นิวัติ กองเพียร เป็นนักเขียน นักวิจารณ์ ศิลปิน และเกจินู้ดชื่อดัง ใครหลายคนสวมหมวกให้เขาอย่างนั้น
นิวัติ กองเพียร เป็นนักเขียน นักวิจารณ์ บรรณาธิการที่ทำงานหนังสือมาทั้งชีวิต
นิวัติ กองเพียร จึงเป็นคนรักหนังสือมาก มากจนเก็บหนังสือเป็นพันเป็นหมื่นเล่มไว้ในห้องสมุดของเขาเอง
เราเดินทางไปหา นิวัติ กองเพียร ที่บ้านริมน้ำเฮือนสวาง จังหวัดปทุมธานี บ้านพักอาศัยที่เต็มไปด้วยข้าวของจากทุกช่วงชีวิตของเขา อาคารปูนเปลือยใต้ถุนสูงที่เขาเรียกว่า ‘ห้องสมุด’ ที่อยู่แห่งใหม่ของหนังสืออันทรงคุณค่าที่เขาเก็บสะสมมาทั้งชีวิต
นิวัติสะเดาะกลอนห้องสมุดเพื่อให้เราเดินเข้าไปตามหาหนังสือที่พิมพ์ครั้งที่ 1 ของนักเขียนคนดังแห่งประวัติศาสตร์อย่าง อาจินต์ ปัญจพรรค์, ‘รงค์ วงษ์สวรรค์, ชาติ กอบจิตติ ฯลฯ
นิวัติเปิดกลอนพาเราชมห้องสมุดที่เต็มไปด้วยหนังสือเกือบทุกแนว หนังสือภาพฝรั่งที่ขนมาจากต่างประเทศ แค็ตตาล็อก แกลเลอรี หรือพิพิธภัณฑ์อีกมากโข
“ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือก็เท่านั้นเอง นอกจากอ่านหนังสือก็เก็บหนังสือ ซื้อหนังสือ ทั้งชีวิตนี้ก็ทำงานหนังสือมาโดยตลอด ไม่เคยทำอย่างอื่น”
จุดเริ่มต้นของการรักหนังสือ
“เรารักหนังสือ พอเราอ่านแล้วได้อะไรจากหนังสือ เรามีความสุข”
สมัยนิวัติเรียนชั้น ม.3 เขาเป็นนักวิ่งมาราธอนที่นับว่าเก่งที่สุดในจังหวัดจนมีคนมาชวนไปเรียนวิทยาลัยพลานามัย แต่ดันสอบไม่ติด เลยเว้นว่างทางการเรียนแล้วย้ายไปอยู่กับพี่สาวที่โคราช 1 ปีเต็ม
ที่นั่นเองทำให้เขารู้จักกับหนังสือ
“วันๆ ไม่มีงานทำ ผมก็เลยไปที่ห้องสมุดที่โคราช ไปอ่านหนังสือที่นั่น แล้วก็เริ่มอ่านหนังสืออย่างจริงจัง อ่าน จัน ดารา ของประมูล อุณหธูป ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ แต่ยังไงผมก็ไปห้องสมุดทุกวัน
“สิ่งที่หนังสือให้ที่สุดเลยคือความคิด อ่านปุ๊บมันได้ความคิดทันที แค่ 2-3 ประโยคมันก็ได้ความคิดแล้ว”
จุดเริ่มต้นของการทำงานหนังสือ
“ผมเรียนจบเพาะช่าง ผมเดินไปหาอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ คนที่ผมชอบและอ่านหนังสือเขามาโดยตลอด เดินไปหาที่ออฟฟิศ เข้าไปขอพบอาจารย์สุลักษณ์ เขาก็ให้พบ
“ผมเข้าไปแล้วก็กลัวมาก เพราะพอรู้ประวัติอาจารย์ว่าเป็นคนดุมาก ผมบอกอาจารย์ว่าผมเรียนอยู่เพาะช่าง อยากจะมาทำหนังสือสังคมศาสตร์ปริทัศน์ ตอนนั้นมีฝ่ายศิลป์อยู่คนหนึ่งซึ่งเป็นครูของผมเองคือ นันทะ เจริญพันธ์ อาจารย์สุลักษณ์ก็รับผมเข้าทำงานเลย แถมมีเงินเดือนให้ 600 บาทด้วยนะ จริงๆ เท่าไรผมก็เอา
“ผมเข้าไปทำงานกับพี่นันทะ เป็นผู้ช่วยฝ่ายศิลป์ ไปช่วยตีเส้น ดูอาร์ตเวิร์ก แล้วก็ทำงานกับอาจารย์สุลักษณ์ตลอดมาจนเกือบ 30 ปีที่คลุกคลีอยู่กับการทำงานหนังสือ”
มองหนังสือเป็นความรู้และความงาม
“เราเป็นคนทำหนังสือไง เราจะรักหนังสือตั้งแต่ปกไปจนถึงหน้าสุดท้ายเลย ผมจะเก็บหนังสืออย่างดีขนาดที่ว่าไม่เคยพับมุมหนังสือเลย”
ความงามของหนังสือที่ว่าคืออะไร เราถาม
“หน้าปก รูปเล่ม ภาพประกอบ การจัดหน้า พารากราฟ ตัวหนังสือ ความพอดีของหนังสือเล่มนั้น ที่ว่างของหนังสือ มันเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งซึ่งต้องเรียนนะ
“ผมจะมีตู้ที่เรียกว่าตู้ชื่นใจ เป็นหนังสือที่ผมชอบที่สุดมาเก็บไว้ในตู้นี้เป็นพิเศษ อย่างเช่น หนังสือของประมูล อุณหธูป ปกเล่มที่เราชอบเราอ่าน เราชื่นใจ บางทีซื้อ 3-4 ปกเลย คือผมชอบเก็บหนังสือที่พิมพ์ครั้งที่ 1 พอมันเป็นหนังสือที่ออกมาครั้งแรก อะไรที่มันเป็นครั้งแรกมันก็ดีทั้งนั้นแหละ แต่ถ้ามีการพิมพ์ครั้งอื่นที่ปกดีๆ ผมก็จะซื้ออีก
“สุดท้ายผมคิดว่าหนังสือไม่น่าตายนะ มันคงลดจำนวนลงจริงๆ แต่ห้องสมุดก็ยังต้องอยู่ต่อไปในโลก ยกเว้นว่าคนที่ใช้หนังสือจะตายหมดแล้ว แต่ต้องใช้เวลาเป็นร้อยๆ ปี ผมว่ามันยังโอเคนะ”
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์