การจับเอาวง BNK48 และผู้กำกับ เต๋อ-นวพล ธำรงรัตนฤทธิ์ มาเจอกันในภาพยนตร์สารคดี Girls Don’t Cry กลายเป็นเรื่องที่ถูกต้องมากๆ และคงไม่มีใครสามารถเล่าความเรียลของกลุ่มผู้หญิงวัยรุ่นได้ดีเท่าผู้กำกับคนนี้
ไม่รู้ว่าด้วยเทคนิคอะไรระหว่างถ่ายทำ ที่ทำให้ผลลัพธ์ออกมาแล้วเราเชื่อทุกอย่างที่สมาชิกทุกคนในวงพูด ด้วยความรู้สึกที่ไม่ได้ถูกบีบบังคับให้พูด ไม่ได้เกร็งที่จะต้องตอบคำถามเหล่านี้ ซึ่งคำตอบที่ได้ทำให้เราอยากนั่งฟังเรื่องราวชีวิตของพวกเธอตั้งแต่ต้นจนจบ และสิ่งที่เราได้รับฟังจาก BNK48 นี่แหละ ที่เปลี่ยนความคิดเราไปได้จริงๆ
1. ไม่ได้มาดูเพราะเป็นโอชิใคร แต่ออกจากโรงพร้อมเมมเบอร์ในใจเฉยเลย
ไม่รู้ว่าจะเรียกว่าเป็นมาร์เก็ตติ้งแฝงหรืออะไร แต่ Girls Don’t Cry เป็นเหมือนวิธีนำเสนอวง BNK48 ในอีกรูปแบบสำหรับสายเรียลลิสม์ สมาชิกแต่ละคนในวงถูกจับมาตอบคำถามในห้องที่เหมือนกล่องเล็กๆ พร้อมกล้องหนึ่งตัว มุมหน้าตรง คล้ายกับถ่ายบัตรประชาชนที่ไม่สามารถบิดมุมเอาใบหน้าด้านสวยมาโชว์ได้ เรามีโอกาสเห็นสมาชิกแต่ละคนชัดๆ ไม่ต้องรอแอร์ไทม์ที่ผลัดกันคนละสองวินาที เรามีโอกาสเห็นการตอบคำถามที่ไม่ต้องห่วงภาพลักษณ์แบบสุดขีด เรามีโอกาสได้สังเกตพฤติกรรม ท่าทาง บุคลิก ตอนสมาชิกแต่ละคนตอบคำถาม สุดท้ายมันทำให้เราได้วิเคราะห์ความเป็นเขาแบบละเอียดจริงๆ และทำให้รู้จักว่าสมาชิกคนไหน ‘น่าจะ’ เป็นคนประมาณไหน
ซึ่งมุมนี้แหละที่ทำให้รู้สึกว่าคอนเซปต์ของ BNK48 หรือ AKB48 ที่ต้องการความบ้านๆ ของไอดอลมันมีอยู่จริง จากตอนแรกที่เราไม่ได้สนใจเท่าไรว่าใครเป็นใคร ใครจะพูดอะไร แต่การเล่าเรื่องตั้งแต่สมัยออดิชัน มาจนถึงการได้อยู่ในวงจริงๆ มันทำให้เราเอาใจช่วยเด็กกลุ่มนี้ไปโดยปริยาย
2. คำว่าไอดอล ไม่ใช่แค่เป็นไอดอล
คำว่าไอดอล มันไม่ได้มีน้ำหนักเบาเหมือนที่คิด ไม่ใช่แค่การมีผู้ติดตามจำนวนมาก และไม่ใช่แค่การเป็นต้นแบบให้คนทำตาม ซื้อของตาม แต่งตัวตาม แต่มันเป็นมากกว่านั้น
ในช่วงท้ายของ Girls Don’t Cry มีคำถามที่ถามเกี่ยวกับการมีแฟนคลับ ซึ่งทำให้เรากลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ จริงอยู่ว่าในสถานการณ์ที่ชีวิตแย่ การมีแฟนคลับหรือมีผู้ติดตาม กลับเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกแต่ละคนได้ ในทางกลับกัน ไอดอลก็เป็นกำลังใจสำคัญให้แฟนคลับเหล่านี้เช่นกัน มันทำให้เรามองว่า หน้าที่ไอดอล แท้จริงแล้วมันแทบจะเป็นทั้งชีวิตของแฟนคลับเหล่านั้นเลยก็ว่าได้ แค่การได้จับมือในงานจับมือ การได้รับรอยยิ้มตอบกลับเพียงแค่เสี้ยววินาที มันสร้างความสุขที่อาจจะยาวนานเป็นเดือนเป็นปีให้กับคนอีกคน
ไอดอลจึงไม่ใช่แค่ไอดอล แต่ไอดอลเป็นทั้งกำลังใจให้ตั้งใจอ่านหนังสือสอบ เป็นทั้งคำเตือนไม่ให้ทำผิด เป็นเสียงเตือนสติไม่ให้ตัดสินใจทำอะไรผิดพลาดในชีวิต เป็นหลายๆ อย่าง ซึ่งคนที่มองจากข้างนอกอาจไม่เคยเห็น บางทีการได้ช่วยเหลือคนอื่นในมุมแบบนี้ อาจจะยิ่งใหญ่กว่าชื่อเสียงที่พวกเขาได้รับมาก็ได้
3. สิ่งที่เราเห็นบนเวทีเป็นแค่ผลลัพธ์ปลายทาง
แม้เราจะรู้ดีว่า BNK48 มีการฝึกซ้อมสมาชิกในวง และนำเสนอสิ่งที่เรียกว่าพัฒนาการของสมาชิกแต่ละคน แต่ก็ยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายอย่างที่เราเพิ่งจะรู้ผ่านการดู Girls Don’t Cry ทั้งการออกกำลังกายก่อนฝึกซ้อม สมาชิกที่ไม่ได้ติดเซ็มบัตสึ ก็ต้องมานั่งวอร์มร่างกายเหมือนกัน แต่พอเข้าสู่ช่วงซ้อมโชว์ พวกเขาต้องนั่งรอแบบไม่มีอะไรทำ หรือลำดับการสร้างวงก่อนจะมาเป็น BNK48 ที่ทุกคนถูกจับมาให้สร้างมิตรภาพก่อน แต่สุดท้ายก็กลายเป็นการแข่งขันอยู่ดี
ซึ่งเบื้องหลังและที่มาเหล่านี้ที่ทำให้เรามองว่า BNK48 ไม่ใช่วงน่ารักแบ๊วๆ ธรรมดาอีกต่อไป เพราะระหว่างทางมันโหดมาก!
4. เข้าใจตัวเองมากขึ้น
ด้วยความที่เรามองว่าวง BNK48 เหมือนเป็นสังคมย่อยๆ กลุ่มหนึ่งที่เรามองหาคนที่คล้ายกับตัวเองในสังคมนี้ได้เลย บางคนดูแล้วอาจจะย้อนกลับมามองดูตัวเองเมื่อสมัยเรียนว่า เราเคยเจอเหตุการณ์แบบสมาชิกคนไหนมา เราเห็นด้วยกับคำพูดของสมาชิกคนไหนบ้าง ซึ่งความรู้สึกที่เกิดขึ้นกลับทำให้เราเห็นภาพตัวเองชัดขึ้นว่าตัวเองเคยเป็น (หรือกำลังเป็นอยู่) คนที่อยู่บนยอดพีระมิดหรือคนที่อยู่ด้านล่างของพีระมิดกันแน่ และมุมมองจากอีกฝั่งหนึ่งที่เราไม่เคยเห็นมันเป็นอย่างไร สุดท้ายเรื่องราวที่สมาชิกแต่ละคนต้องเจอมันแทบไม่ต่างกับชีวิตจริงนอกวง BNK48 เลย
5. รู้จักใจเขาใจเรา
ในแง่อื่นๆ นอกจากเนื้อหาที่พาเราอินตลอดเรื่องแล้ว จังหวะการตัดต่อของ Girls Don’t Cry ก็ไม่ทำให้เรารู้สึกว่าดูสารคดีอยู่ เพราะเต็มไปด้วยซีนตลก ตลกแบบเข้าใจง่ายๆ ตรงๆ ไปจนถึงซีนเศร้า แบบบิลต์ให้คนดูต้องร้องตามจริงๆ ก็มีครบ และยังแอบตัดจบด้วยซีนลายเซ็นแบบเต๋อ-นวพล ที่ทำให้เราอยากลุกขึ้นยืนปรบมือให้
สุดท้ายการนั่งดู Girls Don’t Cry แทบจะเป็นเหมือนการชวนให้รู้จัก ‘ใจเขาใจเรา’ มากขึ้น จะมีสักกี่ครั้งที่เราได้นั่งทำความเข้าใจชีวิตคนในสปอตไลต์แบบตั้งใจ โดยที่ไม่มีหน้ากากบังหน้าพวกเขาอยู่ เราเชื่อว่าตัวสมาชิกในวง BNK48 เองก็คงได้เห็นภาพตัวเองชัดขึ้น เข้าใจความเป็นไปในวงมากขึ้น โอตะทั้งหลายก็คงเข้าใจความรู้สึก ความกดดัน และเหตุผลของไอดอลแต่ละคนมากขึ้น ส่วนคนนอกที่ไม่เคยตาม BNK48 มาก่อน ก็จะรู้จักพวกเธอมากขึ้นในแบบที่ไม่ต้องอาศัยฟิลเตอร์อะไรเลย
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล