วันนี้ (30 มีนาคม) ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยผลการประชุมหารือร่วมกับ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย, สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และผู้ให้บริการเครือข่ายโทรคมนาคม (โอเปอเรเตอร์) เพื่อสรุปแนวทางแก้ไขความผิดพลาดเรื่องระบบการแจ้งเตือนภัย เมื่อวันที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมา
ประเสริฐในฐานะประธานการประชุมระบุว่า ที่ประชุมได้หารือเรื่องของกระบวนการส่งข้อมูลการแจ้งเตือนสถานการณ์ฉุกเฉินด้วย SMS ตามข้อสั่งการของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ ปภ. และ กสทช.ดำเนินการส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยถึงประชาชนให้เร็วขึ้น ทันเวลาและทั่วถึง ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องจากประชาชน โดยสามารถสรุปขั้นตอนได้ดังนี้
- เมื่อ ปภ. ได้รับการแจ้งเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยา ปภ. โดยศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะวิเคราะห์ข้อมูล พิจารณาแล้วแจ้งข้อความเตือน และ broadcast ไปให้ทาง กสทช. ในทันที
- จากนั้น กสทช. แจ้งดำเนินการไปยังโอเปอเรเตอร์ เพื่อส่ง SMS ไปยังประชาชนในพื้นที่ประสบภัย
- ปภ. เตรียมแผนปฏิบัติการสื่อสาร/แผนสำรองในการแจ้งเตือนภัย ให้มีการแจ้งสถานการณ์เบื้องต้น การปฏิบัติตนของประชาชนเมื่อเกิดภัยพิบัติ และแจ้งสรุปสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เมื่อสถานการณ์ได้สิ้นสุดลง
“นอกจากนี้ ทาง กสทช. และหน่วยที่เกี่ยวข้องจะวางแผนการเพิ่มผังรายการให้ประชาชนได้รับข่าวสารอย่างรวดเร็ว พร้อมกับเร่งรัดการดำเนินการเรื่องระบบแจ้งเตือนภัย (cell broadcast) ส่งข้อความ SMS แจ้งเตือนภัยฉุกเฉินผ่านเครือข่ายโทรศัพท์ครอบคลุมโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่ประสบภัยธรรมชาติ เหตุฉุกเฉินในพื้นที่เป้าหมาย ประสานการทำงานกันอย่างใกล้ชิด พร้อมประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อกระจายเสียงให้ทันท่วงที” ประเสริฐกล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา สืบเนื่องจากเหตุแผ่นดินไหวรุนแรงในประเทศเมียนมา แรงสั่นสะเทือนรับรู้ถึงประเทศไทย ทว่ากลับทำให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพของระบบ SMS เตือนภัยของไทยที่ไม่สามารถแจ้งเตือนประชาชนได้อย่างทันท่วงที ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีต้องเรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงาน กสทช. เพื่อหาทางแก้ไขปัญหา