ทศวรรษ 1970 เป็นช่วงที่เกิดกระบวนการที่ต้องการรื้อฟื้นศาสนาที่มีผู้หญิงเป็นเทพ หรือเป็นใหญ่ขึ้นในโลกตะวันตก ทั้งนี้เป็นผลมาจากคำถามที่ว่าทำไมศาสนาใหญ่ทั่วโลกจึงต้องมีศาสดาหรือพระเจ้าเป็นผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นพระพุทธเจ้า พระมหาวีระ พระเยซู หรือแม้แต่ขงจื๊อ
ขบวนการรื้อฟื้นนี้เรียกว่า ‘Goddess Movement’ ขอแปลคร่าวๆ ว่า ‘ขบวนการบูชาเทวสตรี’ ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีนิยม (Feminism) ที่เบ่งบานในช่วงทศวรรษ 1960-1970 ที่เกิดขึ้นหลายแห่ง เช่น อเมริกาเหนือ ยุโรปตะวันตก ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ (อาจจะบอกได้ว่าเกิดขึ้นในกลุ่มชาวยุโรปหรือคนขาวนั่นเอง)
หัวใจหลักๆ ของขบวนการนี้ก็คือ การตอบโต้กับศาสนาที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ เพราะมองว่าศาสนาผู้ชายนี้เองที่ครอบงำและกำหนดพฤติกรรมของผู้หญิงหลายอย่างด้วยกัน เช่นเรื่องการแต่งกาย พื้นที่ที่ผู้หญิงสามารถเข้าไปในศาสนสถาน การครอบครองความรู้ และอื่นๆ อีกมาก หรือคำถามเล็กน้อยเช่นว่า ทำไมผู้หญิงจะต้องทำความเคารพต่อศาสดาหรือพระเจ้าที่เป็นผู้ชายด้วย
ผลก็คือทำให้เกิดแนวคิดว่า ถ้าหากต้องการจะหลีกเลี่ยงจากอำนาจของผู้ชาย ก็ต้องพัฒนาลัทธิการบูชาเทวสตรีขึ้นมา แต่คราวนี้จะบูชาเทวสตรีอะไรดี และจริงหรือไม่ที่ผู้หญิงเคยเป็นเทพเจ้าที่ยิ่งใหญ่มาก่อนการกำเนิดศาสนาของผู้ชาย
ใครคือเทพสูงสุดของขบวนการบูชาเทวสตรี
แก่นสารของขบวนการบูชาเทวสตรีคือการไม่ตกไปสู่กับดักของการบูชาแบบศาสนาผู้ชาย ดังนั้นจึงมองว่า ผู้หญิงควรมีอิสระในการบูชาเทพองค์ใดก็ได้ที่เป็นผู้หญิง ฉะนั้นในแง่ของไวยากรณ์ คำว่า ‘Goddess’ จึงไม่ได้เป็นนามเอกพจน์ หากแต่ยังเป็นพหูพจน์ไปในตัวด้วย
อย่างไรก็ตาม ความยากของการรื้อฟื้นการบูชาเทวสตรีคือการไม่มีคัมภีร์เฉพาะ และเรื่องราวของเทวสตรียังแทรกเข้าไปอยู่ในเทพปกรณัมที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ทำให้ต้องการจะเลือกเทวสตรีขึ้นมาสักองค์จะต้องผ่านการค้นคว้า และการตีความอย่างหนัก เพื่อเข้าถึงแก่นของการบูชา จนมีการตั้งคำถามขึ้นมาว่า เทวสตรีที่เลือกมานั้นเป็นของดั้งเดิมหรือผ่านกระบวนการทางจินตนาการขึ้นมา
มีเทวสตรีหลายองค์ที่บูชาโดยขบวนการบูชาเทวสตรีนี้ มีอยู่องค์หนึ่งที่ผมว่าน่าสนใจคือ เทวีดีมิเตอร์ (Demeter) เป็นเทพของกรีก โดยถือเป็นเทพแห่งธัญญาหาร การเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ และกฎหมายอันศักดิ์สิทธิ์ ที่สำคัญยังเป็นผู้กำหนดวัฏจักรของการเกิดและการตายอีกด้วย
ในดินแดนกรีกโบราณ เทวีดีมิเตอร์ได้รับการบูชาในเทศกาลเธสโมโฟเรีย (Thesmophoria) ระหว่างวันที่ 11-13 ตุลาคม แต่พิธีนี้ถือเป็นความลับ และอนุญาตให้เฉพาะผู้หญิงเท่านั้นเข้าไปยังพื้นที่ของพิธีกรรม
แต่อย่างว่าครับ ความลับมักไม่มีในโลก ลูเซียน (Lucian) นักวรรณกรรมได้บันทึกไว้ว่า ในช่วงพิธีกรรมผู้หญิงจะนำหมูมาบูชายัญ จากนั้นนำชิ้นส่วนของมันใส่ลงไปในหลุมที่เรียกว่า ‘เมการา’ จากนั้นก็เอาชิ้นส่วนหมูจากหลุมเมการาขึ้นมา แล้วนำไปวางไว้บนแท่นบูชา ซึ่งมีขนมปังที่ทำเป็นรูปงูและอวัยวะเพศชาย หลังจากนั้นก็นำของทั้งหมดมาบดจนป่นแล้วไปโปรยยังไร่ที่ได้หว่านเมล็ดพันธุ์พืชไว้แล้ว ที่ทำเช่นนั้นด้วยเชื่อว่าจะทำให้ผลผลิตออกมาดี
ด้วยความสำคัญดังกล่าว จึงถือว่าเทพองค์นี้สำคัญมากต่อชีวิตของมนุษย์ทั้งหญิงและชาย และในบางที่จึงเรียกเธอว่าเป็น ‘The Great Goddess’
นอกจากเทวีดีมิเตอร์แล้ว ขบวนการบูชาเทวสตรียังให้ความเห็นอีกด้วยว่า ร่องรอยการนับถือผู้หญิงปรากฏชัดในศาสนาคริสต์ เห็นได้ชัดจากการบูชาพระแม่มารีย์ (Mary) และเรื่องของมารีย์ แม็กดาเลน (Mary Magdalene) ซึ่งเป็นนักบุญหญิงที่ติดตามพระเยซู และเป็นบุคคลแรกที่ได้เห็นพระเยซูหลังพระองค์ฟื้นคืนพระชนม์ชีพ ดังนั้นจึงมีข้อสรุปว่า แท้จริงแล้วศาสนาคริสต์ได้สืบทอดการบูชาเทวสตรีมาจากกรีก
เทวสตรีดีมิเตอร์ของกรีก เทพแห่งการเกษตรและความอุดมสมบูรณ์ เปรียบไปก็เหมือนกับพระแม่โพสพของไทย
(ภาพ: wikipedia commons)
วิหารสีม่วงของเทวสตรีที่เมืองแกลสตันบูรี
ลัทธิบูชาเทวสตรีเกิดขึ้นจริงจังที่เมืองแกลสตันบูรี (Glastonbury) เมืองเล็กๆ ในทางตะวันตกของเกาะอังกฤษ อาจเรียกได้ว่าที่นี่ถือเป็นศูนย์กลางของศาสนาทางเลือกโดยมีการสร้างเทวสถานของเทวสตรี
ตัวเทวสถานมีรูปทรงแบบง่ายๆ โดยใช้บ้านเก่าสไตล์ลอฟต์ แล้วทาด้วยสีม่วงทั้งหลัง พร้อมตกแต่งด้วยภาพวาดของเทวสตรี โดยเริ่มเปิดให้คนเข้ามาบูชาเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2002 ซึ่งเชื่อกันว่าคงเป็นเทวสถานเทวสตรีแห่งแรกในรอบพันห้าร้อยปีหลังจากที่ไม่ได้มีการบูชากัน
สาเหตุที่เหล่าสาวกของลัทธิบูชาเทวสตรีเลือกเมืองนี้ เพราะเชื่อว่าเป็นศูนย์รวมของเทวสตรีหลายองค์ เช่น เทพแห่งอวาลอน (Lady of Avalon) เทพทอร์ (Tor Goddess) เทพแห่งทะเลสาบ (Lady of the Lake) เทพแห่งท้องน้ำดอม-นู (Domnu) เทพมารีย์แห่งแกลสตันบูรี (Mary of Galstonbury) ซึ่งองค์หลังนี้เชื่อว่าเป็นความสับสนของอนารยชนในช่วงที่ศาสนาคริสต์เพิ่งเข้ามา ทำให้มีการบูชาพระแม่มารีย์ในฐานะที่เป็นเทวสตรีควบคู่ไปกับบูชาพระเยซูเป็นเทพไปพร้อมกัน
ครั้งหนึ่งทีมงานของบีบีซี ได้ไปสังเกตการณ์การบูชาเทวสตรีที่เทวสถานแห่งนี้ ในวันนั้นมีการบูชาเทพแห่งท้องทะเลดอม-นูพอดิบพอดี แท่นบูชาของเทพดอม-นูตกแต่งด้วยสีน้ำเงินและเทอร์คอยส์เพื่อสื่อถึงน้ำทะเล และมีปลาโลมาที่เป็นสัตว์พาหนะอยู่ใกล้ๆ
เมื่อพิธีเริ่มขึ้น ผู้นำพิธีเริ่มต้นสวดเรียกดอม-นูและเทวสตรีองค์อื่นๆ เข้าสู่เทวสถาน โดยมีผู้มาบูชาราว 70 คน แทบทั้งหมดเป็นผู้หญิง จากนั้นผู้ที่มาบูชาก็เขียนพรและสิ่งที่ตนปรารถนาลงบนกระดาษแล้วพับเป็นเรือ และลอยมันลงในอ่างน้ำขนาดใหญ่ จากนั้นก็เอาหลอดเป่าลมให้เรือลอยไปยังอีกฝั่งหนึ่ง เพื่อให้บรรลุถึงความโชคดี
นอกจากนี้ทุกปีเมื่อถึงเทศกาลบูชาเทวสตรีราวเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคม ผู้ที่ศรัทธาจะพากันแต่งกายด้วยชุดสีม่วงเป็นพื้น ร้องเพลง เล่นดนตรี แห่ไปตามถนน แถมยังมีการจัดประชุมประจำปีทุกปีเพื่อมารวมกันอีกด้วย เทวสถานแห่งนี้ยังมีบริการให้ใช้เป็นที่แต่งงาน ซึ่งได้รับการรับรองอย่างถูกต้องตามกฎหมายอีกด้วย
ความจริงแล้วการบูชาเทวสตรีในอังกฤษนั้นสัมพันธ์กับศาสนาดั้งเดิมที่อยู่ในอังกฤษก่อนการรับศาสนาคริสต์เข้ามา เรียกว่าศาสนาของพวกอนารยชน (Paganism) ซึ่งปัจจุบันยังคงมีการบูชาศาสนาผีกันอยู่หลายท้องที่ โดยคนอังกฤษให้ความเคารพและถือว่าเป็นศาสนาทางเลือกแบบหนึ่ง
เทวสถานเทวสตรีที่เมืองแกลสตันบูรี
(ภาพ: wikipedia commons)
รูปวาดของเทวสตรีดอม-นู
(ภาพ: www.goddesstemplegifts.co.uk)
ผู้ศรัทธาในลัทธิบูชาเทวสตรีที่เมืองแกลสตันบูรี ทุกคนแต่งกายด้วยชุดสีม่วงและดำ และถือธงเพื่อบูชาเทวสตรี
(ภาพ: goddessconference.com)
ผีผู้หญิงไทยสมัยหนึ่งเคยเป็นใหญ่
ผมเข้าใจว่าขบวนการบูชาเทวสตรีนี้คงไม่แพร่หลายเข้ามาในไทย และถึงแพร่เข้ามาคนไทยก็คงเฉยๆ กับมัน เพราะในไทยเราเองมีศาลของผีผู้หญิงอยู่เต็มบ้านเต็มเมืองครับ ไม่ว่าจะเป็นศาลแม่นาคพระโขนง ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว และอีกมากมาย คือถ้าชายไทยจะกลัวเมีย กลัวแม่ และผีผู้หญิงจะดุกว่าผีผู้ชายก็ไม่ต้องแปลกใจเลย เพราะมันคือความเชื่อดั้งเดิมที่ฝังรากลึกในสังคมไทยครับ
ย้อนกลับไปสัก 4,000 ปี สังคมในอุษาคเนย์บางท้องที่นับถือผู้หญิงเป็นใหญ่ ตัวอย่างคลาสสิกที่มักยกมาอ้างกันเสมอคือ โครงกระดูกของหญิงชราที่ถูกขนานนามว่า ‘เจ้าแม่โคกพนมดี’ เพราะเมื่อนักโบราณคดีขุดพบร่างของเธอที่ถูกฝังอยู่ ปรากฏว่ามีลูกปัดเปลือกหอยประดับอยู่กว่าแสนเม็ด ซึ่งสะท้อนว่าเธอคงต้องเป็นผู้มีสถานะทางสังคมสูง
สุจิตต์ วงษ์เทศ นักวิชาการอาวุโสผู้ปลดกระดุมเม็ดบน ได้เขียนบทความเรื่อง ‘นางนาค’ ในหนังสือพลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรีฯ ได้อธิบายว่า คำว่า ‘แม่’ มีความหมายดั้งเดิมว่า ‘เป็นใหญ่’ ดังเห็นได้จากคำนามของหลายสิ่งในสังคมไทยที่ใช้คำว่า ‘แม่’ ขึ้นต้น เช่น แม่น้ำ แม่ทัพฯ
ส่วนในกัมพูชาก็มีตำนานที่เล่าว่า ‘นางนาค’ คือปฐมสตรีที่เป็นผู้ให้กำเนิดแผ่นดินและชีวิต หรือที่ใกล้ตัวคนไทยอย่างมากก็คือในพิธีบวชพระ จะต้องมีการร้องเพลง นางนาค ในงานแต่งงานและทำขวัญนาค ซึ่งสะท้อนถึงการนับถือผู้หญิงมาก่อนจะมีการรับพระพุทธศาสนา
เมื่อถึงตรงนี้หลายคนอาจมีคำถามว่า ทำไมคนโบราณในอุษาคเนย์จึงต้องรับศาสนาผู้ชายจากอินเดียเข้ามา
คำตอบที่ดูจะเป็นไปได้คือ เมื่อราว 2,500 ปี ชุมชนก่อนประวัติศาสตร์ได้เกิดขยายตัวเป็นสังคมระดับเมือง พร้อมกับมีการใช้เหล็กมาทำเป็นอาวุธ ซึ่งนำไปสู่สงคราม นอกจากนี้ ศาสนาจากอินเดียยังมาพร้อมกับแนวคิดในการปกครองรัฐที่มีผู้ชายเป็นใหญ่ คือ กษัตริย์ และกษัตริย์ยังทำหน้าที่ติดต่อกับเทพบุรุษ บางครั้งถึงกับเชื่อว่าเป็นอวตาร ด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้บทบาทของผู้ชายโดดเด่นขึ้นมา
มีเรื่องที่น่าสังเกตนะครับว่า หลายแห่งทั่วโลก เทวสตรีมักจะสัมพันธ์กับพื้นดิน พื้นน้ำ อาหาร ธัญพืช และความอุดมสมบูรณ์ เช่น ในไทยเราก็มีพระแม่ธรณี พระแม่โพสพ (ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการเอาความเชื่อจากอินเดียมาสวมทับลงกับความเชื่อเดิม) ในขณะที่เทพบุรุษมักจะสัมพันธ์กับท้องฟ้า อากาศ ไฟ หรือสิ่งที่ไม่มีมวล สิ่งที่เคลื่อนที่ได้ เช่น พญาแถน (ต่อมากลายเป็นพระอินทร์) พระอัคนี
เรื่องนี้อาจารย์คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้อธิบายไว้ว่า ในสังคมของอินเดีย ชาวพื้นเมืองเป็นชาวลุ่ม จึงผูกพันกับเทวสตรีที่เกี่ยวกับที่ดิน ในขณะที่ชาวอารยันเป็นกลุ่มคนเร่ร่อนจึงบูชาเทพที่เกี่ยวข้องกับท้องฟ้า ด้วยแนวคิดของอาจารย์คมกฤชนี้ จะเห็นได้ว่าในสังคมต่างๆ ผู้ชายมักมีหน้าที่ออกไปหาอาหารนอกบ้านจึงต้องเคลื่อนที่อยู่ตลอดเวลา ทำให้นับถือเทพบนท้องฟ้า หรือไฟ ในขณะที่ในสังคมสมัยก่อนผู้หญิงมีหน้าที่ควบคุมบ้าน อาหาร เศรษฐกิจ และอยู่ติดบ้าน จึงมักถูกบุคลาธิษฐานให้เป็นเทวสตรีตามที่ยกตัวอย่างไปนั่นเอง
บางครั้งเราอาจจะไม่ทันรู้ตัวว่า ศาสนามีอิทธิพลควบคุมบทบาทเพศระหว่างชาย หญิง และไม่ชายไม่หญิงมากแค่ไหน และยังมีผลต่อการกำหนดอำนาจและความสูงต่ำของแต่ละเพศอีกด้วย เลิกนับถือศาสนาผู้ชาย มานับถือศาสนาผู้หญิงก็อาจเป็นอีกทางเลือกหนึ่งก็ได้นะครับ ว่าแต่แล้วใครจะเป็นเจ้าลัทธิดี
ภาพเปิด: ภาพวาดเทศกาลเธสโมโฟเรีย (Thesmophoria) วาดโดยจิตรกรชาวอเมริกันชื่อ Francis Davis Millet (ภาพ: wikimedia commons)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- สุจิตต์ วงษ์เทศ. 2559. “นางนาค,” ใน พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี: ความจริงและภาพแทน, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
- คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง. 2559. “เทวี: เทวสตรีในอินเดีย,” ใน พลังผู้หญิง แม่ เมีย และเทพสตรี: ความจริงและภาพแทน, พิพัฒน์ กระแจะจันทร์, บรรณาธิการ. กรุงเทพฯ: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.
- Goddess spirituality in Glastonbury. www.bbc.co.uk/religion/religions/paganism/subdivisions/goddess.shtml
- Goddess movement. en.wikipedia.org/wiki/Goddess_movement