×

AI ป่วนโลกทำงาน! ผู้นำเสียงแตก ‘อุ้มคน’ หรือ ‘มุ่งกำไร’ ? กูรูชี้ คลื่น AI อาจซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำ

05.05.2025
  • LOADING...
ผู้บริหารในห้องประชุมกำลังพิจารณาการนำ AI มาใช้ในองค์กร สะท้อนความท้าทายระหว่างการปกป้องตำแหน่งงานและการสร้างผลกำไร

ท่ามกลางกระแสการเติบโตอย่างรวดเร็วของปัญญาประดิษฐ์ (AI) บรรดาผู้นำองค์กรต่างกำลังเผชิญความท้าทายครั้งใหญ่ในการสร้างสมดุลระหว่างการให้ความสำคัญกับ ‘บุคลากร’ และการ ‘สร้างผลกำไร’ 

 

Pedro Uria-Recio ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายข้อมูลและ AI ของ CIMB Group กล่าวในงานประชุม GITEX Asia 2025 กับ CNBC Make It ว่า บริษัทต่างๆ มีความรับผิดชอบในการปกป้องตำแหน่งงาน เนื่องจากการเฟื่องฟูของ AI อาจนำไปสู่การว่างงานและ ‘อาจซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำ’ ให้รุนแรงขึ้น

 

“มันคือ ‘คลื่นการเปลี่ยนแปลง’ ครั้งใหญ่ และน่าเสียดายที่บางคนอาจ ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” Uria-Recio กล่าว 

 

คำเตือนนี้สอดคล้องกับรายงานของหน่วยงานการค้าและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือนเมษายน ที่ระบุว่า AI อาจส่งผลกระทบต่องานถึง 40% ทั่วโลก และขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศให้กว้างขึ้น 

 

ดังนั้น บริษัทต่างๆ ไม่เพียงแต่ต้องพัฒนาทักษะให้พนักงานพร้อมรับมือกับการปฏิวัติ AI อย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังต้องพยายามสร้างงานใหม่ๆ ขึ้นมาด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ผู้นำทุกคนที่จะมองไปในทิศทางเดียวกัน Tomasz Kurczyk ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศของ Prudential Singapore ให้สัมภาษณ์กับ CNBC Make It ว่า “เราต้องยอมรับว่าการมุ่งปกป้องตำแหน่งงานอาจไม่ใช่แนวคิดที่ถูกต้อง” 

 

เขากล่าวเสริมว่า “คำถามคือ ‘เราจะทำอะไรได้บ้างเพื่อให้แน่ใจว่าเราสามารถปรับเปลี่ยนการจ้างงานได้?’ เพราะมันเหมือนกับการพยายามป้องกันคลื่นสึนามิ เรารู้ว่าการป้องกันอาจไม่ได้ผล ดังนั้น จึงต้องคิดจริงๆ ว่าเราจะ ‘ปรับตัว’ ได้อย่างไร”

 

Uria-Recio เปรียบเทียบการปฏิวัติ AI ครั้งนี้กับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก่อนหน้า เช่น การเกิดขึ้นของอินเทอร์เน็ตในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 AI เริ่มเป็นที่พูดถึงในวงกว้างเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2022 หลัง OpenAI เปิดตัว ChatGPT ซึ่งเป็น Generative AI สู่สาธารณะ 

 

ตั้งแต่นั้นมา ผลกระทบของเทคโนโลยีนี้ก็ก้าวหน้าไปมาก ทำให้บริษัทต่างๆ เร่งปรับเปลี่ยนพนักงานเพื่อก้าวให้ทันและแข่งขันในระดับโลก Uria-Recio กล่าวว่า “ต่อมา…เราเริ่มคิดแบบ Mobile-First ผมคิดว่าตอนนี้แนวคิดต้องเป็น AI-First แต่ยังคงให้มนุษย์อยู่ในวงจรการทำงาน”

 

แม้ AI จะถูกยกย่องว่าช่วยให้พนักงานทำงานมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น แต่ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นพ้องกันว่า ผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ก็จำเป็นต้องได้รับการแก้ไขเช่นกัน 

 

ข้อมูลจาก Microsoft Trend Index ปี 2025 ชี้ว่า ผู้นำถึง 82% มั่นใจว่าจะใช้แรงงานดิจิทัล เช่น เครื่องมือ Generative AI ขั้นสูง หรือ AI Agents เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพนักงานในอีก 12-18 เดือนข้างหน้า 

 

นอกจากนี้ 78% อาจจ้างบุคลากรในตำแหน่งเฉพาะทางด้าน AI เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต แต่ในขณะเดียวกัน มีผู้นำเพียง 47% ที่บอกว่าการพัฒนาทักษะพนักงานเดิมเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด และน่าสังเกตว่า 33% กำลังพิจารณาลดจำนวนพนักงาน

 

นอกเหนือจากผลกระทบต่องานแล้ว ประเด็นด้านจริยธรรมในการใช้ AI ก็เริ่มกลายเป็นหัวข้อสำคัญในห้องประชุม ซึ่งแม้จะมีความกังวลต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญยังคงมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีนี้ต่อสังคม 

 

“ผมเชื่อว่า AI จะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้ (ฟรี) และสิ่งนี้จะเปิดโอกาสให้กับทุกคนทั่วโลก” Kurczyk กล่าว เขายกตัวอย่างว่า AI อาจนำไปสู่การฟื้นตัวของงานฝีมือหรืองานเชิงช่างมากขึ้น ซึ่งจะสร้างโอกาสใหม่ๆ ให้กับผู้คน 

 

“ความเหลื่อมล้ำที่อาจเกิดขึ้น จะอยู่ในช่วงสั้นๆ ระหว่างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่สุดและบริษัทหรือองค์กรเพียงแห่งเดียวไม่สามารถจัดการเรื่องนี้ได้”

 

แต่การรับมือกับความท้าทายนี้ต้องอาศัยสถาบันการศึกษา รัฐบาล และภาคเอกชน ‘ร่วมมือกัน’ เพื่อให้แน่ใจว่าความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่จะไม่ถูกส่งต่อหรือขยายวงกว้างออกไปอีกในยุค AI

 

ภาพ: IR Stone / Shutterstock

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising