×

7 THINGS WE LOVE ABOUT LUXURY FASHION CEOs

13.04.2025
  • LOADING...
7 THINGS WE LOVE ABOUT LUXURY FASHION CEOs

ในยุคที่แฟชั่นไม่ใช่แค่เรื่องของเสื้อผ้า แต่ยังหมายถึงการสะท้อนตัวตนและไลฟ์สไตล์ของผู้คน กลยุทธ์ของแบรนด์ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ผู้คนตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าสักชิ้น ซึ่งผู้นำที่มีวิสัยทัศน์และแนวคิดอันเฉียบคมถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนแบรนด์หรู ให้ยังคงยืนหยัดอยู่ได้ท่ามกลางสนามแข่งขันที่หมุนเวียนเปลี่ยนผันอยู่ตลอดเวลา อย่างไรก็ดี บทบาทของ CEO ในปัจจุบันนั้นไม่ได้จำกัดอยู่แค่การบริหารจัดการอีกต่อไป แต่ยังต้องเป็นนักสร้างสรรค์ เป็นผู้ที่เข้าใจวัฒนธรรมและสังคม เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างแบรนด์แฟชั่นกับผู้บริโภคในระดับที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น

 

สัปดาห์นี้ THE STANDARD POP จึงอยากพาเหล่าคนรักแฟชั่นทุกคนไปเจาะลึกถึงเบื้องหลังความสำเร็จของ CEO ทั้ง 7 คน ผู้ทรงอิทธิพลที่กำลังนำพาแบรนด์ลักชัวรีชั้นนำของโลกไปสู่ยุคใหม่ ตั้งแต่การพลิกโฉมภาพลักษณ์ การขยายตลาด ไปจนถึงการสร้างประสบการณ์อันน่าประทับใจให้กับลูกค้า ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะกำหนดทิศทางของอุตสาหกรรมลักชัวรีในปัจจุบันและอนาคต

 

PIETRO BECCARI OF LOUIS VUITTON

 

 

เริ่มต้นที่ Pietro Beccari จาก Louis Vuitton ที่มาเข้ารับตำแหน่งสำคัญอย่าง CEO ในปี 2023 หลังจากประสบความสำเร็จที่ Dior มาก่อนหน้านี้ โดยถึงแม้ว่าตัวแบรนด์ Louis Vuitton จะเป็นหนึ่งในแบรนด์หรูที่โด่งดังและมีมูลค่ามากที่สุดในโลกอยู่เป็นทุนเดิม แต่ Pietro เองก็มีวิสัยทัศน์อันแรงกล้าที่ต้องการทำให้ Louis Vuitton เป็น ‘Retailtainment’ ที่เป็นมากกว่าแบรนด์แฟชั่น แต่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมและประสบการณ์ที่หลากหลายสำหรับลูกค้า จากการผสมผสานการค้าปลีกเข้ากับความบันเทิง วัฒนธรรม และการออกแบบ เขาจึงขยายความสัมพันธ์ไปสู่วงการกีฬาและวัฒนธรรม ดังที่เราได้เห็นกันชัดเจนในช่วงโอลิมปิก ณ กรุงปารีส 2024 หรือทางฝั่งมอเตอร์สปอร์ตกับการลงนามเป็นพันธมิตรอย่างเป็นทางการกับ Formula 1 นอกจากนี้ ยังมีการขยายธุรกิจไปสู่ด้านการบริการและความงาม เช่น การวางแผนเปิดโรงแรมแห่งแรกใจกลางกรุงปารีส และความร่วมมือกับศิลปินและผู้เชี่ยวชาญด้านความงาม รวมไปถึงการเปิดบูติกแห่งล่าสุดในมิลานล้อไปกับช่วง Milan Design Week ที่รวมสินค้าหรูหราเข้ากับนิทรรศการศิลปะ ร้านอาหาร บาร์ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่หลากหลายให้กับลูกค้า และทำให้ชื่อของ Louis Vuitton อยู่ในบทสนทนาของผู้คนในทุกมิติ

 

 

 

DELPHINE ARNAULT OF DIOR

 

 

ถัดมากับหญิงผู้เป็นหัวเรือใหญ่แห่ง Dior อย่าง Delphine Arnault ที่ก้าวขึ้นมารับตำแหน่งในปี 2023 พร้อมคำกล่าวจากพ่อของเธอที่ว่า  “ข้อมูลเชิงลึกและประสบการณ์ที่ไม่อาจหาใครเทียบได้ของเธอ จะเป็นสินทรัพย์สำคัญที่จะขับเคลื่อน Dior ให้เติบโตขึ้น” ซึ่งเธอได้พิสูจน์ให้เห็นว่าข้อความนี้ไม่ได้เป็นเพียงการกล่าวอ้างเกินจริง เพราะ Dior ภายใต้การบริหารของเธอนั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว สามารถขยายตลาดไปสู่ภูมิภาคใหม่ๆ ได้จากวิสัยทัศน์ที่เฉียบคม ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนใน Ateliers และ Métiers d’Art เพื่อรักษาคุณค่าของงานฝีมือดั้งเดิม ตลอดจนหรือการผลักดันแนวคิด Maison Dior ที่ทำให้ Dior ไม่ใช่แค่แบรนด์เสื้อผ้าชั้นสูง แต่กลายเป็นจักรวาลของไลฟ์สไตล์และศิลปะที่ครอบคลุมทุกด้าน ทั้งแฟชั่น น้ำหอม ความงาม การออกแบบ และการใช้ชีวิต ซึ่งสอดแทรกผ่านการขยายไลน์สินค้าและบริการ การปรับรูปแบบบูติกทั่วโลกให้เน้นความเป็น Immersive experience  การจัดนิทรรศการร่วมกับนักออกแบบมากฝีมือ รวมไปถึงกลยุทธ์การใช้แบรนด์แอมบาสเดอร์จากหลากหลายวงการทั่วโลกมาช่วยบอกเล่าเรื่องราวและค่านิยมของเมซงแห่งนี้ นอกจากนี้การเข้ามาของ Delphine Arnault ยังกำหนดจุดยืนของแบรนด์ให้นำเสนอแนวคิดเฟมินิสม์อย่างมีชั้นเชิงและแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ควบคู่ไปกับผลงานแฟชั่นโชว์และแคมเปญของครีเอทีฟไดเรกเตอร์หญิง Maria Grazia Chiuri ซึ่งเป็นหนึ่งในจุดเด่นของ Dior ยุคปัจจุบันนั่นเอง

 

 

 

AXEL DUMAS OF HERMÈS

 

 

ณ เวลานี้ใครๆ ก็รู้กันดีว่าภาพจำของ Hermès ในปัจจุบันเต็มไปด้วยความหรูหราเหนือระดับและความ exclusivity ซึ่งเบื้องหลังของภาพจำที่ทั่วโลกต่างได้เห็นนี้มาจาก Axel Dumas ทายาทรุ่นที่ 6 ของผู้ก่อตั้งแบรนด์ ผู้วางวิสัยทัศน์ให้ Hermès ไม่ไล่ตามความเร็วของเทรนด์แฟชั่น นำเสนอความหรูหราที่แท้จริงที่ยืนอยู่บนความไม่เร่งรีบ เน้นการถ่ายทอดความรักในงานคราฟต์ลงบนสินค้าคุณภาพชั้นสูงทุกชิ้นด้วยความประณีตจากฐานการผลิตในประเทศฝรั่งเศส แต่ในขณะเดียวกัน แบรนด์ก็ยังเดินหน้าปรับตัวไปพร้อมกับโลกดิจิทัลด้วยการวางกลยุทธ์ทางอีคอมเมิร์ซให้แข็งแรงและตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น ชูเรื่องความคิดสร้างสรรค์และศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์ผ่านวิดีโอคอนเทนต์ที่แปลกใหม่น่าสนใจ ซึ่งถึงแม้แบรนด์จะดูเติบโตไปอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับแบรนด์หรูอื่นในตลาดที่เน้นขยายบูติกใหม่หรือจับกลยุทธ์แบรนด์แอมบาสเดอร์มาใช้ แต่เมื่อโฟกัสที่ตัวเลขแล้ว อัตรากำไรของแบรนด์ล่าสุดในปี 2023 อยู่ที่ 42% ซึ่งทำให้ในปี 2023 ทำให้ Hermès กลายเป็นบริษัทสินค้าหรูที่มีมูลค่าสูงเป็นอันดับสองรองจาก LVMH และยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

 

 

 

CÉDRIC CHARBIT OF SAINT LAURENT

 

 

 

สำหรับทางฝั่งของ Saint Laurent ที่เพิ่งประกาศศักราชใหม่ของแบรนด์ไปไม่นานนักด้วยการแต่งตั้ง Cédric Charbi ขึ้นเป็น CEO คนใหม่ในช่วงปลายปี 2024 และเริ่มมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มกราคม 2025 โดยจากประสบการณ์การทำงานของ  Cédric Charbi ที่เคยเป็น Product Strategy Director ในปี 2012 และก้าวขึ้นเป็น Executive Vice President ในเวลาต่อมา ทำให้ตัวเขาเป็นหนึ่งในคนที่คุ้นเคยกับผลงานของแบรนด์เป็นอย่างดี ซึ่งภายหลังจากประกาศการโยกย้ายที่นั่งครั้งนี้ ก็มีการคาดการณ์จากผู้ติดตามวงการแฟชั่นไปในทิศทางเดียวกันว่า เขาจะนำกลยุทธ์ที่เน้นการขยายตลาดให้ทันยุคสมัยมากขึ้น และประสบการณ์การฟื้นฟู Haute Couture ที่เคยพลิกฟื้น Balenciaga จากวิกฤต มาใช้กับ Saint Laurent เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งของแบรนด์ในตลาดระดับโลก ​และสามารถสร้างนิยามใหม่ให้กับ Saint Laurent ให้กลายเป็นผู้นำท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรงในวงการแฟชั่นลักชัวรี โดยทาง Francesca Bellettini รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Kering อดีต CEO ของแบรนด์ยังได้กล่าวไว้ว่า ตัวเธอเองชื่นชมในความเป็นผู้นำและทักษะที่โดดเด่นของเขาเสมอมา และมั่นใจว่าเขาจะเป็นผู้นำที่สมบูรณ์แบบในการสร้างบทต่อไปของ Saint Laurent ซึ่งถ้อยคำเหล่านี้นับเป็นสิ่งที่ตอกย้ำได้อย่างชัดเจนถึงความสามารถ วิสัยทัศน์ และอิทธิพลของเขาในสายตาของผู้บริหารระดับสูงในอุตสาหกรรมแฟชั่น

 

 

 

 

PASCALE LEPOIVRE OF LOEWE

 

 

 

อีกหนึ่งผู้บริหารหญิงมากที่มีชื่อเสียงเลื่องลือในเครือ LVMH นั่นคือ Pascale Lepoivre ผู้กุมบังเหียนแบรนด์แฟชั่นสัญชาติสเปนอย่าง Loewe ที่ได้รับเสียงชื่นชมในด้านความทะเยอทะยานและกลยุทธ์ที่มองการณ์ไกลในทุกมิติ โดย Loewe ภายใต้การนำของเธอนั้นได้ทลายกรอบความ Niche ที่แบรนด์เก่าแก่แห่งนี้เคยเป็นไปสู่ภาพที่น่าจดจำยิ่งขึ้น ทำให้ชื่อ Loewe ที่ไม่ว่าใครได้ยินก็จะนึกถึงความสนุกสนาน เต็มไปด้วยพลังแห่งความครีเอทีฟในงานดีไซน์ ซึ่งการผลักดันของเธอก็ประสบความสำเร็จอย่างมากในการสร้างสมดุลระหว่างงานคราฟต์ที่อุดมด้วยคุณค่าทางประวัติศาสตร์ กับไอเดียความคิดสร้างสรรค์ที่ทันสมัยและไม่เหมือนใคร ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเธอเองยังเน้นการขยายฐานผู้ซื้อของ Loewe ให้กว้างขวางขึ้นโดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพิ่มบูติกในห้างสรรพสินค้าให้สอดคล้อองกับพฤติกรรมของผู้คน รวมไปถึงใช้โซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ในการสื่อสารแคมเปญที่สนุก เข้าถึงง่าย ดึงดูดใจผู้คนทุกเพศทุกวัย พร้อมสนับสนุนงานคอลลาบอเรชันใหม่ๆ ผ่านความร่วมมือกับครีเอทีฟไดเรกเตอร์ Jonathan Anderson ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทั้งหมดนี้จึงส่งผลให้เป้าหมายการสร้างเม็ดเงินมูลค่า 1 พันล้านยูโรภายใน 5 ปีนับตั้งแต่ลั่นวาจาไว้เมื่อ 2019 นั้น ดูจะสำเร็จได้อย่างสวยงามจากการคาดการณ์จากข้อมูลยอดขายเมื่อปี 2023 ที่ทำไว้ราวๆ 789.3 ล้านยูโร ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่า 27.5% จากปีก่อนหน้าอย่างน่าพึงพอใจ และสะท้อนให้เห็นเด่นชัดว่า Pascale Lepoivre เป็นทั้งผู้บริหารที่เข้าใจธุรกิจ และเป็นฟันเฟืองสำคัญในการยกระดับ Loewe ให้กลายเป็นแบรนด์ที่มีบทสนทนาในระดับวัฒนธรรมโลกได้อย่างสง่างาม

 

 

 

STEFANO CANTINO OF GUCCI

 

 

 

กลับมาที่เครือ Kering อีกหนึ่งแบรนด์ที่กำลังเริ่มต้นการขยับขยายครั้งใหม่นั่นก็คือ Gucci ซึ่งอดีตรอง CEO อย่าง Stefano Cantino ได้ก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญขึ้นไปอีกขั้นด้วยการเป็น CEO ในวันที่ 1 มกราคม 2025 ท่ามกลางกระแสที่ผันผวนและไม่ค่อยสู้ดีนักจากสถานการณ์ที่กำลังเผชิญกับความท้าทายด้านยอดขายที่ลดลงกว่า 23% ในปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและจีน นั่นจึงเป็นเหตุให้การเข้ามาของ Stefano ถูกคาดหวังให้เป็นผู้กอบกู้ในการกำหนดภาพลักษณ์และกลยุทธ์ใหม่ของ Gucci เพื่อฟื้นฟูและยกระดับแบรนด์ในตลาดสินค้าลักชัวรี โดยเหล่านักวิเคราะห์วงการแฟชั่นต่างมองว่า จุดแข็งของเขานั้น คือการวางกลยุทธ์การสื่อสารที่แหลมคมและการสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้เป็นที่จดจำ ซึ่งเขาเคยแสดงให้เห็นมาแล้วจากบทบาทผู้อำนวยการด้านการสื่อสารและการตลาด ให้กับ Prada Group มากว่า 20 ปี รวมถึงเคยทำงานในฐานะผู้ดูแลกลยุทธ์ด้านการสื่อสารและภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้กับ Louis Vuitton เป็นเวลา 5 ปี CEO คนนี้จึงอาจเป็นตัวแปรสำคัญในการสานสัมพันธ์กับฐานลูกค้าเดิม พร้อมกับการปลุกปั้นกลุ่มผู้บริโภคชุดใหม่ให้กลับมาหลงใหลในเสน่ห์ของ Gucci ได้อีกครั้ง

 

 

LEENA NAIR OF CHANEL

 

 

 

ปิดท้ายกับ Leena Nair ซีอีโอผู้สร้างประวัติศาสตร์ให้กับหญิงผิวสีในวงการแฟชั่นแบรนด์หรู นับตั้งแต่เธอวางมือจากหัวหน้าฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ Unilever มาก้าวขึ้นแท่นประธานบริหารของ CHANEL เมื่อเดือนมกราคมปี 2022 โดย Leena มีความเชื่อมั่นอย่างแรงกล้าว่า การเอาใจใส่ผู้คนในองค์กรนั้นเป็นสิ่งที่สำคัญลำดับต้นๆ ของการทำธุรกิจ และความเข้าใจในมนุษย์อย่างลึกซึ้งเป็นกุญแจสำคัญในการกำหนดกลยุทธ์ของ CHANEL ดังที่เราเห็นได้จากการปรับราคาสินค้าให้สูงตามความต้องการในตลาดที่เพิ่มขึ้น หรือการปรับปรุงประสบการณ์การช็อปปิ้งที่เน้นการ Personalized มากขึ้นเพื่อให้ลูกค้ารู้สึกพิเศษและใกล้ชิดกับแบรนด์มากยิ่งขึ้น Leena ให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นเอกลักษณ์และมรดกของ CHANEL ไม่ให้ถูกลืมไปกับกระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งนั่นมาพร้อมกับการนำเสนอนวัตกรรมที่ทันสมัยและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกทั้งยังขยายตลาดในอุตสาหกรรมความงามเพิ่มตามกระแสโลกในปัจจุบัน โดยจากรายงานผลประกอบการในปี 2023 นั้นระบุว่า CHANEL มีรายได้เพิ่มขึ้นถึง 16% นับเป็นการสร้างความเชื่อมั่นไปควบคู่กับเป็นที่จับตามองมากขึ้นจากทั้งฐานลูกค้า นักวิจารณ์ และนักลงทุน สำหรับการเดินหมากครั้งต่อไปของเธอ

 

ยิ่งไปกว่านั้น วิสัยทัศน์ความเป็นผู้นำของเธอยังครอบคลุมถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่ของการครีเอทีฟและภาพลักษณ์แบรนด์ อย่างการสานต่อทิศทางใหม่ของ CHANEL ในด้านความเท่าเทียมทางเพศ ด้วยการผลักดันงบประมาณให้กับ Fondation CHANEL จาก 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 100 ล้านดอลลาร์ เพื่อสนับสนุนโครงการที่เสริมสร้างพลังให้กับผู้หญิงทั่วโลก ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ตอกย้ำถึงการสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ตามแบบที่แบรนด์ยึดถือด้วยเช่นกัน

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising