×

ศิลปิน ดารา กับมายาคติในการช่วยเหลือมนุษยธรรมแก่ประเทศด้อยพัฒนากว่า

23.10.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MINS READ
  • ดารามีส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเป็นที่รู้จัก และทำให้คนหันมาสนใจปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ แต่รูปภาพดาราฮอลลีวูดผิวขาวที่ห้อมล้อมด้วยเด็กๆ แอฟริกันกำลังผลิตซ้ำมายาคติบางอย่าง
  • หนึ่งในมายาคติที่เห็นได้ชัดคือความเชื่อเรื่อง ‘ภาระของคนขาว’ ที่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า
  • Tanja R. Müller อาจารย์ด้านการพัฒนาที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้เขียนถึงพัฒนาการของภาพถ่ายดาราที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ที่มักชี้ให้เห็นว่าความอดอยากเป็นผลมาจากธรรมชาติ แต่ไม่ได้เอ่ยถึงสงครามและการเมือง

ภาพดาราฮอลลีวูดผิวขาวถูกห้อมล้อมด้วยเด็กๆ ชาวแอฟริกัน กลายเป็นรูปภาพที่ถูกผลิตซ้ำขึ้นเสมอๆ เพื่อใช้โปรโมตโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม

 

ในทางหนึ่ง ดารามีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ช่วยทำให้โครงการเหล่านี้เป็นที่รู้จัก และทำให้คนหันมาให้ความสำคัญกับปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศต่างๆ แต่รูปภาพเช่นนี้ก็ผลิตซ้ำมายาคติบางประการ

 

ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือความเชื่อเรื่อง ‘ภาระของคนขาว’ ที่จำเป็นต้องเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศที่ด้อยพัฒนากว่า

 

 

แม้ว่าการวางกรอบของรูปภาพเหล่านี้อาจไม่ได้มาด้วยความตั้งใจของผู้ถ่าย หรือพูดง่ายๆ ก็คือไม่ได้ตั้งใจให้ภาพที่ออกมาสื่อความไปถึงเรื่องความไม่เท่าเทียมในเชิงโครงสร้างหรือความเหนือกว่าของคนขาวในฐานะผู้ให้

 

แต่การจัดวางองค์ประกอบของภาพย่อมสะท้อนให้เห็นมุมมองทางความคิดเบื้องลึกของผู้ถ่าย ซึ่งหลายครั้งความคิดเหล่านั้นก็เป็นผลมาจากภาพจำของผู้ถ่ายที่มีต่อสิ่งที่ถูกถ่ายนั่นเอง นั่นคือ หากผู้ถ่ายคิดว่าเด็กในแอฟริกาน่าสงสารและเป็นผู้รอรับความช่วยเหลือ ภาพที่เขาถ่ายออกมาก็จะเล่าเรื่องเช่นนั้น

 

เพราะภาพถ่ายคือภาพสะท้อนสำคัญของภาพจำและแนวความคิดที่มีต่อการให้ความช่วยเหลือและผู้รับการช่วยเหลือโดยตรง ดังนั้นหากแนวความคิดที่มีต่อภารกิจการให้ความช่วยเหลือเปลี่ยนไป ภาพถ่ายของดาราที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็ควรจะเปลี่ยนไปด้วย

 

 

Tanja R. Müller อาจารย์ด้านการพัฒนาที่มหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ได้เขียนถึงพัฒนาการของภาพถ่ายดาราที่เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมเอาไว้ในบทหนึ่งของหนังสือเรื่อง Visual Global Politics อย่างน่าสนใจ

 

Müller ชวนให้ผู้อ่านกลับไปพิจารณารายงานข่าวเรื่องสภาวะขาดแคลนอาหารในเอธิโอเปียในปี 1983-1985 ของ Michael Buerk และ Mohammed Amin ซึ่งได้รับการแพร่ภาพเป็นครั้งแรกที่ BBC เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 1984

 

 

ภาพชาวเอธิโอเปียในชุดกึ่งเหลืองกึ่งขาวนั่งรวมกันเพื่อรอรับความช่วยเหลือด้านอาหาร กลายเป็นภาพข่าวที่มีอิทธิพลต่อการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมมากที่สุดภาพหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยใหม่

วิธีการนำเสนอที่ชี้ให้เห็นว่าภาวะความอดอยากเป็นผลมาจากธรรมชาติ โดยไม่ได้พูดถึงสงครามต่อต้านกลุ่มติดอาวุธในเอธิโอเปียและเอริเทรีย ซึ่งอาจส่งผลต่อสภาวะอดอยากดังกล่าว ยิ่งทำให้ผู้รับชมรายงานดังกล่าวรู้สึกถึงความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือ เพราะเข้าใจว่าสภาวะอดอยากดังกล่าวไม่ได้มาจากปัญหาทางการเมืองที่ควรใช้เครื่องมือทางการเมืองในการแก้ไข

ทันทีที่รายงานชิ้นดังกล่าวได้รับการแพร่ภาพ เหล่าดารานักร้องนำโดย Bob Geldof นักร้องนำของวงดนตรีร็อกเชื้อสายไอริชอย่าง The Boomtown Rats ก็เข้าร่วมการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมโดยทันที

 

 

ซึ่งในกรณีนี้ Müller เน้นย้ำว่า แทนที่ดาราเหล่านี้จะตั้งคำถามถึงเหตุผลว่าภาวะขาดแคลนอาหารเกิดขึ้นได้อย่างไร และประเทศพัฒนาแล้วมีส่วนในการก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลนในประเทศเหล่านี้หรือไม่ (นั่นคือการเข้าครองอาณานิคมอาจส่งผลต่อการไม่พัฒนาของประเทศเหล่านี้) กลับสร้างความชอบธรรมต่อระเบียบโลกในปัจจุบันที่แบ่งออกเป็นประเทศพัฒนาแล้วกับด้อยพัฒนา

 

รูปภาพของ Geldof ในขณะที่เข้าเยี่ยมแคมป์ในเอธิโอเปีย แสดงให้เห็นความไม่เท่าเทียมดังกล่าวอย่างชัดเจน โดย Geldof เดินอยู่ท่ามกลางเด็กชาวเอธิโอเปียที่บ้างก็วิ่งตาม บ้างก็วิ่งนำ บ้างก็จับมือ Geldof ด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม ภาพดังกล่าวตัดเอาข้อเท็จจริงที่ว่า การเข้าเยี่ยมแคมป์ดังกล่าวของ Geldof ได้รับการจัดการโดยรัฐบาลเอธิโอเปีย ซึ่งได้นำเงินบริจาคเพื่อบรรเทาภาวะขาดแคลนอาหารบางส่วนไปใช้การในภารกิจต่อต้านกลุ่มติดอาวุธภายในประเทศ

 

เมื่อเวลาผ่านไป ภาพของดาราที่เข้าไปช่วยเหลือในโครงการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็มีลักษณะแตกต่างออกไป เมื่อโซมาเลียเกิดภาวะขาดแคลนอาหารในปี 2011 องค์กร ONE ได้ให้ภรรยาของ บ็อบ มาร์เลย์ เป็นผู้โปรโมตแคมเปญ พร้อมใช้เพลงของเขา I’m gonna be your friend เป็นสโลแกน

 

ที่น่าสนใจคือ แทนที่โครงการดังกล่าวจะขอความช่วยเหลือในรูปตัวเงิน กลับขอให้ผู้สนับสนุนช่วยกันคลิกผ่านเว็บไซต์เพื่อล็อบบี้นักการเมืองให้ให้ความสนใจต่อการป้องกันภาวะอดอยากและความยากจนอย่างเป็นระบบ

 

โครงการ ONE ไม่ฉายภาพภาวะขาดแคลนอาหารในโซมาเลีย แต่นำเสนอภาพดารา-นักร้องที่แสดงอารมณ์โกรธเนื่องจากพยายามชี้ให้เห็นว่าภาวะขาดแคลนอาหารเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้

 

อย่างไรก็ดี แม้จะให้ความสำคัญกับภาพผู้ได้รับผลกระทบน้อยลง การตีความว่าผู้ที่ต้องรับผิดชอบต่อภาวะขาดแคลนอาหารคือรัฐบาลที่ไร้ประสิทธิภาพในแอฟริกาแต่เพียงอย่างเดียว ก็เท่ากับว่าโครงการทางมนุษยธรรมดังกล่าวก็ไม่ได้หลุดออกจากกรอบการมองแอฟริกาเป็นประเทศที่ด้อยกว่าประเทศตะวันตกเสียทีเดียว

 

ในปัจจุบัน บทบาทของดารานักร้องและผู้มีชื่อเสียงต่อภารกิจช่วยเหลือเพื่อมนุษยธรรมเปลี่ยนไปจากการเข้าไปเกี่ยวข้องโดยตรง กลายเป็นการวางตัวเป็นตัวเป็นกลางระหว่างกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบและรอความช่วยเหลือกับรัฐบาลของประเทศพัฒนาแล้ว

 

รูปจอร์จ คลูนีย์ นั่งถกปัญหาด้านมนุษยธรรมในประเทศซูดานกับอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงจากมีส่วนร่วมด้วยการรณรงค์ลงพื้นที่ด้วยตัวเอง ไปสู่การเรียกร้องให้มีการวางแผนช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่มีระบบมากขึ้น โดยผู้มีชื่อเสียงทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ทั้งรัฐบาลและคนทั่วไปสนใจมากขึ้น

 

 

นอกจากนี้ดาราที่เข้าไปมีส่วนร่วมในภารกิจให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมในปัจจุบันยังมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น จากเดิมที่มักมีเพียงคนขาวและเป็นผู้ชาย ก็มีผู้หญิงอย่างเช่น แอนเจลินา โจลี เข้าร่วมมากขึ้น รวมทั้งยังมีศิลปินดาราจากประเทศแถบเอเชียเข้าร่วมมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากความเชื่อเรื่องภาระคนขาวเจือจางลง

 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมีศิลปินดาราจากประเทศกำลังพัฒนาเข้าร่วมด้วยอาจเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศใต้-ใต้ (South-South Cooperation) อันหมายถึงความร่วมมือระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันอีกด้วย

 

ทั้งนี้ทั้งนั้น แม้การเข้าร่วมภารกิจทางมนุษยธรรมของดาราอาจไม่สามารถช่วยบรรเทาความต้องการได้อย่างฉับพลัน แต่ดาราและบุคคลที่มีชื่อเสียงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการกำหนด ‘เส้นเรื่อง’ ที่เกี่ยวข้องกับภาวะความยากจนหรือภัยพิบัตินั้นๆ ดังที่ได้เห็นจากการเปลี่ยนแปลงความเข้าใจที่มีต่อสาเหตุของภัยพิบัติและลักษณะความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมที่มีตั้งแต่กรณีเอธิโอเปียเป็นต้นมา

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • Müller, T. R. (2018). Celebrity. In R. Bleiker (Ed.), Visual Global Politics(pp. 42-47). New York, NY: Routledge.
  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising