อาทิตย์ นันทวิทยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ไทยพาณิชย์เปิดแผนธุรกิจ 3 ปี (พ.ศ. 2562-2564) โดยเน้นการเติบโตแบบก้าวกระโดดของธุรกิจหลัก ทั้งสินเชื่อและไพรเวตแบงกิ้งสำหรับลูกค้าที่มีสินทรัพย์ขนาดสูง ตั้งเป้าขยายฐานลูกค้าเพิ่มเป็น 12 ล้านรายในปี 2562 พร้อมผลักดันการเปลี่ยนผ่านธุรกิจสู่ดิจิทัลต่อเนื่องหลังจากประกาศ Digital Transformation ด้วยเงินลงทุนกว่า 4 หมื่นล้านบาทในปีที่ผ่านมา
แพลตฟอร์มธุรกรรมบนมือถืออย่าง ‘SCB EASY’ จะยังเป็นอาวุธสำคัญของไทยพาณิชย์ ที่จะเข้าถึงลูกค้าบุคคลและกลุ่มลูกค้า SMEs ปัจจุบันมีผู้ใช้งานกว่า 8.5 ล้านราย มีร้านค้าที่ใช้บริการแพลตฟอร์มการชำระเงินโดยคิวอาร์โค้ดมากกว่า 1 ล้านราย และธนาคารได้ร่วมเป็นพันธมิตรทางธุรกิจกับทั้งมหาวิทยาลัย บริษัทเทคโนโลยี และธุรกิจค้าปลีก เพื่อยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้วย
ไทยพาณิชย์คาดว่า ปริมาณธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัลจะเพิ่มขึ้นเป็น 65% ในปี 2562 จากปี 2561 ที่มีสัดส่วน 55% ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อเติบโต 5-7% โดยมุ่งเน้นการเติบโตสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน ได้แก่ สินเชื่อเพื่อการบริโภคและสินเชื่อธุรกิจรายย่อย โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและข้อมูลที่เข้มข้นขึ้น อีกส่วนที่สำคัญคือ การบริหารความมั่งคั่งของกลุ่มลูกค้าไพรเวตแบงกิ้ง ปัจจุบันได้ร่วมมือกับ Julius Baer มืออาชีพด้านไพรเวตแบงกิ้งชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์อยู่แล้ว คาดว่าจะช่วยเพิ่มฐานลูกค้ากลุ่มนี้ได้ 20-25% และเพิ่มจำนวนสินทรัพย์ภายใต้การจัดการเป็น 8-10% ในปี 2562
ผลการดำเนินการไตรมาส 3/2561 ของธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ที่รายงานต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย พบว่า มีรายได้ 1.26 แสนล้านบาท มีกำไรเกือบ 3.3 หมื่นล้านบาท หากเปรียบเทียบกับปี 2560 ซึ่งมีกำไรทั้งปี 4.3 หมื่นล้านบาท จึงต้องติดตามว่าไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ SCB จะปิดช่องว่างของกำไรปีนี้ราว 1 หมื่นล้านบาทได้เท่าไร ปัจจัยที่สำคัญคือ รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยในไตรมาสที่ผ่านมาลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วถึง 9.5% จากการยกเลิกค่าธรรมเนียมการทำธุรกรรมผ่านช่องทางดิจิทัล แม้จะมีกำไรจากส่วนอื่นๆ ชดเชย แต่ก็ยังถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายของธนาคาร ในการเร่งสร้างรายได้จากธุรกิจใหม่ หรือการเพิ่มรายได้จากบทบาทของเทคโนโลยีที่เข้ามาช่วยในกระบวนการของธุรกิจหลัก ให้ทันกับการปรับโครงสร้างเพื่อสลัดภาพ ‘งก ช้า ห่วย’ ของธนาคารแบบเดิมให้ได้
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: ธนาคารไทยพาณิชย์