ในปีที่ผ่าน THE STANDARD นำเสนอเรื่องราวของจันทบุรีไปหลายครั้ง ทั้งในแง่ของแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ วิถีชีวิต และของกิน (อ่านต่อได้ที่ 7 ลายแทงกิน+เที่ยว จันทบุรี ฉบับมือใหม่ ปักหมุนเดินเล่นชมชิลล์ในวันหยุด และ หลงเสน่ห์ ‘จันทบุรี’ จุดบรรจบของป่า ทะเล และของดีที่มากกว่าทุเรียน) ทุกครั้งที่เราเดินทางไปจันทบุรี ผู้เขียนมักพบกับอะไรให้แปลกใจอยู่เสมอ เมืองเล็กเรียบง่ายที่ดูเหมือนเที่ยวครั้งเดียวก็จบ ทว่าไม่เคยจบเลยสักครา
ล่าสุด THE STANDARD ได้รับเชิญให้ไปร่วมงานสัมมนาและอบรมเชิงปฏิบัติการการท่องเที่ยวเมืองรอง และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนอย่างยั่งยืน (Amazing Thailand Go Local Forum 2018) ลงพื้นที่สำรวจเมืองจันทบุรี พร้อม วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.กก.) เรายิ่งพบว่าเมืองจันทบุรีช่างมีเสน่ห์ และน่าสนใจในหลายประเด็น
เจนจัดด้วยประวัติศาสตร์
เราทุกคนย่อมผ่านการศึกษาขั้นพื้นฐาน และในบทเรียนด้านประวัติศาสตร์ของไทย ก็มีจันทบุรีแทรกแซมอยู่เต็มไปหมด ไม่ว่าจะอยู่ในฐานะของอาณาจักรขอมเมื่อ 1,000 ปีที่ผ่านมา เคยถูกสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ตียึดเมืองเพื่อใช้เป็นแหล่งเสบียงกอบกู้กรุงคืนจากพม่า ในเหตุการณ์กรุงแตกเมื่อปี พ.ศ. 2310 ถูกใช้เป็นสถานที่ตั้งมั่น เพื่อป้องกันการรุกรานของญวนในสมัยรัชกาลที่ 3 หรือแม้กระทั่งตกเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศสยาวนานถึง 11 ปีเต็ม จนไทยต้องยอมยกดินแดงฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้แก่ฝรั่งเศสเพื่อแลกเมืองคืนมา เมืองจันทบุรีผ่านร้อนผ่านหนาวมาเยอะมาก ทำให้มีสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์หลายแห่ง เช่น คุกขี้ไก่ ศาลาแดง วัดพลับ หอจดหมายเหตุฯ จันทบุรี หลบซ่อนอยู่ตามชุมชน ซึ่งเราสามารถเดินเที่ยวได้ง่ายๆ ฯลฯ
ของกินอร่อย
ปกติมาเมืองจันทบุรี กินแต่เย็นตาโฟกุ้ง กั้ง และของทะเลสดๆ ก็ว่าเปรมปรีดิ์แล้ว ทว่ามารอบนี้ ผู้เขียนมีโอกาสลองชิมหลากเมนูพื้นถิ่น ตามตลาดและตัวเมืองเก่า ใครจะคิดว่าเมืองจันทบุรีจะมีของกินพื้นบ้านเต็มไปหมด ไม่ว่าจะเป็นก๋วยเตี๋ยวเลียง, ไก่ต้มกระวาน, ผัดถั่วฝักยาวกะปิกุ้งแห้ง, ก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง, ข้าวคลุกพริกเกลือ, ทองม้วนนิ่ม, ข้าวเกรียบน้ำจิ้ม, ขนมควยลิง, น้ำมะปี๊ด และอื่นๆ อีกมากมายร่ายยาวเป็นหน้ากระดาษ แถมแต่ละร้านยังอร่อยและเปิดมานานไม่ต่ำกว่าครึ่งศตวรรษ พ่อค้าแม่ขายบางเจ้าก็เปิดขายมาหลายรุ่น บางเจ้าก็เอาสูตรประจำบ้านมาเปิดขายช่วงวันหยุด หลังมีนโยบายท่องเที่ยวผลักดันจันทบุรีเข้าสู่เมืองรอง สร้างรายได้อีกทางหนึ่ง ซึ่งพิกัดส่วนใหญ่ล้วนอยู่บริเวณชุมชนทั้งสิ้น อาทิ ชุมชนหลังโบสถ์ริมน้ำจันทบูร ชุมชนท่าใหม่ และตลาดทุบหม้อในชุมชนบางกะจะ
ชุมชนแข็งแรง
นอกจากเรื่องของกินอร่อย สิ่งหนึ่งที่ผู้เขียนมองเห็นและชื่นชมมาก คือความใส่ใจ และการให้ความร่วมมือของคนในชุมชน จากการเยี่ยมชมเราพบว่า จุดแข็งของแหล่งท่องเที่ยวในจันทบุรี ส่วนใหญ่ล้วนขับเคลื่อนด้วยชุมชนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชุมชนริมน้ำจันทบูร ชุมชนท่าใหม่ ชุมชนบางกะจะ ผ่านการสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน และเครือข่ายผู้ประกอบการชุมชน ช่วยกันสร้างและผลักดันให้ชุมชนสามารถสร้างอาชีพเสริมได้ด้วยการท่องเที่ยว
ยกตัวอย่างเช่น ชุมชนบางกะจะ ชุมชนเก่าแก่ที่อดีตเคยเป็นที่ตั้งของกองทัพสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช ก่อนทุบหม้อไหเข้าตีเมืองจันท์ ชุมชนนี้แม้ไม่โด่งดังเท่าชุมชนจันทบูร แต่ก็เติบโตเร็วมากจนกลายเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวของจังหวัดจันทบุรี ตามโครงการหมู่บ้าน OTOP เพื่อการท่องเที่ยวของกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่นี่มีครบทั้งประวัติศาสตร์ แหล่งโบราณคดี ของกินอร่อย และงานฝีมือของคนในท้องที่ คนในชุมชนบางกะจะรวมตัวกันเปิดแหล่งการเรียนรู้วิธีทำเสื่อจากต้นกก ชวนให้นักท่องเที่ยวที่สนใจทดลองทำตั้งแต่ต้นกระบวนการ เจ้าของเหมืองพลอยอย่าง ‘บ่อพลอยเหล็กเพชร’ ก็ยอมปรับโมเดลธุรกิจ (สมัยก่อนใครเหยียบเข้าเหมืองพลอย ยิงก่อนถาม) เปิดบ่อพลอยให้ลงสำรวจ ลองร่อนแร่ หาผลึกด้วยวิธีแบบโบราณ แน่นอนว่าย่อมมีของกำนัลเป็นเม็ดพลอยที่ขุดหาได้ติดกระเป๋ากลับบ้านไปด้วย เรื่องของกิน ชุมชนเลือกใช้พื้นที่วัดพลับ เปิดตลาดทุบหม้อ ชวนชาวบ้านในละแวกมาขายเมนูประจำถิ่น หรือสูตรของกินประจำบ้านแก่นักท่องเที่ยวในวันหยุดสุดสัปดาห์
THE STANDARD ได้คุยกับคุณป้าคนหนึ่ง เจ้าของเมนู ‘ก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้ง’ อันเลื่องชื่อ (อร่อยมากจนเราต้องฟาดไป 2 ชาม 2 วันติด) คุณป้าบอกว่า “วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ป้ามีอาชีพทำสวนปลูกผลไม้ตามฤดูกาล วันเสาร์ถึงวันอาทิตย์หากไม่ติดธุระอะไรก็จะมาตั้งร้านขายก๋วยเตี๋ยวผัดน้ำกุ้งที่ตลาดทุบหม้อ สนุกดี ได้เจอนักท่องเที่ยวและคนต่างถิ่นเยอะแยะไปหมด ถ้าผลไม้ที่สวนมีมากก็จะนำมาวางขายด้วย หารายได้เพิ่มอีกทางหนึ่ง”
จันทบุรี ต้นแบบเมืองรองที่ประสบผลสำเร็จ
หลังนโยบายเที่ยวเมืองหลักสู่เมืองรอง ภายใต้โครงการ 12 เมืองต้องห้ามพลาด, 12 เมืองต้องห้ามพลาด พลัส และล่าสุดกับแคมเปญ ‘เมืองรอง’ ที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ภายใต้การนำของ วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงในขณะนี้พยายามผลักดัน (จนตนเองได้รับฉายาว่า ‘รัฐมนตรีเมืองรอง’) ก็ดูเหมือนว่าจันทบุรีกำลังกลายเป็นเมืองรองมาแรง เนื้อหอมมากในหมู่นักท่องเที่ยว วัดจากตัวเลขการเติบโตของนักท่องเที่ยวที่สูงขึ้นจาก 1.55 ล้านคนในปี 2555 มาเป็น 1.94 ล้านคนในปี 2559 และเพิ่มขึ้นเป็น 2.01 ล้านคนใน 2560 สร้างรายได้รวม 6,182 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมาถึง 1,000 ล้านบาทในปีเดียว
ตลอดเวลาที่ผ่านมา เม็ดเงินจากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยมักกระจุกอยู่ตามเมืองใหญ่ เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรอง จึงเป็นนโยบายที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา หวังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้ ลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในสังคม ซึ่งจันทบุรีก็แสดงให้เห็นแล้วว่า นโยบายนี้จะประสบความสำเร็จ หากได้รับความร่วมมือจากรัฐ ชาวบ้าน และชุมชน จนกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยกให้เป็น ‘เมืองรองต้นแบบ’
วณิชชา วัฒนพงศ์ นายกสมาคมส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดจันทบุรี เผยกับ THE STANDARD ว่า “จันทบุรีเป็นเมืองรองที่มีศักยภาพ จึงได้รับการโปรโมตให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวมากขึ้น เห็นได้จากกระแสในสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งส่วนใหญ่ประทับใจ เกิดการบอกต่อและอยากกลับมาเยือนซ้ำ ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว มีการขยายการลงทุนและสินค้าบริการรูปแบบต่างๆ มากมาย คนจันท์หลายชุมชนได้รื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมอันน่าสนใจ คนรุ่นลูกกลับมาพัฒนาบ้านเกิด คนรุ่นปู่ย่าตายายได้ถ่ายทอดประสบการณ์ วิถีดั้งเดิม และภูมิปัญญาสู่ลูกหลานและนักท่องเที่ยว ช่วยเติมเต็มให้จันทบุรีเป็นเมืองแห่งความสุขสำหรับนักท่องเที่ยวและคนจันท์”
ทางด้านวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ เผยว่า นอกจากยกเมืองจันทบุรีเป็นเมืองรองต้นแบบแล้ว ทางกระทรวงยังพร้อมสนับสนุนด้านคมนาคมท้องถิ่น โดยจะเริ่มที่จังหวัดจันทบุรีเป็นต้นแบบเช่นกัน
“กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พร้อมที่จะผลักดันและสนับสนุนบริการขนส่งสาธารณะ อันเป็นหัวใจหลักสำคัญที่สนับสนุนการเติบโตของเมืองรอง ภายใต้การเปิดสัมปทานเดินรถโดยสารระหว่างเมืองรองให้กับเอกชน โดยไม่ซ้ำซ้อนกับเส้นทางการเดินรถเดิม เริ่มที่จังหวัดจันทบุรีเป็นต้นแบบ ขณะที่อีก 5 ปีข้างหน้า จะมีการเปิดใช้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ซึ่งได้มีสถานีแวะเข้ามายังจังหวัดจันทบุรี ด้วย ดังนั้นการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ชุมชนต้องได้ประโยชน์ เร่งเตรียมความพร้อมในพื้นที่ รองรับการเติบโตด้านการท่องเที่ยว ที่มาพร้อมกับการพัฒนาเส้นทางรถไฟ”
จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องในฐานะ ‘เมืองรอง’ จันทบุรีคงไม่ได้เป็นแค่เมืองผ่านอีกต่อไป แต่เป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวตั้งใจปักหมุด ที่มีครบทั้งธรรมชาติ ของกินอร่อย วิถีถิ่น สมสโลแกน ‘สุขทุกวัน…ที่จันทบุรี’
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์