ในชีวิตของคนทุกคนย่อมผ่านเรื่องราวความผิดพลาดและการล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน ขึ้นอยู่กับว่าใครจะนำความล้มเหลวมาเป็นบทเรียนสอนใจตัวเองและลุกขึ้นยืนอีกครั้งได้เก่งกว่ากัน
สำหรับ มิก้า ชูนวลศรี ปราการหลังลูกครึ่งไทย-เวลส์ วัย 29 ปี ความผิดหวังและความล้มเหลวครั้งใหญ่ที่สุดในชีวิตของเขาเกิดขึ้นเมื่อ 11 ปีที่แล้วตอนที่ถูกสโมสรฟุตบอลคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ ทีมเยาวชนที่สังกัดมาตั้งแต่เด็กยกเลิกสัญญากลางคัน
ชีวิตเจิดจรัสของอดีตดาวรุ่งทีมชาติเวลส์ชุด U-17 ที่เคยเล่นเคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมกับสตาร์ดังโลกลูกหนังยุคนี้อย่าง อารอน แรมซีย์ และแกเร็ธ เบล มืดหม่นลงทันที ถึงขั้นที่เขาเกือบจะยอมแพ้และคิดเลิกเล่นฟุตบอลมาแล้ว
แต่หลังจากที่ใช้เวลาอยู่กับตัวเองเพื่อพักแผลใจไปศึกษาต่อด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาในระดับมหาวิทยาลัยนาน 2 ปีเต็ม มิก้าก็ได้รับบทเรียนชีวิตที่ล้ำค่า ทั้งยังค้นพบว่าชีวิตนี้คงอยู่โดยไร้ ‘ฟุตบอล’ ไม่ได้ และตัดสินใจเดินตามความฝันอีกครั้งด้วยการกลับมาค้าแข้งที่ประเทศไทยเมื่อปี 2552 โดยได้คำปรึกษาจากครอบครัวเป็นแรงผลักดันให้เขามุ่งมั่นเดินหน้าสู้ต่อไป
เกือบหนึ่งทศวรรษที่ยืนหยัดเป็นนักฟุตบอลแนวหน้าของไทยลีก คือช่วงเวลาที่เขาใช้ชีวิตอยู่บนเส้นทางนักฟุตบอลอาชีพได้อย่างน่าชื่นชม และยังเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านวินัยการดูแลตัวเอง ความทุ่มเทที่มีให้กับเกมลูกหนัง และสไตล์การเล่นที่ไม่เกรงกลัวใครหน้าไหนเบอร์ต้นๆ ของประเทศ
THE STANDARD ชวนมิก้า ชูนวลศรี มาแบ่งปันประสบการณ์การเป็นนักฟุตบอลอาชีพที่ผ่านเรื่องราวต่างๆ มาอย่างโชกโชน การเปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นแรงกระตุ้นในการใช้ชีวิต มุมมอง และนิยามของการเป็นนักฟุตบอลที่ดี กำลังใจจากครอบครัวที่มีไม่เคยขาด และเทคนิคฝึกภาษาไทยผ่านการดูละคร สวรรค์เบี่ยง!
เด็กสมุยที่มีครอบครัวเป็นนักกีฬา และมีหัวใจที่รักฟุตบอล
มิก้า ชูนวลศรี เติบโตที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ประเทศไทย มีคุณพ่อเป็นคนไทยแท้ๆ ส่วนคุณแม่เป็นคนเวลส์ เขาอาศัยที่เกาะสมุยมาตั้งแต่เด็กๆ เกิดในครอบครัวนักกีฬา มีคุณน้าและลูกพี่ลูกน้องเป็นนักฟุตบอล โดยเฉพาะคุณพ่อ ‘ชรินทร์ ชูนวลศรี’ ที่เป็นถึงนักฟุตบอลของสุราษฎร์ธานี
นี่จึงเป็นสาเหตุที่ทำให้ลูกครึ่งไทย-เวลส์ผู้นี้ผูกพันกับเกมลูกหนังมาตั้งแต่เด็กจนได้เริ่มชิมลางเล่นฟุตบอลเมื่ออายุ 5 ขวบ กระทั่งอายุ 10 ปี มิก้าก็ได้ย้ายกลับไปใช้ชีวิตที่เมืองบริดเจนด์ ประเทศเวลส์ และมีโอกาสได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลเยาวชนกับสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้
“ช่วงที่ผมย้ายมาอยู่เวลส์ก็ได้เล่นฟุตบอลเรื่อยๆ และมาจริงจังตอนอายุประมาณ 14 ปี ช่วงนั้นสโมสรคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้เห็นแววผมระหว่างที่ลงเล่นให้ทีมฟุตบอลโรงเรียนและทีมอำเภอ ในที่สุดผมก็ได้เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลเยาวชนของสโมสรอย่างเป็นทางการ พอผ่านไป 2 ปี ผมอายุ 16 ปีพอดี สโมสรก็ยื่นสัญญานักฟุตบอลอาชีพ 2 ปีให้กับผมในรูปแบบของทุนนักฟุตบอลเยาวชน (Youth Team Scholarship)
“นั่นคือ 2 ปีที่ผมได้เรียนรู้อะไรเยอะแยะเลยครับ ทั้งชีวิตในสนามและนอกสนาม วิธีการดูแลตัวเองในฐานะนักฟุตบอลอาชีพ ตื่นเช้ามาต้องไปซ้อมฟุตบอลที่สโมสร ได้รู้หลักโภชนาการที่ถูกต้อง ช่วยทำความสะอาดห้องออกกำลังกายและห้องเปลี่ยนชุดของสโมสรในฐานะเด็กฝึกสโมสรเพื่อฝึกวินัย ได้ประสบการณ์ฟุตบอลผ่านการลงเล่นให้ทีมชุดอายุต่ำกว่า 18 ปีและทีมสำรองของคาร์ดิฟฟ์หลายนัดจนติดทีมชาติเวลส์ชุดอายุต่ำกว่า 17 ปี”
ถูกปล่อยตัวออกจากสโมสร จุดหักเหครั้งสำคัญของชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ!
เมื่อเส้นทางนักฟุตบอลดาวรุ่งของมิก้าเริ่มเข้าที่เข้าทาง จู่ๆ โชคชะตาก็เล่นตลกกับเจ้าตัว เพราะสโมสรต้นสังกัดที่อยู่มาตั้งแต่อายุ 14 ปี และทีมขวัญใจของครอบครัวตัดสินใจไม่ต่อสัญญากับเขา เนื่องจากคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้เปลี่ยนไปใช้นโยบายทุ่มเงินเซ็นสัญญาสตาร์มากประสบการณ์อย่างร็อบบี ฟาวเลอร์ และจิมมี ฟลอยด์ ฮัสเซลเบงค์ เข้าสู่ทีมแทน (2550-2551)
ทำให้นักเตะเยาวชนในรุ่นของเขาถูกลอยแพทิ้งกลางทางเป็นจำนวนมาก เห็นจะมีก็แต่ ‘คริส กันเทอร์’ เพื่อนร่วมรุ่นคนเดียวของมิก้าเท่านั้นที่ได้รับโอกาสไปต่อ
“ผมไม่ได้เลื่อนชั้นสู่ทีมชุดใหญ่ด้วยเหตุผลด้านอายุและความสามารถ ตอนนั้นผมคิดว่าทำเต็มที่ที่สุดแล้ว แต่คนที่อยู่ข้างหน้าเราก็เก่งกันมากๆ ด้วย ก็เข้าใจว่าเป็นวิถีของฟุตบอล แต่ช่วงที่ถูกปล่อยตัวออกมายอมรับว่าเครียดมากๆ นะครับ เพราะเราก็อยู่กับสโมสรมาตั้งแต่เด็กๆ
ผมมีวันนี้ได้เพราะตัดสินใจหยุดเล่นฟุตบอลในครั้งนั้น เคยคิดจะเลิกเล่นฟุตบอลถาวรไปเลย แต่ก็ตัดสินใจลองถอยออกมาก่อน
“3 สัปดาห์หลังถูกยกเลิกสัญญาผมเลิกคิดเรื่องฟุตบอลไปเลย แล้วมานั่งทบทวนตัวเองเพราะไม่รู้จะไปทางไหนต่อดี เราทุ่มเททุกอย่างให้กับการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นแบบที่คิด ในที่สุดก็เลือกไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และหลักสูตรการเป็นโค้ช Football Coaching Performance ในโครงการที่สโมสรคาร์ดิฟฟ์ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของเวลส์”
ระหว่างที่ศึกด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา 2 ปี มิก้ายังได้เล่นฟุตบอลกับทีมมหาวิทยาลัย และเป็นนักฟุตบอลพาร์ตไทม์ของทีมในลีกเวลส์ โดยได้รับค่าเหนื่อยสัปดาห์ละประมาณ 200 ปอนด์ หรือราว 8,500 บาท แล้วช่วงที่ห่างหายจากการเป็นนักฟุตบอลอาชีพนี่เองที่ทำให้เขาค้นพบว่าตัวเองรักฟุตบอลมากขนาดไหน
“ซึ่งแค่ปีแรกที่หยุดเล่นฟุตบอลแล้วหันมาเรียนก็ค้นพบว่าเรายังกระหายอยากเล่นฟุตบอลอาชีพอยู่เพราะเป็นสิ่งที่รัก แต่ 2 ปีที่ได้เรียนก็เป็นช่วงเวลาที่ล้ำค่ามากๆ เหมือนกันนะครับ ผมสามารถนำความรู้ทั้งหมดมาประยุกต์ใช้กับการเป็นนักฟุตบอลในวันนี้ ได้ฝึกงานเป็นโค้ชทีมคาร์ดิฟฟ์ชุดเยาวชน 14 ปี แถมยังได้ไลเซนส์บี (ใบอนุญาตใช้โค้ชคุมทีม) ติดตัวมาตั้งแต่อายุ 20 ปี”
บทเรียนที่สอนว่าไม่มีอะไรแน่นอน และการเปลี่ยนความผิดหวังเป็นแรงผลักดันในชีวิต
2 ปีที่ห่างหายจากเกมกีฬาฟุตบอลอาชีพ นอกจากมิก้าจะค้นพบว่าทุกลมหายใจเข้าออกยังเป็นเกมลูกหนังเหมือนเดิม และได้รับศาสตร์การดูแลตัวเองในฐานะนักฟุตบอลอาชีพติดตัว สิ่งที่มิก้าตกผลึกไปพร้อมๆ กันคือแรงกระตุ้นที่ผลักดันให้เขากระหายพัฒนาตัวเองอยู่เสมอเพียงเพราะไม่อยากเผชิญกับความล้มเหลวซ้ำสอง
“ผมยังจำความรู้สึกผิดหวังหลังถูกคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ปล่อยตัวออกมาได้ดี นั่นคือช่วงที่ผมเคยคิดว่าอาจจะไม่ได้เล่นฟุตบอลแล้ว แต่ก็เป็นแรงบันดาลใจที่พาผมมาถึงทุกวันนี้ ความรู้สึกในครั้งนั้นทำให้ได้รู้ว่าตัวเองอยากเป็นนักฟุตบอลจริงๆ ยิ่งได้พักไปเรียน 2 ปีก็ทำให้ผมนำความรู้สึกที่เราเคยเสียใจหนักที่สุดมาเป็นแรงกระตุ้น เพราะไม่อยากให้มีวันนั้นเกิดขึ้นอีก
“นี่คือแรงผลักดันการใช้ชีวิตในทุกๆ วันของผม คนอื่นที่อาจจะไม่เคยผิดหวังเหมือนผมอาจจะเห็นทุกอย่างที่ผ่านเข้ามาเป็นของตาย ไม่มีความหมาย แต่ไม่ใช่กับผมแน่นอน ผมจะทำทุกช่วงเวลาที่เกิดขึ้นกับตัวเองให้ดีที่สุด แล้วผมยังเอาบทเรียนที่ตัวเองได้รับมาสอนรุ่นน้องนักฟุตบอลเยาวขนในทีมเสมอว่า แม้จะสอดแทรกขึ้นสู่ทีมชุดใหญ่ได้ก็อย่าคิดว่าตัวเองเก่งแล้ว คุณยังทำอะไรไม่ได้เป็นชิ้นเป็นอัน อย่าหยุดพัฒนาตัวเอง เพราะถ้าพรุ่งนี้จู่ๆ ถูกปล่อยตัวออกจากทีมแล้วจะไปทำอะไร?”
ผมยังจำความรู้สึกผิดหวังหลังถูกคาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ปล่อยตัวออกมาได้ดี ผมนำความรู้สึกที่เราเคยเสียใจหนักที่สุดมาเป็นแรงกระตุ้น เพราะไม่อยากให้มีวันนั้นเกิดขึ้นอีก
เพราะมีโอกาสได้ลงเล่นให้กับทีมชาติเวลส์ชุดอายุต่ำกว่า 17 ปี มิก้าจึงอยู่ในสายตาของทีมแมวมองทีมชาติไทยเสมอ และในที่สุดสโมสรเมืองทอง ยูไนเต็ดก็ยื่นข้อเสนอให้เขากลับประเทศไทยมาทดสอบฝีเท้าเมื่อปี 2552 ก่อนได้รับสัญญานักฟุตบอลอาชีพเป็นระยะเวลา 2 ปี
“ผมแอบลังเลอยู่เหมือนกันนะครับว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี เพราะเรียนอีกแค่ปีเดียวก็จะได้รับปริญญาแล้ว คุยกับครอบครัวก็รู้สึกว่าอยากกลับไปเล่นฟุตบอล เลยตัดสินใจว่าลองกลับมาดูสักปีหนึ่งก็แล้วกัน ถ้าอะไรๆ มันไม่ดีก็ค่อยกลับมาเรียนต่อที่เวลส์ก็ได้ ตั้งแต่วันนั้นจนถึงปัจจุบันต้องยอมรับว่าผมไม่ได้ตั้งใจจะประสบความสำเร็จขนาดนี้ คิดในใจว่าขอลองแค่ปีเดียวก่อนละกัน แต่กลายเป็นว่าเราทำผลงานได้ดีและต่อยอดจนมีวันนี้ได้”
พอกลับมาประเทศไทยช่วงแรกๆ แทบจะพูดภาษาไทยไม่ได้เลย จำได้ว่าผมฝึกภาษาผ่านการดูละครไทยเรื่อง สวรรค์เบี่ยง
นับหนึ่งอีกครั้งที่ประเทศไทย กับโอกาสที่ 2 ที่ได้รับในชีวิตนักฟุตบอลอาชีพ
มิก้า ชูนวลศรี เซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลในสังกัดเมืองทอง ยูไนเต็ด เมื่อปี 2552 ถือเป็นการกลับมาเร่ิมต้นใช้ชีวิตอีกครั้งที่ประเทศไทย หลังคุ้นเคยกับสายลมและท้องทะเลที่เกาะสมุยมานาน 10 ปีเต็ม แต่เพราะห่างหายจากการใช้ภาษาไทยไปนาน และไม่เคยใช้ชีวิตในเมืองหลวงมาก่อน การต้องอยู่อาศัยในกรุงเทพฯ ตัวคนเดียวจึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลูกครึ่งไทย-เวลส์คนนี้เลย
“20 ปีผมไม่เคยอยู่ในกรุงเทพฯ ไม่ง่ายเลยนะครับสำหรับคนสมุยที่พูดภาษาไทยได้แค่นิดเดียว โชคดีที่ผมมีพี่ลีซอ (ธีรเทพ วิโนทัย) ซึ่งเซ็นสัญญาเป็นนักฟุตบอลของเมืองทอง ยูไนเต็ดพร้อมๆ กันช่วยดูแลและสอนให้ผมปรับตัวทั้งในและนอกสนาม เขาช่วยผมเยอะมาก วันนี้เราก็ยังเล่นด้วยกันที่ทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด และเป็นเหมือนพี่น้องที่ผ่านอะไรมาด้วยกันเยอะ”
ถึงจะบอกว่าเคยสื่อสารภาษาไทยได้ไม่คล่อง แต่เมื่อพิจารณาจากสำเนียงและการพูดคุยกับเราเป็นภาษาไทย 100% ในวันนี้ ต้องบอกว่ามิก้าสอบผ่านเต็มๆ เราถามเขาว่าเคล็ดลับฝึกภาษาคืออะไร เขาบอกว่าเพราะชอบดูละคร สวรรค์เบี่ยง และฟังเพลงลูกทุ่งแบบคาราโอเกะ!
“สมัยอยู่ประเทศไทยผมได้เรียนจนถึง ป.4 ก็พอมีพื้นฐานทางการสื่อสารภาษาไทยอยู่บ้าง แต่พอกลับมาประเทศไทยช่วงแรกๆ แทบจะพูดภาษาไทยไม่ได้เลย จำได้ว่าผมฝึกภาษาผ่านการดูละครไทยเรื่อง สวรรค์เบี่ยง ที่พี่เคน-ธีรเดช วงศ์พัวพันธ์ และพี่แอน ทองประสม เล่นด้วยกันบน YouTube พอ สวรรค์เบี่ยง จบก็ตามไปดูละครที่พี่ทั้ง 2 คนเล่นด้วยกัน เรียนรู้รูปแบบการใช้ประโยคภาษาไทยผ่านซับไตเติลภาษาอังกฤษ ดูมิวสิกวิดีโอเพลงลูกทุ่งแบบคาราโอเกะเพื่อช่วยออกเสียง ทำแบบนี้อยู่ 1 ปีจนสื่อสารภาษาไทยได้คล่อง ทุกคนก็ตกใจว่าทำไมผมพูดภาษาไทยได้เร็ว ตอนนี้ก็อ่านภาษาไทยและพูดได้หมดแล้ว แต่อาจจะยังเขียนไม่ได้”
นับจนถึงวันนี้มิก้าก็ลงเล่นให้กับทีมชั้นนำในประเทศไทยมานานกว่า 9 ปีแล้ว โดยปัจจุบันเป็นกำลังสำคัญให้กับทรู แบงค็อก ยูไนเต็ด ซึ่งเคล็ดลับที่ทำให้เขายังยืนหยัดในลีกระดับสูงได้จนถึงวันนี้เป็นผลมาจากวินัยที่เคร่งครัด การหมั่นดูแลตัวเองอยู่เสมอ และไม่หยุดพัฒนาตัวเอง
“สมัยเด็กๆ มีแต่คนหาว่าผมบ้า เพราะวิ่งเยอะมาก วันนี้ก็เช่นกัน ถ้าจับนักฟุตบอลในสโมสรมาทดสอบสมรรถภาพร่างกายกันทั้งในด้านการวิ่งและพละกำลัง ผมน่าจะเป็นที่ 1 เลยด้วยซ้ำ เพราะมีวินัยในการดูแลตัวเองที่ดี ผมไม่รู้หรอกว่าตำแหน่งที่ถนัดของตัวเองที่ทำผลงานได้ดีที่สุดคือตรงไหนของสนาม แต่ถ้าผมได้รับโอกาสผมก็จะทำผลงานให้ดีที่สุด ถ้าต้องไปเล่นตำแหน่งผู้รักษาประตูก็เล่นได้นะครับ เพราะเล่นรักบี้มาตั้งแต่เด็กๆ แต่ผมก็อาจจะทำได้ไม่ดี (หัวเราะ)
“การเป็นนักฟุตบอลที่ดีในมุมมองของผม 40% คือพรสวรรค์ ส่วนอีก 60% มาจากพรแสวง ต่อให้คุณเก่งแค่ไหนแต่ไม่ซ้อมให้หนัก ไม่มีวินัย ไม่รู้จักเสียสละเรื่องการเที่ยว งดดื่มหรือไม่สูบบุหรี่ คุณก็จะไม่มีวันไปถึงเป้าหมาย สำหรับผมนักฟุตบอลที่ดีคือนักฟุตบอลที่มีวินัยและดูแลตัวเองได้ดี มีนักฟุตบอลที่เก่งกว่าผมเป็น 100 เท่าแต่กลับมาไม่ได้ไกลเท่าผมเพราะไม่เคยซ้อมเพิ่มเพื่อพัฒนาตัวเอง ไม่เคยยกระดับตัวเองขึ้นมา สุดท้ายแล้วก็จะไปได้ไม่ไกล นักฟุตบอลที่ดีและจะยืนระยะได้นานๆ ต้องมีทั้งพรสวรรค์และพรแสวง”
‘ครอบครัว’ บุคคลสำคัญที่ช่วยให้มิก้าเลือกสู้ต่อในอาชีพนักฟุตบอล
นอกจากเสียงหัวใจที่กู่ก้องร้องตะโกนเตือนไม่ให้มิก้าหันหลังใส่ฟุตบอล เกมกีฬาที่เขารักในวัย 18 ปี ‘ครอบครัว’ ก็ถือเป็นอีกหนึ่งกำลังใจสำคัญที่ทำให้เขายังเดินหน้าไม่มีถอยและยึดมั่นในอาชีพนักฟุตบอลจวบจนถึงทุกวันนี้
ทั้งพ่อ น้า และญาติผู้พี่ของมิก้ามีส่วนปลูกฝังให้เขาผูกพันกับเกมลูกหนังมาตั้งแต่เล็กๆ ด้วยความที่เป็นนักกีฬาฟุตบอลด้วยกันทุกคน พอโตขึ้นทั้งพ่อและแม่ก็ยังปล่อยให้หนุ่มลูกครึ่งไทย-เวลส์ผู้นี้ได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก โดยให้อิสระกับสิ่งที่เขาชอบเต็มที่ และไม่เคยไปกดดันว่าลูกจะต้องเติบโตมาเป็นนักฟุตบอลอาชีพ
“คุณพ่อคุณแม่หลายคนมาปรึกษาผมว่า เขาอยากให้ลูกเป็นนักฟุตบอลอาชีพ ผมก็มักจะถามเขากลับไปว่า ‘แล้วลูกของคุณพ่อคุณแม่อยากเป็นนักฟุตบอลอาชีพจริงๆ หรือเปล่า’ ผมอยากให้น้องๆ ทุกคนมีความสุขกับฟุตบอลเป็นอันดับแรก ที่ผมเป็นมิก้าในวันนี้ได้ก็เพราะครอบครัวผมสนับสนุนเต็มที่ ไม่เคยบังคับว่าต้องเล่นฟุตบอลเพื่อเป็นนักฟุตบอลเป็นอาชีพ”
เมื่อถึงคราวที่ต้องชั่งใจว่าจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยเพื่อเริ่มต้นนับหนึ่งใหม่อีกครั้งในฐานะนักฟุตบอลไทยลีกหรือไม่ ครอบครัวชูนวลศรีก็ยังคงยืนเคียงข้างเขาเพื่อให้กำลังใจและสนับสนุนเช่นเคย
สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่สะท้อนให้เห็นว่าครอบครัวของมิก้ามีบทบาทและสำคัญต่อเขามากเพียงใดในการผลักดันให้เด็กหนุ่มในวัย 18 ปีที่เคยพบกับความผิดหวังครั้งใหญ่ในชีวิตไม่หยุดสู้และมุ่งมั่นอุทิศทั้งกายและใจเพื่อเปลี่ยน ‘ความล้มเหลว’ ให้กลายเป็น ‘บทเรียนสู่ความสำเร็จ’ บทใหม่ในชีวิตอีกครั้ง
ที่ผมเป็นมิก้าในวันนี้ได้ก็เพราะครอบครัวผมสนับสนุนเต็มที่ ไม่เคยบังคับว่าต้องเล่นฟุตบอลเพื่อเป็นนักฟุตบอลเป็นอาชีพ
ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร หากไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรค
อลิอันซ์ จูเนียร์ ฟุตบอล แคมป์ คือโครงการที่อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต และสโมสรบาเยิร์น มิวนิก ทีมชั้นนำในประเทศเยอรมนีคัดเลือกเยาวชนไทยฝีเท้าดีอายุ 14-16 ปี ในแต่ละตำแหน่ง 4 คนเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมพัฒนาวิชาลูกหนังกับเยาวชนจากกว่า 20 ประเทศทั่วโลกเข้าแคมป์ฝึกซ้อมกับทีมบาเยิร์น มิวนิกที่ประเทศเยอรมนีต่อเนื่องกันมานานกว่า 8 ปี
มิก้าที่ได้เห็นวิธีการฝึกของอลิอันซ์ จูเนียร์ ฟุตบอล แคมป์ บอกว่า “สไตล์ของบาเยิร์น มิวนิก และฟุตบอลเยอรมันจะให้ความสำคัญกับการฝึกสอนฟุตบอลเยาวชนตามโปรแกรมที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย โฟกัสกับรายละเอียดด้านการพัฒนาทักษะ ผมเลยรู้สึกว่าโครงการสอนฟุตบอลแบบนี้ดีมากๆ แต่ก็ขึ้นอยู่กับน้องๆ ด้วยว่าจะนำวิชาที่ได้รับมาพัฒนาตัวเองต่อที่บ้านอย่างไร จะเก็บเกี่ยวด้วยตัวเองได้มากแค่ไหน ไม่มีใครที่เก่งขึ้นได้ภายในชั่วโมงเดียวหรอก”
โอกาสและคลังความรู้ด้านฟุตบอลคือส่ิงที่ผู้ผ่านการคัดเลือกทั้งหมด 4 คนในแต่ละปีจะได้รับจากอลิอันซ์ จูเนียร์ ฟุตบอล แคมป์ แต่กับผู้ที่สอบตก ไม่ผ่านการคัดเลือก พวกเขาต้องฝ่าฟันกับอะไรบ้าง?
จากเด็กไทยมากกว่า 30 คนที่เคยได้รับโอกาสเข้าไปฝึกฟุตบอลกับอลิอันซ์ จูเนียร์ ฟุตบอล แคมป์ ยังมีเด็กๆ อีกกว่า 16,000 คนที่ตกรอบและไปไม่ถึงฝั่งฝันที่เยอรมนีเสียที ถึงอย่างนั้นความเชื่อที่ทุกคนมีร่วมกันและไม่ต่างจากรุ่นพี่นักฟุตบอลอย่างมิก้า ชูนวลศรีคือ ‘การไม่ยอมแพ้’ และพร้อมเดินหน้าพัฒนาตัวเองต่อไป
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
ติดตามเรื่องราวใน Hall of Fail | Museum ของเหล่านักบอลผู้พ่ายแพ้ทั้งหมดได้ที่นี่