จากสิ่งที่เกิดขึ้นกับภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ที่ก่อนหน้านี้ถูกระงับการฉาย เนื่องจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์แห่งชาติ ประกาศไม่ให้ผ่านเซนเซอร์ โดยให้เหตุผลว่า มีฉากที่แสดงถึงประเด็นความอ่อนไหวทางศาสนา นั่นคือฉากตัวละครที่ชื่อ พระเซียง ที่เกาะโลงศพพร้อมหลั่งน้ำตา แสดงความอาลัยอาวรณ์ให้กับการจากไปของแฟนสาว จนทำให้หลายฝ่ายออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงฉากดังกล่าวว่าเหมาะสมหรือไม่
หลายคนกำลังถกเถียงกันในประเด็นนี้อย่างจริงจัง ส่วนหนึ่งก็มองว่าฉากดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่ไม่เหมาะสม เพราะจะทำให้ศาสนามีภาพลักษณ์ที่ดูไม่ดี ขณะที่อีกส่วนก็มองว่าเป็นสิ่งที่ไม่ได้สร้างความเสียหายให้กับศาสนาพุทธแต่อย่างใด
พระมหาไพรวัลย์ วรวณฺโณ แห่งวัดสร้อยทอง ที่ก่อนหน้านี้ได้ออกมาแสดงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวไปแล้ว ล่าสุดได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมกับ THE STANDARD ในหลากแง่มุม ทั้งพระกับการแสดงออกทางอารมณ์ รวมถึงสิ่งที่เกิดขึ้นของศาสนาที่มักถูกดึงประเด็นไปเป็นเรื่องดราม่าเสมอเมื่อถูกถ่ายทอดบนจอเงิน
พระสงฆ์ร้องไห้ได้หรือไม่
พระมหาไพรวัลย์เผยว่า การแสดงอารมณ์ความรู้สึกของคนไม่มีสิ่งใดเป็นตัวกำหนดหรือแบ่งแยก ไม่ว่าจะเป็นนักบวชหรือเป็นชาวบ้านก็ตาม จากกรณีของฉากพระเซียงที่เกาะโลงศพและร้องไห้ต่อการจากไปของแฟนสาวในภาพยนตร์ อาจเปรียบได้กับพระที่กำลังบวชเรียนหลายรูป ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของการฝึกหัดตนเอง มิใช่ว่าบวชแล้วจะกลายเป็นพระอริยบุคคลหรือเป็นพระอรหันต์เลย ซึ่งคนเราอาจมีภาพของพระในมายาคติที่ผิดเพี้ยนไป ใช่ว่าพระจะต้องอยู่ในอาการเงียบขรึมตลอดเวลา
“ไม่มีกฎข้อห้ามใดเลยทางศาสนาที่จะห้ามให้พระร้องไห้ คุณจะห้ามได้อย่างไร การร้องไห้มันเป็นอารมณ์ความรู้สึกของปุถุชน มีเรื่องเล่าเยอะแยะไปหมดในสมัยพุทธกาล ยกตัวอย่างพระที่เคยอยู่ด้วยกันแล้วต้องถูกพรากออกจากกัน พอมาวันหนึ่งได้มาเจอกันก็อดที่จะร้องไห้ไม่ได้ ซึ่งมันมีอารมณ์ในลักษณะแบบนี้เยอะแยะไปหมด”
ขณะเดียวกันในรายการ โหนกระแส ของช่อง 3 พระมหาสมปอง ตาลปุตฺโต พระนักเทศน์ชื่อดังอีกท่าน ได้ร่วมพูดคุยถึงประเด็นจากภาพยนตร์เรื่องดังกล่าว โดยมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันกับพระมหาไพรวัลย์ พร้อมมีการยกตัวอย่างจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตว่า
“อันดับแรกต้องดูบริบทของหนังก่อน เขาเป็นเด็กห้าวๆ มาบวช 2-3 เดือน จะให้นิ่งเหมือน 10-20 พรรษาเหมือนพระมหาสมปองก็ยากนิดหนึ่ง ก็ร้องไห้ฟูมฟาย ก็เป็นธรรมชาติ ไม่ต้องเป็นแฟนหรอก อย่างอาตมาพี่สาวเสีย แค่ได้รับโทรศัพท์น้ำตามาเลย อุตส่าห์สำรวม แยกกันนั่งสมาธิ เที่ยงคืนโทรมายืนยันว่าเสียชีวิต น้ำตาก็ไหลมาอีกรอบ ก็นั่งรถกลับบ้านวันนั้น นั่งไปน้ำตาก็ไหลอีกรอบ”
พระผิดหรือไม่ หากมีความรัก
‘รัก โลภ โกรธ หลง’ เป็นอารมณ์ของปุถุชนทั่วไป เพราะเดิมทีเรื่องของความรักกับศาสนาก็มีเรื่องเล่าอยู่มาก ตั้งแต่ในครั้งสมัยพุทธกาลนานมาแล้ว พระมหาไพรวัลย์ย้อนถึงเรื่องเล่าในสมัยพุทธกาลว่า
“อย่างกรณีของ พระวักกลิ ที่ติดตามพระพุทธเจ้าเพราะหลงรักในความสิริโฉมของพระพุทธเจ้า จนสุดท้ายจะไปกระโดดหน้าผาฆ่าตัวตาย เพราะโดนพระพุทธเจ้าไล่ออกจากวัด จนสุดท้ายพระพุทธเจ้าต้องเป็นคนไปปลอบ”
จากกรณีนี้ถือเป็นภาพสะท้อนที่ทำให้เห็นว่า จริงๆ แล้วการที่พระภิกษุสงฆ์จะมีความรักนั้นถือเป็นเรื่องธรรมดามากๆ เพราะขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ย่อมมีมิติของความทุกข์ ความเศร้า ความโกรธ หรือความเสียใจ เป็นธรรมชาติของปุถุชน ซึ่งพระเองก็ถือเป็นมนุษย์ที่ย่อมมีความรู้สึกไม่ต่างจากคนปกติทั่วไป เพียงแต่ควรปล่อยมันออกมาตามช่วงเวลาที่เหมาะสม ตามความเห็นของพระมหาไพรวัลย์ ซึ่งคำว่า ‘เวลา’ เป็นสิ่งที่เราไม่อาจกำหนดกันได้อยู่แล้ว
ข้อพิพากของศาสนากับภาพยนตร์
นอกเหนือจากประเด็นของความเหมาะสมกับฉากพระร้องไห้ในเรื่อง ยังคงมีอีกหลายกระแสที่ผุดขึ้นตามมา หลังจากมีการสั่งเบรกห้ามฉายหนังเรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 อย่างไม่มีกำหนดจนกว่าจะผ่านการตรวจของกองเซนเซอร์อย่างละเอียด ซึ่งเหตุการณ์นี้ได้กลายเป็นประเด็นที่ทำให้ผู้คนในสังคม โดยเฉพาะแฟนหนังตั้งคำถามไว้ว่า ‘มาตรฐานของเซนเซอร์’ จริงๆ แล้วอยู่ที่ตรงไหน
อย่างที่ทราบกันว่า เรื่องของการหยิบยกเรื่องราวที่เกี่ยวข้องกับศาสนามาเป็นส่วนหนึ่งของภาพยนตร์ไทยที่ผ่านมา มักสร้างกระแสที่มาพร้อมคำถามกับคำว่า เหมาะสมหรือไม่มาโดยตลอด ภาพยนตร์บางเรื่องก็ผ่านเซนเซอร์บ้าง และบางเรื่องก็ไม่ผ่าน
พระมหาไพรวัลย์ได้ให้ความเห็นเสริมถึงประเด็นนี้ว่า เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ พร้อมมองว่า ประเด็นปัญหาหลักของเรื่องนี้ก็คือมาตรฐานการเซนเซอร์, ระบบการคัดกรองหนังที่ไม่มีมาตรฐาน เพราะภาพยนตร์บางเรื่องได้มีการนำศาสนามาตีแผ่ในเชิงล้อเลียนกลับไม่ถูกเซนเซอร์แต่อย่างใด จนสร้างความสงสัยว่า แท้จริงแล้ว ระบบของการคัดกรองความเหมาะสมของเนื้อหาในภาพยนตร์แต่ละเรื่องมีมุมมองอะไรเป็นตัวชี้วัดว่าผ่านหรือไม่ผ่าน
“แน่นอนว่าหนังทุกเรื่องถ้ามีคนดู 100 คน เราเชื่อได้เลยว่า 100 คนนี้ต้องตีความหรือมีมุมมองกับหนังไม่เหมือนกัน แต่ว่าต้องปล่อยให้มันได้ฉายบ้าง ให้มันได้มีภาพออกไป ให้มันเกิดกระแสการพูดถึงกันในสังคม ส่วนตัวคิดว่าวิธีนี้ต่างหากคือวิธีที่คัดกรองหนังที่ดีกว่าระบบเซนเซอร์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน” พระมหาไพรวัลย์ให้ความเห็นทิ้งท้าย
อย่างไรก็ตาม ล่าสุดภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ให้ฉายได้แล้ว แต่มีเงื่อนไขที่จะต้องตัดฉากที่พระเกาะโลงและร้องไห้ให้สั้นลง
ขณะที่ นายอวิรุทธ์ อรรคบุตร โปรดิวเซอร์ภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 เผยถึงเงื่อนไขดังกล่าวกับบีบีซีไทยว่า “มีการตัดบางคัตออกไปราว 7-10 วินาที ซึ่งเป็นส่วนของฉากที่มีปัญหา คือช่วงที่พระจับโลงศพ แล้วนำเอาคัตอื่นที่พระแสดงความเสียใจแต่ฟูมฟายน้อยลงมาใส่แทน พูดง่ายๆ ก็คือทำให้สั้นลงและซอฟต์ลง” ซึ่งมีการคาดการณ์ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะยังไม่ถูกฉายในทันที เพราะต้องผ่านการตัดต่อใหม่ ซึ่งเวลาออกฉายจะมีการประกาศให้ทราบอีกทีในภายหลัง
หลังจากนี้ไม่ว่าภาพยนตร์เรื่อง ไทบ้านเดอะซีรีส์ 2.2 จะมีกำหนดออกฉายช้าหรือเร็วเพียงใด แต่จากกรณีนี้ถือเป็นตัวอย่างที่ดีที่สะท้อนให้เห็นว่า ต่อให้กาลเวลาจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่ประเด็นเรื่องของศาสนาก็ยังคงเป็นสิ่งที่ละเอียดอ่อนที่สุดภายในจิตใจของคนไทยเสมอ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: