สำนักข่าว Financial Times เผย กระทรวงกลาโหมสหรัฐอเมริกา กดดันพันธมิตรอย่างญี่ปุ่นและออสเตรเลียว่า พวกเขาจะมีบทบาทอย่างไร หากเกิดสงครามระหว่างสหรัฐฯ กับจีนเกี่ยวกับไต้หวัน ซึ่งทำให้พันธมิตรสำคัญในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกทั้งสองประเทศรู้สึกไม่พอใจกับท่าทีดังกล่าว
เอลบริดจ์ คอลบี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงกลาโหมฝ่ายนโยบายได้ผลักดันประเด็นนี้ในการประชุมกับเจ้าหน้าที่กลาโหมของญี่ปุ่นและออสเตรเลียในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา โดยความพยายามนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนผลักดันพันธมิตรในภูมิภาคให้เสริมสร้างการยับยั้งและเตรียมพร้อมสำหรับสงครามที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับไต้หวัน
เจ้าหน้าที่กลาโหมสหรัฐฯ ปฏิเสธให้ความเห็นเกี่ยวกับคำขอเรื่องไต้หวัน แต่เน้นย้ำว่าหัวใจของการหารือของคอลบีกับประเทศพันธมิตรคือ “เร่งรัดและเสริมสร้างความเข้มแข็งของการยับยั้งอย่างสมดุลและเป็นธรรม”
การเจรจาหารือดังกล่าว ยังรวมถึงการโน้มน้าวให้บรรดาประเทศพันธมิตรเพิ่มงบประมาณกลาโหม ท่ามกลางความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับภัยคุกคามของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะต่อไต้หวัน แต่คำขอให้พันธมิตรให้คำมั่นเกี่ยวกับสงครามที่อาจเกิดขึ้นกับไต้หวันถือเป็นความต้องการใหม่จากสหรัฐฯ
อย่างไรก็ตาม แหล่งข่าวของ Financial Times ระบุว่า คำขอดังกล่าวของสหรัฐฯ นี้ทำให้ญี่ปุ่นและออสเตรเลียรู้สึกประหลาดใจ เพราะสหรัฐฯ เองก็ไม่ได้ให้การรับประกันแบบไม่จำกัดแก่ไต้หวัน โดยที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีนโยบาย ‘ความคลุมเครือเชิงยุทธศาสตร์’ ที่ไม่ระบุชัดเจนว่าจะปกป้องไต้หวันหรือไม่ แม้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน จะเคยกล่าวหลายต่อหลายครั้งว่า สหรัฐฯ จะเข้าช่วยเหลือไต้หวัน แต่มาในสมัยของโดนัลด์ ทรัมป์ กลับไม่เคยระบุว่าจะทำอย่างไรต่อประเด็นนี้
แซ็ก คูเปอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเอเชียกล่าวว่า เป็นเรื่องยากมากที่จะให้พันธมิตรระบุรายละเอียดว่าจะทำอะไรในกรณีเกิดความขัดแย้งที่ไต้หวัน เมื่อพวกเขาเองก็ไม่รู้บริบทของสถานการณ์หรือการตอบสนองของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีทรัมป์ไม่ได้ให้คำมั่นว่าจะปกป้องไต้หวัน ดังนั้นการที่สหรัฐฯ ยืนยันให้พันธมิตรให้คำมั่นชัดเจนจึง ‘ไม่สมเหตุสมผล’
ทางด้านกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นกล่าวว่า เป็นเรื่องยากที่จะตอบคำถามสมมติฐานเกี่ยวกับ ‘สถานการณ์ฉุกเฉินของไต้หวัน’ และการตอบสนองใดๆ จะดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในประเทศ ขณะที่หน่วยงานของออสเตรเลียแม้จะยังไม่ได้ให้ความเห็นใดๆ แต่ก็น่าจะมีความเห็นสอดคล้องกับญี่ปุ่น
เจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ยอมรับว่า การพูดคุยเรื่องงบประมาณกลาโหมเป็นเรื่องยาก แต่ก็เชื่อว่าจะทำให้ทุกฝ่ายอยู่ในสถานะที่ดีกว่านี้ ทั้งยังมั่นใจว่า ญี่ปุ่นและออสเตรเลียจะเพิ่มงบประมาณกลาโหมได้รวดเร็วกว่าพันธมิตรยุโรปที่สหรัฐฯ เองก็ต้องการให้ยุโรปเพิ่มงบกลาโหมและให้ความสำคัญกับภูมิภาคยุโรป-แอตแลนติกมากยิ่งขึ้น
แม้กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ จะได้รับสัญญาณเชิงบวกเกี่ยวกับการเพิ่มงบประมาณจากญี่ปุ่นและออสเตรเลีย แต่ขณะเดียวกันก็เน้นย้ำว่าสิ่งสำคัญคือต้องเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรมชัดเจน โดยสหรัฐฯ พร้อมทำงานกับพันธมิตร เพื่อหาทางแก้ไขปัญหาและความท้าทายต่างๆ ร่วมกันในแนวทางที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์
ภาพ: Win McNamee / Getty Images
อ้างอิง: