ลักษณะที่สำคัญของคนไทยคืออะไร บ้างก็ว่าคือการไหว้ ความอ่อนน้อมถ่อมตน ความมีอัธยาศัยยิ้มแย้มแจ่มใส แต่สำหรับเราแล้ว ความใส่ใจเรื่องอาหารการกินนี่แหละที่เป็นหนึ่งในวัฒนธรรมไทยที่แท้จริง ดังจะเห็นได้จากการทักทายถามไถ่อีกฝ่ายว่ากินข้าวหรือยัง หรือจะเป็นการพูดคุยเพื่อชวนคิด นำเสนอ หรือขอคำแนะนำที่เกี่ยวกับอาหาร เที่ยงนี้กินข้าวร้านไหนดี ร้านนั้นก็น่าไปลอง ร้านนี้ก็เพิ่งเปิดใหม่ ฯลฯ ดูเหมือนอาหารการกินจะเป็นเรื่องหลักที่คนไทยให้ความสนใจ THE STANDARD จึงอยากชวนไปสำรวจถึงความเป็นอาหารไทย และวัฒนธรรมไทยบางประการที่เกี่ยวข้องกับอาหาร
กองเกวียนทางบกกับกองเรือทางน้ำ
ขนสินค้ากระจายสู่ท้องถิ่นบ้านเมืองต่างๆ ในยุคกรุงศรีอยุธยา (ภาพจาก: มติชน)
บรรยากาศการค้าขายอาหารแบบไทยๆ ที่ตลาดน้ำดำเนินสะดวก
อาหารและการท่องเที่ยว สองสิ่งนี้คือแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกแวะเวียนมาสัมผัสประสบการณ์และลองลิ้มชิมรสชาติอาหารตั้งแต่สตรีทฟู้ด ชาววัง ไปจนถึงไฟน์ไดนิ่ง อาหารไทยกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์วัฒนธรรมไม่ต่างอะไรกับการไหว้ ช้าง มวยไทย ผ้าไหม วัด และอะไรต่อมิอะไร นักท่องเที่ยวจำนวนมากเข้ามาไทยเพื่อจุดประสงค์ด้านการกินโดยเฉพาะ การเปิดตัวมิชลินไกด์ฉบับกรุงเทพฯ ก็ยิ่งสะท้อนให้เห็นว่า Soft Power อย่างอาหารไทย มีอิทธิพลและทรงพลังในวงการอาหารและการท่องเที่ยวจริง ๆ
เมื่อยกประเด็น ‘อาหารไทย’ ก็คงจะถกเถียงกันได้ไม่จบไม่สิ้นถึงนิยามของมัน อะไรคือรสไทยแท้ แล้วรสอื่นนอกเหนือจากนี้คือรสไทยแต่ไม่แท้หรือรสไม่ไทยและไม่แท้เล่า สารพัดอาหารไทยอันเต็มไปด้วยสีสันและรสชาติ ก่อกำเนิดขึ้นจากความหลากหลายทางวัฒนธรรม และความหลากหลายนี้แหละที่ก่อร่างสร้างความเป็นไทยขึ้นมา มัสมั่น แกงเขียวหวาน ผัดกะเพรา ส้มตำ ฯลฯ ล้วนแต่เกิดจากการต่อยอด การแลกเปลี่ยนภูมิปัญญา การผสมผสานระหว่างวัฒนธรรม พืชผักสมุนไพร เนื้อสัตว์ และความคิดสร้างสรรค์ในสัดส่วนที่พอเหมาะ จนได้เป็นอาหารไทยรสชาติถูกปากทั้งคนไทยและต่างชาติ
และหากสังเกตคนไทยในแง่มุมอาหารการกิน ก็พบข้อสังเกตบางประการที่มีต่อคนไทยตั้งแต่เกิดจนตาย เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าเรื่องกินเป็นเรื่องใหญ่ ตั้งแต่การทักทาย นอกเหนือจากการเอ่ยปากสวัสดีหรือไหว้ ก็คงจะเป็นประโยคยอดฮิต “กินข้าวหรือยัง” ซึ่งมีนัยในทางถามไถ่ทักทายมากกว่าที่จะต้องการคำตอบอย่างจริงจังจากอีกฝ่าย และคงเป็นประเทศเดียวในโลกที่ทักทายกันด้วยประโยคที่เกี่ยวกับการกิน
นอกจากนี้คนไทยยังใช้เรื่องกินในการเชื่อมสัมพันธ์ระหว่างกัน วัฒนธรรมการกินแบบแบ่งปัน ล้อมวงกินข้าว พร้อมกับหลายจานตักแบ่งกันกินถือเป็นเรื่องปกติ และมิหนำซ้ำชื่อเรียกหน่วยความสัมพันธ์ทางสังคมอย่าง ‘ครอบครัว’ ก็มิวายมีเรื่องกินมาเกี่ยวข้อง
ในสมัยก่อน การเป็นครอบครัวย่อมหมายถึงการนั่งล้อมวงกินอาหารรสมือแม่ ป้า ยาย หรือญาติฝ่ายหญิง ในขณะที่พ่อ ลุง ปู่ หรือญาติฝ่ายชายเป็นผู้ออกจากบ้านไปหาเนื้อสัตว์สำหรับมื้ออาหาร ส่วนลูก หลาน เหลน หรือเด็กเล็กๆ ที่พอรู้ประสาและรับคำสั่งได้ก็ช่วยปอก ล้าง ตำ โขลก และอำนวยความสะดวกเป็นลูกมือช่วยงานครัวให้เป็นไปอย่างราบรื่น แม้ในยุคปัจจุบัน ตำแหน่งหน้าที่การจับจ่ายวัตถุดิบ ต้ม ผัด แกง ทอด จะไม่แบ่งแยกเพศ แต่ปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นในครัวก็ยังเป็นเหมือนสังคมย่อยที่ค่อยๆ ปลูกฝังให้สมาชิกทุกคนซึมซาบเรื่องการกินและครัว จนหลายบ้านแทบจะเรียกได้ว่าอยู่ในสายเลือดและส่งต่อไปยังรุ่นลูกหลาน
ไม่เพียงแต่คนในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กันผ่านอาหารการกิน ความสัมพันธ์ฉันเพื่อนบ้านหรือกลุ่มชุมชนก็เช่นกัน เป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าคนไทยบริโภคข้าวเป็นอาหารหลักมาตั้งแต่อดีต การปลูกข้าวจึงเป็นเรื่องสำคัญ การลงแขกก็ยิ่งสำคัญกว่า และเป็นรูปแบบความสัมพันธ์แบบช่วยเหลือพึ่งพาอย่างเห็นได้ชัด เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ท้องนาจะเต็มไปด้วยเพื่อนบ้านหรือคนในชุมชน ที่มาช่วยเกี่ยวข้าวแม้จะไม่ได้เป็นผืนนาของตนก็ตาม เมื่อถึงคราวเก็บเกี่ยวนาของตน เจ้าของนาที่ตนเคยไปช่วยลงแขกก็จะพาสมาชิกในครอบครัวมาช่วยลงแขกในนาของตนด้วย
จะเห็นได้ว่าอาหารการกินของไทยนั้นสะท้อนลักษณะของผู้คนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นการอยู่ร่วมกันระหว่างคนต่างเชื้อชาติและวัฒนธรรม การถามไถ่สารทุกข์สุกดิบ ความสัมพันธ์ของคนไทยกับหน่วยย่อยที่สุดในสังคมหรือแม้กระทั่งเพื่อนบ้าน ตลอดจนวิถีชีวิตคนไทยตั้งแต่เกิด ลักษณะของคนไทยที่มีความเอื้อเฟื้อและไปมาหาสู่กันได้เชื่อมโยงกับโลกอาหารอย่างไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งของความสัมพันธ์ของคนไทยจึงตั้งอยู่บนอาหารการกิน
ไม่แปลกที่ประเทศไทยจะโดดเด่นเรื่องอาหารจนเป็นที่ยอมรับจากสากล และเป็นเอกลักษณ์ที่ควรค่าต่อการถ่ายทอดเพื่อสืบต่อวัฒนธรรมการกินและอาหารไทยให้อยู่เหนือกาลเวลา เหมือนที่ไอคอนสยามเชื่อว่าพลังความเป็นไทยเป็นพลังที่ไม่ว่าไทยหรือต่างชาติก็ชื่นชม
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์