KKP คาด ตลาดอสังหาริมทรัพย์หดตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจไทย ฉุดการเติบโตของสินเชื่อบ้าน และดันหนี้เสีย (NPL) เพิ่มขึ้น
ภัทรพงศ์ รักตะบุตร รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ประธานสายธุรกิจสินเชื่อรายย่อย และประธานสายเครือข่ายสาขา ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจไทยปัจจุบันไม่ได้สดใสมากนัก ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์และการเติบโตของสินเชื่อบ้าน
“ในอดีตสินเชื่อบ้านเป็นสินเชื่อที่ไม่ค่อยมีหนี้เสีย เพราะบ้านเป็นปัจจัย 4 และเป็นทรัพย์สินที่ทุกคนต้องการ แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมาสินเชื่อบ้านเริ่มเปราะบางมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการซื้อเพื่อลงทุนหรือเก็งกำไร ไม่ใช่จากความต้องการอยากมีบ้านจริงๆ” ภัทรพงศ์กล่าว
สำหรับปี 2566-2567 สินเชื่อบ้านหดตัวไปกว่า 10% พร้อมกับเกิดภาวะอุปทานส่วนเกิน (Oversupply) ในตลาดอสังหา ขณะที่ผู้บริโภคก็ชะลอการตัดสินใจซื้อ
ภัทรพงศ์กล่าวต่อว่า ในมุมของหนี้เสีย (NPL) ของสินเชื่อบ้าน โดยภาพรวมปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราว 4% ส่วน NPL สินเชื่อบ้านของ KKP อยู่ที่ราว 1.5% ซึ่งสาเหตุที่ตัวเลขต่ำกว่าตลาด เพราะลูกค้าสินเชื่อบ้านของ KKP อยู่ในกลุ่ม Upper Mass ขึ้นไป ซึ่งจะเป็นกลุ่มที่กู้ซื้อบ้านราคาตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไปเป็นส่วนใหญ่ โดยครึ่งหนึ่งของลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่กู้ซื้อบ้านราคา 7 ล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม ด้วยภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอลง ภัทรพงศ์ยอมรับว่าการปล่อยสินเชื่อบ้านในปีนี้น่าจะทรงตัวจากปีก่อน โดยคาดว่าจะอยู่ที่ราว 5-6 พันล้านบาท แต่ยังดีกว่าเทรนด์ของสินเชื่ออื่นๆ ที่น่าจะหดตัว
ด้วยบริบทในปัจจุบัน KKP ปรับกลยุทธ์ด้วยการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อบ้านใหม่ ภายใต้ชื่อ Home Flexi ซึ่งจะให้วงเงินสินเชื่ออเนกประสงค์ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน โดยวงเงินกู้ที่ลูกค้าแต่ละคนสามารถกู้ได้นั้นจะมาจากเงินที่ผ่อนจ่ายสินเชื่อบ้านและโปะบ้านที่ผ่านมา หากสินเชื่อคงค้างลดลงมาต่ำกว่า 80% ของมูลค่าหลักประกัน
หลังจากผ่อนบ้านไปแล้วจนเงินกู้ต่ำกว่า 80% ของราคาบ้าน ส่วนที่ต่ำกว่า 80% นี้จะกลายมาเป็นวงเงินที่ลูกค้าสามารถเบิกไปใช้ได้ หรือหากลูกค้ามีการ ‘โปะ’ ระหว่างทาง วงเงิน Home Flexi ก็จะเพิ่มขึ้นจากส่วนที่โปะ
ภัทรพงศ์กล่าวว่า Home Flexi ถูกพัฒนาขึ้นมาจากการสำรวจความเห็นของลูกค้าบริษัท ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้ที่โปะบ้านอยู่เป็นประจำ แต่ขณะเดียวกันก็มีความจำเป็นจะต้องใช้เงินก้อนในอนาคต ทำให้ลูกค้าบางส่วนต้องใช้เงินกู้บุคคล ซึ่งมีอัตราดอกเบี้ยประมาณ 15-20% ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของ Home Flexi จะอยู่ที่ราว 5-6% อิงจาก MLR-
“ผลิตภัณฑ์นี้จะช่วยให้ลูกค้ามีความยืดหยุ่นเรื่องการเงิน และช่วยให้ลูกค้าวางแผนด้านการเงินได้มากขึ้น และด้วยสภาวะเศรษฐกิจแบบนี้ การมีช่องทางการเงินที่ต้นทุนถูกเป็นสิ่งที่ดีกว่าทั้งกับแบงก์และกับลูกค้า ขณะเดียวกันยังเป็นบริการที่ช่วยให้แบงก์ไม่ต้องแข่งขันในเรื่องของดอกเบี้ยตลอดเวลา และช่วยให้ลูกค้าอยู่กับบริษัทนานขึ้น” ภัทรพงศ์กล่าว