หลังการประกาศครั้งประวัติศาสตร์ของ วอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่เตรียมส่งมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของ Berkshire Hathaway ในช่วงสิ้นปี 2025 นี้ สปอตไลต์จากทั่วโลกก็ฉายจับมาที่ เกร็ก เอเบล ชายผู้ได้รับการวางตัวให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งทางธุรกิจคนต่อไปอย่างเป็นทางการ
เกร็ก เอเบล คือใคร?
เกร็ก เอเบล ในวัย 62 ปี ปัจจุบันดำรงตำแหน่งรองประธานกรรมการของ Berkshire Hathaway โดยรับผิดชอบดูแลกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่ประกันภัยทั้งหมด (Vice Chairman of Non-Insurance Operations) ซึ่งถือเป็นแขนขาและหัวใจสำคัญในการสร้างรายได้และกำไรให้กับอาณาจักร Berkshire นอกเหนือจากธุรกิจประกันภัยที่เป็นรากฐานสำคัญ เขายังเคยได้รับรางวัล Horatio Alger Award ในปี 2018 ซึ่งเชิดชูบุคคลที่สร้างตนเองจากความยากลำบากจนประสบความสำเร็จ
เอเบลไม่ใช่คนหน้าใหม่สำหรับ Berkshire Hathaway แต่เป็นผู้บริหารที่ทำงานเคียงข้างและได้รับความไว้วางใจจากวอร์เรน บัฟเฟตต์ มายาวนานถึง 25 ปี เขาเป็นชาวแคนาดา เกิดที่เมืองเอดมันตัน รัฐแอลเบอร์ตา และมีพื้นฐานด้านการบัญชี
เส้นทางของเขาใน Berkshire เริ่มต้นจากการที่บริษัทเข้าซื้อกิจการ MidAmerican Energy ในปี 2000 ซึ่งเอเบลทำงานอยู่ที่นั่น ด้วยผลงานและความสามารถอันโดดเด่น เขาได้ไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่ง CEO ของ MidAmerican ในปี 2008 ปัจจุบันคือ Berkshire Hathaway Energy หรือ BHE ก่อนจะได้รับมอบหมายให้ดูแลภาพรวมธุรกิจที่ไม่ใช่ประกันภัยทั้งหมด ซึ่งรวมถึงธุรกิจขนาดใหญ่อย่างรถไฟ BNSF และไปจนถึงผู้ผลิตขนมหวานอย่าง See’s Candies และร้านไอศกรีม Dairy Queen รวมถึงธุรกิจการผลิตและค้าปลีกอื่นๆ อีกมากมายนับสิบแห่ง
ทำไมต้องเป็น เอเบล? สไตล์ ‘Hands-on’ ที่บัฟเฟตต์ชื่นชม
แม้จะถูกวางตัวเป็นผู้สืบทอดตำแหน่ง CEO มาตั้งแต่ปี 2021 แต่การประกาศกำหนดเวลาที่ชัดเจนครั้งนี้ ยิ่งตอกย้ำความไว้วางใจที่บัฟเฟตต์มีต่อเอเบล สิ่งสำคัญที่ทำให้เขาได้รับเลือก คือสไตล์การบริหารจัดการที่ ‘ลงมือปฏิบัติจริง’ (Hands-on) และความขยันขันแข็ง ซึ่งบัฟเฟตต์เองได้กล่าวยกย่องในการประชุมผู้ถือหุ้นครั้งล่าสุดว่า “มันทำงานได้ดีกว่ามากกับเกร็กเมื่อเทียบกับผม เพราะผมไม่อยากทำงานหนักเท่าเขา”
บัฟเฟตต์อธิบายว่า สไตล์การบริหารของเอเบลนั้นเหมาะสมอย่างยิ่งกับการดูแลบริษัทย่อยของ Berkshire ที่มีมากกว่า 60 แห่ง มีพนักงานรวมกันเกือบ 400,000 คน และมีความหลากหลายทางธุรกิจสูง ซึ่งแตกต่างจากสไตล์ของบัฟเฟตต์เองที่อาจจะเน้นการกระจายอำนาจให้ผู้บริหารแต่ละบริษัทย่อยดูแลตัวเองมากกว่าในระยะหลัง ความเข้าใจในรายละเอียดและความสามารถในการลงลึกในธุรกิจต่างๆ ทำให้เอเบลถูกมองว่าเป็นผู้ที่เหมาะสมที่สุดในการขับเคลื่อนการดำเนินงานในแต่ละวันของอาณาจักรที่ซับซ้อนแห่งนี้
ผู้บริหารของบริษัทย่อยหลายแห่ง เช่น Brooks Running, Shaw Industries ต่างกล่าวว่า พวกเขามักจะปรึกษาเอเบลเสมอเมื่อเผชิญคำถามยากๆ ด้านกลยุทธ์หรือการดำเนินงาน เขาพร้อมให้คำปรึกษาเสมอ แต่ก็จะท้าทายให้คิดอย่างรอบคอบด้วย
ทรอย เบเดอร์ (Troy Bader) CEO ของ Dairy Queen กล่าวถึงเอเบลว่า “เมื่อผมนึกถึงเกร็ก เขาไม่ใช่แค่มีความเฉียบแหลมทางธุรกิจสูง แต่เขายังมีสัญชาตญาณทางธุรกิจที่สูงมากจริงๆ สัญชาตญาณนั้นสำคัญมาก วอร์เรนมีสิ่งนั้น แต่เกร็กก็มีมันอย่างมากเช่นกัน”
รอน โอลสัน (Ron Olson) กรรมการบริษัท Berkshire มายาวนาน กล่าวเสริมถึงคุณสมบัติของเอเบลว่า “เขาคือวอร์เรน บัฟเฟตต์ อีกคนหรือเปล่า? ไม่หรอก ไม่มีใครเป็นวอร์เรน บัฟเฟตต์ อีกแล้วที่ผมรู้จัก แต่เขามีพื้นฐานหลายอย่างเหมือนวอร์เรน เขามีความซื่อสัตย์สูงมาก เขาทำงานหนัก และเป็นนักคิดเชิงกลยุทธ์”
สานต่อ ‘วิถีแห่ง Berkshire’ และปรัชญา Value Investing
คำถามสำคัญที่สุดในใจนักลงทุนทั่วโลกคือ เอเบลจะสามารถสืบทอด ‘วิถีแห่ง Berkshire’ (The Berkshire Way) และปรัชญาการลงทุนเน้นคุณค่า (Value Investing) ที่บัฟเฟตต์ยึดถือและสร้างความสำเร็จมาตลอด 6 ทศวรรษได้หรือไม่?
ซึ่งเอเบลได้ให้คำมั่นสัญญาทั้งในการประชุมผู้ถือหุ้นและในการให้สัมภาษณ์ว่า “ปรัชญาการลงทุนและวิธีที่วอร์เรนและทีมงานจัดสรรเงินทุนตลอด 60 ปีที่ผ่านมา… จะไม่เปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน และนั่นคือแนวทางที่เราจะใช้ต่อไป” เขายังแสดงความพร้อมที่จะบริหารจัดการและนำกองเงินสดสำรองมหาศาลกว่า 3.47 แสนล้านดอลลาร์ หรือราว 12.8 ล้านล้านบาท ของบริษัท ไปลงทุนในโอกาสที่เหมาะสมตามแนวทางที่บัฟเฟตต์ได้วางรากฐานไว้อย่างเคร่งครัด
ความท้าทายบนเก้าอี้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกการลงทุน
แน่นอนว่าการก้าวขึ้นมารับตำแหน่งต่อจากบุคคลที่เป็นเสมือนสัญลักษณ์และได้รับการยกย่องมากที่สุดคนหนึ่งในโลกการลงทุนอย่างวอร์เรน บัฟเฟตต์ ย่อมเต็มไปด้วยความท้าทายมหาศาล เอเบลจะต้องนำพา Berkshire ฝ่าฟันความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ การเมือง และภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงแรงกดดันในการบริหารจัดการและสร้างผลตอบแทนจากกองเงินสดขนาดยักษ์ ในสภาวะที่หาโอกาสการลงทุนที่ ‘สมเหตุสมผล’ และ ‘คุ้มค่า’ ตามแบบฉบับของ Berkshire ได้ยากขึ้น
นอกจากนี้ บทบาทในอนาคตของบัฟเฟตต์เอง (ซึ่งปัจจุบันยังควบตำแหน่งประธานกรรมการ) และการจัดการความสัมพันธ์กับผู้บริหารระดับสูงคนอื่นๆ รวมถึงการรักษาวัฒนธรรมองค์กรที่เป็นเอกลักษณ์ ก็เป็นอีกประเด็นที่ต้องจับตามอง
เกร็ก เอเบล อาจไม่ใช่ชื่อที่โด่งดังและคุ้นเคยในวงกว้างเท่าวอร์เรน บัฟเฟตต์ แต่ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในองค์กร ความเข้าใจในธุรกิจอย่างลึกซึ้ง ผลงานที่พิสูจน์แล้ว และที่สำคัญที่สุดคือความไว้วางใจอย่างเต็มเปี่ยมจากบัฟเฟตต์ ทำให้เขาคือผู้ที่ถูกเลือกให้เป็นผู้นำ Berkshire Hathaway เข้าสู่ศตวรรษต่อไป คงต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดว่าภายใต้การนำทัพของเขา อาณาจักรการลงทุนระดับตำนานแห่งนี้จะเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด
อ้างอิง:
- https://finance.yahoo.com/news/greg-abel-executive-picked-successor-200548951.html
- https://apnews.com/article/warren-buffett-greg-abel-berkshire-hathaway-successor-6a4abcce5a472878074c9b66d8da4771
- https://economictimes.indiatimes.com/news/international/global-trends/meet-greg-abel-the-man-who-will-lead-berkshire-hathaway-after-warren-buffett/articleshow/120862949.cms?from=mdr