รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ มีแผนตัดงบประมาณ NASA ลง 24% พร้อมกับยกเลิกโครงการสถานีอวกาศดวงจันทร์ ยานเก็บตัวอย่างหินดาวอังคาร และอีกหลากหลายโครงการ เพื่อเร่งแผนการส่งมนุษย์กลับไปดวงจันทร์ให้ได้ก่อนจีน ตามด้วยการส่งนักบินอวกาศคนแรกไปลงจอดบนดาวอังคาร
หลังจากมีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา หรือ NASA มีความเสี่ยงถูกตัดงบประมาณครั้งใหญ่ ล่าสุดเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม NASA ได้เผยร่างงบประมาณปี 2026 พบว่ามีการตัดงบไปมากถึง 6,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 24% ของงบประมาณปี 2025
Planetary Society ระบุว่านี่คือการตัดงบ NASA ครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยข้อมูลจากเอกสารร่างงบประมาณปี 2026 พบว่ามีการตัดงบประมาณด้านวิทยาศาสตร์อวกาศลง 2,265 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมคำอธิบายประกอบว่า “ลดงานวิจัยที่มีความสำคัญต่ำ และยกเลิกภารกิจที่แพงเกินไป อย่างเช่นยานเก็บตัวอย่างหินดาวอังคาร ที่ราคาแพงเกินงบประมาณที่ตั้งไว้” และการเร่งส่งมนุษย์ไปลงดาวอังคาร เท่ากับว่านักบินอวกาศสามารถไปเก็บตัวอย่างหินกลับมาได้ด้วยตนเอง
ส่วนเดียวที่มีการเพิ่มงบในปี 2026 คือด้านการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ ที่ได้รับงบเพิ่ม 647 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้มีงบประมาณมากถึง 7,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในการส่งมนุษย์เดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์ และอีก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับลงทุนในโครงการส่งมนุษย์เดินทางไปดาวอังคาร
อย่างไรก็ตาม ร่างงบประมาณปี 2026 จะมีการปลดประจำการจรวด SLS หรือ Space Launch System และยานอวกาศ Orion หลังจากเสร็จสิ้นภารกิจอาร์ทีมิส 3 ที่ถูกวางแผนให้พานักบินอวกาศกลับไปลงดวงจันทร์อีกครั้งในช่วงกลางปี 2027 เพื่อเปิดทางให้ยานอวกาศของภาคส่วนเอกชนมารับช่วงต่อ ซึ่งอาจช่วยลดค่าใช้จ่ายในการพัฒนาและซ่อมบำรุงยานของ NASA ลง ในรูปแบบที่คล้ายกับโครงการ Commercial Crew Program ที่ใช้นำส่งนักบินอวกาศไป-กลับจากสถานีอวกาศนานาชาติในปัจจุบัน
นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังได้มีการยกเลิกสถานีอวกาศ Lunar Gateway ซึ่งเป็นสถานีอวกาศในวงโคจรรอบดวงจันทร์ ที่มีความร่วมมือกับองค์การอวกาศยุโรป (ESA), ญี่ปุ่น (JAXA), และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (MBRSC) เพื่อปรับเปลี่ยนโมดูลที่มีการสร้างมาแล้วในปัจจุบัน สำหรับใช้งานในภารกิจอื่นๆ แทน โดยยังไม่มีการระบุชัดเจนว่าแผนการใหม่นั้นจะเป็นเช่นไร
ย้อนกลับไปในปี 2024 NASA และรัฐบาลญี่ปุ่นได้ลงนามความร่วมมือ โดยทางญี่ปุ่นจะมีการพัฒนารถสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์รุ่นใหม่ เพื่อให้พร้อมสำหรับภารกิจอาร์ทีมิส 7 ในขณะที่ NASA จะพานักบินอวกาศญี่ปุ่นอย่างน้อย 2 คน ร่วมเดินทางไปลงสำรวจบนดวงจันทร์กับโครงการอาร์ทีมิส ซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าความร่วมมือดังกล่าวจะมีความเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบไหน
ด้านสถานีอวกาศนานาชาติ ร่างงบประมาณปี 2026 ได้มีการตัดงบลง 508 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งรวมถึงการลดจำนวนลูกเรือและงานวิจัยลง เพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับปลดประจำการตัวสถานีภายในปี 2030 เปิดทางให้สถานีอวกาศของภาคส่วนเอกชนมารับช่วงต่อแทน
โดยรวมแล้ว ร่างงบประมาณของ โดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการเร่งให้ NASA ส่งมนุษย์เดินทางกลับไปดวงจันทร์อีกครั้งได้ก่อนประเทศจีน ตามที่มีการเน้นย้ำอยู่หลายครั้งในเอกสารประกอบต่างๆ โดย Janet Petro รักษาการผู้อำนวยการ NASA ระบุว่า “ร่างงบประมาณนี้ได้ให้ความสำคัญกับการสำรวจดวงจันทร์และดาวอังคารไปพร้อมกัน เช่นเดียวกับการวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่สำคัญ”
NASA ระบุอย่างชัดเจนว่าแผนการดังกล่าวต้องการลดการใช้จ่ายไปกับด้าน DEIA หรือโครงการ Diversity, equity, inclusion and accessibility เช่นเดียวกับการลดงบสำนักงานส่งเสริมด้าน STEM ลง 143 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจในงานด้านอวกาศผ่านภารกิจที่น่าตื่นเต้น “ไม่ใช่การจัดสรรงบให้โครงการ STEM แบบ woke ที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มนักเรียนบางกลุ่มมากกว่า และมีผลต่อการสร้างบุคลากรอย่างจำกัด” ตามข้อความที่ระบุในร่างงบประมาณ
ทรัมป์เป็นคนลงนามในคำสั่งนโยบายอวกาศที่ 1 เมื่อปี 2017 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของโครงการอาร์ทีมิส ที่ได้รวมจรวด SLS กับยานอวกาศ Orion เพื่อใช้นำส่งนักบินอวกาศไปดวงจันทร์ เช่นเดียวกับการพัฒนาสถานีอวกาศ Lunar Gateway และการพัฒนายานอวกาศของเอกชน เพื่อพามนุษย์เดินทางกลับไปสำรวจดวงจันทร์ ก่อนมุ่งหน้าไปยังเป้าหมายอื่นๆ ในระบบสุริยะ ซึ่งอาจสอดคล้องกับเจตจำนงของเจ้าตัว ที่ต้องการให้ NASA เร่งการพัฒนายานอวกาศและพามนุษย์กลับไปลงดวงจันทร์อีกครั้งอย่างเร็วที่สุด จนเป็นที่มาของร่างงบประมาณที่ได้ชื่อเล่นว่า ‘Skinny Budget’ อย่างในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม ไม่มีแผนการอย่างชัดเจนว่าหลังจากความสำเร็จของภารกิจอาร์ทีมิส 3 ที่เป็นการส่งมนุษย์กลับไปลงดวงจันทร์อีกครั้งในช่วงกลางปี 2027 NASA จะทำอย่างไรต่อ ในเมื่อภารกิจอาร์ทีมิส 4 ถูกวางไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งของการก่อสร้างสถานีอวกาศ Lunar Gateway เช่นเดียวกับภารกิจอื่นๆ ที่ตามมาของโครงการอาร์ทีมิส
และการทุ่มงบประมาณจำนวนมาก เพื่อให้บรรลุเป้าหมายไปลงดวงจันทร์อีกครั้งได้ก่อนประเทศจีน โดยไม่มีแผนรองรับของการกลับไปปฏิบัติภารกิจระยะยาว คงไม่ต่างอะไรกับความพยายามในสมัยโครงการอพอลโล ที่สหรัฐฯ ทุ่มงบจำนวนมากเพื่อให้เอาชนะสหภาพโซเวียตได้ แต่ก็ไม่มีงบประมาณเพียงพอสำหรับแผนการสำรวจอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภารกิจสุดท้ายสิ้นสุดลงกับอพอลโล 17 ในปี 1972
แม้จะเป็นเพียงร่างงบประมาณ เพื่อส่งให้รัฐสภาสหรัฐฯ พิจารณาต่อ แต่หลายฝ่ายได้ออกมาแสดงความกังวลต่อร่างดังกล่าว ทั้งการปรับลดงบในการสำรวจและวิจัยต่างๆ ลงอย่างไม่เคยมีมาก่อน และอาจเป็นงบประมาณที่กำหนดอนาคตการสำรวจอวกาศของสหรัฐอเมริกาไปอีกหลายปีต่อจากนี้
ภาพ: Joe Skipper / Reuters
อ้างอิง:
- https://www.nasa.gov/news-release/president-trumps-fy26-budget-revitalizes-human-space-exploration/
- https://www.planetary.org/press-releases/the-planetary-society-condemns-damaging-cuts-to-nasa-budget
- https://www.nasa.gov/news-release/nasa-japan-advance-space-cooperation-sign-agreement-for-lunar-rover/
- https://www.nasa.gov/fy-2026-budget-request/
- https://www.nasa.gov/news-release/new-space-policy-directive-calls-for-human-expansion-across-solar-system/