจังเลยในเรื่องนั้น แต่เรื่องที่ไม่เก่งก็ยังแหว่งๆ วิ่นๆ อยู่อย่างนั้นเหมือนเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้พอพี่รู้ตัวแล้ว พี่ก็ต้องหันมามองลูกน้องตัวเองว่า นอกจากสิ่งที่น้องเก่งเรื่องเดียวกับเราแล้ว น้องเก่งเรื่องไหนอีกบ้าง เราจะได้ไปพัฒนาส่วนนั้นต่อให้เขาสามารถทำแทนเราได้ หรือมีเรื่องไหนบ้างที่เป็นจุดอ่อนของน้อง เราจะได้ไปหาคนมาช่วยเสริม หรือเรานี่แหละที่ต้องมีสิ่งที่น้องไม่มีขึ้นมาให้ได้

 

ทีมฟุตบอลที่แข็งแกร่งนั้น นักฟุตบอลแต่ละตำแหน่งต้องมีทักษะที่ต่างกันเพื่อมาอยู่ร่วมกันให้ทั้งทีมมีความสามารถครบถ้วน คนที่ทำหน้าที่กองหน้าย่อมต้องการทักษะ ทัศนคติ วิธีคิด และประสบการณ์ที่ต่างจากคนที่ทำหน้าที่ผู้รักษาประตู เราสร้างทีมที่ทุกคนเหมาะกับเป็นกองหน้าไปทั้ง 11 คนคงไม่ได้ เพราะเราจะไม่มีกองหลัง ผู้รักษาประตู ตัวสำรอง ฯลฯ ที่เก่ง เพราะฉะนั้น ในฐานะที่น้องเป็นหัวหน้าทีม หรือเป็นผู้จัดการทีม การเลือกคนมาอยู่ในแต่ละตำแหน่งจึงต้องเลือกคนที่มีทักษะที่หลากหลายมาอยู่ร่วมกันในทีม

 

นั่นแปลว่าน้องต้องรู้จักตัวเองให้ดีก่อนว่าน้องเก่งในเรื่องอะไร และน้องต้องการคนแบบไหนมาเสริมทีม เสริมในสิ่งที่น้องอาจจะไม่ได้ถนัดมาก หรืออาจจะเป็นสิ่งที่ทีมต้องการเพื่อให้มีความสามารถรอบด้าน นั่นแหละครับ บทเรียนแรกของการเป็นหัวหน้าคือหาจุดอ่อน จุดแข็งของตัวเองให้เจอและยอมรับมัน เพื่อเปิดใจให้คนอื่นเข้ามาเติมเต็มทีม อย่าคิดว่าการเป็นหัวหน้าแล้วแปลว่าเราต้องเก่งที่สุด เก่งทุกอย่าง มันไม่มีใครเก่งทุกเรื่องหรอกครับ แต่เราต้องรู้จุดแข็งจุดอ่อนของเรา และต้องหาคนมาทำในสิ่งที่เราไม่ได้ถนัดที่สุด

 

แต่ไม่ได้แปลว่าน้องจะหาลูกน้องที่เก่งในเรื่องที่น้องไม่ถนัดมาแล้วจะปล่อยเลยตามเลยนะครับ น้องอาจจะไม่ได้เก่งบนเรื่องนั้นเท่าลูกน้อง แต่น้องควรต้องมีความรู้พื้นฐานบนเรื่องนั้นมากพอที่จะทำงานกับลูกน้องได้ ไม่ใช่ความรู้เรื่องนั้นเป็นศูนย์แล้วไปสั่งการเขา แบบนั้นพูดกันไม่รู้เรื่อง คอมเมนต์งานก็ไม่ได้ ลูกน้องเองก็จะไม่ได้เรียนรู้เพิ่มเติม ยิ่งถ้าเขารู้สึกว่าหัวหน้าของเขาไม่รู้เรื่องเขาจะยิ่งไม่ศรัทธาในตัวหัวหน้า น้องจะทำอะไรเขาก็ไม่เชื่อมั่นในตัวน้อง อันนี้จะแย่

 

คำแนะนำของพี่คือ เรื่องไหนที่เราเก่ง แน่นอนว่าเราก็ต้องพัฒนาให้เก่งขึ้น แต่อย่าละเลยเรื่องที่เราไม่เก่ง พอรู้ว่าตัวเองไม่เก่งบนเรื่องไหนแล้ว เราต้องไปเพิ่มเติมความรู้ในส่วนนั้นด้วย เพราะที่สุดแล้ว เมื่อเรามาทำงานที่มีลูกน้องหรือคนในทีมต้องทำเรื่องนั้นแทนเรา เรายังต้องมีความรู้ ความสามารถในระดับที่สามารถทำงานกับเขาได้อยู่ อย่าไปกลัวที่จะเรียนรู้เรื่องที่เราไม่ถนัดครับ เปิดใจแล้วเรียนรู้ เรื่องที่เราไม่รู้ก็เพราะเราแค่ไม่คุ้นเคยกับมันเท่านั้นเอง

 

ตอนหาลูกน้องใหม่ๆ เรามักจะเลือกเฟ้นเป็นดิบดีเพราะเราต้องการคนที่สมบูรณ์แบบ อารมณ์เดียวกับเลือกแฟนแหละครับ แต่จริงๆ มันไม่มีใครสมบูรณ์แบบหรอกนะครับ พี่คิดว่ายิ่งเป็นน้องจบใหม่ เด็กจูเนียร์ พวกนี้เราดูทัศนคติก่อนเลยว่าเขาดูพร้อมจะเรียนรู้ไหม เป็นน้ำเต็มแก้วหรือเปล่า ใจสู้หรือเปล่าเวลาเจอความกดดัน หยิบโหย่งไหม พวกประสบการณ์เรามาเติมได้ครับ แต่จุดตั้งต้นมาก็ต้องดีหน่อยนะ ไม่ใช่ว่าไม่รู้อะไรเลยก็คงไม่ไหว หาคนที่เราพอจะปั้นได้น่าจะดีกว่า

 

สิ่งที่พี่อยากบอกอีกอย่างคือ ถ้าเลือกลูกน้องผิดก็ไม่เป็นไรนะ ให้เป็นประสบการณ์ ใครมันจะไปเลือกถูกทุกโจทย์ในชีวิต บางคนเราคิดว่าดี มาทำงานจริงดันไม่ดีก็เป็นได้ แต่สิ่งที่จะช่วยป้องกันได้ก็คือ ตอนสัมภาษณ์อย่ารีบร้อน คุยกันสักสองสามรอบ นอกจากคุยแล้ว เราลองให้โจทย์ในการทำงานให้เขาคิดดูก็ดีครับ เราได้เห็นความสามารถของเขาด้วย

 

เรื่องสุดท้ายที่พี่อยากบอกน้องไว้ก่อนเลยก็คือ เมื่อน้องเป็นหัวหน้าไปเรื่อยๆ น้องจะพบว่ามีลูกน้องมาลาออก อย่าคิดว่าลูกน้องไม่รักหรือลูกน้องทรยศเรา พี่เข้าใจว่าแน่นอนแหละว่าลูกน้องที่เราปั้นมาทั้งคนมาลาออกกับเราเราคงเสียดายเป็นธรรมดา และเผลอๆ จะมีคำถามกับตัวเองว่าเราทำอะไรหรือเปล่า แต่เชื่อเถอะว่าในอนาคตน้องจะเจอลูกน้องลาออกอีกหลายคนเป็นเรื่องธรรมดาของการเปลี่ยนแปลง แต่ละคนลาออกด้วยเหตุผลที่ต่างกัน ให้เราคิดว่า ณ เวลาที่เราอยู่เป็นหัวหน้าเขา ไม่ว่าจะยาวนานแค่ไหนก็ตาม ขอให้เราทำหน้าที่หัวหน้าที่ดี ให้เขานึกถึงเราแล้วรู้สึกว่าภูมิใจที่ได้เป็นลูกน้องเรา อยู่กับเราแล้วได้บทเรียนหลายอย่าง และอยากจะเป็นหัวหน้าที่ดีแบบเรา

 

แต่พี่ก็บอกไว้ก่อนเหมือนกันว่าบางครั้งกับลูกน้องบางคนเราก็อาจจะจบไม่สวย ให้คิดว่าเราได้บทเรียนจากการมีลูกน้องคนนี้บ้าง มีอะไรที่เราจะปรับปรุงแก้ไขได้ ที่สำคัญ เราบังคับเขาไม่ได้ เขามีสิทธิ์ที่จะรู้สึกไม่ดีกับเรา และแน่นอนว่าบางทีเรา ณ เวลาหนึ่งก็อาจจะทำตัวไม่ดี พี่ว่าก็เป็นบทเรียนครับ แต่อย่าไปผูกใจเจ็บกับใคร โลกมันกลมครับน้อง วันหนึ่งอาจจะโคจรมาเจอกันอีก

 

เป็นหัวหน้าคนมันไม่ง่ายเลย และเมื่อน้องเป็นหัวหน้าแล้วน้องจะยิ่งรักหัวหน้าที่ดีกับน้องมากขึ้นกว่าเดิม พี่อยากให้น้องเอาบทเรียนที่ได้จากหัวหน้าคนก่อนๆ มาใช้ อย่างน้อยตอนเราเป็นลูกน้อง เรารู้แล้วว่าหัวหน้าแบบไหนที่ลูกน้องทำงานด้วยแล้วมีความสุข ทำงานด้วยแล้วงานเดินหน้า ลูกน้องเติบโต หัวหน้าแบบไหนลูกน้องไม่อยากทำงานด้วยเลย น้องมีบทเรียนโดยตรงให้เห็นแล้ว เอามาปรับใช้ให้น้องเป็นหัวหน้าแบบที่น้องอยากเป็น

 

และจำไว้เสมอครับว่าหัวหน้าคนแรกสำคัญมาก คนที่จะมาเป็นลูกน้องคนแรกของน้องก็อาจจะมีน้องเป็นหัวหน้าคนแรกเหมือนกัน ถ้าเราตั้งใจเป็นหัวหน้าที่ดี แน่นอนว่ามันไม่มีทางสมบูรณ์แบบหรอก อย่าไปเครียด แต่ให้เป็นหัวหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่เราทำได้ ณ เวลานี้ ก็ถือว่าน้องกำลังวางรากฐานให้กับ ‘ว่าที่หัวหน้าในอนาคต’ คนต่อไปแล้วล่ะครับ

 

พี่เป็นกำลังใจให้ครับ

 

*ส่งคำถามดราม่าในที่ทำงานที่คุณสงสัยมาได้ที่อีเมล [email protected] หรืออินบ็อกซ์ไปที่ FB: ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ 

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising