สหรัฐฯ มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก เนื่องจากเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย โดยมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 18% ของการส่งออกทั้งหมด แต่ที่สำคัญกว่านั้น การส่งออกจากไทยไปสหรัฐฯ มีมูลค่าสูงถึง 60% ของ GDP ซึ่งสะท้อนได้ว่า เศรษฐกิจไทย ‘พึ่งพา’ สหรัฐฯ เป็นอย่างมาก
โดยหลังจากเมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม ที่สหรัฐฯประกาศอัตราภาษีตอบโต้ (Reciprocal Tariffs) ครั้งใหม่ต่อไทยในอัตรา 36% ความปั่นป่วนและความไม่แน่นอนก็กระจายตัวขึ้นเป็นวงกว้าง รวมทั้งอาจสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งหอการค้าประเมินว่า ภาษีตอบโต้ของสหรัฐฯ อาจทำให้เศรษฐกิจไทยโตไม่ถึง 1% ในปีนี้
ด้วยเหตุนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากเริ่มแนะนำให้ภาคธุรกิจและผู้ประกอบการในไทยเริ่มหามองหาตลาดใหม่ทดแทนสหรัฐฯ
ดร.กอบศักดิ์ แนะไทยหาตลาดอื่น ท่ามกลางความไม่แน่นอนจากปธน.ทรัมป์
ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการบริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) แนะว่า ไทยควรเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เช่น อินเดีย จีน อาเซียน และกลุ่มตะวันออกกลางที่กำลังเติบโต เพื่อลดการพึ่งพิงตลาดสหรัฐฯ โดยเฉพาะหลังการกลับมาของ โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่สร้างความไม่แน่นอนทางการค้าให้แก่ประเทศคู่ค้าอย่างมาก
“ส่งออกไทยควรมองหาประเทศทางเลือกอื่นๆ (Alternative) เนื่องจากประธานาธิบดีทรัมป์จะดำรงตำแหน่งไปอีก 3 ปีครึ่ง แม้วันนี้อาจจะ นิ่งๆ ใจดี แต่วันรุ่งขึ้นอาจจะไม่ใจดีอีกก็ได้ เพราะฉะนั้น เราจึงไม่ควรเอาชีวิตไปผูก” ดร.กอบศักดิ์กล่าว
เจ้าสัว CP เสนอไทยเข้าร่วม CPTPP
เมื่อเร็วๆ นี้ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP Group) เสนอว่า ไทยควรเข้าร่วม CPTPP โดยทันที เพื่อรับประโยชน์จากความร่วมมือกับเศรษฐกิจอื่นๆ
“ประเทศไทยควรเข้าร่วมทันที ไม่มีเหตุผลใดที่จะไม่เข้าร่วม” ธนินท์กล่าวในการให้สัมภาษณ์พิเศษกับ Nikkei Asia เมื่อปลายเดือนพฤษภาคม ระหว่างงาน Nikkei’s Future of Asia conference ในกรุงโตเกียว
ทั้งนี้ CPTPP (Comprehensive and Progressive Agreement for Trans-Pacific Partnership) เป็นข้อตกลงการค้าที่มีสมาชิก 12 ประเทศ ประกอบด้วย ญี่ปุ่น, สิงคโปร์, เวียดนาม, ออสเตรเลีย และอีก 8 ประเทศ ขณะที่ จีนและอินโดนีเซียได้ยื่นสมัครเข้าร่วมแล้ว อย่างไรก็ตาม ไทยยังไม่ได้ดำเนินการ
โดย CPTPP นับเป็นข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement) หรือ FTA สมัยใหม่ ที่ข้อตกลงครอบคลุมมากกว่าด้านการค้า การลงทุน แต่ขยายขอบเขตไปถึงภาคบริการ การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา มีมาตรฐานสูงกว่า FTA ทั่วไป และครอบคลุมตลาดขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยให้ไทยสามารถขยายตลาดส่งออกสินค้าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยมาตรฐานที่สูงขึ้น กอปรกับการค้าที่เสรีมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ต้นทุนการดำเนินการแพงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาที่เข้มงวดขึ้น และมีการแข่งขันที่สูงขึ้นได้
ดังนั้น ภาครัฐสามารถเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมได้อย่างครอบคลุม มีระยะเวลาปรับตัวให้กับภาคเอกชนอย่างเหมาะสม และบริหารกฎระเบียบในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก็จะช่วยให้การเข้าร่วม CPTPP เป็นอุปสรรคต่อประเทศน้อยลง
กรุงไทยชี้สินค้าไทยมีศักยภาพในตลาด ‘อาเซียน’
ก่อนหน้านี้ Krungthai COMPASS ได้แนะว่า การขยายความร่วมมือทางการค้าภายในอาเซียนสามารถช่วยลดความเสี่ยงจากมาตรการภาษีแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff) ของทางสหรัฐฯ
พร้อมทั้งระบุว่า เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย เป็นตลาดที่ผู้ส่งออกไทยมีศักยภาพ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร เช่น ข้าว เนื้อสัตว์ และน้ำตาล ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมกันกว่า 3,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นอกจากนี้ หากไทยใช้ประโยชน์จากข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ภายในภูมิภาค เช่น ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) และความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) จะช่วยบรรเทาผลกระทบจากสงครามการค้า และเพิ่มโอกาสด้านการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น
โดย Krungthai COMPASS ยังเปิดรายการกลุ่มสินค้ามีศักยภาพของไทย ในการขยายการส่งออกไปเวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ดังนี้
- เวียดนาม : ลวดทองแดง น้ำตาล รวมถึงน้ำมันปิโตรเลียม แผงควบคุม ยางพารา และแผ่นอะลูมิเนียม
- มาเลเซีย : เนื้อสัตว์ รวมถึงเรือขุด เครื่องบิน แผงควบคุม และโทรศัพท์
- อินโดนีเซีย : ข้าว และน้ำมันปิโตรเลียม
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยแนะผู้ประกอบการ ‘หาตลาด’ ที่แข่งขันได้
เกวลิน หวังพิชญสุข รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่า ‘ไทยอาจลำบาก’ หากต้องเลิกพึ่งพาตลาดสหรัฐฯ เนื่องจากสหรัฐฯ เป็นตลาดส่งออกรายใหญ่ที่สุดของไทยเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ดังนั้น ถ้าอยากหาตลาดใหม่ ผู้ประกอบการไทยแต่ละรายจึงควรมองหาตลาดที่เหมาะกับสินค้า ตัวเองให้เจอว่าอยู่ในประเทศใดบ้าง หากต้องการกระจายความเสี่ยง
“จริงอยู่ที่ ไทยควรหาตลาดที่มีศักยภาพ อย่างไรก็ตาม ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาสหรัฐฯ ไปก่อน โดยอาจทำควบคู่ไปกับการหาตลาดใหม่ โดยเฉพาะตลาดที่ไทยยังครองส่วนแบ่งการตลาดค่อนข้างต่ำอยู่”
นอกจากนี้ “สินค้าแต่ละรายการมีปริมาณความต้องการในตลาดแต่ละประเทศที่แตกต่างกัน หากผู้ประกอบการส่วนใหญ่พากันขยายตลาดไปที่เดียวกันหมด เป็นไปได้ว่าสินค้าบางรายการอาจไม่สามารถแข่งขันได้” เกวลินกล่าว
เกวลินแนะว่า รัฐบาลสามารถช่วยเหลือภาคธุรกิจหาตลาดใหม่ ผ่านการเร่งเจรจากับบางประเทศที่ไทยยังไม่มี FTA ได้ พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดงานอีเวนต์ประเภท Business Matching (ที่ดำเนินการอยู่แล้ว) ให้มีมากขึ้น
นอกจากนี้ รัฐบาลยังสามารถสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่อยู่ในตลาดต่างประเทศมาบ้างแล้ว รับบทเป็นพี่เลี้ยงให้กับผู้ประกอบการรายย่อย เพื่อจับกลุ่มกันเข้าถึงตลาดทางเลือกมากขึ้น