×

Bully สร้างแผลในใจได้ขนาดไหน และจะทำอย่างไรที่จะหยุดวงจรนี้

28.09.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

Time index

01:33 คนที่ Bully คนอื่นมักไม่รู้ตัว เพราะเป็นช่วงที่ตัวเองมีความสุข

02:05 รอยแผลในใจของเหยื่อที่ถูก Bully

04:52 จะรับมืออย่างไรถ้าถูก Bully

เพราะไม่ว่าใครในโลกใบนี้ต่างก็เคยตกเป็นเหยื่อ และเคย Bully คนอื่นอย่างไม่รู้ตัว เพื่อไม่ให้สร้างรอยแผลในใจ R U OK เอพิโสดนี้จะมาช่วยกันหาทางออกว่า จะทำอย่างไรเพื่อจะหยุดวงจรความรุนแรงนี้ และถ้าต้องตกเป็นเหยื่อการ Bully จะจัดการความรู้สึกติดลบในใจอย่างไรให้ดีขึ้น

 

การ Bully สร้างแผลทิ้งไว้ให้เหยื่ออย่างไร

คนที่เคยถูก Bully มาก่อนแทบไม่ต้องอธิบายเลยว่าแผลที่เกิดขึ้นในใจนั้นรุนแรงและยาวนานแค่ไหน บางแผลติดตัวเหยื่อเป็นปีหรือเป็นสิบปีก็ไม่เคยหาย ไม่ต่างกับการโดนทำร้ายทางกายจนเป็นแผลเป็น ไม่ได้เจ็บปวดเท่าเดิมแต่มันทิ้งรอยไว้อย่างไม่มีวันลืม เหยื่อบางคนที่ถูกกระทำความรุนแรงซ้ำๆ ความเจ็บปวดนั้นอาจผูกขึ้นเป็นปมในชีวิต สร้างคำถามและความไม่เข้าใจต่างๆ ทั้งหมดส่งผลทางใจให้เหยื่อมีความยอมรับนับถือตัวเอง (Self-Esteem) ต่ำลง ทำให้ความกล้าหาญในการเข้าสังคมลดลงเพราะไม่อยากพบเจอกับความเจ็บปวด

 

บางคนอาจโดน Bully จากคนใกล้ตัวอย่างเพื่อน ก็ทำให้ความไว้เนื้อเชื่อใจในความสัมพันธ์หายไป หรือบางคนก็โดนญาติสนิท Bully เลยทำให้ตั้งคำถามในคุณงามความดีและความอาวุโส จนสุดท้ายเลี่ยงที่จะเผชิญหน้าและความสัมพันธ์เกิดปัญหาในที่สุด

 

หรือแม้แต่ Cyber Bullying ที่หลายคนคิดว่าไม่น่าเกิดผลกระทบกับความรู้สึกมากมายเท่าไรนักเพราะเกิดขึ้นในโลกเสมือน แต่อย่าลืมว่าความเจ็บปวดนั้นเกิดขึ้นจริง แถมในโซเชียลมีเดียทุกคนต่างสามารถวิจารณ์กันโดยไม่ต้องใส่ใจ เพราะถือว่าไม่ใช่คนรู้จัก คำวิจารณ์นั้นจึงมาจากทุกทิศทุกทาง ไม่ต่างอะไรกับการประจานในที่สาธารณะ เราจึงพบเหยื่อของการ Cyber Bullying เจ็บปวดถึงกับขั้นฆ่าตัวตายเลยก็มี

 

ซึ่งความรู้สึกจากการ Bully ทั้งหมดนั้นเกิดขึ้นกับเหยื่อ โดยที่ผู้กระทำอาจไม่รู้สึกผิดและไม่รู้สึกถึงความเจ็บปวดเลยแม้แต่น้อย เพราะผู้กระทำส่วนใหญ่จะไม่รู้ตัวว่ากำลังทำอะไรอยู่ แถมยังรู้สึกสนุกสนานและมีความสุขที่ได้ทำด้วยซ้ำ เพราะเป็นช่วงเวลาที่ทำให้รู้สึกถึงอำนาจที่มากกว่าอีกฝ่ายหนึ่งนั่นเอง

 

เราจะรับมืออย่างไรหากถูก Bully

ในช่วงชีวิตของทุกคนเชื่อว่าต่างเคยตกเป็นเหยื่อของการ Bully บางคนมีทักษะในการจัดการให้ความเจ็บปวดนั้นหายไป แต่บางคนก็ไม่สามารถกำจัดความรู้สึกไม่ดีออกไปได้ เลยหัวเราะกลบเกลื่อนอย่างจ๋อยๆ แต่เก็บความไม่เข้าใจนั้นไว้ในใจเรื่อยมา

 

และแม้ว่าเราจะผ่านวัยเด็กมาจนเป็นผู้ใหญ่ เราก็ยังหนีไม่พ้นการถูก Bully เพราะฉะนั้นแล้วเราควรสร้างทักษะการรับมือความรุนแรงต่างๆ ให้มากขึ้น เมื่อต้องรับมือกับมันแล้วเราจะได้จัดการได้ โดยที่ไม่อุ้มเอาคำทำร้ายเหล่านั้นมาเป็นของเราอย่างไม่ปล่อยวาง

 

  1. สำหรับคนที่ไม่สำคัญ

เมื่อถูก Bully อันดับแรกลองถามตัวเองก่อนว่าคนที่กระทำนั้นมีความสำคัญกับชีวิตเราหรือไม่ ถ้าเป็นคนที่แซวเราตอนเดินผ่านไปผ่านมา หรือคนในโซเชียลมีเดียที่ไม่มีความสำคัญในชีวิต เราก็แค่หยุดความสัมพันธ์แล้วเดินออกมาจากตรงนั้นโดยที่ไม่ให้ความสำคัญกับคำพูดเหล่านั้นอีก พึงระลึกไว้เสมอว่า โซเชียลมีเดียต่อให้เราเป็นเจ้าของ แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่สาธารณะ สิ่งที่เราพอจะทำได้คือการกั้นรั้วบ้านจัดการคนที่เข้ามา แต่ไม่มีทางที่เราจะสามารถทำได้ร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ดี

 

หลายคนอาจพบว่าต่อให้เราอันเฟรนด์ บล็อก หรือลบข้อความเหล่านั้นทิ้ง สิ่งที่ยังเหลืออยู่คือเสียงด่าที่ยังก้องในหัวและรอยแผลที่ยังอยู่ในใจ ไม่ใช่เรื่องผิดปกติ เพราะการ Bully มีผลให้การรับรู้คุณค่าของตัวเราสั่นสะเทือน ฉะนั้นแล้วเราลองให้ค่าว่าคำด่าเหล่านั้นคือคำด่า คำด่าเหล่านั้นมีค่าแค่การ Bully ‘เราไม่ได้เป็นอย่างที่เขาว่าจริงๆ’ หลังจากนั้นเรารีบกลับมามองหาคุณค่าในชีวิตของตัวเองจะทำให้รู้สึกมั่นคงขึ้น

 

พูดอย่างนี้อาจดูนามธรรมไปสักหน่อย แต่อยากให้ทุกคนลองฝึกหา ‘คุณค่าของตัวเอง’ ดู ซึ่งวิธีการหาและคุณค่าของแต่ละคนนั้นไม่เหมือนกัน ทุกคนต้องหาด้วยตนเอง การมีสิ่งนี้สำรองไว้ เมื่อเราเกิดสั่นคลอนจากการกระทำของคนอื่นๆ การกลับมาคว้าคุณค่าของตัวเองจะทำให้เรารู้ว่าเรามีคุณค่ามากกว่าคำด่าเหล่านั้น

 

  1. ถ้าอยากให้มิตรภาพนั้นคงอยู่

ในกรณีที่ถูก Bully จากคนใกล้ชิดและพิจารณาแล้วว่าไม่สามารถตัดความสัมพันธ์นั้นเพราะเป็นเพื่อนร่วมงาน เพื่อนสนิท หรือญาติ เราก็ควรสื่อสารกับเขาอย่างตรงไปตรงมาและด้วยความจริงจังว่า เราไม่ชอบที่เขาพูดหรือกระทำอย่างนั้น ถ้าหากรู้สึกว่าเซนสิทีฟเกินไป ลองพูดด้วยประโยค ‘I Message’ คือแทนที่จะพูดว่า ‘คุณทำให้เราเจ็บ’ ลองเปลี่ยนสรรพนามของประโยคเป็น ฉัน เช่น ‘เรารู้สึกอายมากเลยที่โดนแซวแบบเมื่อกี้ คราวหน้าขอไม่พูดแบบนั้นอีกได้ไหม’ เป็นการสื่อสารว่าเรากำลังรู้สึกอะไรแทนที่จะเป็นการไปต่อว่าอีกฝ่ายจนทำให้รู้สึกไม่ดี และถ้าคำพูดทิ่มแทงนั้นยังวนเวียนอยู่ในหัว ก็ให้ย้อนกลับมายึดคุณค่าของตัวเองจะทำให้มั่นคงมากขึ้น

 

วงจรการ Bully ยังเกิดขึ้นและวนเวียนอยู่เสมอ เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าการกระทำแบบไหนบ้างที่เรียกว่าเป็นการ Bully มักคิดว่าสนิทสนมกันอนุญาตให้ทำกันได้ มักคิดว่าอาวุโสกว่าจะพูดอย่างไรก็ได้ ซึ่งไม่ถูกต้องเสมอไป สิ่งที่ทำได้คือพยายามช่วยกันส่งต่อความรู้ว่าการ Bully ไม่ใช่เพียงการชกต่อยหรือด่า แต่คือการบอยคอต แบน เพิกเฉย ทำให้รู้สึกเป็นอื่น หรือส่องสปอตไลต์ไปที่ใครคนใดคนหนึ่งมากๆ ก็ถือเป็นการ Bully เมื่อความรู้ชุดนี้เผยแพร่ออกไปแล้ว เราจะได้มีสติและระมัดระวังตัวในการกระทำต่อผู้อื่นมากขึ้นและจะได้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

 


Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น

ดุจดาว วัฒนปกรณ์

 

Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster รพีพรรณ เกตุสมพงษ์

Music Westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X