×

UK Election 2017: ทำไม เทเรซา เมย์ ยุบสภา? จุดยืนของแต่ละพรรคต่อเรื่อง Brexit และผู้อพยพ

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

12 Mins. Read
  • ความเห็นที่แตกต่างกันของพรรคการเมืองต่างๆ ต่อกระบวนการ ‘Brexit’ ส่งผลให้นางเทเรซา เมย์ ตัดสินใจขอมติรัฐสภา ประกาศจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นก่อนกำหนดในวันที่ 8 มิถุนายนนี้
  • พรรคอนุรักษนิยมจะเดินหน้าผลักดันกระบวนการเจรจานำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงการลาออกจากการเป็นตลาดเดียวและการเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากร (Single Market and Custom Union) ต่างจากพรรคเเรงงานที่ยังคงเห็นถึงความสำคัญของการเป็นตลาดเดียวและการเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรต่อไป
  • หากพรรคอนุรักษนิยมของนางเทเรซา เมย์ ได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาลอีกสมัย อาจจะส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาต่างชาติจะต้องเดินทางกลับประเทศของตนทันทีหลังจากเรียนจบ เนื่องมาจากมาตรการควบคุมจำนวนผู้อพยพภายในประเทศ ที่นับรวมคนกลุ่มนี้ไว้ด้วย
  • ผลโพลจากหลายสำนักและผลการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นครั้งล่าสุดชี้ให้เห็นว่า  พรรคอนุรักษนิยมได้รับคะแนนนิยมสูงสุด มีแนวโน้มที่จะชนะการเลือกตั้งทั่วไป และได้รับสิทธิจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

     นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ (Theresa May) สร้างความประหลาดใจให้กับทั้งโลก เมื่อเธอประกาศยุบสภาและเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้วทั่วไป หลังจากเธอเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อจากนายเดวิด คาเมรอน ได้เพียงราว 9 เดือน ในตอนนั้นนายคาเมรอนประกาศลาออกหลังจากฝ่าย Bremain ที่ตนสนับสนุนเป็นฝ่ายแพ้ในการลงประชามติให้สหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน ปีที่แล้ว

     การเห็นชอบของรัฐสภาต่อการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าทำให้การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ เกิดขึ้นเร็วก่อนกำหนดเดิมถึง 3 ปี ซึ่งโดยปกติแล้วการเลือกตั้งทั่วไปของสหราชอาณาจักรจะเกิดขึ้นทุกๆ 5 ปี นอกจากว่าการยุบสภานั้นได้รับมติเห็นชอบ 2 ใน 3 จากรัฐสภา ตาม Fixed-term Parliaments Act 2011

     ก่อนหน้านี้นางเมย์ยืนยันผ่านสื่อต่างๆ หลายต่อหลายครั้งว่า จะไม่มีการจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2020 อย่างแน่นอน และจะนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปใน 4 ปีที่เหลือในสมัยการดำรงตำแหน่งของเธอ แต่ทำไมสุดท้ายเธอถึงกลับลำตัดสินใจยุบสภา และขอจัดการเลือกตั้งเร็วกว่ากำหนดการเดิมถึง 3 ปี จนส่งผลให้ทุกพรรคต้องขยันกันออกนโยบายเกี่ยวกับประเด็นสำคัญอย่าง Brexit และผู้อพยพเพื่อเรียกคะแนนนิยม

     แล้วแต่ละพรรคมีจุดยืนต่อเรื่องนี้อย่างไร และการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ จะส่งผลต่อสหภาพยุโรปในประเด็นไหนบ้าง

 

 

ทำไมเทเรซา เมย์ถึงตัดสินใจครั้งสำคัญยุบสภาและจัดการเลือกตั้งก่อนกำหนดถึง 3 ปี

     สาเหตุสำคัญที่ทำให้นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ตัดสินใจยุบสภาและออกมาเรียกร้องให้จัดการเลือกตั้งทั่วไปก่อนกำหนดถึง 3 ปี เพราะเธออ้างว่า ความเห็นที่ไม่ลงรอยกันต่อเรื่อง Brexit ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆ ไปจนถึงสภาขุนนาง ทำให้ขัดขวางกระบวนการเจรจา Brexit ของพรรคอนุรักษนิยม และกลายเป็นเกมการเมือง อย่างไรก็ตามมีการวิเคราะห์ว่า เธอต้องการยุบสภาเพราะภายในพรรคอนุรักษนิยมเองก็เกิดความแตกแยก รวมถึงเธออาจต้องการยืดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของเธอ โดยตามกำหนดการแล้วสหราชอาณาจักรจะออกจากสหภาพยุโรปอย่างเป็นทางการในวันที่ 29 มีนาคม 2019 หรือประมาณ 2 ปีหลังจากนี้

     ทั้งนี้ระยะเวลา 2 ปีนี้อาจจะสั้นลงหากสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป สามารถเจรจาและจัดจำข้อตกลงว่าด้วยการออกจากสหภาพยุโรปได้ก่อนกำหนด หรืออาจขยายออกไป ถ้าคณะมนตรีสหภาพยุโรปและรัฐสมาชิกอื่นๆ มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ขยายระยะเวลา 2 ปีดังกล่าว

     เทเรซา เมย์ กล่าวในวันที่ตัดสินใจยุบสภาว่า “หลังการลงประชามติ Brexit สหราชอาณาจักรต้องการความแน่นอน ความมั่นคง และผู้นำที่แข็งแกร่ง ประเทศกำลังก้าวไปข้างหน้า รัฐบาลชุดปัจจุบันกำลังเผชิญกับความแตกแยกในรัฐสภา เราจึงจำเป็นต้องประกาศยุบสภาและจัดการเลือกตั้งทั่วไปขึ้น เพื่อให้เรามีโอกาสทำงานนี้ให้สำเร็จ”

     การตัดสินใจยุบสภาและจัดการเลือกตั้งในครั้งนี้จึงเปรียบเสมือนเรียกความมั่นใจจากประชาชนอีกครั้งว่า ประชาชนสนับสนุนแนวทางการนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปของเธอ ซึ่งยังสะท้อนอีกว่าเธอมั่นใจว่าประชาชนส่วนใหญ่จะสนับสนุนแนวทาง Brexit ของเธอ และจะทำให้พรรคอนุรักษนิยม คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะถึงนี้ ทั้งหมดนี้จึงเป็นการค้ำประกันเสถียรภาพทางการเมืองของสหราชอาณาจักรว่า จะไม่มีเสียงแตกแยกเกิดขึ้นในระหว่างที่มีกระบวนการผลักดันให้ประเทศออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (EU)

     ถ้าหากนางเมย์ชนะการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ นอกจากรัฐบาลของเธอจะมีเสถียรภาพมากขึ้นแล้ว ยังจะสร้างความชอบธรรมในการบริหารประเทศให้กับเธอในฐานะที่เป็น ‘นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 2 แห่งสหราชอาณาจักรที่มาจากการเลือกตั้ง’ หลังจากมาร์กาเร็ต แทตเชอร์ (Margaret Thatcher) ผู้นำพรรคอนุรักษนิยมที่ชนะการเลือกตั้งในปี 1979 เพราะก่อนหน้านี้เธอเข้ามารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีแทนนายเดวิด คาเมรอน ที่ไม่สามารถทำให้ชาวอังกฤษตัดสินใจเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อได้

 

 

จุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆ ต่อกรณี Brexit อยู่ตรงไหน

     Brexit คือสาเหตุหลักที่นำมาสู่การยุบสภาของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ แนวทาง Brexit ของแต่ละพรรคจึงเป็นอีกสิ่งที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพิจารณาเป็นหลัก จากการสำรวจความคิดเห็นของชาวอังกฤษโดย YouGov พบว่า พวกเขาให้ความสนใจต่อประเด็น Brexit มากที่สุดถึง 63% รองลงมาคือ ประเด็นด้านสุขภาพ ประเด็นเกี่ยวกับผู้อพยพ ผู้ลี้ภัย และประเด็นด้านเศรษฐกิจ ตามลำดับ ส่งผลให้พรรคการเมืองแต่ละพรรคต้องทำการบ้านอย่างหนักในการออกแบบนโยบายต่อเรื่อง Brexit และประเด็นเรื่องผู้อพยพ เพื่อสะท้อนจุดยืนและเรียกเสียงสนับสนุนให้พรรคของตนมากที่สุด

     พรรคอนุรักษนิยม (Conservative Party) ภายใต้การนำของ เทเรซา เมย์ มีจุดยืนที่ชัดเจนว่า จะเดินหน้าผลักดันกระบวนการเจรจานำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป รวมถึงจะลาออกจากการเป็นตลาดเดียว และการเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากร (Single Market and Custom Union) อีกด้วย แต่จะพยายามรักษาความสัมพันธ์กับประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปอื่นๆ หลังจากกระบวนการ Brexit สิ้นสุดลง เพื่อยังรักษาผลประโยชน์ทางการค้าและความร่วมมือด้านอื่นๆ

     เทเรซา เมย์ ประกาศว่า เธอยินดีที่จะยุติการเจรจา (No Deal) หากข้อตกลงนั้นส่งผลเสียให้แก่สหราชอาณาจักรมากกว่า และจะใช้โอกาสนี้ในการจัดระเบียบประเทศครั้งใหม่โดยจะผ่านกฎหมาย Great Repeal Bill คือบทกฎหมายที่จะสั่งยกเลิก 1972 European Communities Act ที่กำหนดให้กฎหมายอียูเป็นส่วนหนึ่งของระบบกฎหมายสหราชอาณาจักร และยอมรับอำนาจของของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป (European Court of Justice) ในการพิจารณาคดี ดังนั้นการบังคับใช้ Great Repeal Bill จึงอาจหมายถึงการยกเลิกการบังคับใช้กฎหมายสหภาพยุโรปในสหราชอาณาจักร และยกเลิกอำนาจของศาลยุติธรรมแห่งสหภาพยุโรป ซึ่งจะเป็นกระบวนการที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากที่สุดครั้งหนึ่ง เพราะตัวบทกฎหมายของสหภาพยุโรปในระบบกฎหมายสหราชอาณาจักรมีความเกี่ยวพันกับเรื่องต่างๆ หลากหลายรูปแบบ แม้ว่านโยบายของพรรคอนุรักษนิยมจะสะท้อนว่าต้องการ ‘อำนาจในการตัดสินใจ’ คืนอย่างชัดเจน แต่เธอก็จะยังให้สิทธิพลเมืองแก่ชาวยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักร และชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในยุโรป

     ด้าน พรรคแรงงาน (Labour Party) ที่นำโดย เจเรมี คอร์บิน (Jeremy Corbyn) ดูจะมีจุดยืนอยู่ข้างสหภาพยุโรปมากกว่าพรรคอนุรักษนิยม แม้จะยืนยันเหมือนกับพรรคอนุรักษนิยมว่าจะนำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป เพื่อเคารพผลประชามติที่เกิดขึ้น แต่พรรคแรงงานยังต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นตลาดเดียวกับสหภาพยุโรป และเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรยุโรปต่อไป นอกจากนี้จะยังรักษาความสัมพันธ์ที่แนบแน่นกับองค์กรระหว่างประเทศในยุโรป เช่น EUROTOM, European Medicines Agency รวมถึงประเทศอื่นๆ ในยุโรปด้วย

     อีกประเด็นสำคัญที่พรรคแรงงานเห็นต่างจากพรรคอนุรักษนิยมคือ พรรคแรงงานจะยกเลิก Great Repeal Bill ที่พรรคอนุรักษนิยมเตรียมประกาศใช้เพื่อยกเลิกกฎหมาย EU และจะผลักดันกฎหมายที่ปกป้องสิทธิและชีวิตความเป็นอยู่ของกลุ่มแรงงานที่ทำงานอยู่ทั้งในและนอกประเทศแทน (EU Rights and Protection Bills) เพื่อประกันสิทธิแก่พลเมืองยุโรปที่อาศัยอยู่ในสหราชอาณาจักรและพลเมืองชาวอังกฤษที่อาศัยอยู่ในยุโรปทันทีที่พรรคแรงงานได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล นอกจากนี้พรรคแรงงานยังมีนโยบายต่อการเจรจานำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรปที่ผ่อนปรนกว่าพรรคอนุรักษนิยมคือ พร้อมจะปรับเงื่อนไขและกระบวนการบางอย่างหากจำเป็น

     อีกพรรคที่มีนโยบายต่อเรื่อง Brexit ที่น่าจับตามองคือ พรรคเสรีประชาธิปไตย (Liberal Democracy Party) ภายใต้ผู้นำพรรคอย่าง ทิม ฟาร์รอน (Tim Farron) เพราะพรรคเสรีประชาธิปไตยเรียกร้องให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับกรณี Brexit อีกครั้ง และต้องการให้สหราชอาณาจักรยังอยู่ในตลาดเดียวของยุโรปและเป็นสมาชิกสหภาพศุลกากรต่อไป และเสนอตัวว่าจะเป็นพรรคการเมืองหลักที่จะเจรจาหารือกับสหภาพยุโรปในประเด็น Brexit รอบสุดท้ายที่สำนักงานใหญ่ของสหภาพยุโรปกรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม โดยพรรคเสรีฯ หวังว่าจุดยืนนี้จะช่วยเรียกเสียงสนับสนุนจากกลุ่มคนที่ยังคงต้องการให้สหราชอาณาจักรเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป (Bremain)

     ผลสำรวจของ YouGov ต่อประเด็น Brexit พบว่า 34% ของผู้ถูกสำรวจมองว่า พรรคอนุรักษ์นิยมภายใต้การนำของนางเมย์จะสามารถผลักดันและจัดการกระบวนการนี้ได้ดีที่สุด รองลงมาคือพรรค UKIP (UK Independence Party) พรรคแรงงาน และพรรคเสรีประชาธิปไตยตามลำดับ

 

 

ประเด็นผู้อพยพและผู้ลี้ภัยคืออีกประเด็นที่ส่งผลต่อการตัดสินใจของชาวอังกฤษ

     อีกปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่การตัดสินใจออกจากสหภาพยุโรปของชาวอังกฤษคือ การรับผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเข้ายุโรปในช่วงที่ผ่านมา จนเกิดเป็นความรู้สึกกลัวต่อการทะลักของคนชาติอื่น และนำมาสู่กระแสขวาในยุโรปอย่างที่เราเห็นจากการเลือกตั้งของเนเธอร์แลนด์และฝรั่งเศสที่ผ่านมา นโยบายต่อเรื่องผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจึงจะเป็นอีกประเด็นสำคัญที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งจะพิจารณาในครั้งนี้

     พรรคอนุรักษนิยมตั้งใจปรับลดจำนวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยจากที่มีประมาณ 273,000 คน ให้เหลือต่ำกว่า 100,000 คน แต่จะเสนอที่หลบภัยที่อื่นในโลกให้ อีกทั้งยังจะเพิ่มค่าธรรมเนียมการว่าจ้างและค่ารับบริการสาธารณสุขจากคนกลุ่มนี้ที่อยู่ในสหราชอาณาจักรอีกด้วย ประเด็นที่น่าสนใจคือนักเรียนแลกเปลี่ยนและนักศึกษาต่างชาติก็ถูกนับรวมในจำนวนผู้อพยพข้างต้นด้วย ส่งผลให้นักเรียนนักศึกษาเหล่านี้อาจจะต้องเดินทางกลับประเทศของตนทันทีหลังเรียนจบ หากพรรคอนุรักษนิยมได้รับเลือกให้เป็นรัฐบาล อีกทั้งกฎระเบียบและเงื่อนไขสำหรับนักเรียนนักศึกษาต่างชาติที่จะพำนักและทำงานในสหราชอาณาจักรจะเข้มงวดขึ้น

      ด้านพรรคแรงงานต้องการควบคุมจำนวนผู้อพยพและผู้ลี้ภัยเช่นกัน แต่จะไม่นับรวมนักเรียนนักศึกษาต่างชาติอยู่ในกลุ่มตัวเลขสถิติผู้อพยพนี้ แต่อาจจะต้องมีการตรวจสอบมากขึ้นเพื่อป้องกันการแอบอ้างเป็นนักเรียนและสวมสิทธิในการลักลอบเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย ทั้งนี้พรรคแรงงานจะยังสนับสนุนทุนการศึกษาสำหรับนักเรียนแลกเปลี่ยนและนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการจะมาศึกษาต่อที่สหราชอาณาจักร รวมถึงสนับสนุนให้นักเรียนชาวอังกฤษไปศึกษาที่สถาบันการศึกษาอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะทุน Erasmus Mundus พร้อมทั้งจะยกเลิกค่าธรรมเนียมทางการศึกษา

      ขณะที่พรรคเสรีประชาธิปไตยมีจุดยืนต่อเรื่องการรับผู้อพยพแตกต่างจากทั้ง 2 พรรคข้างต้น เพราะจะอนุญาตให้ผู้อพยพที่เป็นแรงงานมีฝีมือเข้าไปทำงานในภาคเศรษฐกิจต่างๆ ที่เป็นหัวใจสำคัญในการผลักดันประเทศให้เจริญเติบโตได้ และจะไม่นับรวมนักเรียนนักศึกษาต่างชาติให้อยู่ในกลุ่มตัวเลขสถิติผู้อพยพนี้เช่นเดียวกันกับพรรคแรงงาน นอกจากนี้จะยังขยายพื้นที่หลบภัยให้แก่ผู้อพยพและผู้ลี้ภัยชาวซีเรียอีกจำนวน 50,000 คน และถึงแม้ว่าจะไม่มีการยกเลิกค่าธรรมเนียมทางการศึกษา แต่พรรคเสรีประชาธิปไตยพยายามจะกวาดฐานเสียงจากคนรุ่นใหม่ด้วยการจัดประชามติกรณี Brexit อีกครั้ง เพราะผลสำรวจสะท้อนว่า คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนในเมืองใหญ่อย่างเช่นลอนดอน สนับสนุนให้อังกฤษเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปต่อไป แต่ถ้าหากผลประชามติยังออกมาเช่นเดิม พรรคเสรีประชาธิปไตยจะเจรจากับสหภาพยุโรปให้ทั้งชาวยุโรปและชาวอังกฤษยังสามารถเดินทางเข้าออกประเทศระหว่างกันอย่างอิสระ (Freedom of Movement) อีกทั้งมีนโยบายผ่านกฎหมายให้กัญชา (Cannabis) เป็นสิ่งถูกต้องตามกฎหมาย


ผลักดันประเด็นด้านสุขภาพและสาธารณสุขเอาใจประชาชน

      หลังจากมีการเรียกร้องให้ปรับปรุงด้านการบริการสาธารณสุขของประเทศ ทุกพรรคการเมืองส่วนใหญ่จึงหันมาทุ่มงบประมาณและให้การสนับสนุนทางด้านนี้มากยิ่งขึ้น พรรคอนุรักษนิยมจะเพิ่มงบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศจำนวน 8 พันล้านปอนด์ ภายใน 5 ปี นอกจากนี้จะเพิ่มการจ้างงานของพยาบาลและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอีกจำนวน 10,000 อัตราภายในปี 2020

     ด้านพรรคแรงงานจะออกนโยบาย Free Child Care ดูแลรักษาพยาบาลฟรีแก่เด็กอายุ 2-4 ปี รวมถึงจัดทำลิสต์ผู้ที่จะเข้าใช้บริการสาธารณสุขจำนวน 1,000,000 คน เพื่อประกันว่าจะได้รับบริการภายใน 18 สัปดาห์ หรือภายใน 4 ชั่วโมงในกรณีที่ได้รับอุบัติเหตุฉุกเฉิน ทั้งนี้ยังจะจัดทำแผนพัฒนาระบบบริการด้านสาธารณสุข พร้อมทุ่มงบประมาณอีกราวๆ 3 หมื่นล้านปอนด์ และยกเลิกค่าธรรมเนียมค่าจอดรถในสถานพยาบาลต่างๆ

      พรรคเสรีประชาธิปไตยจะขึ้นภาษีรายได้เพื่อนำเงินส่วนนี้ราวๆ 6 พันล้านปอนด์มาพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขและด้านความมั่นคงปลอดภัยของพลเมืองภายในประเทศ

     ส่วนพรรคอื่นๆ เช่น พรรค Green Party จะทุ่มงบประมาณในการพัฒนาระบบการบริการสาธารณสุขของประเทศ โดยเน้นไปที่การให้บริการเกี่ยวกับด้านสุขภาพจิต อีกทั้งสนับสนุนให้รัฐเข้ามาจัดการดูแลในเรื่องนี้อีกด้วย

 

3 พรรคใหญ่ต่างไม่ต้องการจัดประชามติแยกสกอตแลนด์ออกจากสหราชอาณาจักร

     พรรคการเมืองหลักในการเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็น พรรคอนุรักษนิยม พรรคแรงงาน และพรรคเสรีประชาธิปไตย ต่างไม่เห็นด้วยกับจุดยืนและแนวทางของพรรคชาตินิยมสกอตแลนด์ (Scottish National Party) ภายใต้การนำของนางนิโคลา สเตอร์เจียน (Nicola Sturgeon) ที่ต้องการจัดการลงประชามติและแยกสกอตแลนด์ให้เป็นเอกราชจากสหราชอาณาจักร แม้ประเด็นนี้จะเคยถูกปัดตกไปเมื่อ 3 ปีก่อน

     นอกจากนี้ยังมีประเด็นอื่นๆ ที่น่าสนใจ เช่น พรรคแรงงานเตรียมเปิดพื้นที่เพื่อพูดเรื่องการปฏิรูปรัฐธรรมนูญอังกฤษ และปรับลดอายุของผู้มีสิทธิเลือกตั้งเป็น 16 ปี เช่นเดียวกันกับพรรคเสรีประชาธิปไตย และพรรค Green Party

     ส่วนเรื่องระบอบการปกครองนั้น พรรคเสรีประชาธิปไตยมีนโยบายเน้นการกระจายอำนาจจากส่วนกลางไปยังภูมิภาคอื่นๆ ขณะที่พรรค Green Party จะแทนที่วุฒิสภา (House of Lords) ด้วยอีกหนึ่งสภาที่มาจากการเลือกตั้ง (an elected second chamber)

 

การเลือกตั้งสภาท้องถิ่นที่สะท้อนความนิยมของพรรคอนุรักษนิยม

     เมื่อต้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา พรรครัฐบาลอย่างพรรคอนุรักษนิยมของนายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ ได้รับชัยชนะจากการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นไปอย่างท่วมท้น โดยได้ที่นั่งเพิ่มถึง 558 ที่นั่ง จาก 88 เขตทั่วสหราชอาณาจักร นับเป็นผลงานที่ยอดเยี่ยมในการปูทางไปสู่ชัยชนะในการเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายนนี้ ชัยชนะในการเลือกตั้งสภาท้องถิ่นสะท้อนว่าประชาชนสนับสนุนพรรคอนุรักษนิยม โดยเฉพาะกระบวนการเดินหน้านำสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป

     นอกจากนี้ผลการสำรวจความคิดเห็นจากโพลหลายสำนักชี้ว่า พรรคอนุรักษนิยมของนางเมย์ยังคงมีคะแนนนิยมทิ้งห่างพรรคแรงงานของนายคอร์บินราวๆ 10-15% แม้คะแนนนิยมของทั้งสองพรรคใหญ่นี้จะสูสีขึ้นเรื่อยๆ แต่สื่อหลายสำนักยังคงคาดการณ์ว่า พรรคอนุรักษนิยมจะสามารถช่วงชิงเก้าอี้ในรัฐสภาล่างได้มากกว่า 326 ที่นั่ง และได้รับสิทธิในการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่

     หากพรรคอนุรักษนิยมชนะการเลือกตั้งทั่วไปในครั้งนี้ และประสบความสำเร็จในการเดินหน้าผลักดันกระบวนการนำสหราชอาณาจักรออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป (Brexit) จะส่งผลให้สหราชอาณาจักรต้องกระชับความสัมพันธ์กับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป เพื่อรักษาพันธมิตรทางการค้าและความร่วมมือด้านอื่นๆ ดังที่เราได้เห็นนายกรัฐมนตรีเมย์เดินทางไปพบประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐอเมริกาก่อนหน้านี้ นอกจากนี้อาจเปิดช่องทางใหม่ๆ ให้กับการค้าระหว่างอังกฤษกับไทย อย่างเช่นที่ ไบรอัน เดวิดสัน (Brian Davidson) เอกอัครราชทูตอังกฤษประจำประเทศไทยเคยกล่าวไว้ในงาน ‘Brexit: The Opportunities for Thailand and Global Economy’ ว่า Brexit ไม่ได้หมายถึงการออกเพื่อต่อต้านโลกาภิวัตน์ เพียงแต่อังกฤษต้องการอำนาจในการออกนโยบายต่างๆ ได้อย่างอิสระมากขึ้น และยังเปิดโอกาสให้อังกฤษได้สานสัมพันธ์กับประเทศในภูมิภาคอื่นๆ

     และเมื่อกลางปีที่แล้ว ไทยและอังกฤษได้ก่อตั้งสภาผู้นำธุรกิจไทย-สหราชอาณาจักร (Thai-British Business Council) ขึ้น เพื่อส่งเสริมและพัฒนาความร่วมมือทางด้านการค้า และมีมูลค่าการค้าร่วมกัน 5,867.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ปี 2016 มกราคม-ธันวาคม) โดยสหราชอาณาจักรเป็นนักลงทุนที่สำคัญอันดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มประเทศ EU ส่วนไทยเองก็เป็นคู่ค้าที่สำคัญอันดับที่ 2 ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของสหราชอาณาจักรเช่นกัน

 

     การเลือกตั้งทั่วไปครั้งนี้จึงไม่เพียงแต่เกี่ยวพันกับอนาคตของสหราชอาณาจักรและทวีปยุโรป แต่ยังมีผลต่อทิศทางและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

ภาพประกอบ: Karin Foxx

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X