หลายคนคงเคยเจอเย็นวันศุกร์ที่ไม่รู้จะทำอะไร เพื่อนไม่ว่าง เลยกลับมาอยู่เงียบๆ ที่ห้อง ความเหงาเล็กๆ ที่เกาะกุมใจก็ขยายใหญ่ขึ้นอย่างไม่รู้ตัว
R U OK เอพิโสดนี้ ปอนด์ ยาคอปเซ่น และ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ นักจิตบำบัดด้วยการเคลื่อนไหว เลยมาชวนกันคุยเรื่องความเหงาที่บางครั้งมันลึกไปถึงความอ้างว้างว่าเป็นความผิดปกติหรือไม่ และความแปลกแยกที่หลายคนกำลังเผชิญ เกี่ยวข้องกับความเหงาอย่างไร ไปจนถึงการสังเกตพฤติกรรมตัวเองที่เป็นผลพวงมาจากความเหงา เพราะการรู้จักสังเกตตัวเองคือพื้นฐานการดูแลจิตใจที่สำคัญที่สุด
ความเหงามาจากไหน
ความเหงาคืออารมณ์หนึ่งของมนุษย์ที่สะท้อนถึงภาวะในจิตใจที่โล่ง ว่าง หรือรู้สึกมีบางส่วนไม่ครบสมบูรณ์ บางครั้งอาจรู้สึกไม่มั่นคง เพราะช่องว่างนั้นไม่ถูกเติมเต็ม ซึ่งที่มาของความรู้สึกเหล่านี้อาจมาได้จากหลายสาเหตุแตกต่างกันไปตามแต่บุคคล
ในวัยเด็กบางคนอาจรู้สึกเหงาเพราะว่าไม่มีเพื่อนเล่นด้วย เมื่อก้าวสู่วัยรุ่นบางคนทั้งๆ ที่เจอพ่อแม่พร้อมหน้าพร้อมตากันทุกวันก็ยังรู้สึกเหงา และพอเติบโตขึ้นบางคนก็หาแฟนหรือคู่ชีวิตมาอยู่ด้วยกันเพราะเชื่อว่าการมีใครสักคนข้างๆ จะทำให้ความเหงานั้นบรรเทาลงไปได้ ฉะนั้นถ้าสังเกตให้ดีการพยายามบรรเทาความเหงาที่เกิดขึ้นมักมีพื้นฐานมาจาก ความคาดหวัง ของตัวเราเองที่คิดว่าฟิกเกอร์เหล่านั้น ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ เพื่อน หรือคนรัก จะเป็นคนเติมเต็มความรู้สึกนั้นได้ ทั้งที่ความจริงแล้วตัวเราเองคือคนที่เติมเต็มตัวเราเองได้ดีที่สุด เพราะเรารู้จักตัวเองดีที่สุด เราสามารถทำให้ตัวเองมีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องพึ่งพิงคนอื่นเพื่อให้ความเหงานั้นบรรเทาลงไปได้ด้วยซ้ำ
ความเหงาไม่ได้ขึ้นกับปริมาณคนที่อยู่ด้วย
ถ้าลองสังเกตตัวเองดีๆ จะพบว่าความเหงาที่เกิดขึ้นไม่ได้หมายความว่าเราอยู่คนเดียวเสมอไป บางครั้งเราอยู่ท่ามกลางคนมากมายเราก็ยังรู้สึกเหงาได้ และหลายคนอาจเคยเจอว่าตัวเองอยู่กับคนจำนวนมากก็ยังเหงาได้เช่นกัน ฉะนั้นแล้วอารมณ์เหงาที่เกิดขึ้นจึงไม่ได้ขึ้นอยู่กับปริมาณของคนที่แวดล้อมแต่ขึ้นอยู่กับความรู้สึกที่ไม่มั่นคงในใจที่จะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ เพราะหากลองสังเกตตัวเองดีๆ มีบางครั้งที่เราอยู่คนเดียวเราก็ไม่ได้มีความรู้สึกเหงา และบางครั้งเราเองก็ยังรู้สึกเอ็นจอยกับความเหงาเบาๆ ที่ทำให้เราสร้างสรรค์งานต่างๆ ได้เหมือนกัน
เพราะโดยธรรมชาติของมนุษย์ ในภาวะเดียวกันมนุษย์เราแบกอารมณ์ไว้มากกว่าอารมณ์เดียว แต่เพราะเราไปเจอสถานการณ์บางอย่าง คนบางคน หรือบางสถานที่แล้วทำให้ความเหงาที่นอนนิ่งอยู่ในจิตใจถูกสะกิดขึ้นมาให้ทำงานและกลายเป็นอารมณ์หลักได้ แค่เพียงตอนนั้นเราอาจไม่รู้ว่าสิ่งที่เรากำลังเผชิญคือสาเหตุ เพราะด้วยกายภาพประสาทตาจะทำงานกับความรู้สึกเร็วมากโดยที่เราไม่ทันนึก นั่นคือสาเหตุว่าทำไมอยู่ๆ เราถึงเหงา และบางครั้งก็เหงาที่เราก็หาสาเหตุไม่เจอ
ความเหงากับความแปลกแยก
นอกจากความเหงาที่คนเมืองเหมือนจะเป็นง่ายและมากขึ้นทุกวัน อีกคำหนึ่งที่มักได้ยินคู่กันเป็นประจำคือคำว่า ‘แปลกแยก’ ซึ่งทั้ง 2 อารมณ์อาจเกี่ยวข้องกันแต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว เพราะความรู้สึกแปลกแยกจะตามมาด้วยความเครียด กังวล มากกว่าความว่างโล่งของความเหงา เช่น เราเข้าไปเป็นพนักงานใหม่ของบริษัทแห่งหนึ่งที่ไม่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมองค์กรนี้มาก่อน ระหว่างที่เรากำลังปรับตัวเราอาจรู้สึกแปลกแยก เพราะรู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของสังคมรอบข้าง จึงเกิดภาวะเครียด วิตกกังวลตามมา ความแปลกแยกจึงไม่ใช่ความเหงาระดับที่มากขึ้น แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันอย่างแยกไม่ออก เพราะบางครั้งที่เราแปลกแยกโดยที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งของสังคมหรือใคร ก็อาจเกิดความรู้สึกเหงาตามมา เพราะอย่างที่ได้กล่าวไปโดยธรรมชาติของมนุษย์มักมีอารมณ์ที่แบกอยู่อย่างซับซ้อนและอาจเกิดขึ้นพร้อมกันก็ได้
ลองสังเกตความเหงาของตัวเอง
หลายคนอาจรู้สึกว่าถ้าเราเหงาแค่บางๆ ก็รู้สึกดีและรื่นรมย์ที่ได้ใช้ชีวิตคนเดียว แต่ส่วนใหญ่เมื่อเหงาแล้วอารมณ์จะค่อยๆ ดิ่งลงลึกขึ้นอย่างไม่รู้ตัว ความเหงาอาจนำพาอารมณ์ด้านลบตามมา เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญที่สุดคือเมื่อเหงาเราต้องสังเกตตัวเอง โดยเริ่มจาก
1. รับรู้ว่าตัวเองกำลังเหงา และลองสังเกตตัวเองว่าสิ่งที่จะทำต่อไปคืออะไร โดยธรรมชาติเมื่อเกิดอารมณ์อะไรบางอย่าง มนุษย์มักจะมีแพตเทิร์นเดิมๆ ทำซ้ำอยู่อย่างนั้น เช่น บางคนเหงา แล้วจะเริ่มรู้สึกอ้างว้าง โดดเดี่ยว เหงาลึกขึ้น จากนั้นก็อาจเรียกร้องความสนใจด้วยวิธีการต่างๆ
2. ยอมรับว่าตัวเองมีแพตเทิร์นอย่างนั้นในการจัดการความเหงา ค่อยๆ ค้นหากับตัวเองว่าทำไมเราถึงเลือกวิธีการแบบนั้น เป็นอย่างนี้มานานแค่ไหน
3. เมื่อเกิดความเหงาขึ้นอีกครั้งลองดูว่าเรายังทำตามแพตเทิร์นเดิมหรือเปล่า เราอยากทำอะไรหรือไปที่ไหน เฝ้ารอความคิดนั้น และเมื่อมันเกิดขึ้นลองถามตัวเองว่าถ้าไม่ทำตามแพตเทิร์นเราจะยังมีทางเลือกไหนอีกบ้างที่ไม่เดือดร้อนตัวเองและคนอื่นในอนาคต เช่น บางคนเหงาแล้วมักจะเล่นแอปฯ นัดเดตเพื่อหาคู่นอน ทำอย่างนั้นต่อไปเรื่อยๆ เป็นแพตเทิร์น แต่เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกตัวว่าการมีเพศสัมพันธ์กับคนแปลกหน้าไม่ใช่ทางเลือกที่ดี ลองถามตัวเองว่าเปลี่ยนไปทำอย่างอื่นได้ไหม อาจจะค่อยๆ เปลี่ยนวิธีการของตัวเองเพื่อที่สุดท้ายเราจะได้มีสุขภาพใจและกายที่สมบูรณ์แข็งแรง
เหงา แปลกแยก พบจิตแพทย์ได้ไหม
แม้ว่าความเหงาจะไม่ใช่เรื่องผิดปกติเพราะเป็นหนึ่งในอารมณ์ของมนุษย์ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าไม่ใช่เรื่องที่ไม่ต้องใส่ใจ เพราะบางคนอาจรู้สึกเหงาอย่างมหาศาล รู้สึกว่ากำลังทำร้าย มีความเศร้า หรือเครียดกังวลตามมา ซึ่งนั่นเป็นสัญญาณเบื้องต้นว่าอาจไม่ใช่อารมณ์เหงาปกติ แต่เรากำลังเผชิญภาวะบางอย่างที่อาจนำพาไปสู่อาการเจ็บป่วยทางจิตใจได้ ยิ่งถ้าเมื่อไรที่ความเหงานำพาความคิดในหัวให้ลั่นขึ้นมาว่าตัวเองไม่มีค่า ยิ่งต้องพาตัวเองไปพบจิตแพทย์ทันที อย่างที่บอกว่าอารมณ์ของมนุษย์มันเกี่ยวพันและซับซ้อนกันอย่างแยกไม่ออก การขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เดินออกมาจากความเหงาได้เร็วขึ้นกว่าการจัดการด้วยตัวเองก็ได้
Credits
The Hosts ปอนด์ ยาคอปเซ่น
ดุจดาว วัฒนปกรณ์
Show Creator อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Episode Producer & Editor อธิษฐาน กาญจนะพงศ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic.com